ลำดับการปฏิบัติสมาธิ
คำบริกรรม พุทโธ ตามลมหายใจ หรือ กรรมฐาน 40 เช่น เพ่งกสิณ ดิน น้ำ ลม ไฟ สีแดง เป็นเครื่องล่อของจิต โดยมีสติเป็นผู้คุมให้จิตอยู่กับ กรรมฐาน ที่เราตั้งมั่น
ระดับที่ 1 ขณิกสมาธิ สติยังไม่แข็งแรง ทำให้จิตบางครั้งอยู่กับคำบริกรรมบ้าง ออกไปเที่ยวข้างนอกบ้าง คิดถึงอดีต อนาคตบ้าง ให้มีสติให้มาก รู้ตัวแล้วรีบกลับมาที่คำ บริกรรม
ระดับที่ 2 อุปจารสมาธิ สติเริ่มแข็งแรง จิตจดจ่อตั้งมั่นกับคำบริกรรม จิตไม่หนีไปเที่ยวนอกกาย อยู่กับดายเป็นหลัก จะเริ่มเกิดอาการ ขนลุก ขนพอง น้ำตาไหลเหมือนคนร้องไห้ ตัวเบาเหมือนลอยได้ ตัวขยายใหญ่ เมื่อเกิดอาการเหล่านี้อย่าสนใจ สักแต่ว่ารู้ ให้กลับมาที่คำบริกรรม จะก้าวข้ามจะเกิดอาการบรมสุข สุขแบบไม่มีสุขใดในโลกเทียบได้ เอาสุขทั้งชีวิตมารวมกันก็ไม่อาจเทียบได้เสี้ยวเดียวของสุขนี้ สุขของกษัตริย์ มหาจักรพรรดิก็เทียบได้กับสุขนี้ สุขแบบไม่ง่วง ไม่หิว ความเครียดหายไปหมด สุขจะอยู่ 3 วัน 3 คืนแล้วจางหายไป
ระดับที่ 3 อัปนาสมาธิ มี 8 ขั้น คือ
ปฐมฌาน สติแข็งแรงมาก สติตั้งมั่น ตัวรู้เด่นชัด จิตรวมเป็นหนึ่งมีพลัง ทำให้จิตอยู่กับคำบริกรรมต่อเนื่องไม่หนีจากกายไปไหน มีทั้ง วิตก วิจารณ์ ปิติสุข และเอกกัตตา
ทุติยฌาน กาย (ตัวคิด) จะทิ้งคำบริกรรมไปเอง สติตั้งมั่นเด่นชัด อยู่กับลมหายใจ หรือฐานที่ตั้งของจิต ขั้นนี้จะเห็นลมหายใจเด่นชัดมาก จะเหลือแต่ ปิติ สุข และเอกกัตตา
ตติยฌาน ลมหายใจจะค่อยละเอียดแผ่วเบาลงเรื่อยๆ จนเหมือนจะหายไป ตัวจะตั้งตรงเหมือนหินโดยอัตโนมัติ เมื่อลมหายใจเริ่มหาย อย่าตกใจ ให้มีสติอยู่กับฐานของจิตไม่ต้องกลัวตาย สักแต่ว่ารู้จะก้าวผ่านขั้นนี้ไป เหลือ สุขและเอกกัตตา
จตุตถฌาน ลมหายใจดับสนิท ไม่รับรู้ถึงลมหายใจและไม่รับรู้ความรู้สึกของกายอีกต่อไป
สติ ตัวรู้จะเด่นชัด เบาสบาย สักแต่ว่ารู้ ตัวรู้แยกออกจากกาย 100% ความคิดและลมหายใจไม่สามารถเข้ามาแทรกได้ เหมือนจิตตัดขาดจากกายเหลือแต่เอกกัตตาและอุเบกขารมณ์
ให้อยู่เอกกัตตา คือ ตัวรู้เด่นชัดอยู่ที่ฐานของจิต ในสมาธิขั้นนี้เหมือนไม่มีเวลา เวลาจะผ่านไปเร็วมากๆ เหมือนไม่มีกาลเวลาเหลือแต่ สภาวะรู้ลอยอยู่ โล่งๆ บางคนเห็นเป็นดวงแก้วสว่างไสว หรือเห็นเรืองแสง แล้วแต่ แต่ละคนไม่มีถูกผิด
ประคองสภาวะรู้แล้วเพิกขอบเขต รู้อากาศไม่มีที่สิ้นสุด รู้สึกเวิ้งว้างหาขอบเขตไม่ได้ มันว่างไปหมดเหมือนจิตครอบทั้งจักรวาล จักรวาล คือ เรา เรา คือ จักรวาล เรียกว่า อากาสานัญจายตนฌาน เมื่อออกจากสมาธิจะรู้สึกโล่งเบาสบายเหมือนไม่มีกาย มีความสุขมากมายมหาศาลจนนอนไม่หลับ ไม่หิว ไม่ทุกข์มีแต่สุขไป 3 วัน 3 คืน
กำหนดสภาวะรู้เป็น วิญญานธาตุล้วนๆ แผ่ไปไม่มีขอบเขต เรียกว่า วิญญาญัญจายตนฌาน
กำหนดรู้ว่าไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรต้องอธิบาย ไม่มีอะไรในสภาวะนั้น เรียกว่า อากิญจัญญายตนฌาน
เลิกการกำหนดทั้งปวง ไม่กำหนดใดๆทั้งสิ้น ลมหายใจก็ไม่กำหนดรู้ ความคิดใดๆเกิดขึ้นก็ใช้สติกำหนดดับความคิดทั้งหมด จนเงียบไปเหมือนกับหายไป เมื่อจิตเป็นสมาธิจะเข้าไปสู่สภาวะเงียบ เหมือนหายไปในสภาวะนั้น มีแต่ความว่างไม่มีอะไรเลย เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เมื่อออกจากสมาธิจะรู้สึกโล่งเบาสบายเหมือนไม่มีกาย มีความสุขมากมายมหาศาลจนนอนไม่หลับ ไม่หิว ไม่ทุกข์มีแต่สุขไป 3 วัน 3 คืน สัญญาความจำได้หมายรู้จะถูกทำลายแทบหมดสิ้น เช่นเคยขับรถเป็นเมื่อออกจากสมาธิระดับนี้จะลืมวิธีขับรถไปชั่วขณะ สมาธิระดับนี้เหมาะแก่การบำเพ็ญตนในป่า ไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตฆราวาส
ที่กล่าวมาทั้งหมด หัวใจของสมาธิ คือ อานาปานสติสามารถพาเราไปถึง ฌาน 8 จนถึงพระนิพพานได้โดยนำกำลังสมาธิมาพิจารณาข้อธรรมให้เกิดปัญญา
เมื่อออกจากสมาธิ ฌาน 4-8 ลงมาสู่ระดับ อุปจารสมาธิ จิตจะมีกำลังและปัญญามาก ถ้านำมาพิจารณาปัญญาจะสามารถฆ่ากิเลสได้ เราสามารถใช้กำลังสมาธิสอนจิตให้ฉลาดได้
ปล.รูปจากหลวงพี่ท่านหนึ่งในภาคเหนือ