11 ตุลาคม 2567

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น
พระผู้มีพระภาค ทรงตรัสกับสุภัททะว่า ดูกรสุภัททะ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
 
สุภัททะปริพาชกทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว 

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ประการในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔

ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ ๑ที่ ๒ ที่ ๓ หรือ ที่๔
 
ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ 

ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง 

ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ 

สุภัททะ รับเอาพระธรรมไปพิจารณาเพียงคืนเดียวได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

    อริยสัจ 4 เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยบุคคล หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ

1.ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ 5

2.สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 คือ 
2/1. กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์
2/2. ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ และ 
2/3. วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ

3.นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง 3 ได้อย่างสิ้นเชิง

4.มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ มีองค์ประกอบอยู่แปดประการ คือ 
 1. สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ 
 2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ 
 3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
 4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ
 5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ 
 6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ 
 7. สัมมาสติ ระลึกชอบ และ
 8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ

 ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือทางสายกลาง มรรคมีองค์แปดนี้สรุปลงในไตรสิกขา ได้ดังนี้ 1. อธิสีล สิกขา ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ 
2. อธิจิตสิกขา ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ และ
 3. อธิปัญญาสิกขา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ

หนทางนี้แลเป็นหนทางอันประเสริฐซึ่งประกอบด้วยองค์ 8 ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ

ความเห็นชอบ
ความดำริชอบ
การพูดจาชอบ
การทำการงานชอบ
การเลี้ยงชีวิตชอบ
ความพากเพียรชอบ
ความระลึกชอบ
ความตั้งใจมั่นชอบ

(องค์มรรคที่ 1)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเห็นชอบ เป็นอย่างไรเล่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ความรู้อันใดเป็นความรู้ในทุกข์
เป็นความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์
เป็นความรู้ในความดับแห่งทุกข์
เป็นความรู้ในทางดำเนินให้ถึงความดับแห่งทุกข์
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรากล่าวว่า ความเห็นชอบ

(องค์มรรคที่ 2)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความดำริชอบ เป็นอย่างไรเล่า
ความดำริในการออกจากกาม (กาม หมายถึง ความอยาก ความปรารถนา ในสิ่งที่น่ารักน่าใคร่น่าชอบใจ ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ ทั้งปวง)
ความดำริในการไม่มุ่งร้าย
ความดำริในการไม่เบียดเบียน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรากล่าวว่า ความดำริชอบ

(องค์มรรคที่ 3)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การพูดจาชอบ เป็นอย่างไรเล่า
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดไม่จริง
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดส่อเสียด
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดหยาบ
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรากล่าวว่า การพูดจาชอบ

(องค์มรรคที่ 4)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การทำการงานชอบ เป็นอย่างไรเล่า 
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฆ่า
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แล้ว
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรากล่าวว่า การทำการงานชอบ

(องค์มรรคที่5)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การเลี้ยงชีวิตชอบ เป็นอย่างไรเล่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาวกของพระพุทธเจ้า ในธรรมวินัยนี้
ละการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิดเสีย ย่อมสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตที่ชอบ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรากล่าวว่า การเลี้ยงชีวิตชอบ (ฆราวาส ไปดูที่ มิจฉาวาณิชา)

(องค์มรรคที่ 6)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความพากเพียรชอบ เป็นอย่างไรเล่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายามปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะยังอกุศลธรรม อันเป็นบาปที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น

ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายามปรารภความเพียรประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะละอกุศลธรรม อันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว

ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายามปรารภความเพียรประคองตั้งจิตไว้ เพื่อยังกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น 

ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายามปรารภความเพียรประคองตั้งจิตไว้ เพื่อความตั้งอยู่ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรากล่าวว่า ความพากเพียรชอบ

(องค์มรรคที่ 7)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความระลึกชอบ เป็นอย่างไรเล่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้

ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ
มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติถอนความพอใจและความไม่พอใจ ในโลกออกเสียได้

ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้

ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้

ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะมีสติ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ (ธรรมในที่นี้ คือ ตัณหา อุปาทาน เป็นต้น)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรากล่าวว่า ความระลึกชอบ

(องค์มรรคที่ 8)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความตั้งใจมั่นชอบ เป็นอย่างไรเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้
สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย
สงัดแล้วจากธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย

เข้าถึงปฐมฌาน ประกอบด้วย วิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกแล้วแลอยู่ เพราะความที่วิตกวิจารทั้ง 2 ระงับลง 

เข้าถึงทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน
ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่ 
อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุขดังนี้

เข้าถึงตติยฌาน แล้วเหลืออยู่ เพราะละสุขได้
และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสอง ในการก่อน

เข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์อุเบกขาแล้วแลอยู่  
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรากล่าวว่า ความตั้งใจมั่นชอบ

                      __________________________

ข้าพเจ้า นาย สมศักดิ์ ชำนิ ไม่มีเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงแต่งเติมพระธรรมคำสอน แต่เรียบเรียงขยายข้อความเพื่อ ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้ชัดแจ้ง ในรายละเอียดส่วนลึกในพระธรรม ผมเป็นเพียงผู้เรียนรู้ตามพระธรรม ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เท่านั้น ก็เพื่อเผยแผ่พระธรรม และ สืบทอด พระพุทธศาสนา จากรุ่นสู่รุ่น ส่วนไหนผิดพลาดก็ขอประธานอภัยนาครับ 

ข้าพเจ้าขอตั้งจิตอุทิศผล บุญกุศลนี้แผ่ไปให้ไพศาล
ถึงคุณมารดา บิดา ครูอาจารย์ ทั้งลูกหลานญาติมิตร ญาติธรรม คนเคยร่วมทำงานการทั้งหลาย มีส่วนได้ในกุศลผลของฉันทั้งเจ้ากรรมนายเวร และ เทวัญ ทั้งสรรพสัตว์ทั้งหลาย ขอให้ท่านได้กุศลผลนี้เทอญ

.ขอบคุณภาพจาก เมล็ดพันธุ์แห่งการตื่นรู้

09 ตุลาคม 2567

การถวายข้าวมธุปายาส (ข้าวทิพย์)

👁‍🗨การถวายข้าวมธุปายาส (ข้าวทิพย์)
📝นางสุชาดาไดถวายข้าวมธุปายาส
ก่อนวันตรัสรู้ หลังจากพระองค์ทรงเสวยแล้วจึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
✒️ ชาวพุทธจึงเชื่อว่า....
ข้าวมธุปายาสเป็นข้าวทิพย์ที่ใครได้บริโภคแล้วจะทำให้มีโชค สุขภาพร่างกายแข็งแรง จึงนิยมกวนข้าวมธุปายาสถวายแก่พระสงฆ์ เพื่อเป็นการทำบุญสร้างกุศลบารมี
...
🍲สูตรการทำข้าว "ข้าวมธุปายาส"
ใบแบบฉบับลังกา
....
🥥ส่วนผสม "ข้าวมธุปายาส"
1. ข้าวสาร 500 กรัม
2. นมวัว หรือกะทิ 500 มิลลิลิตร 
3. เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 100 กรัม
4. เกลือ 1 ช้อนชา
5. น้ำตาลทรายแดง 200 กรัม และน้ำผึ้ง 
5. เนื้อมะพร้าว 
6. อินทผลัม 200 กรัม
7. ลูกเกด 100 กรัม
8. กระวาน (เครื่องเทศ) หากมี 
....
🍳 วิธีการทำข้าวมธุปายาส
1. นำกะทิหรือนมวัวมาตั้งไฟให้เดือด
2. พอเดือดแล้วให้ใส่ข้าวสารลงไป ถ้ามีกระวาน (เครื่องเทศ) ให้ใส่ลงไปด้วย แล้ว คนให้เข้ากัน ปล่อยให้เดือด
3. ใส่เกลือลงไป 1 ช้อนชา คนให้เข้ากัน
4. ใส่ลูกเกดลงไป
5. ใส่อินทผลัมลงไป คนให้เข้ากัน
6. เติมน้ำตาลทรายแดง (และน้ำผึ้ง) ลงไป คนให้เข้ากัน
7. เติมเม็ดมะม่วงหินมะพานต์ลงไป คนให้เข้า จนข้าวสุกและน้ำงวด ข้นขึ้น 
8. เทใส่จาน

🔸โดยมากทางอินเดียและศรีลังกาจะนิยมใส่เครื่องเทศเพิ่มเติมลงไปให้ เช่นอบเชย กระวาน เม็ดผักชี ใบเตย เพื่อเพิ่มกลิ่นและรสชาติ ทางลังกาจะออกแบบแห้งๆ ทางอินเดียจะมีน้ำข้นๆ

🎬ชมคลิปวิธีทำที่ลิงค์นี้ค่ะ👇
https://www.youtube.com/watch?v=AMw9ywtoRcU

🙏กราบขอบพระคุณข้อมูลจาก
พระอาจารย์สุมนะ ธมฺมสุมโน
ประเทศศรีลังกา

-กานจา สถูปา-

#วิธีทำข้าวมธุปายาส
#ข้าวมธุปายาส

ทำไมเราต้องมีความเมตตาต่อกัน...

ทำไมเราต้องมีความเมตตาต่อกัน... ก็ด้วยเหตุผลนี้ครับ 
...ในวัฏฏสงสารอันไม่มีใครทราบที่สุดในเบื้องต้นนี้ สัตว์ผู้มีชีพได้พากันท่องเที่ยวไปในการว่ายเวียนในการเกิดอีกตายอีก. ไม่มีสัตว์แม้แต่ตัวเดียว ที่ในบางสมัย ไม่เคยเป็น แม่ พ่อ พี่น้องชาย พี่น้องหญิง ลูกชาย ลูกหญิง หรือเครือญาติอย่างอื่นๆ แก่กัน

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...