สตรีผู้ถึงพร้อมด้วยความงาม "เบญจกัลยาณี"
เอตทัคคะในฝ่ายผู้เป็นทายิกา
ผู้สร้างวัดบุพพาราม สาวัตถี
นางวิสาขา เกิดในตระกูลเศรษฐี ในเมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ บิดาชื่อ ธนญชัย มารดาชื่อว่า สุมนาเทวี และปู่ชื่อ เมณฑกเศรษฐี ขณะที่เธอมีอายุ อยู่ในวัย ๗ ขวบ เป็นที่รักดุจแก้วตาดวงใจของเมณฑกะผู้เป็นปู่ยิ่งนัก
เมื่อเมณฑกเศรษฐีได้ทราบข่าวว่า พระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จำนวนมากกำลังเสด็จมาสู่เมืองภัททิยะ ท่านเมณฑกเศรษฐี จึงได้มอบหมายให้ เด็กหญิงวิสาขาพร้อมด้วยบริวาร ออกไปทำการรับเสด็จที่นอกเมือง ขณะที่พระพุทธองค์ประทับพักผ่อนพระอิริยบถอยู่นั้น เด็กหญิงวิสาขาพร้อมด้วยบริวาร เข้าไปเฝ้ากราบถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่อันสมควรแก่ตน พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้พวกเธอฟัง เมื่อจบลงก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วยกันทั้งหมด ส่วนเมณฑกเศรษฐีเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาถึงแล้วจึงรีบเข้าไปเฝ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เช่นกัน แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ที่ติดตามเสด็จทั้งหมดเข้าไปรับอาหารบิณฑบาต ณ ที่บ้านของตนตลอดระยะเวลา ๑๕ วัน ที่ประทับอยู่ภัททิยนครนั้น
ตระกูลธนญชัยเศรษฐี ย้ายไปอยู่เมืองสาวัตถี
สมัยพระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งเมืองสาวัตถี และพระเจ้าพิมพิสารแห่งเมืองราชคฤท์ มีความเกี่ยวข้องกันโดยต่างก็ได้ภคินี (น้องสาว) ของกันและกันมาเป็นมเหสี แต่เนื่องจากในเมืองสาวัตถี ของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น ไม่มีเศรษฐีตระกูลใหญ่ๆ ผู้มีทรัพย์สมบัติมากมาย และได้ทราบว่าในเมืองราชคฤห์ ของพระเจ้าพิมพิสารนั้น มีเศรษฐีผู้มีทรัพย์สมบัติจำนวนนับไม่ถ้วนอยู่ถึง ๕ ตระกูล ดังนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงเสด็จมายังเมืองราชคฤห์ เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารแล้วแจ้งความประสงค์ เพื่อขอพระราชทานตระกูลเศรษฐีในเมืองราชคฤห์นี้ ไปอยู่เมืองสาวัตถีสักหนึ่งตระกูลพระเจ้าพิมพิสารได้สดับแล้วตรัสตอบว่า “การโยกย้ายตระกูลใหญ่ๆ เพียงตระกูลก็เหมือนกับแผ่นดินทรุด” แต่เพื่อรักษาสัมพันธไมตรีต่อกันไว้หลักจากที่ได้ปรึกษาอำมาตย์ทั้งหลายแล้ว เห็นพ้องต้องกันว่าสมควรยกตระกูลธนญชัยเศรษฐี ให้ไปอยู่เมืองสาวัตถีกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ธนญชัยเศรษฐีได้ขนย้ายทรัพย์สมบัติพร้อมทั้งบริวารและสัตว์เลี้ยงทั้งหลายเดินทางสู่พระนครสาวัตถีพร้อมกับพระเจ้าปเสนทิโกศล และเมื่อเดินทางเข้าเขตแคว้นของพระเจ้าปเสนทิโกศล และ
ขณะที่พักค้างแรมระหว่างทางก่อนเข้าเมืองธณญชัยเศรษฐีเห็นว่าภูมิประเทศบริเวณที่พักนั้นเป็นชัยภูมิเหมาะสมดีอีกทั้งตนเองก็มีบริวารติดตามมาเป็นจำนวนมาก ถ้าไปตั้งบ้านเรือนภายในเมืองก็จะคับแคบ จึงขออนุญาตพระเจ้าปเสนทิโกศลก่อตั้งบ้างเมืองลง ณ ที่นั้น และได้ชื่อเมืองใหม่นี้ว่ “สาเกต” ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถี ๗ โยชน์
หญิงงามเบญจกัลยาณี
ในเมืองสาวัตถีนั้น มีเศรษฐีตระกูลหนึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า มิคารเศรษฐี มีบุตรชายชื่อ ปุณณวัฒนกุมาร เมื่อเจริญวัยสมควรที่จะมีภรรยาได้แล้ว บิดามารดาขอให้เขาแต่งงานเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล แต่เขาเองไม่มีความประสงค์จะแต่งเมื่อบิดามารดารบเร้ามากขึ้น เขาจึงหาอุบายเลี่ยงโดยบอกแก่บิดามารดาว่า ถ้าได้หญิงที่มีความงามครบทั้ง ๕ อย่าง ซึ่งเรียกว่า เบญจกัลยาณี แล้วจึงจะยอมแต่งงานเบญจกัลลยาณีความงามของสตรี ๕ อย่างคือ
๑.เกสกลฺยาณํ ผมงามคือหญิงผมยาวถึงสะเอวแล้วปลายผมงอนขึ้น
๒.มงฺสกลฺยาณํ เนื้องามคือหญิงที่มีริมฝีปากแดงดุจผลตำลึงสุกและเรียบชิดสนิทกันดี
๓.อฎฺฐิกลฺยาณํ กระดูกงาม คือหญิงที่มีฟันสีขาวประดุจสังข์ และเรียบเสมอกัน
๔.ฉวิกลฺยาณํ ผิวงาม คือหญิงที่มีผิวงามละเอียด ถ้าดำก็ดำดังดอกบัวเขียว ถ้าขาวก็ขาวดังดอกกรรณิกา
๕. วยกลฺยาณํ วัยงาม คือ หญิงที่แม้จะคลอดบุตรถึง ๑๐ ครั้ง ก็ยังคงสภาพร่ายกายสาวสวยดุจคลอดครั้งเดียว
บิดามารดาเมื่อได้ฟังแล้วจึงให้เชิญพรามหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในด้านอิตถึลักษณะมาถามว่า หญิงผู้มีความงามดังกล่าวนี้มีหรือไม่ เมื่อพวกพรามหณ์ตอบว่า มี จึงส่งพรามหณ์เหล่านั้นออกเที่ยวแสวงหาตามเมืองต่างๆ พร้อมทั้งมอบพวงมาลัยและเครื่องทองหมั้นไปด้วย
ชน ๔ พวกเมื่อวิ่งจะดูไม่งาม
พวกพราหมณ์เที่ยวแสวงหาไปตามเมืองต่างๆ ทั้งเมืองเล็กเมืองใหญ่ จนมาถึงเมืองสาเกต ได้พบนางวิสาขามีลักษณะภายนอกถูกต้องตามตำราอิตถี ลักษณะครบทุกประการ ขณะที่นางพร้อมทั้งหญิงบริวารออกมาเที่ยวเล่นน้ำกันที่ท่าน้ำ ขณะนั้นฝนตกลงมาอย่างหนัก หญิงบริวารทั้งหลายพากันวิ่งหลบหนีฝนเข้าไปในศาลา แต่นางวิสาขายังคงเดินด้วยอาการปกติ ทำให้พวกพราหมณ์ ทั้งหลายรู้สึกแปลกใจประกอบกับต้องการจะเห็นลักษณะฟันของนางด้วยจึงถามนางว่า “ทำไม เธอจึงไม่วิ่งหลบหนีฝนเหมือนหญิงอื่นๆ” นางวิสาขาตอบว่า ชน ๔ พวกเมื่อวิ่งจะดูไม่งามได้แก่
๑.พระราชาผู้ทรงประดับด้วยเครื่องอาภรณ์พร้อมสรรพ
๒.บรรพชิตผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์
๓.สตรีผู้ชื่อว่าเป็นหญิงทั้งหลายนอกจากจะไม่ดูงานแล้วถ้าเกิดอุบัติเหตุจนเสียโฉมหรือพิการจะทำให้เสื่อมเสียและหมดคุณค่า
๔.ช้างมงคลตัวประดับด้วยเครื่องอาภรณ์สำหรับช้าง
พวกพราหมณ์ได้เห็นปัญญาอันชาณฉลาด และคุณสมบัติ เบญจกัลยาณี ครบทุกอย่างประการแล้ว จึงขอให้นางพาไปที่บ้านเพื่อทำการสู่ขอต่อพ่อแม่ตามประเพณี เมื่อสอบถามถึงชาติตระกูลและทรัพย์สมบัติก็ทราบว่า มีเสมอกัน จึงสวมพวงมาลัยทองให้นางวิสาชาเป็นการหมายหมั้นหมายและกำหนดวันวิวาหมงคล ธนญชัยเศรษฐี ได้สั่งให้ช่างทองทำเครื่องประดับ ชื่อ “มหาลดาปสาธน์” เพื่อมอบให้แก่ลูกสาว ซึ่งเป็นเครื่องประดับชนิดพิเศษ เป็นชุดยาวติดต่อกันตั้งแต่ ศีรษะจรดปลายเท้า ประดับด้วยเงินทองและรัตนอันมีค่าถึง ๙ โกฎิกหาปณะ ค่าแรงฝีมือช่างอีก ๑ แสน เป็นเครื่องประดับที่หญิงอื่นๆ ไม่สามารถจะประดับได้เพราะมีน้ำหนักมาก นอกจากนี้ ธนญชัยเศรษฐี ยังได้มอบทรัพย์สินเงินทองของใช้ต่างๆ รวมทั้งข้าทาสบริวาร และฝูงโคอีก จำนวนมากมายมหาศาลอีกทั้งส่งกฎุมพีผู้มีความชำนาญพิเศษด้านต่างๆ ไป เป็นที่ปรึกษาดูแลประจำตัวอีก ๘ นายด้วย
ธนญชัยเศรษฐีให้โอวาทลูกสาว
ก่อนที่นางวิสาขาจะไปสู่ตระกูลของสามี ธนญชัยเศรษฐี ได้อบรมมารยาทสมบัติของ กุลสตรีผู้จะไปสู่ตระกูลของสามี โดยให้โอวาท ๑๐ ประการเป็นแนวปฎิบัติ คือ
โอวาทข้อที่ ๑ ไฟในอย่านำออก หมายความว่า อย่านำความไม่ดีของพ่อผัวแม่ผัวและสามีออกไปพูดให้คนภายนอกฟัง
โอวาทข้อที่ ๒ ไฟนอกอย่านำเข้า หมายความว่า เมื่อคนภายนอกตำหนิพ่อผัวแม่ผัวและสามีอย่างไร อย่านำมาพูดให้คนในบ้านฟัง
โอวาทข้อที่ ๓ ควรให้แก่คนที่ให้เท่านั้น หมายความว่า ควรให้แก่คนที่ยืมของไปแล้วแล้วนำมาส่งคืน
โอวาทข้อที่ ๔ ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายความว่า ไม่ควรให้แก่ คนที่ยืมของไปแล้ว แล้วไม่นำส่งคืน
โอวาทข้อที่ ๕ ควรให้แก่คนที่ให้และไม่ให้ หมายความว่า เมื่อมีญาติมิตรผู้ยากจนมาขอความช่วยเหลือพึ่งพาอาศัย เมื่อให้ไปแล้วจะให้คืนหรือไม่ให้คืนก็ควรให้
โอวาทข้อที่ ๖ พึงนั่งให้เป็นสุข หมายความว่า ไม่นั่งในที่กีดขวางพ่อผัว แม่ผัวและสามี
โอวาทข้อที่ ๗ พึงนอนให้เป็นสุข หมายความว่า ไม่ควรนอนก่อนพ่อผัวและสามี
โอวาทข้อที่ ๘ พึงบริโภคให้เป็นสุข หมายความว่า ควรจัดให้พ่อผัว แม่ผัวและสามีบริโภคแล้วตนจึงบริโภคภายหลัง
โอวาทข้อที่ ๙ พึงบำเรอไฟ หมายความว่า ให้มีความสำนึกอยู่เสมอ ว่า พ่อผัว แม่ผัว และสามีเป็นเหมืองกองไฟและพญานาคที่จะต้องบำรุงดูแล
โอวาทข้อที่ ๑๐ พึงนอบน้อมเทวดาภายใน หมายความว่า ให้มีความสำนึกอยู่เสมอว่า พ่อผัว แม่ผัว และสามีเป็นเหมือนเทวดาที่จะต้องให้ความนอบน้อม
ธนณชัยเศรษฐี ให้เวลาถึง ๔ เดือนในการเตรียมทรัพย์สมบัติเพื่อมอบให้แก่นางวิสาขา สำหรับใช้สอยเมื่อไปอยู่ในตระกูลของสามี เฉพาะเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์เพียงอย่างเดียวก็ใช้เวลาทำถึง ๔ เดือนเช่นกัน เมื่อถึงกำหนดนางวิสาขาได้ออกเดินทางไปยังตระกูลของสามี พร้อมด้วยข้าทาสบริวารทรัพย์สินเงินทองของใช้อเนกอนันต์ และโคกระบืออีกมายมายมหาศาลที่บิดาจัดการมอบให้แม้กระนั้น โคกระบือที่อยู่ในคอกยังทำลายคอกวิ่งออกตามขบวนของนางวิสาขาไปอีกจำนวนมาก
ทั้งนี้ด้วยอานิสงฆ์แห่งการทำบุญถวายทานที่นางทำไว้ในอดีตชาติ คือในครั้งที่นางวิสาขาเดิมเป็นธิดาของพระกิกิ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ นางได้ถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณรเป็นประจำ และทั้งๆ ที่พระภิกษุสามเณรกล่าวว่า “พอแล้วๆ” ก็ยังตรัสว่า “พระคุณเจ้าสิ่งนี้อร่อย สิ่งนี้น่าฉัน” แล้วก็ถวามเพิ่มขึ้นอีก ด้วยอนิสงส์แห่งการถวายเพิ่มนี้ บันดาลให้โคเหล่านั้นแม้จะมีคนห้ามมีคอกกั้นอยู่ก็ยังโดดออกจากคอกวิ่งตามขบวนของนางวิสาขาไปอีกจำนวนมาก
เมื่อนางวิสาขา เข้ามาสู่ตระกูลของสามีแล้วเพราะความที่เป็นผู้ได้รับการอบรมสั่งสอนเป็นอย่างดีตั้งแต่วัยเด็ก และเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีน้ำใจเจรจาไพเราะ ให้ความเครพผู้ที่มีวัยสูงกว่าตน จึงเป็นที่รักใคร่และชอบใจของคนทั่วไป ยกเว้นมิคารเศรษฐีพ่อของสามีซึ่งมีจิตฝักใฝ่ในนักบวชอเจลกชีเปลือย โดยให้ความเครพนับถือว่า เป็นพระอรหันต์ และนิมนต์ให้มาบริโภคโภชนาหารที่บ้านของตนแล้ว สั่งให้คนไปตามนางวิสาขามาไหว้พระอรหันต์และให้มาช่วยจัดเลี้ยงอาหารแก่อเจลกชีเปลือยเหล่านั้นด้วย
นางวิสาขา ผู้เป็นพระอริยสาวิกาชั้นโสดาบัน พอได้ยินค่ำว่า อรหันต์ ก็รู้สึกปีติยินดีมายังเรือนของมิคารเศรษฐี แต่พอได้เห็นอเจลกชีเปลือย ก็ตกใจจึงกล่าวว่า “ผู้ไม่มีความละอาย เหล่านี้ จะเป็นพระอรหันต์ไม่ได้” พร้อมทั้งกล่าวติเตียนมิคารเศรษฐีแล้วกลับที่อยู่ของตนต่อมาอีกวันหนึ่ง ขณะที่มิคารเศรษฐีกำลังบริโภคอาหารอยู่ โดยมีนางวิสาขาคอยปรนนิบัติอยู่ใกล้ๆ
ได้มีพระเถระเที่ยวบิณฑบาตผ่านมาหยุดยืนที่หน้าบ้านของมิคารเศรษฐี นางวิสาขาทราบดีว่าเศรษฐีแม้จะเห็นพระเถระแล้วก็ทำเป็นไม่เห็นนางจึงกล่าวกับพระเถระว่า “นิมนต์พระคุณเจ้าไปข้างหน้าก่อนเถิด ท่านเศรษฐีกำลังบริโภคของเก่าอยู่”
เศรษฐีได้ฟังดังนั้นแล้วจึงโกรธเป็นที่สุด หยุดบริโภคอาหารทันทีแล้วสั่งให้บริวารมาจับและขับไล่นางวิสาขาให้ออกจากบ้านไป แต่ก็ไม่มีใครกล้าเข้ามาจับนางวิสาขาขอชี้แจงแก่กฎุมพีมาแล้วแจ้งโทษของนางวิสาขาให้ฟัง ซึ่งนางก็แก้ด้วยคำว่า “ที่ดิฉันกล่าวอย่างนั้น หมายถึง มิคารเศรษฐีบิดาของสามีกำลังบริโภคบุญเก่าอยู่ มิใช่บริโภคของบูดเน่าอย่างที่เข้าใจ” กฎุมพีทั้ง ๘ จึงกล่าวกับเศรษฐีว่า “เรื่องนี้นางวิสาขาไม่มีความผิด”
พ่อผัวยกย่องนางวิสาขาในฐานะมารดา
เมื่อมิคารเศรษฐี ฟังคำชี้แจงของลูกสะใภ้แล้วก็หายโกรธขัดเครือง และกล่าวขอโทษนาง พร้อมทั้งอนุญาติให้นางนิมต์พระบรมศาสดาพร้อมภิกษุสงฆ์มารับอาหารบิณฑบาตในเรืองของตน ขณะที่นางวิสาขาจัดถวายภัตตาหารแด่พระบรมศาสดา และภิกษุสงฆ์อยู่นั้น ก็ได้ให้คนไปเชิญมิคารเศรษฐีมาร่วมถวายภัตตาหารด้วย แต่เศรษฐีเมื่อมาแล้วไม่กล้าที่ออกไปสู่ที่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา เพราะไม่มีศรัทธาเลื่อมใสจึงแอบนั่นอยู่หลังม่าน
เมื่อเสร็จภัตกิจแล้วพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา ส่วนมิคารเศรษฐีแม้จะหลบอยู่หลังม่านก็มีโอกาศได้ฟังธรรมด้วยจนจบ และได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคลในพุทธศาสนาเป็นสัมมาทิฎฐิบุคคลตั้งแต่นั้น มิคารเศรษฐีได้ออกมาจากหลังม่านแล้วตรงเข้าไปหานางวิสาขาให้ปากดูดถันของลูกสะใภ้ และประกาศให้ได้ยินทั่วกัน ณ ที่นั้นว่า “ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปขอเธอจงเป็นมารดาของข้าพเจ้า” และตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาก็ได้นามว่า “มิคามารดา” คนทั่วไปนิยมเรียกนางว่า “วิสาขามิคารมารดา”
คุณสมบัติพิเศษประจำตัวนางวิสาขา
ในบรรดาอุบาสิกาทั้งหลาย นางวิสาขานับว่าเป็นผู้มีบุญสั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติมากเป็นพิเศษกว่าอุบาสิกาคนอื่นๆ หลายประการเช่น
๑.ลักษณะของผู้มีวัยงาม คือ แม้ว่านางจะมีอายุมาก มีลูกชาย-หญิง ถึง ๒๐ คน ลูกเหล่านั้นแต่งงานมีลูกอีกคนละ ๒๐ คน นางก็มีหลานนับได้ ๔๐๐ คน หลานเหล่านั้นแต่งงานมีลูกอีกคนละ ๒๐ คน นางวิสาขามีเหลนนับได้ ๘๐๐๐ คน ดังนั้น คนจำนวน ๘๔๒๐ คน มีต้นกำเนิดมาจากนางวิสาขานางมีอายุยืนได้เห็นหลานได้เห็นเหลนทุกคน แม้นางมีอายุถึง ๑๒๐ ปี แต่ขณะเมื่อนางนั่งอยู่ในกลุ่มของลูก หลาน หลาน นางจะมีลักษณะวัยใกล้เคียงกับคนเหล่านั้น คนพวกอื่นจะไม่สามารถทราบได้ว่านางวิสาขาคือคนไหน แต่จะสังเกตได้เมื่อเวลาจะลุกขึ้นยืน ธรรมดาคนหนุ่มสาวจะลุกได้ทันที แต่สำหรับคนแก่จะต้องใช้มือยันพื้นช่วยพยุงกาย และจะยกก้นขึ้นก่อน นั้นแหละจึงจะทราบว่านางวิสาขาคือคนไหน
๒.นางมีกำลังมากเท่ากับช้าง ๕ เชือกรวมกัน ครั้งหนึ่งพระราชามีพระประสงค์จะทดลอกกำลังของนาง จึงรับสั่งให้ปล่อยช้างพลายตัวที่มีกำลังมากเพื่อให้วิ่งชนนางวิสาขา นางเห็นช้างวิ่งตรงเข้ามา จึงคิดว่า “ถ้ารับช้างนี้ด้วยมือข้างเดียวแล้วผลักไป ช้างก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิต เราก็จะเป็นบาปควรจะรักษาชีวิตช้างไว้ดีกว่า” นางจึงใช้นิ้วมือเพียงสองนิ้วจับช้างที่งวงแล้วเหวี่ยวไปปรากฎว่าช้างถึงกับล้มกลิ้งแต่ไม่เป็นอันตรายด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้ชนทั้งหลายเมื่อขจัดงานมงคลในบ้านเรือนของตนจึงพากันเชิญนางวิสาขาให้ไปเป็นประธานในงาน มอบให้นางเป็นผู้นำในพิธีต่างๆ แม้แต่อาหารก็ให้นางทานก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคล จนนางวิสาขาไม่มีเวลาดูแลปฎิบัติพระภิกษุที่มาฉันในบ้านของตน ต้องมอบให้ลูกๆ หลานๆ ดำเนินการให้
นางวิสาขาสร้างวัด
โดยปกตินางวิสาขาจะไปวัดวันละ ๒ ครั้ง คือ เช้า-เย็น และเมื่อไปก็จะไม่ไปมือเปล่า ถ้าไปเวลาเช้าก็จะมีของเคี้ยวของฉันเป็นอาหารไปถวายพระ ถ้าไปเวลาเย็นก็จะถือน้ำปานะไปถวาย เพราะนางมีปกติทำอย่างนี้เป็นประจำจนเป็นที่ทราบกันดีทั้งพระภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย แม้นางเองก็ไม่กล้าที่จะไปวัดด้วยมือเปล่าๆ เพราะละอายที่พระภิกษุหนุ่มสามเณรีน้อยต่างก็จะมองดูที่มือว่านางถืออะไรมา และก่อนที่นางจะออกจากวัดกลับบ้าน นางจะเดินเยี่ยมภิกษุไข้จนทั่วถึงทุกๆ องค์ก่อนแล้วจึงกลับบ้าน
วันหนึ่งเมื่อนางมาถึงวัดนางได้ถอดเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ มอบให้หญิงสาวผู้ติดตามถือไว้ เมื่อเสร็จกิจการฟังธรรมและเยี่ยมเยือนพระภิกษุสามเณรแล้ว ขณะเดินกลับบ้านนางได้บอกให้หญิงรับใช้ส่งเครื่องประดับให้ แต่หญิงรับใช้ลืมไว้ที่ศาลาฟังธรรม นางจึงให้กลับไปนำมา แต่สั่งว่า “ถ้าพระอานนท์เก็บรักษาไว้ก็ไม่ต้องเอาคืนมาให้มอบถวายท่านไปเลย”
เพราะนางคิดว่าจะไม่ประดับเครื่องประดับที่พระคุณเจ้าถูกต้องสัมผัสแล้ว ซึ่งพระอานนท์ท่านก็มักจะเก็บรักษาของที่อุบาสกอุบาสิกาลืมไว้เสมอ และก็เป็นไปตามที่นางคิดไว้จริงๆ แต่นางก็กลับคิดได้อีกว่า “เครื่องประดับนี้มีประโยชน์แก่พระเถระ” ดังนั้นนางจึงขอรับคืนแล้วนำมาออกขาย ในราคา ๙ โกฎิ กับ ๑ แสนกหาปณะ ตามราคาทุนที่ทำไว้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดมีทรัพย์พอที่จะซื้อไว้ได้ นางจึงซื้อเอาไว้เอง
ด้วยการนำทรัพย์เท่าจำนวนนั้นมาซื้อที่ดินและวัสดุก่อสร้างดำเนินการสร้างวัดถวายเป็นพระอารามประทับของพระบรมศาสดาและเป็นที่อยู่อาศัยจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์สามเณร พระบรมศาสดาสั่งให้พระมหาโมคคัลลานะ เป็นผู้อำนวยการสร้าง
ภายในวัดประกอบด้วย ๒ชั้น มีห้องสำหรับพระภิกษุอาศัย ชั้นละ ๕๐๐ ห้อง โดยใช้เวลาการก่อสร้างถึง ๙เดือน และเมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้วได้นามว่า “พระวิหารบุพพาราม”
นางวิสาขา ได้ชื่อว่าเป็น มหาอุบาสิกาผู้ยิ่งใหญ่ เป็นยอดแห่งอุปัฎฐายิกา ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยวัตถุจตุปัจจัยไทยทานต่างๆ ทั้งที่ถวายเป็นของสงฆ์ส่วนรวม และถวายเป็นของส่วนบุคคลคือแก่พระภิกษุแต่ละองค์ๆ การทำบุญของนางนับว่าครบถ้วนทุกประการตามหลักบุญกิริยาวัตถุ ดังคำที่นางเปล่งอุทานในวันฉลองวิหาร คือ วัดบุพพาราม ที่นางสร้างถวายนั้นด้วยคำว่า “ความปรารภนาใดๆ ที่เราตั้งไว้ในกาลก่อน ความปรารถนานั้นๆ ทั้งหมดของเราได้สำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทุกประการแล้วความปรารถนาเหล่านั้นคือ”
๑.ความปราถนาที่จะ สร้างปราสาทฉาบด้วยปูนถวายเป็นวิหารทาน
๒.ความปราถนาที่จะ ถวายเตียงตั่งฟูกหมอนและเสนาสนภัณฑ์
๓.ความปราถนาที่จะ ถวายสลากภัตเป็นโภชนาทาน
๔.ความปราถนาที่จะ ถวายผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย เป็น จีวรทาน
๕.ความปราถนาที่จะ ถวายเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นเภสัชทาน
ความปราถนาเหล่านั้นของนางวิสาขาสำเร็จครบถ้วนทุกประการสร้างความอิ่มเอิบใจแก่นางยิ่งนักนางจึงเดินเวียนรอบปราสาทอันเป็นวิหารทานพร้อมทั้งเปล่งอุทานดังกล่าว พระภิกษุทั้งหลายได้เห็นกิริยาอาการของนางวิสาขาแล้วต่างก็รู้สึกประหลาดใจไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับนางจึงพร้อมใจกันเข้าไปกราบทูลถามพระบรมศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญตั้งแต่ได้พบเห็นและรู้จักนางวิสาขาก็เป็นเวลานานพวกข้าพระองค์ทั้งหลาย ไม่เคยเห็นนางขับร้องเพลงและแสดงอาการอย่างนี้มาก่อนเลย แต่วันนี้ นางอยู่ในท่ามกลางการแวดล้อมของบรรดาบุตรธิดาและหลานๆ ได้เดินเวียนรอบปราสาทและบ่นพึมพำคล้ายกับร้องเพลง เข้าใจว่าดีของนางคงจะกำเริบ หรือไม่นางก็คงจะเสียจริตไปแล้วหรืออย่างไรพระเจ้าข้า?”
พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุท้้งหลาย ธิดาของเรามิได้ขับร้องเพลงหรือเสียจริตอย่างที่พวกเธอเข้าใจหลอก แต่ที่ธิดาของเราเป็นอย่างนั้นก็เพราะความปิติยินดีที่ความปรารถนาของตนที่ตั้งไว้นั้นสำเร็จลุล่วงสมบูรณ์ทุกประการนางจึงเดินเปล่งอุทานออกมาด้วยความอิ่มเอมใจด้วยเหตุที่นางวิสาขาได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์และได้ถวายวัตถุจตุปัจจัยในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก” ดังกล่าวมา พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงประกาศยกย่องนางในตำแหน่ง “เอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่าย ผู้เป็นทายิกา”
น้อมกราบสาธุๆๆครับ
#แชร์เป็นธรรมทาน
............................
.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น