( ตอนที่ ๒) เมื่อหลวงพ่อจรัญ ไปเรียนวิชากับหลวงพ่อเดิม
◎หลังจากนั้นหลวงพ่อเดิมได้สอนวิชาเมฆฉายให้แก่อาตมา ท่านกล่าวเล่าว่า
“แม่ทัพสมัยก่อนโน้นเวลาจะออกรบทัพจับศึก นอกจากจะเตรียมอาวุธไว้ป้องกันตัวและคาถาอาคมแล้ว ยังทำเมฆฉายด้วยการยกร่างของตนเองขึ้นไปบนก้อนเมฆ ทำนิมิต จะมองเห็นเลยว่าไปคราวนี้เป็นอย่างไร ถ้าไปดีมีชัยก็จะติดต่อกันทั้งร่าง ถ้าลางร้าย ตัวนิมิตบนก้อนเมฆจะคอขาด แขนขาด ต่อกันไม่ติด ก็รู้ล่ะว่าออกไปแล้วจะตาย ก็จะสั่งเสียและฝากฝังลูกเต้าไว้กับพระเจ้าแผ่นดิน แล้วตัวเองก็ออกไปตายอย่างชายชาติทหาร นี่แหละพิชัยสงครามล่ะเธอ”
อาตมายังทันเขาโกนจุกกันข้างวัดหนองโพ หลวงพ่อเดิมท่านเห็นว่าอาตมาเป็นพระบวชใหม่จึงถามว่า
“สวดได้ไหมล่ะ จะได้ไปสวดมนต์ด้วยกัน”
อาตมาก็ตอบว่า “ได้ขอรับ กระผมสวดได้ ท่านก็ให้ไปด้วย พอพระสวดเสร็จ เขาก็ให้ปี่พาทย์ของวัดนั่นแหละบรรเลงเพลงแบบการต่อสู้ แล้วก็มีเด็กวัดหนองโพอีกนั่นแหละแต่งตัวทะมัดทะแมง มารำกระบี่กระบองตีกันอย่างคล่องแคล่วว่องไว ค่าบูชาครูหกบาทใส่พานพร้อมดอกไม้ ธูปเทียน เงินหกบาทที่ได้หลวงพ่อก็แบ่งให้เด็ก ๆ ตามแต่คนไหนบ้านมีฐานะดีก็เอาไปน้อยหน่อย คนที่พ่อแม่ยากจนหรือเป็นกำพร้าก็ได้มาก เอาไว้เรียนหนังสือให้เป็นเจ้าคนนายคนต่อไป
ลิเกวัดหนองโพก็มีการสอน อาตมากล้าพูดได้ว่า วัดหนองโพมีลิเก หลวงพ่อเดิมท่านเอามาหัดให้มีอาชีพกัน เมื่อมีวงปี่พาทย์ก็ต้องมีลิเก ที่วัดเทวราช จังหวัดอ่างทอง ก็มีเหมือนกัน ตอนที่อาตมาเล็ก ๆ ยังจำได้คนที่สอนกลอนลิเก ไม่ใช่ครูลิเก แต่เป็นสมภารวัดเทวราช ท่านเก่งเทศน์มหาชาติ เจ้าบทเจ้ากลอน ท่านก็สอนกลอนลิเกให้
ครูโรงเรียนก็จัดเด็กที่ยากจนเอามาหัดเล่นลิเก ไม่ต้องเล่นเรื่องอะไรหรอก มหาชาติตั้งแต่ทศพรไปจนจบ คนดูติดกันเกรียวกราว พอเอ่ยถึงลิเกเทวราชแล้วทุกคนร้อง อ๋อ! ต้องรีบไปรอหน้าโรงแต่หัววัน
หลวงพ่อเดิมท่านไม่แต่เพียงให้มีการสอนลิเกที่วัดหนองโพเท่านั้น เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว หลวงพ่อเดิมก็สอนให้หมด รักษามรดกทางวัฒนธรรมเอาไว้ไม่ให้สูญหาย หลวงพ่อเดิมท่านเป็นพระนักอนุรักษ์ของโบราณโดยสายเลือดทีเดียว พระสมัยก่อนนั้นท่านเก่งทุกด้านนะ ไม่ใช่แค่นั่งเทศนาอย่างเดียว ท่านรอบรู้ไปเสียทุกอย่าง เรียกว่า พระสมัยนั้นเป็นพระที่เก่งทั้งทางโลกและทางธรรม
อาตมาอยู่วัดหนองโพนานวันเข้า เรื่องจะสึกก็ยังคิดอยู่ พอเห็นว่าสมควรแก่เวลาก็คลานเข้าไปหาหลวงพ่อเดิม แล้วก็กราบเรียนท่านว่า
“หลวงพ่อขอรับ กระผมจะสึกละขอรับ อยากเป็นฆราวาสเต็มแก่”
หลวงพ่อเดิมท่านหันมาจ้องดูแล้วก็ทำเหมือนครั้งแรกที่เคยเจอท่านกระแอม
“แฮ้ม แฮ้ม แฮ้ม แฮ้ม แฮ้ม หยุดไว้ก่อน คุณอย่างเพ่งจะมาสึก ตอนนี้ไม่ถึงเวลา”
อาตมาก็ไม่กล้าจะพูดเรื่องสึกต่อไป แต่ก็คิดอุบายมาได้ว่าก็ไหน ๆ จะสึกแล้ว ไม่วันใดวันหนึ่งทำไมไม่ขอคาถามหานิยม สีผึ้ง สึกไปแล้วจะได้จีบผู้หญิงได้ง่าย ๆ มีภรรยาสวย ๆ เลยกราบเรียนท่านไปว่า
“ไม่ถึงเวลาก็ไม่เป็นไรขอรับ กระผมขอคาถามหานิยมอย่างเด็ดขาดสักบท ที่สีปากด้วยสีผึ้ง แล้วผู้หญิงเดินตามต้อย ๆ กระผมอยากได้มานานแล้ว”
อาตมารบเร้าเรื่องคาถามหาเมตตาจากหลวงพ่อเดิม ท่านก็สอนเป็นปรัชญาเรื่อยไป อาตมาก็อยากจะสึกแต่ไม่กล้าจะรบเร้าท่านมาก ท่านคอยห้ามเอาไว้ในที ส่วนใหญ่จะว่าไม่ได้ฤกษ์สึก ในที่สุดอาตมาก็รบเร้าเอาจนหลวงพ่อเดิมท่านใจอ่อน หลวงพ่อเดิมท่านก็หัวเราะหึ ๆ แล้วก็ยิ้มอย่างเมตตา ก่อนจะสั่งให้หากระดาษดินสอมาให้ท่าน ท่านให้คาถาสารพัด จดกันไม่หวาดไม่ไหว จดแล้วท่านบอกให้ไปท่องให้ได้ โอ้โหคาถามากมายจนอาตมาไม่ต้องมาขอคาถาเพิ่ม มัวแต่ท่องคาถา เรื่องสึกก็เลยลืมไป เห็นไหมล่ะหลวงพ่อเดิมท่านทันคนขนาดไหน ท่านดัดหลังแก้ลำอาตมาจนเซ่อไปเลยทีเดียว
คาถาบทหนึ่งซึ่งหลวงพ่อเดิมท่านใจอ่อนให้ถาคาไว้ ซึ่งเป็นคาถาที่ศิษย์หลวงพ่อเดิมใช้กันทุกคน คือ
นะ เมตตา
โม กรุณา
พุท ปรานี
ธา ยินดี
ยะ เอ็นดู
มะ คือตัวกู
อะ คือคนทั้งหลาย
อุ เมตตาแก่กูสวาหะ
นะ โม พุทธายะ
อาตมาสุดแสนดีใจว่าได้คาถาเมตตาเอามาท่องจนขึ้นใจ คราวนี้ได้การล่ะ สึกเมื่อใดจะได้เอาไปใช้ให้สมกับที่รอ แต่จนแล้วจนรอด หลวงพ่อเดิมก็ไม่สึกให้เสียทีหนึ่ง คอยว่าเมื่อใดเหลวงพ่อจะเมตตาสึกให้ ก็ไม่มีวี่แวว
อาตมาท่องจนขึ้นใจ แต่ก็ไม่ได้รู้ว่าคาถานั้นแท้ที่จริงอยู่ในพระกรรมฐานนั่นเอง เพราะพระกรรมฐานสอนให้แผ่เมตตา ถ้าไม่มีเมตตาปรานีแล้ว ท่องคาถาไปก็เปล่า ๆ พอมานั่งเจริญพระกรรมฐานจริงจัง หลังจากหลวงพ่อเดิมมรณภาพไปแล้ว จึงกระจ่างมองเห็นภาพท่านสอนคาถาเมตตาให้ทุกอิริยาบถ นี่เป็นอย่างนี้ หลวงพ่อเดิมท่านเป็นพระทันสมัยทันการณ์ทุกอย่าง อาตมายังได้คาถาอีกบทหนึ่งซึ่งท่านสอนให้ เนื่องจากอาตมาปรารภจะได้คาถาเมตตาชนิดที่เรียกว่า ภาวนาแล้วผู้หญิงติดเป็นตังเม หลวงพ่อเดิมท่านก็เลี่ยงไปเลี่ยงมา ในที่สุดก็จดคาถาให้ว่า
นะกาโรกุกะสันโธ สิโรมัชเฌ
โมกาโรโกมะนาคะมะโน นลาถิเต
พุทกาโรกัสสะโปพุทโธ จะเทวเนตเต
ธากาโรศากยะมุนีโคตโม จะเทวกัณเณ
ยะกาโรศรีอริยะเมตตรัยโย ชีวหาถิเต
ปัญจะพุทธานะมามิหัง
เมื่อหลวงพ่อเดิมให้คาถามา อาตมาก็ท่องไปเรื่อย ๆ และในที่สุดก็ไม่ได้ใช้ เพราะไม่ได้สึก พอมาเรียนพระกรรมฐานและสติปัฏฐานสี่ ในตอนหลังนี้ก็เข้าใจแจ่มแจ้งว่า คาถาที่หลวงพ่อให้ ไม่ใช่คาถาเมตตาที่ไหนเลย แต่เป็นคำสอนของพระบรมศาสดาทั้งนั้น ก็คือว่า ให้ระมัดระวังศีรษะ ให้รู้จักน้อมคารวะผู้มีคุณธรรม หน้าผากก็ให้ผ่าเผยด้วยใบหน้าอันยิ้มแย้ม ดวงตาให้สำรวมระวังในการมองดู เพราะนั่นเป็นทางเกิดกิเลสต่าง ๆ ให้สำรวมระวังหู ให้ฟังแต่สิ่งดี ๆ อย่าไปฟังเรื่องไม่ดี ฟังหูไว้หู ให้หูหนักเข้าไว้ อย่าหูเบา และลิ้นนั้นให้ระวังสำรวมในรสอาหาร อย่าไปติดมันเข้า เพราะมันทำให้เกิดกิเลส
ดังนั้นคาถาเมตตาของหลวงพ่อเดิม จึงรวมเอาคำสอนของพระบรมศาสดา เรื่องการสำรวมระวังอินทรีย์ทั้งนั้น แต่เมื่อคนเกิดไปภาวนาด้วยความมั่นใจแล้วก็ทำให้ขลังขึ้นได้เหมือนกัน
อาตมาได้เรียนถามหลวงพ่อเดิมต่อไปถึงเรื่องมนตรามหาเสน่ห์ ที่ได้จดจากหลวงพ่อเดิมไปหลายบทด้วยกันว่า
“หลวงพ่อครับ เอาบทที่ว่าแน่ ๆ เสกแล้วผู้หญิงรักสักบทเถอะ มากนักผมว่าไม่ค่อยจะดี”
เทพเจ้าแห่งวัดหนองโพหันมาหัวเราะหึ ๆ ก่อนจะกล่าวตอบต่อไปว่า
“ต้องการอย่างนั้นจริง ๆ นะ ไม่กลับคำนะ สัจจังเว อมตฺตา วาจา นะ”
“แน่นอนครับ ผมสึกออกไปอยากได้เมียสวย ๆ สักคน ต้องเสกคาถากันหน่อยละครับ”
“เอาฟังให้ดี ๆ นะแล้วจำเอาไว้ก็แล้วกัน พูดจริง ทำจริง ทุกสิ่งผู้หญิงดีรัก พูดไม่จริง ทำไม่จริง ทุกสิ่งผู้หญิงเลวรัก ผู้หญิงมีหลายอย่างนะ ผู้หญิง ผู้หยังแม่กระชังก้นรั่ว มาเที่ยวเลาะขอบรั้วหาดีไม่ได้ ผู้ชายก็ชายกระเบน ไม่เอาไหนก็เลยไปกันใหญ่”
เมื่อท่องหนักเข้า อาตมาก็สงสัยขึ้นมาว่า คาถานี้ใช้อย่างไรดี วันหนึ่งเห็นหลวงพ่อเดิมกำลังเป่าหัวศิษย์ เสียงว่า “เพี้ยง...ดี” ไม่เห็นท่านท่องคาถาสักบท อาตมาก็จำเอาไว้ เอาล่ะเป็นไงเป็นกัน ให้คาถาเรามาท่องยืดยาว แต่พอถึงคราวท่านเองกลับไม่ท่อง ใช้ลมปากเป่าเพี้ยง ๆ พอตกกลางคืนไปนวดให้ท่าน อาตมาก็เลยตัดพ้อต่อว่าหลวงพ่อเดิมท่านว่า
“หลวงพ่อให้คาถากระผมไปท่องตั้งมากมาย ผมก็ท่อง กะว่าจะดีให้ได้ แต่พอเห็นหลวงพ่อเป่า เพี้ยง ดี เพี้ยง ดี ให้คนอื่น หลวงพ่อไม่เห็นท่องคาถาอะไรเลย จับหัวมาได้ก็เป่าเพี้ยง ดี เพียง ดี อย่างนี้ผมก็ท่องเสียเวลาเปล่า”
หลวงพ่อเดิมท่านก็เลยไขความลับให้อาตมาฟัง ทำให้อาตมาได้หูตาสว่างกันตอนนั้นเอง ท่านบอกอย่างนี้
“คาถาน่ะไม่ขลังหรอก เขาเอาไว้ท่องเอาไว้เป็นองค์ภาวนา เพื่อให้จิตเป็นหนึ่งต่างหาก เหมือนเราจะเดินข้ามแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว เปรียบเหมือนกำลังจิตที่ไม่เป็นระเบียบ ไม่เป็นอำนาจอันมหาศาล ต้องอาศัยการภาวนาคาถา เพื่อให้จิตเป็นหนึ่ง ใช้คาถานั่นแหละเป็นองค์ภาวนาต่างสะพานข้ามฟากไป พอจิตข้ามฟากไปถึงจุดหมายปลายทาง คือเป็นหนึ่งเป็นพลังมหาศาลแล้วก็รื้อสะพาน คือคาถาที่ภาวนาทิ้งไป จิตเป็นหนึ่งเป็นพลังมหาศาล แล้วเขาเรียกว่าจิตตานุภาพ ฉันจึงไม่ต้องท่องคาถา แต่ใช้เจริญจิตให้เป็นหนึ่งแล้วเป่าลมปราณ อธิษฐานให้เขาสมหวังว่า เพี้ยง ดี เพี้ยง ดี เข้าใจหรือยังล่ะ ไปท่องต่อไป ท่องให้จิตมันข้ามฟากให้ได้”
อาตมาก็ถามว่า ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น หลวงพ่อเดิมท่านก็อธิบายให้อาตมาฟังต่อไปว่า
“ตอนแรกก็ยกระดับจิตขั้นประถมก่อน แล้วภาวนาขึ้นไปถึงชั้นมัธยม แล้วก็เจริญให้เป็นเอกัคคตา มันเป็นการเจริญภาวนา เจริญจิตให้เป็นเอกัคคตา เมื่อจิตบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสทั้งหยาบและละเอียดแล้ว จะต้องการอะไรก็ได้ทุกประการ คิดเงินก็ได้เงิน คิดทองก็ได้ทอง แต่หลวงพ่อคิดแต่เมตตาให้เขาได้พ้นเคราะห์ ให้เขารวย ให้เขาดี เป่าไปเขาจึงได้ตามที่หลวงพ่อให้ไป” และท่านบอกว่า “คุณท่องต่อไปเถอะ ทำให้จิตเป็นเอกัคคตาให้ได้ แล้วก็จะรู้เองว่า เพี้ยง ดี ของหลวงพ่อเป็นอย่างไร”
อาตมานวดหลวงพ่อเดิมทุกคืน ตลอดเวลาหกเดือนที่อยู่กับท่าน มันเป็นเรื่องน่าแปลก ไม่มีพระสักองค์ที่มานวดท่าน มาขอของดีจากท่านเหมือนอาตมา ใกล้เกลือกินด่างกันหมด อาตมาจึงว่า แม้อาตมาจะอยู่กับหลวงพ่อเดิมไม่นาน แต่อาตมาได้ของดีจากหลวงพ่อเดิมมามารพอสมควร คิดถึงเดี๋ยวนี้แล้วก็เสียดายว่า เราหนอเรา ทำไมไม่รู้จักหลวงพ่อเดิมก่อนหน้านี้นาน ๆ เสียดายเหลือเกิน
อาตมาขอเล่าเรื่องแปลก ๆ ให้ฟังเรื่องหนึ่ง คนที่มาหาหลวงพ่อเดิมไม่ได้มารับแหวน รับมีด รับเหรียญ รับรูปหล่ออย่างเดียว แต่มาขอรอยเท้าหลวงพ่อ อาตมานี่แหละเป็นคนเอาครามมาทาเท้าหลวงพ่อ แล้วก็เอาหมอนรอง เอาผ้าขาวปูแล้วหลวงพ่อเดิมท่านก็เหยียบรอยเท้าลงไปแล้วก็เป่า “เพี้ยง ดี” เอาให้คนที่ต้องการเอาไป ดูเอาซีความดีของหลวงพ่อเดิมน่ะ แม้แต่รอยเท้าเขาก็เอาไปบูชากัน นี่แหละ อำนาจแห่ง ศีล ทาน และภาวนาของท่าน อาตมายังจำภาพเก่า ๆ ได้ดี ไม่มีวันลืม ก็เลยไม่สึกออกไปมีลูกมีเมีย ท่านช่างล่วงรู้เข้าไปถึงใจอาตมา
หลายวันเข้า อาตมาก็อดที่จะถามไม่ได้ เพราะว่ามันมีความอยากรู้อยากเห็นว่าทำไมหนอ คนจึงต้องการรอยเท้าหลวงพ่อเดิมไปบูชา รอยเท้าของท่านดีอย่างไรกันแน่ คืนหนึ่งได้โอกาสนวดท่าน แล้วก็เลยถามท่านตรง ๆ ว่า
“หลวงพ่อครับ รอยเท้าหลวงพ่อที่เขามาเอาไปบูชาน่ะดีตรงไหน เห็นเขามาเอาไปทุกวัน ๆ ช่วยบอกให้กระผมได้ตาสว่างสักหน่อยเถอะขอรับหลวงพ่อ”
เทพเจ้าแห่งวัดหนองโพ หันหน้ากลับมามองอาตมา นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง ไม่พูดว่าอะไร อาตมาก็นิ่งคอยฟังว่า หลวงพ่อเดิมท่านจะพูดถึงรอยเท้าของท่านว่าอย่างไร ท่านดูเหมือนจะทิ้งช่วงเพื่อเหตุผลอะไรสักอย่าง แล้วท่านจึงได้กล่าวกับอาตมาให้ได้เข้าใจเป็นปรัชญาที่อาตมากล้าท้าได้ว่า ผู้มีรอยเท้าหลวงพ่อเดิมติดตัวจะไม่เคยรู้ความหมายของรอยเท้าหลวงพ่อเดิมมีอย่างไรหลวงพ่อเดิมท่านตอบอาตมาว่า
“ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๕ ประเทศไทยต้องถูกญี่ปุ่นเข้ายึดไว้เป็นทางผ่าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ทำให้สัมพันธมิตรประกาศสงครามกับไทยไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้ ลำพังประกาศสงครามธรรมดาคงไม่เป็นไร แต่นี่เล่นแห่กันเอาระเบิดมาทำลาย มาถล่มใส่ที่มั่นของฝ่ายญี่ปุ่นในประเทศไทยอย่างหนัก ผลของการทิ้งระเบิดทำให้ชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยพินาศไปไม่น้อย ผู้คนต่างก็หวาดกลัวภัยสงครามกันแทบเป็นบ้า ข้าวยากหมากแพงอดอยากกันทั่วหน้า
ประชาชนชาวนครสวรรค์และใกล้เคียงต่างก็พากันเสาะหาของขลังติดบ้าน ติดตัว กลัวภัยระเบิด ที่มีสตางค์ก็ไปบูชาวัตถุมงคลมาไว้เป็นกำลังใจ โดยเฉพาะวัดหนองโพนั้น วันหนึ่ง ๆ คราคร่ำไปด้วยผู้คนที่มาเช่าแหวน รูปหล่อ เหรียญ มีด พระงาแกะ สิงห์งาแกะกันเป็นจ้าละหวั่น คนที่ไม่มีเงินก็ได้แต่หน้าเศร้าเพราะกรรมการวัดเขาสร้างวัตถุมงคลต้องลงทุนด้วยเงิน เขาก็ให้เช่าบูชา ส่วนที่เกินทุนออกมา หลวงพ่อเดิมท่านก็เอาไปสร้างโบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญตามวัดต่าง ๆ ให้เจริญยิ่งขึ้น
จะเป็นใครเป็นผู้ริเริ่มนั้นยืนยันไม่ได้ แต่ปรากฏว่ามีผู้นำเอาผ้าขาวมาให้หลวงพ่อเดิมเหยียบรอยเท้า สีที่ใช้ก็คือ ความลงผสมน้ำนี่เอง เอามาทาฝ่าเท้าหลวงพ่อเดิมแล้วให้ท่านเหยียบ
การเหยียบตอนแรกเหยียบกับกระดาษเปล่า ติดชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง ก็ว่ากันไปตามสะดวก ต่อมามีผู้ไปเกิดประสบการณ์ต่าง ๆ เช่น ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า ตีไม่แตก บางทีก็เอาไปโบกไล่เครื่องบินให้วนไปที่อื่น หรือโบกปัดระเบิด บางบ้านรอบ ๆ บ้านพินาศยับเยินด้วยแรงระเบิดทำลาย แต่บ้านที่มีรอยเท้าหลวงพ่อเดิมกลับปลอดภัย ไม่มีกระเบื้องแตกสักแผ่น เล่าลือกันหนักเข้า หลวงพ่อเดิมก็ต้องนั่งประทับรอยเท้าจนขาเมื่อย
ทางวัดได้จัดบริการแบบใหม่คือ หาหมอนมารองเป็นที่ประทับรอยเท้าหลวงพ่อเดิม เมื่อเอาครามทาฝ่าเท้าหลวงพ่อเดิมแล้ว ก็วางผ้าขาวลงไปบนหมอน แล้วหลวงพ่อเดิมท่านก็ประทับรอยเท้าลงไป ปรากฏว่าไม่ต้องออกแรงมาก ลายเท้าติดชัดเจนเรียบร้อย
วันหนึ่ง หลวงพ่อห้อยเท้าเหยียบรอยเท้าเป็นชั่วโมง ๆ จนศิษย์สงสาร พากันอุ้มหลวงพ่อเดิมหนีเข้ากุฏิไป หลวงพ่อเดิมท่านก็ร้องว่า อย่าเลย ๆ เขาต้องการพบฉัน อย่าให้เขาเสียศรัทธา พอศิษย์วางลงผู้คนก็ฮือกันเข้าไปใหม่ เล่นกันเหงื่อไหลไคลย้อย
หลวงพ่อน้อย (ท่านพระครูนิพันธ์ธรรมคุต) อดีตเจ้าอาวาสหนองโพ เคยขอเรียนวิชากับหลวงพ่อเดิม ท่านไม่ขัดข้อง แต่ท่านได้ให้คติไว้ข้อหนึ่งว่า
“อยากได้วิชา ฉันไม่หวง แต่เมื่อเป็นแล้วละก็ จะมานึกถึงตัวภายหลังจะได้ไม่มาว่ากัน ว่าไม่บอกเสียก่อน”
เมื่อหมดผู้คนที่มาหลวงพ่อเดิม เทพเจ้าแห่งวัดหนองโพ จึงปรารภเป็นทำนองขบขันกับศิษย์ว่า
“มันทำเหมือนฉันเป็นหนูถีบจักร เหนื่อยเหลือเกิน”
ปู่โคน อินยิ้ม อดีตมัคทายกวัดหนองโพได้กล่าวถึงการเหยียบรอยเท้าหลวงพ่อเดิม ท่านเหยียบรอยเท้าต้องยกเท้าขึ้นลงอย่างนั้นว่า
“หลวงพ่อท่านบอกเป็นปริศนาว่าฉันใช้กรรมเขาให้หมด กรรมที่ฉันตกปลอกช้างที่จับเอามาช่วยงานไงละ มันไปไหนไม่ได้ ก็ยกขาขึ้น ๆ ลง ๆ เพื่อให้หายเหนื่อย ฉันก็เลยผ่อนใช้กรรมเขาไป”
เมื่อหลวงพ่อเดิมท่านประทับรอยเท้าครั้งหนึ่งก็จะเอามือสองข้างกดที่หัวเข่าแล้วเป่าเพี้ยงลงไปพ้วงหนึ่ง ทุกครั้งเป็นการกำกับ และเมื่อท่านไปเหยียบรอยเท้าครั้งใหญ่ที่ค่ายจิรประวัติ มณฑลทหารบกจังหวัดนครสวรรค์ ท่านเคยใช้นะปัดตลอดเหยียบรอยเท้าทะลุ ครั้งละ ๑๐ ผืน เพื่อให้ทันกับเวลาและจำนวนทหาร ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เพราะหลวงพ่อเดิมท่านไม่อาจเลี่ยงได้ เพราะท่านไม่คาดว่าเขาจะให้ท่านเหยียบมากมายขนาดนั้น
ครามที่ใช้ผสมน้ำนั้นมีหลายสี สีน้ำเงินแก่ก็มี น้ำเงินอมฟ้าก็มี น้ำเงินอมดำก็มี และที่ออกม่วงก็เคยพบ แต่ที่เหมือนกันก็คือ ถ้าถูกน้ำแล้วจะละลาย เพราะครามกลัวน้ำเป็นอย่างยิ่ง สีจะซีดจางหรือไม่ อยู่ที่การรักษาสภาพไม่ให้ถูกความชื้น ถูกแดดหรือถูกเหงื่อจนชุ่ม นั่นคือผ้ารอยเท้าของเทพเจ้าแห่งวัดหนองโพ
อาตมาเรียนถามหลวงพ่อเดิมเรื่องรอยเท้าของท่านว่า
“ที่หลวงพ่อเหยียบรอยเท้าให้เขาไปนั้น มันดีอย่างไรครับ บอกให้กระผมได้ตาสว่างสักครั้งหนึ่งเถิดขอรับ”
เทพเจ้าแห่งวัดหนองโพมองดูหน้าอาตมาก่อนจะกล่าวตอบด้วยน้ำเสียงอันดังกังวานว่า
“เอ้อ ตาดีก็ได้ ตาร้ายก็เสีย หูดีก็ได้ หูร้ายก็เสีย”
อาตมาถึงกับงงเป็นไก่ตาแตก เพราะหลวงพ่อเดิมท่านตอบไม่ตรงคำถาม จึงรุกเข้าไปถามใหม่
“ไม่ใช่อย่างนั้นหลวงพ่อครับ กระผมต้องการรู้ว่าที่เขาเอาไปใช้กันน่ะดีทางไหนกันแน่ ถึงได้มาขอกันจนเหยียบไม่ได้หยุด”
“เอ้องั้นเรอะ ฟังนะ เขาว่าดีเอาไปโพกหัวแล้วยิงไม่ออก โพกหัวแล้วตีไม่แตก นั่นว่ากันอย่างนั้น ฉันไม่ได้ว่านะ เขาว่ากันไปเองแหละ”
“อ้าวแล้วอย่างนั้นหลวงพ่อให้เขาเอาไปทำไมกันล่ะครับ ถ้าหลวงพ่อไม่ได้ว่าดี เขาว่ากันเองล่ะก็”
“เรื่องนั้นไม่เกี่ยวกับฉันนี่คุณ ธรรมะของฉันที่ฉันฝากไว้ในรอยเท้ามันไม่ใช่อย่างที่เขาเล่าลือกัน”
“ธรรมะอะไรกันครับหลวงพ่อ ช่วยอธิบายให้ผมเข้าใจหน่อย ผมงงไปหมดแล้ว”
เทพเจ้าแห่งวัดหนองโพนิ่งสักครู่ เหมือนจะรวบรวมจิตแสดงธรรมให้อาตมา ซึ่งเป็นภิกษุหนุ่มฟัง อาตมาก็นิ่งคอยฟัง หลวงพ่อเดิมได้เผยธรรมะในรอยเท้าของท่านอย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งอาตมาเชื่อแน่ว่าผู้ที่มีรอยเท้าของท่านคงไม่มีโอกาสรู้ เพราะมัวแต่ไปคิดว่ามหาอุด คงกระพัน กันลูกปืนเสียเป็นส่วนใหญ่ หลวงพ่อเดิมท่านว่าอย่างนี้
“รอยเท้าของฉันเหยียบไว้เป็นที่ระลึกว่า ฉันคือหลวงพ่อเดิม ที่ในหลวงท่านพระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็นพระครูนิวาสธรรมขันธ์ หมายถึงว่า เป็นที่ตั้งแห่งธรรมทั้งปวง ฉันปฏิบัติในกรอบแห่งความดี ฉันไม่เบียดเบียน ฉันสร้างความเจริญในถิ่นกันดาร ฉันทำดีเพื่อให้พระศาสนารุ่งเรือง เมื่อได้รอยเท้าของฉันไปแล้วก็จงระลึกว่า หลวงพ่อเดิมท่านทำดี เราควรทำความดีเจริญรอยตามรอยเท้าของท่านไปเป็นคนดี คิดดี ทำดี อยู่แต่ในศีลธรรมอันดีงาม นั่นแหละรอยเท้าของฉันจึงจะขลัง ไม่ใช่เอาไปโพกหัวแล้วยิงไม่ออก แต่ไม่เคยมีใครถามฉันสักราย เห็นแต่เอารอยเท้าไปติดตัวแล้วหายเงียบไป”
อาตมาได้ฟังจบลงแล้วน้ำตาคลอ มันซาบซึ้งใจจริง ๆ ตั้งแต่บวชมาจนคิดจะสึกก็เพิ่งพบหลวงพ่อเดิมนี่แหละที่ท่านมีปรัชญาอันซาบซึ้งใจของอาตมา อาตมากล้าพูดได้ว่า หกเดือนที่อยู่วัดหนองโพ ทำให้อาตมาเป็นพระเต็มตัว ความคิดสึกหมดไป เพราะเห็นแล้วว่าพระที่ดีอย่างหลวงพ่อยังมี พระที่ไม่ดีที่เราเคยเห็นมานั้นเทียบกับท่านไม่ได้ เหมือนเพชรกับแก้วที่ไม่อาจมาเคียงคู่กันได้เลย
หลวงพ่อเดิมยังให้แง่คิดกับอาตมาอีกอย่างหนึ่งในวาระนั้นว่า
“คุณฟังฉันให้ดี ๆ นะ คนที่มาวัดนั้นร้อยละแปดสิบเป็นพวกคนโง่ จ้องจะมาเอาแต่ของขลัง เพราะเขายังห่างธรรมะ ร้อยละยี่สิบเข้ามาหาธรรมะมาสนทนาธรรมกับฉัน มีเพียงไม่กี่คนที่ถามฉันเหมือนที่คุณถามฉัน ก็จะบอกกับเขาว่า
“เอารอยเท้าฉันไปนะ ฉันเป็นอุปัชฌาย์ของเธอ ฉันเป็นพระที่เธอนับถือ ฉันไม่เก่งอะไรหรอก แต่ฉันสร้างความดี เธอจงเอารอยเท้าฉันไปดูให้ติดตา แล้วทำความดีตามรอยเท้าฉัน แล้วจะประสบความสุขความเจริญทั่วหน้า”
หลวงพ่อเดิมท่านสอนเรื่องการบวชโดยกล่าวกับอาตมาว่า
“นี่แน่ะคุณ คุณลองนึกย้อนกลับไปดูซิว่า ก่อนที่คุณจะกล่าวคำขอบวชน่ะ ต้องพากเพียรท่องขานนาคขนาดไหน ต้องสวมเสื้อครุยแบบเนติบัณฑิตขลิบทองสวยงาม เข้าขบวนแห่ พ่อแม่ญาติพี่น้องก็ดีใจกันใหญ่ว่า เออ ลูกหลานเราได้บวชแล้ว จะได้เป็นบัณฑิตสมกับที่ได้ตั้งใจนำตัวเข้าอุปสมบท
เข้ามาแล้ววนโบสถ์สามรอบวันทาเสมาเข้ามาในพระอุโบสถ กล่าวคำขออุปสมบทกับเหล่าสงฆ์ต่อเบื้องหน้าพระพักตร์ของพระประธานในโบสถ์ที่แทนองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ทีละคำ ๆ ไม่ใช่บวชได้เลยนะ ต้องเอาผ้าไตรถวายอุปัชฌาย์แล้วออกไปให้พระกรรมวาจาจารย์ถามแล้วสอบอีกว่า ครบถ้วนตามพุทธบัญญัติไหม ครบแล้วก็จะมาบอกกับอุปัชฌาย์ว่าครบแล้ว
ต้องทำตามขั้นตอนกว่าจะได้บาตรมาสะพาย กว่าจะสำเร็จเป็นองค์พระสงฆ์ต้องสวด ญัตติจตุตถกรรม จึงสำเร็จเป็นภิกษุสภาวะ ตายจากฆราวาส มีนามใหม่เป็นนามสำหรับภิกษุ เช่น หลวงพ่ออุปัชฌาย์ท่านจะกล่าวว่า “พุทธสโรนามะเต แปลว่า เจ้ามีนามว่า พุทธสโรภิกขุ”
เห็นไหมล่ะว่าการเป็นภิกษุนั้นยากแค่ไหน แต่เวลาสึกซีง่ายเหลือเกิน เพียงแต่ไปคุกเข่าต่อหน้าพระอุปัชฌาย์ แล้วกล่าวคำสั้น ๆ ว่า
“ข้าพเจ้าขออกจากการเป็นสงฆ์”
พระอุปัชฌาย์ก็จะเอื้อมมือไปปลดสังฆาฏิออกจากบ่า แล้วกล่าวคำให้สึกได้ง่าย แต่คุณเห็นไหมว่าสำคัญแค่ไหน
สึกออกไปแล้วบางคนแทนที่จะไปเป็นบัณฑิตหรือทิด เปล่าเลยพอสึกเช้า ค่ำก็กินเหล้าเมาหยำเป กลับกลายเป็นหมาไป อย่างน่าเสียดายที่สุด ดูเถิดบวชเรียนมาสามเดือน พอสึกเสร็จกลายเป็นหมาไปแล้ว”
คำว่า พอสึกเช้า ค่ำไปกินเหล้าเป็นหมา เป็นคำพูดจากปากหลวงพ่อเดิม อาตมาไม่ได้แต่งเติมเสริมแต่ง หลวงพ่อเดิมท่านเป็นพระที่พูดตรงไม่อ้อมค้อม ท่านพูดออกมาจากใจของท่านจริง ๆ
กล่าวจบหลวงพ่อเดิมท่านชี้ไปที่เสื้อนาคที่ทางวัดมีไว้ให้สวมเวลาเป็นนาค ท่านย้ำอีกว่า
“นั่นเห็นไหมล่ะ มีตะลอมพอกเป็นเทวดา สึกเช้า เมาเย็นพวกนี้ไม่สมกับได้บวชได้เรียน ไม่เป็นบัณฑิตกลับเป็นหมาไปได้”
อาตมาก็เลยถามหลวงพ่อเดิมต่อไปว่า “ก็แล้วบวชพรรษาเดียวกับหลายพรรษามันแตกต่างกันอย่างไรขอรับ”
หลวงพ่อเดิมท่านก็หัวเราะหึ หึ เหมือนเคยก่อนจะอธิบายว่า
“บวชสามพรรษาเขาว่าได้ปริญญาตรี เจ็ดพรรษาปริญญาโท สิบพรรษาปริญญาเอก บวชพรรษาเดียวสองพรรษายังเป็นทิดไม่ได้ รู้ไหมล่ะ ทิดมาจากคำว่าบัณฑิต”
แล้วท่านก็ชี้ไปที่สุดสำหรับแต่งบวชนาคของวัดหนองโพ เห็นเป็นเสื้อครุยแบบปริญญาแล้วก็มีมงกุฎแบบตะลอมพอกพร้อมอยู่สำหรับให้พ่อนาคใส่ ดูสวยงามแล้วท่านก็อธิบายต่อไปว่า
“คนเราเป็นฆราวาส เป็นหนุ่ม มันสุก ๆ ดิบ ๆ แล้วมาบวช พอเป็นพ่อนาคก็ต้องเป็นเทวดา คือสวมชุดตะลอมพอกอย่างนั้น เรียกว่าเป็นเทวดาไม่ใช้มนุษย์ธรรมดาแล้ว เพราะจะได้เป็นสงฆ์ เป็นบัณฑิต พอเข้าไปอยู่หน้าอุปัชฌาย์ก็เป็นพรหมแล้ว ทีนี้พอบวชเสร็จแล้วสึกบางคนแทนที่จะเป็นบัณฑิต หรือเป็นทิด กลับกลายเป็นเดรัจฉานไปเสียทันตาเห็น”
อาตมาเรียนถามหลวงพ่อเดิมเมื่อเห็นท่านค้างคำพูดเอาไว้เพื่อให้รู้ตลอด
“เป็นเดรัจฉานได้อย่างไรขอรับ”
“เป็นซี่ ทำไมจะไม่เป็น ก็พอสึกตอนเช้าก็กินเหล้าเมาเย็นหยำเปอย่างนี้ เรียกว่าบวชไม่ได้ประโยชน์ สึกแล้วกลายเป็นเดรัจฉ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น