11 ตุลาคม 2567

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น
พระผู้มีพระภาค ทรงตรัสกับสุภัททะว่า ดูกรสุภัททะ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงตั้งใจฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
 
สุภัททะปริพาชกทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว 

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยใด ไม่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ประการในธรรมวินัยนั้น ไม่มีสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔

ในธรรมวินัยใด มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนั้น มีสมณะที่ ๑ที่ ๒ ที่ ๓ หรือ ที่๔
 
ดูกรสุภัททะ ในธรรมวินัยนี้ มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น มีสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือที่ ๔ 

ลัทธิอื่นๆ ว่างจากสมณะผู้รู้ทั่วถึง 

ก็ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ 

สุภัททะ รับเอาพระธรรมไปพิจารณาเพียงคืนเดียวได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

    อริยสัจ 4 เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยบุคคล หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ

1.ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ 5

2.สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 คือ 
2/1. กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์
2/2. ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ และ 
2/3. วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ

3.นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง 3 ได้อย่างสิ้นเชิง

4.มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ มีองค์ประกอบอยู่แปดประการ คือ 
 1. สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ 
 2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ 
 3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
 4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ
 5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ 
 6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ 
 7. สัมมาสติ ระลึกชอบ และ
 8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ

 ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือทางสายกลาง มรรคมีองค์แปดนี้สรุปลงในไตรสิกขา ได้ดังนี้ 1. อธิสีล สิกขา ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ 
2. อธิจิตสิกขา ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ และ
 3. อธิปัญญาสิกขา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ

หนทางนี้แลเป็นหนทางอันประเสริฐซึ่งประกอบด้วยองค์ 8 ได้แก่สิ่งเหล่านี้คือ

ความเห็นชอบ
ความดำริชอบ
การพูดจาชอบ
การทำการงานชอบ
การเลี้ยงชีวิตชอบ
ความพากเพียรชอบ
ความระลึกชอบ
ความตั้งใจมั่นชอบ

(องค์มรรคที่ 1)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเห็นชอบ เป็นอย่างไรเล่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ความรู้อันใดเป็นความรู้ในทุกข์
เป็นความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์
เป็นความรู้ในความดับแห่งทุกข์
เป็นความรู้ในทางดำเนินให้ถึงความดับแห่งทุกข์
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรากล่าวว่า ความเห็นชอบ

(องค์มรรคที่ 2)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความดำริชอบ เป็นอย่างไรเล่า
ความดำริในการออกจากกาม (กาม หมายถึง ความอยาก ความปรารถนา ในสิ่งที่น่ารักน่าใคร่น่าชอบใจ ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์ ทั้งปวง)
ความดำริในการไม่มุ่งร้าย
ความดำริในการไม่เบียดเบียน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรากล่าวว่า ความดำริชอบ

(องค์มรรคที่ 3)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การพูดจาชอบ เป็นอย่างไรเล่า
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดไม่จริง
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดส่อเสียด
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดหยาบ
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรากล่าวว่า การพูดจาชอบ

(องค์มรรคที่ 4)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การทำการงานชอบ เป็นอย่างไรเล่า 
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฆ่า
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แล้ว
เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรากล่าวว่า การทำการงานชอบ

(องค์มรรคที่5)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การเลี้ยงชีวิตชอบ เป็นอย่างไรเล่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สาวกของพระพุทธเจ้า ในธรรมวินัยนี้
ละการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิดเสีย ย่อมสำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีวิตที่ชอบ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรากล่าวว่า การเลี้ยงชีวิตชอบ (ฆราวาส ไปดูที่ มิจฉาวาณิชา)

(องค์มรรคที่ 6)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความพากเพียรชอบ เป็นอย่างไรเล่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้
ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายามปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะยังอกุศลธรรม อันเป็นบาปที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น

ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายามปรารภความเพียรประคองตั้งจิตไว้ เพื่อจะละอกุศลธรรม อันเป็นบาปที่เกิดขึ้นแล้ว

ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายามปรารภความเพียรประคองตั้งจิตไว้ เพื่อยังกุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น 

ย่อมทำความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายามปรารภความเพียรประคองตั้งจิตไว้ เพื่อความตั้งอยู่ความไม่เลอะเลือน ความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความเจริญ ความเต็มรอบ แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรากล่าวว่า ความพากเพียรชอบ

(องค์มรรคที่ 7)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความระลึกชอบ เป็นอย่างไรเล่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้

ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ
มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติถอนความพอใจและความไม่พอใจ ในโลกออกเสียได้

ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้

ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้

ย่อมเป็นผู้พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส มีสัมปชัญญะมีสติ ถอนความพอใจและความไม่พอใจในโลกออกเสียได้ (ธรรมในที่นี้ คือ ตัณหา อุปาทาน เป็นต้น)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรากล่าวว่า ความระลึกชอบ

(องค์มรรคที่ 8)
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความตั้งใจมั่นชอบ เป็นอย่างไรเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุในธรรมวินัยนี้
สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย
สงัดแล้วจากธรรมที่เป็นอกุศลทั้งหลาย

เข้าถึงปฐมฌาน ประกอบด้วย วิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกแล้วแลอยู่ เพราะความที่วิตกวิจารทั้ง 2 ระงับลง 

เข้าถึงทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน
ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่ 
อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุขดังนี้

เข้าถึงตติยฌาน แล้วเหลืออยู่ เพราะละสุขได้
และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสอง ในการก่อน

เข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์อุเบกขาแล้วแลอยู่  
ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันนี้เรากล่าวว่า ความตั้งใจมั่นชอบ

                      __________________________

ข้าพเจ้า นาย สมศักดิ์ ชำนิ ไม่มีเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงแต่งเติมพระธรรมคำสอน แต่เรียบเรียงขยายข้อความเพื่อ ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้ชัดแจ้ง ในรายละเอียดส่วนลึกในพระธรรม ผมเป็นเพียงผู้เรียนรู้ตามพระธรรม ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เท่านั้น ก็เพื่อเผยแผ่พระธรรม และ สืบทอด พระพุทธศาสนา จากรุ่นสู่รุ่น ส่วนไหนผิดพลาดก็ขอประธานอภัยนาครับ 

ข้าพเจ้าขอตั้งจิตอุทิศผล บุญกุศลนี้แผ่ไปให้ไพศาล
ถึงคุณมารดา บิดา ครูอาจารย์ ทั้งลูกหลานญาติมิตร ญาติธรรม คนเคยร่วมทำงานการทั้งหลาย มีส่วนได้ในกุศลผลของฉันทั้งเจ้ากรรมนายเวร และ เทวัญ ทั้งสรรพสัตว์ทั้งหลาย ขอให้ท่านได้กุศลผลนี้เทอญ

.ขอบคุณภาพจาก เมล็ดพันธุ์แห่งการตื่นรู้

09 ตุลาคม 2567

การถวายข้าวมธุปายาส (ข้าวทิพย์)

👁‍🗨การถวายข้าวมธุปายาส (ข้าวทิพย์)
📝นางสุชาดาไดถวายข้าวมธุปายาส
ก่อนวันตรัสรู้ หลังจากพระองค์ทรงเสวยแล้วจึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
✒️ ชาวพุทธจึงเชื่อว่า....
ข้าวมธุปายาสเป็นข้าวทิพย์ที่ใครได้บริโภคแล้วจะทำให้มีโชค สุขภาพร่างกายแข็งแรง จึงนิยมกวนข้าวมธุปายาสถวายแก่พระสงฆ์ เพื่อเป็นการทำบุญสร้างกุศลบารมี
...
🍲สูตรการทำข้าว "ข้าวมธุปายาส"
ใบแบบฉบับลังกา
....
🥥ส่วนผสม "ข้าวมธุปายาส"
1. ข้าวสาร 500 กรัม
2. นมวัว หรือกะทิ 500 มิลลิลิตร 
3. เม็ดมะม่วงหิมพานต์ 100 กรัม
4. เกลือ 1 ช้อนชา
5. น้ำตาลทรายแดง 200 กรัม และน้ำผึ้ง 
5. เนื้อมะพร้าว 
6. อินทผลัม 200 กรัม
7. ลูกเกด 100 กรัม
8. กระวาน (เครื่องเทศ) หากมี 
....
🍳 วิธีการทำข้าวมธุปายาส
1. นำกะทิหรือนมวัวมาตั้งไฟให้เดือด
2. พอเดือดแล้วให้ใส่ข้าวสารลงไป ถ้ามีกระวาน (เครื่องเทศ) ให้ใส่ลงไปด้วย แล้ว คนให้เข้ากัน ปล่อยให้เดือด
3. ใส่เกลือลงไป 1 ช้อนชา คนให้เข้ากัน
4. ใส่ลูกเกดลงไป
5. ใส่อินทผลัมลงไป คนให้เข้ากัน
6. เติมน้ำตาลทรายแดง (และน้ำผึ้ง) ลงไป คนให้เข้ากัน
7. เติมเม็ดมะม่วงหินมะพานต์ลงไป คนให้เข้า จนข้าวสุกและน้ำงวด ข้นขึ้น 
8. เทใส่จาน

🔸โดยมากทางอินเดียและศรีลังกาจะนิยมใส่เครื่องเทศเพิ่มเติมลงไปให้ เช่นอบเชย กระวาน เม็ดผักชี ใบเตย เพื่อเพิ่มกลิ่นและรสชาติ ทางลังกาจะออกแบบแห้งๆ ทางอินเดียจะมีน้ำข้นๆ

🎬ชมคลิปวิธีทำที่ลิงค์นี้ค่ะ👇
https://www.youtube.com/watch?v=AMw9ywtoRcU

🙏กราบขอบพระคุณข้อมูลจาก
พระอาจารย์สุมนะ ธมฺมสุมโน
ประเทศศรีลังกา

-กานจา สถูปา-

#วิธีทำข้าวมธุปายาส
#ข้าวมธุปายาส

ทำไมเราต้องมีความเมตตาต่อกัน...

ทำไมเราต้องมีความเมตตาต่อกัน... ก็ด้วยเหตุผลนี้ครับ 
...ในวัฏฏสงสารอันไม่มีใครทราบที่สุดในเบื้องต้นนี้ สัตว์ผู้มีชีพได้พากันท่องเที่ยวไปในการว่ายเวียนในการเกิดอีกตายอีก. ไม่มีสัตว์แม้แต่ตัวเดียว ที่ในบางสมัย ไม่เคยเป็น แม่ พ่อ พี่น้องชาย พี่น้องหญิง ลูกชาย ลูกหญิง หรือเครือญาติอย่างอื่นๆ แก่กัน

30 สิงหาคม 2567

ลำดับการปฏิบัติสมาธิ

ลำดับการปฏิบัติสมาธิ
       คำบริกรรม พุทโธ ตามลมหายใจ หรือ กรรมฐาน 40 เช่น เพ่งกสิณ ดิน น้ำ ลม ไฟ สีแดง เป็นเครื่องล่อของจิต โดยมีสติเป็นผู้คุมให้จิตอยู่กับ กรรมฐาน ที่เราตั้งมั่น 

ระดับที่ 1 ขณิกสมาธิ สติยังไม่แข็งแรง ทำให้จิตบางครั้งอยู่กับคำบริกรรมบ้าง ออกไปเที่ยวข้างนอกบ้าง คิดถึงอดีต อนาคตบ้าง ให้มีสติให้มาก รู้ตัวแล้วรีบกลับมาที่คำ บริกรรม

ระดับที่ 2 อุปจารสมาธิ สติเริ่มแข็งแรง จิตจดจ่อตั้งมั่นกับคำบริกรรม จิตไม่หนีไปเที่ยวนอกกาย อยู่กับดายเป็นหลัก จะเริ่มเกิดอาการ ขนลุก ขนพอง น้ำตาไหลเหมือนคนร้องไห้ ตัวเบาเหมือนลอยได้ ตัวขยายใหญ่ เมื่อเกิดอาการเหล่านี้อย่าสนใจ สักแต่ว่ารู้ ให้กลับมาที่คำบริกรรม จะก้าวข้ามจะเกิดอาการบรมสุข สุขแบบไม่มีสุขใดในโลกเทียบได้ เอาสุขทั้งชีวิตมารวมกันก็ไม่อาจเทียบได้เสี้ยวเดียวของสุขนี้ สุขของกษัตริย์ มหาจักรพรรดิก็เทียบได้กับสุขนี้ สุขแบบไม่ง่วง ไม่หิว ความเครียดหายไปหมด สุขจะอยู่ 3 วัน 3 คืนแล้วจางหายไป

ระดับที่ 3 อัปนาสมาธิ มี 8 ขั้น คือ
ปฐมฌาน สติแข็งแรงมาก สติตั้งมั่น ตัวรู้เด่นชัด จิตรวมเป็นหนึ่งมีพลัง ทำให้จิตอยู่กับคำบริกรรมต่อเนื่องไม่หนีจากกายไปไหน มีทั้ง วิตก วิจารณ์ ปิติสุข และเอกกัตตา

ทุติยฌาน กาย (ตัวคิด) จะทิ้งคำบริกรรมไปเอง สติตั้งมั่นเด่นชัด อยู่กับลมหายใจ หรือฐานที่ตั้งของจิต ขั้นนี้จะเห็นลมหายใจเด่นชัดมาก จะเหลือแต่ ปิติ สุข และเอกกัตตา

ตติยฌาน ลมหายใจจะค่อยละเอียดแผ่วเบาลงเรื่อยๆ จนเหมือนจะหายไป ตัวจะตั้งตรงเหมือนหินโดยอัตโนมัติ เมื่อลมหายใจเริ่มหาย อย่าตกใจ ให้มีสติอยู่กับฐานของจิตไม่ต้องกลัวตาย สักแต่ว่ารู้จะก้าวผ่านขั้นนี้ไป เหลือ สุขและเอกกัตตา

จตุตถฌาน ลมหายใจดับสนิท ไม่รับรู้ถึงลมหายใจและไม่รับรู้ความรู้สึกของกายอีกต่อไป 
สติ ตัวรู้จะเด่นชัด เบาสบาย สักแต่ว่ารู้ ตัวรู้แยกออกจากกาย 100% ความคิดและลมหายใจไม่สามารถเข้ามาแทรกได้ เหมือนจิตตัดขาดจากกายเหลือแต่เอกกัตตาและอุเบกขารมณ์
ให้อยู่เอกกัตตา คือ ตัวรู้เด่นชัดอยู่ที่ฐานของจิต ในสมาธิขั้นนี้เหมือนไม่มีเวลา เวลาจะผ่านไปเร็วมากๆ เหมือนไม่มีกาลเวลาเหลือแต่ สภาวะรู้ลอยอยู่ โล่งๆ บางคนเห็นเป็นดวงแก้วสว่างไสว หรือเห็นเรืองแสง แล้วแต่ แต่ละคนไม่มีถูกผิด

ประคองสภาวะรู้แล้วเพิกขอบเขต รู้อากาศไม่มีที่สิ้นสุด รู้สึกเวิ้งว้างหาขอบเขตไม่ได้ มันว่างไปหมดเหมือนจิตครอบทั้งจักรวาล จักรวาล คือ เรา เรา คือ จักรวาล เรียกว่า อากาสานัญจายตนฌาน เมื่อออกจากสมาธิจะรู้สึกโล่งเบาสบายเหมือนไม่มีกาย มีความสุขมากมายมหาศาลจนนอนไม่หลับ ไม่หิว ไม่ทุกข์มีแต่สุขไป 3 วัน 3 คืน

กำหนดสภาวะรู้เป็น วิญญานธาตุล้วนๆ แผ่ไปไม่มีขอบเขต เรียกว่า วิญญาญัญจายตนฌาน

กำหนดรู้ว่าไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรต้องอธิบาย ไม่มีอะไรในสภาวะนั้น เรียกว่า อากิญจัญญายตนฌาน

เลิกการกำหนดทั้งปวง ไม่กำหนดใดๆทั้งสิ้น ลมหายใจก็ไม่กำหนดรู้ ความคิดใดๆเกิดขึ้นก็ใช้สติกำหนดดับความคิดทั้งหมด จนเงียบไปเหมือนกับหายไป เมื่อจิตเป็นสมาธิจะเข้าไปสู่สภาวะเงียบ เหมือนหายไปในสภาวะนั้น มีแต่ความว่างไม่มีอะไรเลย เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เมื่อออกจากสมาธิจะรู้สึกโล่งเบาสบายเหมือนไม่มีกาย มีความสุขมากมายมหาศาลจนนอนไม่หลับ ไม่หิว ไม่ทุกข์มีแต่สุขไป 3 วัน 3 คืน สัญญาความจำได้หมายรู้จะถูกทำลายแทบหมดสิ้น เช่นเคยขับรถเป็นเมื่อออกจากสมาธิระดับนี้จะลืมวิธีขับรถไปชั่วขณะ สมาธิระดับนี้เหมาะแก่การบำเพ็ญตนในป่า ไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตฆราวาส

ที่กล่าวมาทั้งหมด หัวใจของสมาธิ คือ อานาปานสติสามารถพาเราไปถึง ฌาน 8 จนถึงพระนิพพานได้โดยนำกำลังสมาธิมาพิจารณาข้อธรรมให้เกิดปัญญา

เมื่อออกจากสมาธิ ฌาน 4-8 ลงมาสู่ระดับ อุปจารสมาธิ จิตจะมีกำลังและปัญญามาก ถ้านำมาพิจารณาปัญญาจะสามารถฆ่ากิเลสได้ เราสามารถใช้กำลังสมาธิสอนจิตให้ฉลาดได้

ปล.รูปจากหลวงพี่ท่านหนึ่งในภาคเหนือ

25 สิงหาคม 2567

ถอดขันธ์5

😇สังขารทั้งหลายเหล่านั้นแหละ ถ้าเห็นตามปัญญา หมดทั้งสากลโลกไม่เที่ยงเสียเลย เห็นว่าไม่เที่ยง เมื่อใดเห็นว่าไม่เที่ยง เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ ว่าเวียนว่ายตายเกิดอยู่นี้ เอาที่จบที่แล้วไม่ได้ เมื่อเห็นเช่นนั้นแล้วละก็ จิตมันก็ปล่อยหมด ความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ทั้ง 5 มันก็ปล่อยไม่ห่วงไม่ใยไม่อาลัย  
😇เพราะเห็นจริงตามจริงเสียเช่นนั้น อ้ายเห็นจริง ตามจริงเช่นนั้น อ้ายทางนั้นจำเอาไว้ จำเป็นรอยใจเอาไว้ อย่าให้ลบเชียว นึกไว้ร่ำไป ค่ำมืดดึกดื่นเที่ยงคืนอย่างไร นึกไว้ร่ำไป นึกถึงความเกิดดับเหล่านั้น ก็เบื่อหน่ายจากทุกข์   

😇อ้ายที่เบื่อหน่ายจากทุกข์นั่นแหละ จิตบริสุทธิ์ ใจอยู่ในความบริสุทธิ์ที่เบื่อหน่ายจากทุกข์นั่น ที่เบื่อหน่ายอยู่ในทุกข์นั่นแหละ ทุกข์คือความเกิด ความแก่ ความตาย เหล่านี้เบื่อหน่าย ใจก็ว่างจากความยึดถือในเบญจขันธ์ทั้ง 5 นั่นแหละเป็นทางบริสุทธิ์  

🧘‍♂️เมื่อรู้จักหลักจริงดังนี้แล้ว สภาพอันไม่เที่ยงนั่นแหละ ที่ยักเยื้องแปรผันไปนั่นแหละเป็นทุกข์ ชื่อว่าเป็นทุกข์แท้ๆ เพราะเหตุใด เพราะว่าถูกความเกิดขึ้นเสื่อมไปบีบคั้นอยู่อย่างเดียว เกิดขึ้นเสื่อมไป บีบคั้น อยู่อย่างเดียว เกิดขึ้นก็บีบคั้นอยู่ เสื่อมไปก็บีบคั้นอยู่ บีบคั้นให้สัตว์เดือดร้อนอยู่ด้วยชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ ทุกข์ทั้งนั้น บีบคั้นให้เดือดร้อนอยู่ร่ำไปทีเดียว เมื่อบีบคั้นให้เดือดร้อนอยู่อย่างนี้  

🧘‍♀️เพราะว่าสภาพเหล่านั้นๆ เป็นของทนได้ยาก เป็นของเดือดร้อน เป็นของเร่าร้อน เป็นของทุรนทุราย เป็นของไม่สบาย ท่านถึงยืนยันว่า เมื่อใดเห็นตามความจริงว่า ความเกิดนั่นแหละเป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นสุข เมื่อรู้ว่าความเกิดนั่นเป็นทุกข์แล้วเมื่อใด เมื่อนั้น ย่อมเหนื่อยหน่ายในทุกข์ เมื่อเหนื่อยหน่ายในทุกข์ เบื่อในทุกข์แล้ว ไม่อยากได้ในเบญจขันธ์เหล่านั้น ปล่อยเบญจขันธ์เหล่านั้น  

😷นั่นแหละได้ชื่อว่าเป็นหนทางหมดจดวิเศษ ปล่อยเสีย ไม่ยึดถือ สบายด้วย หน้าที่เราปล่อยเสียได้นะ ลูกหญิงก็ดี ลูกชายก็ดี ภรรยาก็ดี สามีก็ดี ใจว่างวางเสีย ไม่เอาธุระเสีย เอาธุระแต่ความบริสุทธิ์ของใจเท่านั้น ใจก็เย็นเป็นสุข ร่างกายก็อ้วน ร่างกายก็สบาย เพราะว่าทอดธุระเสียได้  

คัดลอกมาส่วนนึงจากพระธรรมเทศนาเรื่องเบญจขันธ์
เมื่อวันที่21 ธันวาคม 2496
หลวงปู่สด จนฺทสโร

24 สิงหาคม 2567

กรุงเทพเคยเป็นทะเลมากก่อนนะ

🌏 กรุงเทพเคยเป็นทะเลมากก่อนนะ 

จากภาพ 5,000 ปีก่อน ทะเลกินลึกไปถึงลพบุรีเลย
พอระดับน้ำค่อยๆลดลง เกิดการสะสมตัวของตะกอนเป็นพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เหมาะแก่การเพราะปลูกและการตั้งชุมชน จนกลายมาเป็นจุดศูนย์กลางของไทย
   
มีการพบซากสัตว์ทะเล เปลือกหอย ปะการัง อื่นๆ ที่แสดงถึงการเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเล บริเวณภาคกลางในอดีตหลายพันปี 

รวมทั้งการวิเคราะห์พื้นที่ชุมชุนโบราณสมัยทวารวดี ที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะภูมิประเทศกับการตั้งถิ่นฐานในอดีต ว่าทำไมเมืองโบราณต่างๆเหล่านั้นถึงตั้งอยู่บริเวณนี้
        
💡อธิบายเพิ่มเติม

โลกเคยอยู่ในช่วงอบอุ่นมากช่วงหนึ่ง (โลกร้อน 🔥) จนน้ำแข็งจำนวนมากละลายออกจากขั้วโลก แม้แต่เกาะกรีนแลนด์แดนน้ำแข็งทุกวันนี้ ตอนนั้นก็กลายเป็นเขตอบอุ่นจนชาวไวกิ้งไปตั้งรกราก ทำการเกษตรปลูกพืชเมืองร้อนได้ เราเรียกช่วงโลกร้อนนี้ว่า Medieval Warm Period 

น้ำแข็งที่ละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูง หลายจังหวัดภาคกลางตอนล่างของไทย (ขณะนั้นยังไม่มีเมืองไทย) จมอยู่ใต้ระดับน้ำทะเล
        
ช่วงโลกร้อนนี้ตรงกับสมัย #ทวารวดี ก่อนการก่อตั้ง #กรุงสุโขทัย 

ทะเลอ่าวไทยยุคนั้นกว้างมาก ดังนี้...

* ทิศเหนือ ทะเลไปถึง จ.ลพบุรี หรือเหนือขึ้นไปอีก

* ทิศตะวันตก ทะเลไปถึง อ.เมือง และ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ต่ำลงมาที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ต่ำลงมาที่ อ.เมือง จ.ราชบุรี และต่ำลงมาที่ อ.เมือง จ.เพชรบุรี

* ทิศตะวันออก ทะเลไปถึง จ.สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี และ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
     
ต่อมาโลกเริ่มเย็นลง เข้าสู่ช่วงยุคน้ำแข็งย่อย (Little Ice Age) เกิดน้ำแข็งตามขั้วโลก กรีนแลนด์หมดความอบอุ่น กลายเป็นเกาะน้ำแข็ง ชาวไวกิ้งทิ้งถิ่นฐานออกมา ระดับน้ำทะเลทั้งโลกลดลง 

มีการทับถมของตะกอนแม่น้ำหลายร้อยปี ทำให้พื้นที่ภาคกลางตอนล่าง เริ่มโผล่ขึ้นเหนือระดับน้ำทะเล ตรงกับยุคกรุงสุโขทัย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรไทย 

(ตรงกับสมัยราชวงศ์ซ้องหรือซ่ง ของจีน)   

หลัง พ.ศ.1600 มีบ้านเมืองและรัฐใหม่เติบโตขึ้นรอบอ่าวไทย โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น 

รัฐอโยธยาศรีรามเทพ (ที่ต่อมาเป็นกรุงศรีอยุธยา) ซึ่งอยู่ตอนบนอ่าวไทยเหนือกรุงเทพฯ ขึ้นไป 

และมีทางน้ำกว้างใหญ่ผ่านบริเวณกรุงเทพฯ (ที่ต่อไปอีกนานมากจะชื่อว่า #เจ้าพระยา) ไหลคดเคี้ยวเป็นรูปโค้งเกือกม้า (Oxbow Lake)

🚩 หมายเหตุ - ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ยุคโลกร้อน (โลกเดือด 🔥) อีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นเพราะการกระทำของมนุษย์เอง ส่วนจะท่วมไปแค่ไหน ก็คงต้องร่วมมือกันทั้งโลก รีบช่วยกันแก้ไข 
........................................................................................................................................................................
อ้างอิง : https://paipibat.com/?p=3493 🙏

Cr. เพจ ภูมิศาสตร์น่ารู้ Brr. 
อ.มาศ ซินแสฮวงจุ้ย แก้ไขและเรียบเรียง

เตโชกสิณ(ธาตุไฟ)

เตโชกสิณ (ธาตุไฟ ธาตุร้อน) จิตเพ่งไฟ คือการเพ่งเปลวไฟ โดยกำหนดว่าสิ่งนี้เป็นไฟ หายใจเข้าให้ภาวนาว่า "เตโช" หายใจออกภาวนาว่า "กสิณัง" “กสิณไฟ” เป็นกรรมฐานกองที่มีพลังมากที่สุดในการปฏิบัติสมาธิภาวนา การเพ่งกสิณไฟสามารถช่วยประคองจิตของผู้ปฏิบัติให้เกิดสมาธิจนเข้าสู่รูปฌานและอรูปฌานได้
พลังแห่งกสิณไฟนอกจากจะมีอำนาจอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ของธรรมชาติและกฎบัญญัติบนโลกแล้ว พลังแห่งกสิณไฟยังนำมาซึ่งพลังจิตที่สามารถแทรกแซงเข้าไปในวิถีชีวิตของเราได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการบังคับธาตุทั้งสี่ (ดินน้ำ ลม ไฟ) เช่น ทำให้เกิดฝนตก ฟ้าร้อง มีลมพายุ หรือแม้กระทั่งสามารถนำไปใช้ควบคุมความคิดและจิตใจของคนเราได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง พลังอำนาจของกสิณไฟจึงสมควรนำไปใช้อย่างถูกวิธี อย่างมีความเข้าใจ เพราะหากเราไม่มีความเข้าใจในอำนาจแห่งพลังกสิณไฟแล้ว ผู้ปฏิบัติที่สำเร็จกสิณไฟอาจไม่สามารถควบคุมพลังอำนาจพิเศษจากกสิณไฟได้ และอาจนำพลังอำนาจจากกสิณไฟนั้นไปใช้ในทางที่ผิด เช่น ใช้พลังอำนาจจิตจากกสิณไฟบังคับธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ หรือใช้พลังอำนาจจิตจากกสิณไฟครอบงำความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของมนุษย์ ฯลฯ ซึ่งผลที่เกิดจากการใช้พลังอำนาจจิตจากกสิณไฟได้ก่อให้เกิดความเสียหายและสร้างความวุ่นวายต่อเพื่อนมนุษย์บนโลกเป็นอย่างมาก อันเป็นการสร้างบาปกรรมให้เกิดขึ้นจากการใช้พลังอำนาจจิตจากกสิณไฟโดยที่ผู้ฝึกกสิณไฟไม่ได้ตั้งใจ ผู้ที่ฝึกกสิณไฟจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงวิธีการควบคุมพลังอำนาจแห่งกสิณไฟ

ผู้ที่ฝึกกสิณไฟจึงจำเป็นต้องให้สัจจะวาจารับศีลและปฏิญาณตนรับข้อห้ามต่างๆ กับครูบาอาจารย์ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้ฝึกกสิณไฟในชั้นสูงนำเอาพลังอำนาจพิเศษจากกสิณไฟไปใช้เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยขอบเขตของศีลห้าจะเป็นเครื่องเตือนใจของผู้ที่ฝึกกสิณไฟให้มีสติเท่าทันกิเลสทั้งปวง

กล่าวกันว่าบรรดาผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนาด้วยการเพ่งกสิณและสำเร็จกสิณ (ไฟ) ยามเมื่อตายลง ร่างกายสังขารของผู้ที่สำเร็จกสิณไฟจะสามารถลุกไหม้เผาทำลายตัวเองได้ ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็สืบเนื่องมาจากพลังอำนาจของกสิณไฟที่พวกเขาได้เฝ้าฝึกปรือเอาไว้จนชำนิชำนาญ แม้เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาได้ตายจากโลกนี้ พลังกสิณไฟที่อยู่ภายในจิตของผู้สำเร็จกสิณไฟจะทำหน้าที่ของตนด้วยการลุกไหม้เผาร่างกายสังขารอันเป็นก้อนธาตุทั้งสี่นี้ให้สูญสิ้นไป

03 สิงหาคม 2567

อุปกิเลส 16 ประการ ✨(กิเลสละเอียด 16 อย่าง ที่ทำให้ใจเศร้าหมอง)

อุปกิเลส 16 ประการ ✨
(กิเลสละเอียด 16 อย่าง ที่ทำให้ใจเศร้าหมอง) ⚡️. . .**อุปกิเลส ๑๖ : ธรรม อันเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต**
1. **อภิชฌาวิสมโลภะ** ความเพ่งเล็งอยากได้ จ้องละโมบ มุ่งแต่จะเอาให้ได้
2. **พยาบาท** ความพยาบาท คิดหมายปองร้ายทำลายผู้อื่น ให้เสียหายหรือพินาศ
3. **โกธะ** ความโกรธ จิตใจมีอาการพลุ่งพล่านเดือดดาล เมื่อถูกทำให้ไม่พอใจ
4. **อุปนาหะ** ความผูกเจ็บใจ เก็บความโกรธไว้ ไม่ยอมลืม ไม่ยอมปล่อย
5. **มักขะ** ความลบหลู่บุญคุณ ไม่รู้จักบุญคุณ ลำเลิกบุญคุณ หรือ คนอกตัญญู
6. **ปลาสะ** ความตีเสมอ เอาตัวเราเข้าไปเทียบกับคนอื่นทั้งๆที่ตนต่ำกว่าเขา
7. **อิสสา** ความริษยา กระวนกระวายทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่า
8. **มัจฉริยะ** ความตระหนี่หวงแหน แม้มีเรื่องจำเป็นต้องเสียสละแต่กลับไม่ยอม
9. **มายา** ความเจ้าเล่ห์ อำพรางความไม่ดีให้คนอื่นเข้าใจผิด เป็นคนมีเหลี่ยม
10. **สาเถยยะ** ความโอ้อวด คุยโม้โอ้อวดเกินความจริง
11.** ถัมภะ** ความหัวดื้อถือรั้น จิตใจแข็งกระด้าง ไม่ยอมรับการช่วยเหลือ
12. **สารัมภะ** ความแข่งดี แก่งแย่งชิงดี ยื้อแย่งเอามา โดยปราศจากความยุติธรรม
13. **มานะ** ความถือตัว ทะนงตน ตรงกับคำว่า “เย่อหยิ่ง”
14. **อติมานะ **ความดูหมิ่นดูแคลน เหยียดหยามหรือดูถูก
15. **มทะ **ความมัวเมา ความหลงเพลิดเพลินในสิ่งที่ไม่ใช่สาระ
       15.1. เมาในชาติกำเนิด หรือฐานะตำแหน่ง
       15.2. เมาในวัย
       15.3. เมาในความแข็งแรงไม่มีโรค
       15.4. เมาในทรัพย์
16.** ปมาทะ **ความประมาทเลินเล่อ จมอยู่ในความประมาท ขาดสติกำกับ แยกดีชั่วไม่ออก

เพราะความไม่เข้าใจวงจรปฏิจจสมุปบาท จึงเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะความไม่เข้าใจวงจรปฏิจจสมุปบาท จึงเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด

1. เพราะจิต หรือ ธาตุรู้ หรือวิญญาณธาตุ ถูกอวิชา คือ ความไม่รู้ ครอบงำ จึงเกิดสังขาร คือ การปรุงแต่งของจิต 
2.เมื่อเกิดสังขาร จึงเกิดวิญญาณ (ขันธ์) คือ สภาพรับรู้ของจิตผ่านทาง 6 ทวาร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
3.เมื่อเกิดวิญญาณ (ขันธ์) จึงเกิด นามรูป คือ ร่างกาย
4. เมื่อเกิดนามรูป จึงเกิด เวทนา คือ ความรู้สึกทุกข์ สุข ดีใจ พอใจ
5.เมื่อเกิดเวทนา จึงเกิด สัญญา คือ ความจำได้ ความรู้จำสิ่งที่ปรากฏได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และความรู้สึกได้ทางใจ 
6. เกิด ตัณหา อุปทาน ภพ ชาติ ชรา และมรณะในที่สุด 

เมื่อปฏิบัติศีล สมาธิ (อานาปานสติ) และวิปัสสนา จิต (วิญญาณธาตุ) จะแยกออกจากขันธ์ 5 จิตเกิดปัญญาเห็นว่า กาย เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ล้วนไม่ใช่เรา ไม่ใช่จิต เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ตามกฏไตรลักษณ์ คือ ทุกขัง อนิจจังและอนัตตา หยุดวงจรวงจรปฏิจจสมุปบาท ไม่กลับมาเวียนว่าย ตายเกิดอีก คนที่ไม่ปฏิบัติจะมองไม่เห็นสิ่งนี้

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...