**มงคล 38** (สิ่งที่ทำให้มีโชคดี, **ธรรมอันนำมาซึ่งความสุขความเจริญ; **เรียกเต็มว่า **อุดมมงคล คือมงคลอันสูงสุด**)
คาถาที่ 1
1. อเสวนา จ พาลานํ (ไม่คบคนพาล)
2. ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา (คบบัณฑิต)
3. ปูชา จ ปูชนียานํ (บูชาคนที่ควรบูชา)
คาถาที่ 2
4. ปฏิรูปเทสวาโส จ (อยู่ในปฏิรูปเทศ, อยู่ในถิ่นมีสิ่งแวดล้อมดี)
5. ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา (ได้ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน, ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น)
6. อตฺตสมฺมาปณิธิ จ (ตั้งตนไว้ชอบ)
คาถาที่ 3
7. พาหุสจฺจญฺจ (เล่าเรียนศึกษามาก, ทรงความรู้กว้างขวาง, ใส่ใจสดับตรับฟัง ค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ)
8. สิปฺปญฺจ (มีศิลปวิทยา, ชำนาญในวิชาชีพของตน)
9. วินโย จ สุสิกฺขิโต (มีระเบียบวินัย, ได้ฝึกอบรมตนไว้ดี)
10. สุภาสิตา จ ยา วาจา (วาจาสุภาษิต, รู้จักใช้วาจาพูดให้เป็นผลดี)
คาถาที่ 4
11. มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ (บำรุงมารดาบิดา)
12/13. ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห = ปุตฺตสงฺคห (สงเคราะห์บุตร) และ ทารสงฺคห (สงเคราะห์ภรรยา)
14. อนากุลา จ กมฺมนฺตา (การงานไม่อากูล)๑
๑ ท่านอธิบายว่า ได้แก่ อาชีพการงาน ที่ทำด้วยความขยันหมั่นเพียร เอาธุระ รู้จักกาล ไม่คั่งค้าง ย่อหย่อน. (ขุทฺทก.อ. 153; KhA.139).
คาถาที่ 5
15. ทานญฺจ (รู้จักให้, เผื่อแผ่แบ่งปัน, บริจาคสงเคราะห์และบำเพ็ญประโยชน์)
16. ธมฺมจริยา จ (ประพฤติธรรม, ดำรงอยู่ในศีลธรรม)
17. ญาตกานญฺจ สงฺคโห (สงเคราะห์ญาติ)
18. อนวชฺชานิ กมฺมานิ (การงานที่ไม่มีโทษ, กิจกรรมที่ดีงาม เป็นประโยชน์ ซึ่งไม่เป็นทางเสียหาย)๒
๒ ท่านยกตัวอย่างไว้ เช่น การสมาทานอุโบสถ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ สร้างสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน เป็นต้น (ขุทฺทก.อ. 156; KhA.141)
คาถาที่ 6
19. อารตี วิรตี ปาปา (เว้นจากความชั่ว)
20. มชฺชปานา จ สญฺญโม (เว้นจากการดื่มน้ำเมา)
21. อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ (ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย)
คาถาที่ 7
22. คารโว จ (ความเคารพ, การแสดงออกที่แสดงถึงความเป็นผู้รู้จักคุณค่าของบุคคล สิ่งของ หรือกิจการนั้นๆ และรู้จักให้ความสำคัญและความใส่ใจเอื้อเฟื้อโดยเหมาะสม)
23. นิวาโต จ (ความสุภาพอ่อนน้อม, ถ่อมตน)
24. สนฺตุฏฺฐี จ (ความสันโดษ, ความเอิบอิ่มพึงพอใจในผลสำเร็จที่ได้สร้างขึ้น หรือในปัจจัยลาภที่แสวงหามาได้ ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเองโดยทางชอบธรรม)
25. กตญฺญุตา (มีความกตัญญู)
26. กาเลน ธมฺมสฺสวนํ (ฟังธรรมตามกาล, หาโอกาสแสวงหาความรู้เกี่ยวกับหลักความจริง ความดีงาม และเรื่องที่เป็นประโยชน์)
คาถาที่ 8
27. ขนฺตี จ (มีความอดทน)
28. โสวจสฺสตา (เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย, พูดกันง่าย ฟังเหตุผล)
29. สมณานญฺจ ทสฺสนํ (พบเห็นสมณะ, เยี่ยมเยียนเข้าหาท่านผู้สงบกิเลส)
30. กาเลน ธมฺมสากจฺฉา (สนทนาธรรมตามกาล, หาโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกันเกี่ยวกับหลักความจริงความดีงามและเรื่องที่เป็นประโยชน์)
คาถาที่ 9
31. ตโป จ (มีความเพียรเผากิเลส, รู้จักบังคับควบคุมตน ไม่ปรนเปรอตามใจอยาก)
32. พฺรหฺมจริยญฺจ (ประพฤติพรหมจรรย์, ดำเนินตามอริยมรรค, การรู้จักควบคุมตนในทางเพศ หรือถือเมถุนวิรัตตามควร* )
* พรหมจรรย์ในที่นี้ มุ่งเอาอัฏฐังคิกมรรคเป็นหลัก แต่จะตีความแคบหมายถึงเมถุนวิรัติก็ได้ ความหมายอย่างหย่อนสำหรับคฤหัสถ์ คือ ถือพรหมจรรย์ในบุคคลที่มิใช่คู่ครอง หรือถือเด็ดขาดในวันอุโบสถ เป็นต้น
33. อริยสจฺจาน ทสฺสนํ (เห็นอริยสัจ, เข้าใจความจริงของชีวิต)
34. นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ (ทำพระนิพพานให้แจ้ง, บรรลุนิพพาน)
คาถาที่ 10
35. ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ (ถูกโลกธรรม จิตไม่หวั่นไหว)
36. อโสกํ (จิตไร้เศร้า)
37. วิรชํ (จิตปราศจากธุลี)
38. เขมํ (จิตเกษม)
แต่ละคาถามีบทสรุปว่า “เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” (นี้เป็นมงคลอันอุดม)
มีคาถาสรุปท้ายมงคลทั้ง 38 นี้ว่า
“เอตาทิสานิ กตฺวาน
สพฺพตฺถมปราชิตา
สพฺพตฺถ โสตฺถี คจฺฉนฺติ
ตนฺเตสํ มงฺคลมุตฺตมนฺติ.”
แปลว่า “เทวะมนุษย์ทั้งหลายกระทำมงคลเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ปราชัยในที่ทุกสถาน ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง นี้คืออุดมมงคลของเทวะมนุษย์เหล่านั้น.”
ขุ.ขุ. 25/5/3;
ขุ.สุ. 25/317/376.
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖