หลังจากประดิษฐานพระราชวงศ์จักรี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงเปลี่ยนธรรมเนียมการเก็บรักษาพระบรมอัฐิและพระอัฐิของเหล่าพระประยูรญาติมาไว้ยังพระมหามณเฑียรสถานแทนการอัญเชิญไปเก็บรักษาไว้ยังจรนำวัดพระศรีศาสดารามในพระบรมมหาราชวังเหมือนดั่งธรรมเนียมเดิมของกรุงศรีอยุธยาที่จะอัญเชิญพระบรมอัฐิ พระอัฐิไปเก็บรักษายังท้ายจรนำวัดพระศรีสรรเพชญ์เนื่องด้วยทรงมีพระราชดำริที่ว่า
" หากจะนำพระบรมอัฐิของพระราชบิดาไปประดิษฐานไว้ท้ายจรนำพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือตามพระอารามหลวงนั้นเห็นทีจะเป็นการลำบากในภายหน้า เพราะเมื่อตอนที่กรุงศรีอยุธยาแตกนั้น ข้าศึกเข้าปล้นทรัพย์สินของมีค่าแม้กระทั่งพระโกศพระบรมอัฐิของกษัตริย์ที่ทำจากทองคำก็เอาไปหมดเหลือเพียงแต่พระบรมอัฐิที่เททิ้งไว้เรี่ยราดจนไม่รู้ว่าเป็นของพระองค์ใด เหตุนี้พระองค์จึงอัญเชิญพระบรมอัฐิเข้ามาไว้ในพระมหามณเฑียรใกล้ห้องพระบรรทม เผื่อหากภายภาคหน้าข้าศึกเกิดเข้าประชิดติดกำแพงวังก็จะเป็นการง่ายที่พระองค์จะหยิบฉวยติดมือไปด้วย "
นี่จึงเป็นต้นเค้าธรรมเนียมการเก็บรักษาพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ของเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีไว้ในพระบรมหาราชวัง โดยพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ของพระมหากษัตริย์ สมเด็จบวรราชเจ้า และพระราชวงศ์ฝ่ายวังหลวง ได้อัญเชิญไปไว้ยังสถานที่ต่างๆ ได้แก่ พระวิมานชั้น ๓ ของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หอพระธาตุมณเฑียร และหอพระนาก ในขณะที่พระโอรสธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้า (วังหน้า) ได้อัญเชิญไปรักษาไว้ยังท้ายจรนำวัดชนะสงคราม
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชดำริอยากให้แม่ลูกได้อยู่ร่วมกันจึงได้มีการสถาปนาสุสานหลวงขึ้นยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เพื่อบรรจุพระอัฐิ พระอังคาร อัฐิ อังคาร ของพระราชโอรสธิดารวมไปถึงเจ้าจอมมารดาและผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ ณ สถานที่แห่งนี้ ดังนั้นพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ของเหล่าพระราชวงศ์จักรีจึงยังมีอยู่ครบทุกพระองค์มาจนถึงปัจจุบัน
ธรรมเนียมของกรุงศรีอยุธยานั้น เมื่อทำการถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระราชทานเพลิงพระศพแล้วจะมีการอัญเชิญ พระบรมอัฐิ พระอัฐิ ไปประดิษฐานยังวัดหลวงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังหลวง นอกจากพระเจดีย์องค์ใหญ่ทั้ง ๓ และบริเวณท้ายจรนำซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาแล้ว ปราสาทจตุรมุขรวมไปถึงเจดีย์รายต่างๆ ที่อยู่โดยรอบก็ยังเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของเจ้านายหลายๆ พระองค์อีกด้วย วัดพระศรีสรรเพชญ์จึงเปรียบเสมือนพระราชสุสานของเหล่าพระราชวงศ์แห่งกรุงศรีอยุธยา
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาถึงกาลล่มสลายลงทรัพย์สินมีค่าต่างๆ ได้ถูกปล้นสะดมนำไปยังบ้านเมืองของข้าศึกจนแทบจะเกือบหมดสิ้น ซึ่งแน่นอนว่า วัดพระศรีสรรเพชญ์ก็ไม่สามารถพ้นจากภยันตรายนี้ได้เช่นกัน บรรดาพระโกศพระบรมอัฐิ พระโกศอัฐิที่ประดิษฐานอยู่ ณ สถานที่นั้นก็พลอยถูกรื้อค้นทำลายลงไปด้วย เนื่องด้วยสร้างจากสิ่งมีค่า อาทิ ทองคำและอัญมณีต่างๆ เป็นที่ต้องการของข้าศึก พระบรมอัฐิ พระอัฐิ ที่บรรจุอยู่ภายในก็คงจะถูกเททิ้งไว้อยู่ ณ สถานที่แห่งนี้นั่นเอง เนื่องด้วยยังไม่เห็นเหตุผลใดๆ ที่เหล่าข้าศึกจะนำเศษซากเหล่านี้กลับไปยังบ้านเมืองของตน แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า ณ เวลานั้นคงจะมีกองพระอัฐิของเจ้านายทั้งหลายกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณวัดอย่างแน่นอน เมื่อเวลาผ่านไปพระอัฐิเหล่านั้นก็คงจะย่อยสลายกลายเป็นธุลีดินอยู่บริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์นั่นเอง
กาลเวลาผ่านไปจากซากอิฐซากปูนก็ได้รับการบูรณะจากทางราชการจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปในที่สุด แต่พึงระลึกไว้เสมอว่าผืนแผ่นดินแห่งนี้ก็ยังคงเต็มไปด้วยเศษเถ้าธุลีของพระบรมอัฐิ และพระอัฐิ ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดิน
ภายใต้ความงดงามของสถานที่ในสายตานักท่องเที่ยวที่เดินเข้าไปชมใต้รองเท้าของคนเหล่านั้นก็ได้เหยียบย่ำไปบนแผ่นดินอันเป็นที่ที่เหล่าพระบรมอัฐิ พระอัฐิได้ประดิษฐานเช่นเดียวกัน เพียงแต่เราๆ ท่านๆ ไม่สามารถมองเห็นได้แล้วก็เท่านั้นเอง
คำกล่าวที่ว่า "กระดูกที่ถูกเหยียบย่ำ" จึงเป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินกว่าความเป็นจริง
วงกลมสีแดง คือ บริเวณท้ายจรนำสถานที่ประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาหลายๆ พระองค์
วงกลมสีเขียว คือ เจดีย์ราย สถานที่เก็บรักษาพระอัฐิของเจ้านายในพระราชวงศ์แห่งกรุงศรีอยุธยา มีร่องรอยของการขุดเจาะคาดว่าคงจะเป็นฝีมือของพวกที่ค้นหาของเก่า
cr.ขอบคุณข้อมูลของกรุงเก่าชาวสยามที่ให้เผยแพร่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น