30 มีนาคม 2562
ตัดกระแสจิตได้ ด้วยปัญญา ไปนิพพาน
ในหมู่บ้านหนองผือมีบ้านอยู่ ๗๐ หลังคาเรือน มีคุณยายนุ่งขาวห่มขาวคนหนึ่งชื่อ “กั้ง” อายุราว ๘๐ ปี เป็นนักภาวนาสำคัญคนหนึ่ง ที่หลวงปู่มั่นเมตตาเป็นพิเศษเสมอมา
คุณยายอุตส่าห์ตะเกียกตะกายไปศึกษาธรรมกับท่านที่วัดป่าบ้านหนองผือเสมอ ดังนี้... คุณยายขาวกั้ง แกใช้ไม้เท้าเป็นเครื่องพยุงออกไปหาพ่อแม่ครูจารย์มั่น กว่าจะถึงวัดต้องพักเหนื่อยระหว่างทางถึง ๓-๔ ครั้ง ทั้งเหนื่อยทั้งหอบน่าสงสารมาก บางทีท่านพระอาจารย์มั่นก็ทำท่าดุเอาบ้างว่า
“..โยมจะออกมาทำไม มันเหนื่อยไม่รู้หรือ แม้แต่เด็กเขายังรู้จักเหนื่อย แต่โยมแก่จนอายุ ๘๐-๙๐ ปีแล้วทำไมไม่รู้จักเหนื่อยเมื่อยล้า มาให้ลำบากทำไม..”
คุณยายขาวกั้ง แกเรียนตอบท่านอย่างอาจหาญตามนิสัยที่ตรงไปตรงมาของแกว่า “..ก็มันอยากมา มันก็มาซิ’…”
คุณยายแกมีหลานชายคนหนึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น คอยส่งบาตรทุกวันๆ พอองค์ท่านรับบาตรเสร็จแล้ว ก็จะสะพายบาตรไปส่งที่วัดทุกวันไม่เคยขาด องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน กล่าวถึงการภาวนาของคุณยายว่า
“..คุณยายแกภาวนาดี มีหลักเกณฑ์ทางจิตแล้ว แกยังมีปรจิตตวิชชา คือสามารถรู้พื้นเพดีชั่วแห่งจิตคนอื่นได้ด้วย และมีนิสัยชอบรู้สิ่งแปลกๆ ภายนอกด้วย เวลาแกมารับการอบรมกับท่านอาจารย์มั่น
แกเล่าความรู้แปลกๆ ถวายท่านด้วยความอาจหาญมาก ท่านทั้งขบขันทั้งหัวเราะ ทั้งเมตตาว่ายายแก่นี้อาจหาญจริง ไม่กลัวใคร..”
คุณยายสามารถรู้เรื่องความคิดจิตใจของใครต่อใครได้ จนบางครั้งหลวงปู่มั่นยังได้ถามคุณยายแบบขบขันว่า
“รู้เรื่องนั้นไหม..”
คุณยายก็ว่า “รู้”
“แล้วเรื่องนี้รู้ไหม..” ก็ว่า “ก็รู้อีก”
หลวงปู่มั่นเลยลองถามว่า “แล้วรู้ไหม..จิตของพระในวัดหนองผือนี้”
คุณยายว่า “ทำไมจะไม่รู้” แถมพูดแบบขู่เลยว่า “รู้หมดแหละ”
คุณยายเคยเล่าเรื่องภาวนาให้หลวงปู่มั่นฟังอย่าอาจหาญว่า “..มองมาวัดหนองผือแห่งนี้สว่างไสวทั่วหมดเลย มีแต่พระภาวนาดวงเล็กดวงใหญ่เหมือนดาวอยู่เต็มวัด..”
เวลาเล่าถวายหลวงปู่มั่น คุณยายจะพูดแบบอาจหาญมากไม่กลัวใคร แม้พระเณรจำนวนร่วมครึ่งร้อย (ซึ่งมีท่านพระอาจารย์มหาบัว รวมอยู่ด้วย) จะนั่งฟังอยู่เวลานั้นด้วยก็ตาม คุณยายขาวกั้ง ก็จะพูดได้อย่างสบาย ไม่สนใจว่าใครจะคิดอะไร ดังนี้
“...พวกพระทั้งหลายพากันรีบล้างบาตรแล้วค่อยมาแอบฟังคำพูดของแก อยู่ทางด้านหลังหอฉัน แกพูดอาจหาญตามหลักความจริง ไม่สะทกสะท้าน เวลาพวกทวยเทพทั้งหลายมากราบพ่อแม่ครูจารย์ที่หนองผือ หลั่งไหลมา
เขามาทิศทางพระไม่อยู่นะพวกทวยเทพทั้งหลาย เขาเคารพพระมาก คือเขาจะมาทางด้านไม่มีพระ ถ้าพระมากทางด้านไหน เขาจะไม่มาทางด้านนั้น เขาไม่มาสุ่มสี่สุ่มห้านะ..”
พ่อแม่ครูจารย์บอก กับโยมยายกั้งพูดเข้ากันได้ ท่านบอกว่า “..ทางด้านนี้พวกเทพมา ใครอย่าไปทำสุ่มสี่สุ่มห้าแถวนั้นนะ นอนก็เหมือนกันหลับครอกๆแครกๆ ให้พวกเทพเขามาปลงธรรมสังเวชไม่ได้นะ ให้รักษามารยาท..”
พ่อแม่ครูจารย์มั่นท่านพูดก่อน แล้วโยมยายกั้งนี้แกมาพูดแบบเดียวกัน แกรู้จิตคนอื่นแกเห็นจริงๆ รู้จริงๆ ใครสะอาดผ่องใสขนาดไหน แกเห็น เวลาแกมาเล่านี้ คือแกนิสัยตรงไปตรงมา พูดไม่กลัวใครเหมือนขวานผ่าซาก รู้อย่างไร พูดอย่างนั้น แกเป็นคนตรงไปตรงมา พวกพระก็สนุกฟัง…
ยายกั้งมาเล่าถวายถึงการล่วงรู้จิตของท่านและพระเณรในวัด รู้สึกน่าฟังมาก พระเณรทั้งแสดงอาการหวาดๆ บ้าง แสดงอาการอยากฟังแกเล่าบ้าง แกเล่าว่า
“..นับแต่จิตท่านอาจารย์ลงมาถึงจิตเณรความสว่างไสวลดหลั่นกันลงมาเป็นลำดับลำดาเหมือนดาวใหญ่กับหมู่ดาวเล็กๆ ที่อยู่ด้วยกันฉะนั้น รู้สึกน่าดูและน่าชมเชยมาก ที่มองดูจิตพระเณรมีความสว่างไสวและสง่าผ่าเผย ไม่เป็นจิตที่อับเฉาเฝ้าทุกข์ที่กลุ้มรุมดวงใจ
แม้เป็นจิตพระหนุ่มและสามเณรน้อยๆ ก็ยังน่าปีติยินดีและน่าเคารพนับถือตามภูมิของแต่ละองค์ ที่อุตส่าห์พยายามชำระขัดเกลาได้ตามฐานะของตน..”
บางครั้งแกมาเล่าถวายท่านเรื่องแกขึ้นไปพรหมโลกว่า “..เห็นแต่พระจำนวนมากมายในพรหมโลก ไม่เห็นมีฆราวาสสลับสับปนกันอยู่บ้างเลย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น..”
ท่านพระอาจารย์มั่น ตอบว่า “..เพราะที่พรหมโลกโดยมาก มีแต่พระที่ท่านบำเพ็ญจิตสำเร็จธรรมขั้นอนาคามีผลแล้ว ส่วนฆราวาสมีจำนวนน้อยมากที่บำเพ็ญตนจนได้สำเร็จธรรมขั้นอนาคามีผล แล้วไปเกิดและอยู่ในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง
ฉะนั้น โยมจึงเห็นแต่พระไม่เห็นฆราวาสสับปนอยู่เลย อีกประการหนึ่ง ถ้าโยมสงสัยทำไมจึงไม่ถามท่านบ้าง เสียเวลาขึ้นไปถึงแล้ว มาถามอาตมาทำไม..”
คุณยายขาวกั้ง แกหัวเราะแล้วเรียนท่านว่า “..ลืมเรียนถามพระท่าน เวลาลงมาแล้วจึงระลึกได้ก็มาเรียนถามท่าน ต่อไปถ้าไม่ลืม เวลาขึ้นไปอีก จึงจะเรียนถามพระท่าน..”
แล้วแกจึงเรียนถามท่านต่อไปอีกว่า “..เมื่อคืนนี้ ใครกัน มองตรงไหนก็มีแต่หน้าเต็มไปหมด”ท่านพระอาจารย์มั่นก็ตอบให้ด้วยความเมตตาว่า “อ๋อ..! นั่นมันท้าวมหาพรหม เขามานมัสการเรา”
ท่านอาจารย์มั่นตอบปัญหาคุณยายขาวกั้งมีความหมายเป็นสองนัย นัยหนึ่งตอบตามความจริง นัยสองตอบเป็นเชิงแก้ความสงสัยของยายกั้งที่ถาม
ต่อมา ท่านห้ามไม่ให้แกออกรู้สิ่งภายนอกมากไปเสียเวลาพิจารณาธรรมภายในซึ่งเป็นทางมรรคทางผลโดยตรง ยายกั้งก็ปฏิบัติตามท่าน…”
ความรู้ที่พิเศษอีกตอนหนึ่งก็คือที่คุณยายขาวกั้ง ทายใจหลวงปู่มั่นอย่างอาจหาญมาก และไม่กลัวว่าท่านจะดุจะว่าอะไรบ้างเลย คุณยายทายว่า
“..จิตหลวงพ่อพ้นไปนานแล้ว ฉันทราบจิตหลวงพ่อมานานแล้ว จิตหลวงพ่อไม่มีใครเสมอ ทั้งในวัดนี้หรือที่อื่นๆ จิตหลวงพ่อประเสริฐเลิศโลกแล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปเพื่ออะไร..”
หลวงปู่มั่นจึงตอบทั้งหัวเราะ และเป็นอุบายสอนคุณยายไปพร้อมว่า“ภาวนาไปจนวันตายไม่มีถอย ใครถอยผู้นั้นมิใช่ศิษย์ตถาคต”
คุณยายเรียนท่านว่า “..ถ้าไปได้ก็พอไป แต่นี่จิตหลวงพ่อหมดทางไปทางมาแล้ว มีแต่ความสว่างไสวและความประเสริฐเต็มดวงจิตอยู่แล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปไหนอีกเล่า ฉันดูจิตหลวงพ่อสว่างไสวครอบโลกไปหมดแล้ว อะไรมาผ่านหลวงพ่อก็ทราบหมด
ไม่มีอะไรปิดบังจิตหลวงพ่อได้เลย แต่จิตฉันมันยังไม่ประเสริฐอย่างจิตหลวงพ่อ จึงต้องออกมาเรียนถามเพื่อหลวงพ่อได้ชี้แจงทางเดินให้ถึงความประเสริฐอย่างหลวงพ่อด้วยนี้..”
ทุกครั้งที่คุณยายมา จะได้รับคำชี้แจงจากหลวงปู่มั่นทางด้านจิตตภาวนาด้วยดี ขณะเดียวกันพระเณรต่างองค์ต่างก็มาแอบอยู่แถวบริเวณข้างๆ ศาลาฉัน ซึ่งเป็นที่ที่คุณยายขาวกั้งสนทนากับท่านพระอาจารย์มั่น เพื่อฟังปัญหาธรรมทางจิตตภาวนา
ซึ่งโดยมากเป็นปัญหาที่รู้เห็นขึ้นจากการภาวนาล้วนๆ เกี่ยวกับอริยสัจทางภายในบ้าง เกี่ยวกับพวกเทพพวกพรหมภายนอกบ้าง ทั้งภายใน และภายนอก เมื่อคุณยายเล่าถวายจบลง
ถ้าท่านเห็นด้วยท่านก็ส่งเสริมเพื่อเป็นกำลังใจในการพิจารณาธรรมส่วนนั้นให้มากยิ่งขึ้น ถ้าตอนใดที่ท่านไม่เห็นด้วย ก็อธิบายวิธีแก้ไข และสั่งสอนให้ละวิธีนั้น ไม่ให้ทำต่อไป
หลวงปู่มั่นเคยชมเชยคุณยายท่านนี้ให้พระฟังว่า “..แกมีภูมิธรรมสูงที่น่าอนุโมทนา พวกพระเรามีหลายองค์ที่ไม่อาจรู้ได้เหมือนคุณยาย..”
ภายหลังคุณยายขาวกั้ง ท่านแก่ชราภาพมากแล้ว ไปมาไม่สะดวก ลูกหลานจึงให้ไปพักที่บ้าน ขณะที่อยู่บ้านท่านก็ไม่ได้ลดละความพากเพียร ตอนบ่ายเดินจงกรมบนบ้าน
ค่ำลงเข้าห้องทำวัตรสวดมนต์ เสร็จแล้วนั่งสมาธิภาวนาต่อ ทำอย่างนี้ทุกวัน ตอนหนึ่งท่านนั่งภาวนาจิตไปเที่ยวเพลิน ชมเมืองสวรรค์ เกือบทุกคืน นั่งภาวนาคราวใดจิตใจจะไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์ทุกครั้งท่านบอกว่า มันสนุกสนานเพลิดเพลิน
เห็นแต่สิ่งสดสวยงามทั้งนั้น ไปแล้วก็อยากไปอีก เป็นอย่างนี้อยู่หลายวัน วันหนึ่งไปกราบนมัสการเล่าเรื่องนี้ ถวายท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงพูดปรามไม่ให้ไปเที่ยวเมืองสวรรค์บ่อยนัก แต่คุณยายขาวกั้งก็ยัง ติดอกติดใจจะไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์อีก
คืนหนึ่งคุณยายขาวกั้งนั่งสมาธิภาวนาจะน้อมจิตไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์ ตามที่เคยไปแต่เหมือนมี อะไรมาขวางกั้นจิตทำให้ไม่รู้ทิศทางที่จะไป คืนนั้นเลยไปไม่ได้ พอตอนเช้าฉันจังหันเสร็จคุณยายก็ไปที่วัด เข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น เล่าเรื่องถวายท่านว่า
"..เมื่อคืนหลวงพ่อเอาหนามไปปิดทางข้าน้อย ข้าน้อยเลยไปมิได้" ท่านพระอาจารย์มั่นตอบว่า "ไปเที่ยวเฮ็ดยั้งดุแท้ (บ่อยแท้)" คุณยายขาวกั้งจึงพูดตอบ ว่า " ไปแล้วมันม่วนรื่นเริงใจ เห็นแต่สิ่งสวย ๆ งาม ๆ ทั้งนั้น "
ท่านพระอาจารย์มั่นจึงบอกว่า "เอาล่ะ บ่ต้อง ไปอีกนะทีนี้" คุณยายขาวกั้งก็เข้าใจความหมาย และยอมรับที่ท่านพระอาจารย์มั่นพูดเช่นนั้น แต่ในใจของ คุณยายก็ยังคิดอยากจะไปเที่ยวชมเมืองสวรรค์อยู่อีก
ท่านพระอาจารย์มั่นไม่ให้ไปเพราะกลัวคุณยายจะผิดทาง และเสียเวลา ท่านต้องการอยากจะให้ดูหัวใจตัวเองมากกว่าจึงจะไม่ผิดทาง ในที่สุดคุณยายขาวกั้งก็รับไปปฏิบัติตาม
ซึ่งตามปกติคุณยายขาวกั้งจะเข้าไปกราบถามปัญหาธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอ ๆ แต่ ละครั้งใช้เวลาไม่นานเพราะคุณยายขาวกั้งจะถามเฉพาะปัญหาที่แก้ไม่ตกจริง ๆ เท่านั้น เมื่อท่านพระอาจารย์มั่น ตอบมาอย่างไร คุณยายเข้าใจแล้วก็จะกราบลาท่านกลับที่พักของตนเป็นอยู่อย่างนี้เสมอ
ต่อมาคุณยายขาวกั้งก็ เกิดปัญหาทางจิตที่สำคัญขึ้นอีกคือ ขณะแกนั่งสมาธิภาวนาตลอดกลางคืนยามดึกสงัด พอจิตรวมสงบลงสนิทไม่แสดงกิริยาใดๆ ปรากฏเฉพาะความสงบนิ่งในเวลานั้น
พลันก็เห็นกระแสจิตของตัวเองอันละเอียดยิ่งออกจากดวงจิตเป็นสายใยยาวเหยียดออกนอกกายนอกใจไปสู่ภายนอก แกเกิดความสงสัยเป็นล้นพ้น จึงกำหนดจิตดูว่า
กระแสจิตนี้มันไหลออกไปทำไม และจะไปเกี่ยวข้องกับอะไร พอแกตามกระแสจิตอันละเอียดเป็นสายใยนั้นไปก็พบว่า... กระแสจิตของแกไปเข้าที่ร่างของหลานสาวคนหนึ่ง เพื่อจับจองที่เกิดในท้องหลานสาวซึ่งอยู่หมู่บ้านเดียวกัน
แกรู้สึกตกใจมาก เพราะตัวเองยังไม่ตาย ทำไมจิตถึงส่งกระแสออกไปจับจองที่เกิดไว้แล้วเช่นนั้น จึงรีบย้อนจิตกลับมาที่เดิมและถอนจิตออกจากสมาธิทันที แกใจไม่ดีเลยนับแต่ขณะนั้นเป็นต้นมา
ในระยะเดียวกันก็ปรากฏว่า นางอุ่นหลานสาวคนนั้นเริ่มตั้งครรภ์มาได้หนึ่งเดือนแล้วเช่นกัน พอตื่นเช้าวันหลังแกรีบมาวัด เข้าไปกราบนมัสการเล่าเรื่องนี้ถวายพระอาจารย์มั่นดังกล่าวแล้ว
ขณะนั้นมีพระเณรหลายท่านนั่งฟังอยู่ด้วย ต่างก็งงไปตามๆ กัน พระอาจารย์มั่นนั่งหลับตาอยู่ประมาณ ๒ นาที แล้วลืมตาขึ้น ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงทักขึ้นว่า
" ฮ้วย...บ่แม่นไปเกิดกับหลานสาว แหล่วบ่น้อ " ( หมายความว่า ไม่ใช่จิตของยาย เข้าไปปฏิสนธิในครรภ์ของหลานสาวแล้วหรือ ) เพราะช่วงนั้น คุณยายขาวกั้งมีหลานสาวคนหนึ่งแต่งงานใหม่กำลังตั้งครรภ์อ่อน ๆ อยู่
ด้วยเหตุนี้คุณยายขาวกั้งจึงบอกต่อ ท่านพระอาจารย์มั่นว่า " ข้าน้อย มิเยอะเกิด เพราะว่ามันทุกข์ แล้วล่ะเอ็ดแนวเลอ ข้าน้อยจังสิมิเกิดอีก "
ท่านพระอาจารย์มั่นตอบว่า
" อ้าว... เอาให้ดีเด้อ... ภาวนาให้ดีๆ เด้อ " เหมือนกับคติพจน์ที่ท่านมักยกขึ้นมากล่าวอยู่เสมอว่า "แก้ไห้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตกคาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภพทั้งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่"
จากนั้นท่านพระอาจารย์มั่น แนะอุบายวิธีแก้ให้คุณยายนำไปปฏิบัติ ดังนี้
"เมื่อจิตรวมสงบลงคราวต่อไป ให้โยมตรวจดูกระแสจิตให้ดี ถ้าเห็นแกระแสจิตนั้นส่งออกไปภายนอกดังที่โยมว่านั้น ให้กำหนดจิตตัดกระแสจิตนั้นให้ขาดด้วยปัญญาจริงๆ ต่อไปกระแสจิตนั้นจะไม่ปรากฏ
แต่โยมต้องกำหนดดูกระแสจิตนั้นด้วยดี และกำหนดตัดให้ขาดด้วยปัญญาจริงๆ อย่าทำเพียงแต่ว่าทำเท่านั้น เดี๋ยวเวลาตายโยมจะเกิดในท้องหลานสาวนะจะหาว่าอาตมาไม่บอก"
นี่คือคำบอกของอาตมา จงทำให้ดี ถ้าโยมกำหนดตัดกระแสจิตนั้นไม่ขาด เวลาโยมตายต้องไปเกิดในท้องหลานสาวแน่ๆ ไม่ต้องสงสัย
พอคุณยายขาวกั้ง ได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์มั่นแล้ว ก็ถือโอกาสกราบลาท่าน กลับบ้านของตน เมื่อกลับถึงบ้านแล้วจัดแจงเตรียมตัวเตรียมใจ ทำความพากเพียรตามอุบายที่ท่านพระอาจารย์มั่นแนะนำให้ปฏิบัติ
คุณยายขาวกั้งทำความพากเพียรนั่งสมาธิ ภาวนาอยู่ประมาณสองสามวันจึงรู้ สาเหตุ แต่ก็ยังไม่สามารถทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เหล่านั้นได้
จนคุณยายขาวกั้งอุทานออกมาให้ลูก หลานฟังว่า " พวกสู..กูกำลังไปเกิดกับอีอุ่น จังวากูมิเยอะเกิดอิก กูกำลังม้างอยู่เดี๋ยวนี้ " ( หมายความว่า พวก ลูกๆ หลานๆ ทั้งหลายยายเห็นว่า
ยายกำลังไปเกิดเป็นลูกของหลานสาวคือนางอุ่น แต่ว่ายายไม่ต้องการจะ เกิดอีก จึงกำลังพยายามทำลายภพชาติอยู่ในขณะนี้)
ราวสองวันแกก็กลับมาหาท่านอีกด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสมาก พอแกนั่งลงเท่านั้น พระอาจารย์มั่นก็ถามเป็นเชิงเล่นบ้างจริงบ้างทันทีว่า "เป็นยังไงโยมห้ามกระแสจิตตัวเองอยู่หรือเปล่าที่จะไปเกิดกับหลานสาวทั้งที่ตัวยังไม่ตายน่ะ "
แกเรียนตอบทันทีว่าโยมตัดขาดแล้วคืนแรก พอจิตรวมสงบลงสนิทแล้วกำหนดดูก็เด่นชัดดังที่เคยเห็นมาแล้ว มันส่งกระแสไปอยู่ที่ท้องหลานสาว โยมก็กำหนัดตัดกระแสจิตพิลึกนั้นด้วยปัญญาดังหลวงพ่อบอกจนมันขาดกระเด็นไปเลย
เมื่อคืนนี้โยมกำหนดดูอีกอย่างละเอียดเพื่อความแน่ใจไม่ปรากฏว่ามีอีกเลย มันหายเงียบไป วันนี้อยู่ไม่ได้ต้องรีบมาเล่าถวายให้หลวงพ่อฟัง
พระอาจารย์มั่นพูดว่า “..นี่แลความละเอียดของจิตคนเรา จะรู้เห็นได้จากการภาวนาสมาธิเท่านั้น วิธีอื่นไม่มีทางทราบได้ จิตของคนเรามันลึกลับยิ่งนัก เราจะไปรู้เห็นมันด้วยวิธีการคาดคิดนึกเดาเอาตามตำราไม่ได้
ต้องลงมือปฏิบัติจิตสมาธิจริงๆ ถึงจะรู้แจ้งเห็นจริง โยมเกือบเสียตัวให้กิเลสขับไสไปเกิดในท้องหลานสาวแบบไม่รู้สึกตัวแล้วไหมล่ะ แต่ยังดีที่ภาวนาสมาธิจนรู้เรื่องของจิตเสียก่อน แล้วรีบแก้ไขกันทันเหตุการณ์
ฝ่ายนางอุ่นหลานสาวคนนั้น พอถูกคุณยายขาวกั้ง ตัดกระแสจิตขาดจากความสืบต่อ ไม่นานนางอุ่นหลานสาวของคุณยายขาวกั้ง ที่กำลังตั้งท้องอยู่ ยังไม่ถึงเดือนนั้นก็แท้งออกเสียโดยไม่รู้สาเหตุเลย
หรือจะเป็นด้วยจิตเดิมของคุณยายขาวกั้งเข้าไปปฏิสนธิในครรภ์ของนางอุ่นหลานสาวจริง เมื่อคุณยายทำลายสาเหตุ คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ในจิตของคุณยายได้แล้ว จึงทำให้ครรภ์นั้นแท้งเสียดังกล่าว
ปัญหาที่ว่า คนยังไม่ตาย ทำไมจึงเริ่มไปเกิดในท้องคนอื่นแล้วเช่นนี้
พระอาจารย์มั่นได้เฉลยปัญหานี้ให้พระเณรลูกศิษย์ทั้งหลายที่สงสัยเป็นล้นพ้นฟังว่า
“จิตเป็นแต่เพียงเริ่มต้นจับจองที่เกิดไว้เท่านั้น แต่ยังมิได้ไปเกิดเป็นตัวเป็นตนโดยสมบูรณ์ ถ้าคุณยายขาวกั้ง นั้นไม่รู้ทัน ปล่อยให้จิตเกาะเกี่ยวกับการเกิดในท้องหลานสาว จนทารกในครรภ์ปรากฏเป็นตัวเป็นตนสมบูรณ์ขึ้นมาเมื่อไร คุณยายขาวกั้งนั้นจะตายทันที
ตอบปัญหาที่ว่าการที่คุณยายคนนั้นตัดกระแสจิตตัวเอง จนหลานสาวแท้งลูก จะไม่เป็นการทำลายชีวิตมนุษย์ในครรภ์ล่ะหรือ..
พระอาจารย์มั่นตอบว่า “..จะเป็นการทำลายก็แต่เฉพาะกระแสจิตตัวเองเท่านั้น มิได้ตัดหัวคนที่เกิดเป็นตัวเป็นตนแล้วแต่อย่างใด เพราะจิตแท้ยังอยู่กับคุณยายขาวกั้ง ส่วนกระแสจิตทีแกส่งไปยึดไว้ที่หลานสาวนั้น
พอแกรู้สึกตัวก็รีบแก้ไขคือตัดกระแสจิตของตนเสีย มิให้ไปเกี่ยวข้องอีกต่อไป เรื่องก็ยุติกันไปเท่านั้น อีกอย่างก็คือทารกในครรภ์นั้นเพิ่งมีอายุได้ ๑ เดือนเท่านั้น เป็นเพียงแต่ก้อนเลือดยังไม่เป็นตัวตนแต่อย่างใด
แรกเริ่มสมัยนั้นญาติโยมชาวบ้านหนองผือกำลังมีความสนใจในการปฏิบัติธรรมมาก ทั้งหญิงทั้งชาย โดยหลวงปู่หลุย จันทสาโร เป็นผู้บุกเบิกแนะนำสั่งสอนเป็นองค์แรก ให้ชาวบ้านละเลิกนับถือผี
แล้วมานับถือพระไตรสรณคมน์อย่างจริงจังแทน และท่านยังได้อบรมฝึกหัดให้นั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม จนทำให้การปฏิบัติธรรมของญาติโยมชาวหนองผือสมัยนั้น บางคนมีความก้าวหน้ามาก และได้สละบ้านเรือนออกบวชกันหลายคน
โดยเฉพาะฝ่ายหญิงออกถือบวชเนกขัมมะ สละเรือนเป็นแม่ขาว แม่ชี สมาทานรักษาศีลแปดจำนวนหลายคนด้วยกัน
สำหรับคุณยายขาวกั้งหรือแม่ชีกั้ง เรื่องการภาวนานั้นรู้สึกว่ามีความก้าวหน้ามากและเป็นไปเร็วกว่า บรรดาแม่ชีที่บวชรุ่นเดียวกัน แม้จะถือบวชชีตอนแก่ของบั้นปลายชีวิตแล้วก็ตาม
การภาวนาของท่านก็เกิดความรู้ความเห็นวิจิตรพิสดารโลดโผนมาก แต่คงจะเป็นด้วยบุญวาสนาของคุณยายที่มีท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านจิตภาวนาได้เข้ามาพำนักอยู่วัดป่าบ้านหองผือในช่วงนั้นพอดี
จึงเป็นโอกาสให้คุณยายขากั้งได้เข้าไปกราบเรียนถามปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการภาวนากับองค์ท่าน จนสามารถ แก้ปัญหาเหล่านั้นลุล่วงไปด้วยดี และก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้อย่างรวดเร็ว จนเป็นที่อบอุ่นใจของ คุณยายมาจนกระทั่งท่านหมดอายุขัย
หลวงตามหาบัว ได้กล่าวปิดท้ายว่า “..นี่ได้ทราบว่า อัฐิของแกเป็นพระธาตุ เราเชื่อว่าอย่างนั้นเลย ยายกั้งนี้เราเชื่อแล้วหละ เพราะตอนนั้นแกเดินจงกรมนี้ เอาไม้เท้าเดินอยู่บนกุฏิหมายถึงความเพียรหมุนอยู่ภายใน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถให้ แกนั่งอยู่นานไม่ไหว ต้องเดิน เพราะอันนี้หมุนอยู่ตลอด เราไม่ลืม..”
ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร”และจากพระธรรมเทศนาโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ความสุขที่แท้...
(โอวาทธรรม ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)
(วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ)
เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงทรงเบื่อหน่ายโลก ?
ก็เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า คนเราที่เกิดมาในโลกนี้
มีอะไรบ้างที่เป็นสิ่งสมใจของเรา ? พ่อแม่หรือ ?
ญาติพี่น้องหรือ ? ข้าทาสบริวารหรือ? เพื่อนฝูงมิตรสหายหรือ ? เงินทองทรัพย์สมบัติหรือ ? สิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรที่จะสมใจเราสักอย่างเดียว
เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้แล้ว เราจะมาทนนั่งอยู่ นอนอยู่ในโลกนี้ทำไม ? ทรงคิดได้เช่นนี้ พระองค์จึงเสด็จออกบรรพชา เพื่อค้นหาหนทางที่จะไม่ต้องกลับมาเกิดอีก
จงคิดดูให้ดีว่า
๑.) โลกนี้มิใช่ของเรา แล้วเราจะมานั่งเฝ้าโลกกันอยู่อย่างนี้ละหรือ ? ไม่ช้าเราก็จะต้องจากมันไปอย่างแน่ๆ ดังนั้นเราจึงไม่น่าหลงติดอะไรอยู่
๒.) จิตของเราก็ไม่ต่างอะไรกับลูกฟุตบอล ที่ถูกเขาย่ำยีบีฑา ประหัตประหารให้ได้รับความคับแค้นใจอยู่ทุกขณะ
๓.) เราต้องการความสุขหรือความทุกข์ ? ทุกคนคงจะต้องการแต่ความสุขไม่ต้องการความทุกข์
แต่อะไรเล่าเป็นความสุขอันแท้จริงของตัวเรา ?
เราคิดว่า “กิน” นี่แหละคงจะเป็นความสุขแน่ละ เราก็พยายามไปหามาให้มันกิน ครั้นกินๆ เข้าไปมากก็เกิดอึดอัดไม่สบายอีก คิดว่า “นอน” นี่แหละต้องเป็นความสุขแน่ละ เราก็นอน…นอน วันยังค่ำจนหลังมันแข็ง ก็เกิดความไม่สบายอีก คราวนี้คิดว่า “เงินทองทรัพย์สมบัติ” นี่แหละคงเป็นความสุขแน่นอน เราก็พยายามไปหาเงินทองมาใช้จนเต็มที่ แต่มันก็ไม่สุขอีก แล้วอะไรเล่า…ที่เป็นความสุขอันแท้จริง ?
ความสุขที่แท้จริง ย่อมเกิดจาก บุญกุศล คือ ความสงบที่เกิดขึ้นในจิตใจ ใจที่พ้นจากทุกข์โทษความดิ้นรน ไม่มีกระสับกระส่ายเดือดร้อนกระวนกระวาย
ถ้าใครมานั่งหลงโลกติดโลก ว่ามันเป็นของดีวิเศษวิโสอยู่นั่น มิใช่นิสัยของบัณฑิตผู้ใฝ่ใจในธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเราจงพากันตั้งอกตั้งใจประกอบบุญกุศล เพื่อจะให้เป็นทางที่พ้นไปจากโลกนี้ นั่นแหละ่จะเป็นหนทางที่ถูกต้องบ้างที่เป็นสิ่งสมใจของเรา ? พ่อแม่หรือ ?
ญาติพี่น้องหรือ ? ข้าทาสบริวารหรือ? เพื่อนฝูงมิตรสหายหรือ ? เงินทองทรัพย์สมบัติหรือ ? สิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรที่จะสมใจเราสักอย่างเดียว
เมื่อเป็นอยู่อย่างนี้แล้ว เราจะมาทนนั่งอยู่ นอนอยู่ในโลกนี้ทำไม ? ทรงคิดได้เช่นนี้ พระองค์จึงเสด็จออกบรรพชา เพื่อค้นหาหนทางที่จะไม่ต้องกลับมาเกิดอีก
จงคิดดูให้ดีว่า
๑.) โลกนี้มิใช่ของเรา แล้วเราจะมานั่งเฝ้าโลกกันอยู่อย่างนี้ละหรือ ? ไม่ช้าเราก็จะต้องจากมันไปอย่างแน่ๆ ดังนั้นเราจึงไม่น่าหลงติดอะไรอยู่
๒.) จิตของเราก็ไม่ต่างอะไรกับลูกฟุตบอล ที่ถูกเขาย่ำยีบีฑา ประหัตประหารให้ได้รับความคับแค้นใจอยู่ทุกขณะ
๓.) เราต้องการความสุขหรือความทุกข์ ? ทุกคนคงจะต้องการแต่ความสุขไม่ต้องการความทุกข์
แต่อะไรเล่าเป็นความสุขอันแท้จริงของตัวเรา ?
เราคิดว่า “กิน” นี่แหละคงจะเป็นความสุขแน่ละ เราก็พยายามไปหามาให้มันกิน ครั้นกินๆ เข้าไปมากก็เกิดอึดอัดไม่สบายอีก คิดว่า “นอน” นี่แหละต้องเป็นความสุขแน่ละ เราก็นอน…นอน วันยังค่ำจนหลังมันแข็ง ก็เกิดความไม่สบายอีก คราวนี้คิดว่า “เงินทองทรัพย์สมบัติ” นี่แหละคงเป็นความสุขแน่นอน เราก็พยายามไปหาเงินทองมาใช้จนเต็มที่ แต่มันก็ไม่สุขอีก แล้วอะไรเล่า…ที่เป็นความสุขอันแท้จริง ?
ความสุขที่แท้จริง ย่อมเกิดจาก บุญกุศล คือ ความสงบที่เกิดขึ้นในจิตใจ ใจที่พ้นจากทุกข์โทษความดิ้นรน ไม่มีกระสับกระส่ายเดือดร้อนกระวนกระวาย
ถ้าใครมานั่งหลงโลกติดโลก ว่ามันเป็นของดีวิเศษวิโสอยู่นั่น มิใช่นิสัยของบัณฑิตผู้ใฝ่ใจในธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเราจงพากันตั้งอกตั้งใจประกอบบุญกุศล เพื่อจะให้เป็นทางที่พ้นไปจากโลกนี้ นั่นแหละ่จะเป็นหนทางที่ถูกต้อง
14 มีนาคม 2562
ใช้สติให้มาก ในการพิจารณาขันธ์ โดยหลวงปู่ขาว อนาลโย
พากันมาฟังมาก ไม่รู้จะพูดอะไรให้ฟังแล้ว
การฟังธรรมก็เปรียบได้แก่การเตรียมเครื่องทัพสัมภาระสำหรับทำการงาน
ครั้นเตรียมมาแล้ว เครื่องกลเครื่องไกที่เตรียมมาแล้ว ไม่ทำก็ขึ้นขี้สนิมเปล่า
ฉันใดก็ดี การสดับรับฟังโอวาทคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อย่างเดียวกัน
พระพุทธเจ้าเป็นผู้บอกทางให้เท่านั้นแหละ
ครั้นเราเชื่อคำสอนของพระองค์แล้ว
เป็นผู้ดำเนินตาม เป็นผู้ลงมือดำเนินตาม เราเองกระทำด้วยตนเอง
เพราะเหตุนั้น จะว่าโดยย่อ ๆ เท่านั้นแหละ
อาตมาไม่มีความพูดหลาย เพราะอยู่ป่าอยู่ดง
จะว่าให้ฟังย่อ ๆ พอเป็นหลักดำเนินปฏิบัติของพวกเราทั้งหลาย
ศาสนาคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตามตู้ตามใบลาน
อันนั้นเป็นเครื่องชี้บอกทางผู้จะดำเนินตามศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
คือก้อนธรรมอยู่จำเพาะใคร จำเพาะเรา
แก่นของธรรมแท้อยู่ที่สติ ให้พากันหัดทำสติให้ดี ให้สำเหนียก ให้แก่กล้า
สติน่ะทำเท่าไรไม่ผิด สติน่ะให้มันมีกำลังสติดีแล้ว
จิตมันจึงรวม เพราะสติคุ้มครองจิต เพราะสติก็แม่นจิตนั่นแหละ
หากลุ่มลึกกว่า ครั้นใจนึกขึ้นว่าสติ ก็ใจนั่นแหละเป็นผู้นึกขึ้น เรียกว่า “สติ”
เพราะสติก็แม่นใจนั้นแหละ พวกเดียวกัน ทำให้มันดีแล้ว ไม่พลาด
ทำก็ไม่พลาด พูดก็ไม่พลาด คิดก็ไม่พลาด ย่อมถูก ไม่ผิด พากันทำเอา
ธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์อยู่กับสติอันเดียว
พระพุทธเจ้าว่าแล้วในโอวาทปาฏิโมกข์ไม่ใช่เรอะ
ยานิกานิจิ ชงฺคลานํ ปาณานํ ปทชาตานิ สพฺพานิ
ตานิ หตฺถิปเท สโมธานํ คจฺฉนฺติ หตฺถิปทํ เตสํ อคฺคมกฺขายติ
ครั้นเทียบในบรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารจักร
ท่องเที่ยวอยู่ในพื้นปฐพี รอยสัตว์ทั้งหลายไปรวมอยู่ในรอยเท้าช้างอันเดียว
มีรอยเท้าช้างเป็นใหญ่กว่าเขารวมโม๊ด ราชสีห์อะไรลงไปรวมโม๊ด
ฉันใดก็ดี ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันอยู่ในสติ
เย เกจิ กุสลา ธมฺมา สพฺเพ เต อปฺปมาทมูลกา
อปฺปมาทสโมสรณา อปฺปมาโท เตสํ อคฺคมกฺขายตีติ
กุศลธรรมทั้งหลาย คุณงามความดีทั้งหลาย
จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลอยู่กับสติแล้ว
บุญกุศล เค้ามูลกุศลทั้งหลาย มาสโมสรรวมอยู่ในสติ สติเป็นใหญ่
เพราะเหตุนั้น ครั้นรู้อย่างนี้แล้วว่า สติเป็นแก่นธรรม แก่นธรรมก็แม่น
อันนี้อยู่สำหรับทุกคนทีเดียว ทุกขณะมีอยู่ทุกคน
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ของจริง ผู้จะรู้เท่าตามจริงทั้งหลายทั้งปวง มีอยู่ทุกรูปทุกนาม
แต่อาศัยว่าเราหลง จิตของเราเปรียบแปมาเหมือนเด็กอ่อน อ่อนแออยู่
เพราะเหตุนั้นแหละ สติเปรียบเหมือนพี่เลี้ยง ก็เจ้าของนั่นแหละจิต
นั่นแหละ พอมันระลึกขึ้นก็แม่นสติแล้ว สตินั่นอบรมจิต
ครั้นอบรมจนมันรู้เท่าตามความเป็นจริงแล้ว
มันจึงหายความหลงความสว่าง ความหลงความสว่างนั่นก็หลง เพราะไม่มีสติ
ครั้นมีสติคุ้มครอง หัดทำให้มันแน่วแน่ ให้มันแม่นยำ ให้มันสำเหนียกแล้ว
มันจะรู้แจ้งทุกสิ่งทุกอย่าง สติเป็นเครื่องตี่ คือตีสนิมของมัน
เปรียบดวงจิตเรียกว่า ความหลง เรียกว่า อวิชชา
จิตนั่นแหละตัวอวิชชา มันหลงเรียกอวิชชา จิตมันหลง
ขี้สนิมมันก็อยู่กับอวิชชา มันหลงนั่นแหละ ขี้สนิมโอบมัน ความหลงนั่นแหละ
แต่ก่อนจิตผ่องใส พระพุทธเจ้าจึงว่า ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ
ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฺฐํ
จิตเดิมธรรมชาติเลื่อมประภัสสร
แต่อาศัยอาคันตุกะกิเลสคือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสทั้งหลาย
เข้ามาสัมผัสแล้วมันหลงไปตาม จึงเป็นเหตุให้จิตนั้นเศร้าหมองขุ่นมัว
ไม่รู้เท่าอวิชชา ปัจจัยของมัน ความโง่เรียกอวิชชาเหมือนกันกับเหล็ก
เหล็กนั้นมันก็ดี ๆ อยู่นั่นแหละ แต่สนิมมันเกิดขึ้นในเหล็กนั่นแหละ
แต่เขาตีขัดเกลาจนเป็นดาบคมได้ ใช้การได้
ถ้าไม่ตีมันก็อยู่อย่างนั้น สนิมกินเสียจนใช้การไม่ได้
จิตของเราก็ดี อาศัยสติเป็นผู้ขัดเกลา อาศัยสติเป็นผู้คุ้มครองเชื่อมั่น
อันที่จริงอาคันตุกะกิเลสก็ไม่เป็นปัญหา
คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสภายนอก ไม่เป็นปัญหา
เค้ามูละมูเลของมันก็คือ กาม กามาสวะ อวิชชาสวะ สามอันนี้เป็นอนุสัย
เป็นสนิมของมัน เป็นสนิมหุ้มห่อจิตให้มืดมนอนธการ
เพราะเหตุนี้แหละ เราหัดสติ ทำสติให้มีกำลัง
เมื่อสติมีกำลังแล้ว จิตมันก็จะรู้เท่าตามความเป็นจริง
ครั้นในมีสติแล้ว ก็เกิดสัมปชัญญะ ความรู้ตัวพร้อม
ก็หมายความว่า ดวงปัญญานั่นแหละ ญาณก็ว่า ปัญญาก็ว่า
สติกับความรู้ถึงพร้อม ธรรม ๒ อย่างนี้เป็นของคู่กัน
พอเราระลึกขึ้นแล้ว สัมปชัญญะรู้ว่าถูกหรือผิด
รู้พร้อม ๆ จิตรู้พร้อมนี่แหละอบรมดีแล้ว มันจะมีกำลังความสามารถ
สามารถทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถแทงตลอดได้ทุกสิ่งทุกอย่าง
จะทำอะไรก็ดี จิตดีเท่ากัน มันสามารถ อย่างไฟไหม้บ้าน มันมีกำลัง
จิตของเราแม้นอบรมดีแล้วมันมีกำลัง มีกำลังที่สุดทีเดียว
สามารถจะหอบเอาของหนักนั่นออกจากไฟได้
ดับไฟได้แล้ว ไฟดับแล้วจะหาม ๓-๔ คนยังหามไม่ไหวเลย
กำลังจิตเท่านั้นน่ะแหละ เพราะเหตุนั้น เราหัดดีแล้วก็เหาะได้
เหาะได้เหมือนพระโมคคัลลาเจ้า
พวกเราสงสัย สงสัยว่าเหาะขึ้นก็คือ นั่งอยู่นี่แหละ
แต่จิตนั้นไปสวรรค์ ไปนรก ไปนั่น ๆ ละ อันนั้นก็แม่น แต่ว่าไปได้จริง ๆ
หอบเอากายไปได้จริง ๆ คิดดูเถอะ นั่นแหละให้พากันอบรมจิต
พวกเราอะไร ๆ ก็ดี สมบูรณ์บริบูรณ์ทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว
พวกศรัทธาทั้งหลายก็นับว่าเป็นผู้สูง เป็นผู้สูงอยู่แล้ว ศรัทธาก็มีอยู่แล้ว
ให้สดับรับฟังแล้วก็มีแต่จะทำเอาเท่านั้นแหละ ให้พากันทำเอา
มันจะไหน ธรรมทั้งหลายมันก็อยู่นี่แหละ แก่นมันแท้คือสติ ให้ทำเอา ทำให้มีกำลัง
ครั้นสติดีแล้ว มันรักษาจิตของมันไม่ให้ส่ายออกไปตามอารมณ์
สติขนาบเข้ามา ๆ สติแก่กล้ามันเป็นอย่างนั้นแหละ
ครั้นสงบลงแล้ว เดี๋ยวนี้มันไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญามันก็ส่ายไป
พอมันไปหลาย ๆ ครั้ง มันเป็นอาการของมัน มันไปตามแง่ของมันคือ เวทนา
มันเป็นเพียงแสงของจิต สัญญามันก็เป็นแสงของจิต
สังขารความปรุงมันก็เป็นแสงของจิต วิญญาณที่รู้ทวารทั้ง ๖
ก็เป็นแสงของจิตออกไปทั้งนั้น ผู้รู้แท้ ๆ ถ้าจะสมมติว่าตนก็แม่นจิต
เจ้าสตินั่นแหละสมมติว่าตน นอกจากนั้นเป็นอาการทั้งนั้น
รูปอันนี้ก็เป็นแต่เพียงธาตุประชุมกัน ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันเท่านั้น
ดังนั้นเมื่อจิตสงบลงไป เวทนาก็ดับแล้ว พอมันสงบลงไป
คนไม่มี อะไรล่ะมันจะมาเจ็บ มาทุกข์ อะไรล่ะมันจะมาจำ คนไม่มี มันสว่าง ๆ ขึ้น
เมื่อจิตสงบลงละมันสว่างโร่ขึ้น ว่าง ๆ ความจำหมายก็ไม่มี ความปรุงก็ไม่มี
วิญญาณที่รู้ไปทางทวารทั้ง ๖ มันก็ไม่มี มันดับเอง เพราะว่าของไม่มีหมดแล้ว
ของเหล่านี้เป็นของหนัก ครั้นใครยึดถือไว้เป็นของหนัก
ไปถือขันธ์ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
อันนี้ก็ไปยึดไว้ ไปยึดก็ได้ชื่อว่าถือหาบอันหนัก
พระพุทธเจ้าท่านว่า ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ภารหาโร จ ปุคฺคโล
ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก ภารนิกฺเขปนํ สุขํ
ผู้วางภาระ คือวาง ไม่ยึดถือว่าขันธ์ ๕ อันนี้เป็นตัวเป็นตนแล้ว
ไม่ยึดไม่ถือแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผู้วางภาระ ไม่ยึดไม่ถือแล้ว
ต้องมีความสุข จะนั่ง จะยืน เดิน ก็มีความสุข
นิกฺขิปิตฺวา ครุ ภารํ เมื่อไม่ถือเอาขันธ์ ๕ นี้เป็นภาระแล้ว
เพราะรู้เท่าตามความเป็นจริงของมันแล้ว
ไม่ยึดถือเอา อญฺญํ ภารํ อนาทิย สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห
คือได้ชื่อว่าเป็นผู้ตัดตัณหาขึ้นได้ทั้งราก นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโตติ ฯ เป็นผู้เที่ยงแล้ว
เที่ยงว่าจะได้เข้าสู่ความสุขตามเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เที่ยงแล้ว
เมื่อจิตมันรวมแล้ว มันจะรู้ตามความเป็นจริง มันจะว่าง วางนั่นแหละ
พอจิตรวมแล้วมันก็ว่าง ค้นหาตัวไม่มี พอมันสงบแล้ว ปัญญามันเกิดขึ้นของมันเอง
ครั้นมันสงบลงถึงฐานถึงที่ มันถึงอัปปนาแล้ว มันเกิดขึ้นเองนะ
พอนึกเท่านั้น มันปรุงฟุ้งขึ้น มันปรุงแล้ว มันไม่ไปยึดแสงสว่าง
สว่างหมดทั้งโลกนี้ก็ตาม มันไม่ไปยึด มันสาวเข้าหาคน ไหนคน คนอยู่ที่ไหน
มันมาอวดว่าตนว่าตัว ไล่เข้าไป ถ้ามันรวมลงอย่างนั้น มันอาศัยสติควบคุมให้มันอยู่
อย่าให้มันไป จิตรวมลงอย่างนี้ แจ่มใสทีเดียว
ไม่ใช่มันง่วงนอน มันไม่ใช่วิสัยของสมาธิ อันนั้นละ มันแจ่มใสอย่างนั้น
เรียกว่าสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิอันถูกต้อง แล้วก็แม่นมันนั่นแหละ แม่นจิตนั่นแหละ
เป็นตัวศีลละ จิตนั่นแหละเป็นตัวสมาธิ จิตนั่นแหละเป็นตัวปัญญา
อันเดียวนั่นแหละ มันจะถึง อธิจิต อธิศีล อธิปัญญาได้ ก็อาศัยสติควบคุม
พวกศรัทธาได้ยินได้ฟังแล้วก็ให้พากันตั้งใจทำ มันไม่อยู่ที่อื่นหนา
ไม่ได้ไปหาเอาที่อื่นหนา อยู่จำเพาะใคร จำเพาะเรานี่หนา
ไม่ได้ไปคว้าเอาที่ไหนดอก ธรรมน่ะ ยกขึ้นก็ปะไปโลด เห็นไปโลด นึกขึ้นก็เห็นไปโลด
แล้วก็คุมสติเอา มันจะรู้เอง ปัจจัตตังน่ะ สันทิฏฐิโก จะเห็นเองนั่น
อกาลิโก ไม่อ้างกาลอ้างเวลา จิตของเราจะหายจากราคะแล้ว ก็รู้จำเพาะตน
จิตเรายังมีราคะก็จะรู้ จิตมีโทสะก็จะรู้ หายจากโทสะก็จะรู้
จิตมีโมหะ ความหลงงมงายก็จะรู้ จิตหายโมหะก็จะรู้
จิตหดหู่ก็จะรู้ จิตฟุ้งซ่านก็จะรู้ รู้แล้วก็จะได้จัดการแก้ไข รู้ก็ดี จะได้เพิ่มศรัทธา
รีบเร่งความเพียรเข้าอีก เอาละ พากันทำเอา ไม่อ้างที่อ้างฐานดอก
อยู่ที่ไหนก็ได้ เวลามันสงบ มันก็จะมีอยู่นั่นแหละ
หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำพู
อนาลโยวาท กัณฑ์ที่ ๒ คัดลอกจากหนังสือ อนาลโยวาท พระธรรมเทศนาของพระอาจารย์ขาว อนาลโย และ ประวัติความอาพาธ
การฝึกสมาธิสายพระอาจารย์มั่น โดย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร
ตามหา “ผู้รู้”
นั่งให้สบาย นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย
ตั้งกายให้สบาย เราต้องการความสุขความสบาย
วางท่าวางทางให้สบาย สง่าผ่าเผย ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ต้องกดต้องตึง
วางให้สบาย พอกายเราสบายแล้ว วางดวงใจให้สบาย
เมื่อใจเราสบายแล้ว ให้ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ อยู่ในใจ
เชื่อมั่นอยู่นั่น จึงให้นึกคำบริกรรมภาวนาว่าพุทโธ ธัมโม สังโฆ
พุทโธ ธัมโม สังโฆ สามหนแล้ว ให้นึก พุทโธๆ คำเดียว
หลับตา งับปากเสีย ให้ระลึกอยู่ในใจ
พุทโธคือความรู้ ความรู้อยู่ตรงไหนล่ะ
ตาเราก็เพ่งดูที่รู้ว่าพุทโธ ให้กำหนดดู นี่เราอยากรู้
หูก็ลงไปฟังที่รู้อยู่นั่น สติของเราก็จดจ่อ ดูอันรู้อยู่นั่น
อย่าส่งใจไปข้างหน้ามาข้างหลัง ข้างซ้ายข้างขวา ข้างบนข้างล่าง
ตั้งเฉพาะท่ามกลางอันรู้อยู่ ความรู้อยู่ตรงไหน เรากำหนดอยู่ตรงนั้น
ไม่ต้องหา วางให้หมด ดูอันรู้นั่นอยู่ นี่แหละเราจึงรู้จักว่าที่พึ่งของเรา
เมื่อจิตของเราสงบเป็นสมาธิ มันตั้งตรงแน่วอยู่ภายใน ใส รู้สึกเบาตนเบาตัว
เมื่อจิตสงบแล้ว หายทุกข์หายยาก หายความลำบากรำคาญ
มีแต่ความเบามีแต่ความสบาย นั่นแหละ ที่อยู่ของตน นี่เรียกว่าเป็นกุศลกรรม
เมื่อจิตของเรามีความเบาความสบายแล้ว มันนำความสุขความเจริญให้
มันได้อุบายปัญญา ความรู้ความฉลาดเกิดตรงนั้น เราพัก เราจะมีกำลัง
สติของเรา สมาธิของเรา ปัญญาของเรา เกิดจากนั้น มันไม่เกิดจากที่อื่นไกล
เรารู้นี่ จิตของเรามืด ผู้รู้นั่นพุทธะ แปลว่าผู้รู้
เราอยากรู้มันเป็นอยู่ยังไง ผู้รู้ว่ามืดมันมี มันมืด
เราก็ยึดเอาความมืดมาเป็นตนเสีย มันสว่างก็ไปยึดเอาความสว่างมาเป็นตนเสีย
นี่ มันเป็นอย่างนี้ มันทุกข์ก็ไปยึดเอาทุกข์มาเป็นตนเลย
เราไม่กำหนดว่า ผู้รู้ว่าทุกข์มันมี ทุกข์ต่างหาก ผู้รู้ต่างหาก
มันเฉยๆ ก็ผู้รู้เฉยๆ มี ผู้รู้มันไม่ได้เป็นอะไรซี่
อย่างพุทธะเป็นผู้รู้ เหนือหมดทุกอย่างความรู้อันนี้ มืดมันก็รู้ หลงมันก็รู้
ท่านอาจารย์มั่นท่านเคยพูดแต่ก่อน ท่านร้องตะโกนแรง
ท่านว่าใครเรียนไป ถึงแต่อวิชชาก็ไปหยุดหละ ถึงแต่อวิชชา
ผู้ใดก็ว่าแต่อวิชชาคือความหลง ท่านบอกยังงี้หละ
ผู้ใดรู้อวิชชาล่ะไม่ดู รู้แต่ว่าอันนั้นเป็นอวิชชา นั่น ท่านบอกยังงี้
อวิชชาคือความหลง ใครเป็นผู้รู้อวิชชาล่ะ เราไม่ได้ดูแน่ะ
ให้ดูผู้รู้อวิชชานั่นซิ มันก็เป็นวิชชาขึ้นมาล่ะ
อวิชชาคือความไม่รู้ วิชชาคือความรู้แจ้งเห็นจริง
นี่ มันเป็นอย่างนี้ เราก็เพ่งดูผู้รู้นั้นอยู่
ความรู้อันนี้ไม่ใช่เป็นของแตกของทำลาย และไม่เป็นของสูญหาย
นิดหนึ่งมันก็รู้ มันรู้อยู่หมด จึงว่าพุทธะคือผู้รู้
เราอยากรู้มันเป็นยังไง มันเป็นสุข เราไปยึดเอาสุข ผู้รู้สุขมันมีอยู่
มันเป็นทุกข์ เราก็ไปยึดเอาทุกข์มาเป็นตน ผู้รู้ทุกข์มันมีอยู่ เราเป็นผู้ไปยึดเอาทั้งหมด
นี่ จึงว่าอยากรู้มันเป็นอยู่ยังไง สิ่งทั้งหลายทั้งหมดไม่มีใครทำให้
เราทำเอาเองทั้งหมด สุขทุกข์ ดีชั่ว เราไม่มีโอกาสอย่างคุณหลวงว่า
เดี๋ยวนี้เรามีอะไร นั่งอยู่เดี๋ยวนี้ เรามีโอกาสเต็มที่
ไม่มีอะไรซักอย่าง ดูแต่ดวงใจดวงเดียวนี้เท่านั้น
นี่เราต้องฟังดู ทีนี้มันไปเกาะตรงไหนเล่าหัวใจของเรา
ภเว ภวา สัมภวันติ เราจะรู้จักภพที่อยู่ของตน
ภวะแปลว่าภพ เราเจริญภพภาวนานี้ ภวะแปลว่าภพ
ภพน้อยๆ ภพใหญ่ๆ ที่เราไปยึดตรงไหนนั่นหละ ภพอยู่ตรงนั้นหละ
ไปยึดเอาสุข นั่นมันก็เป็นภพ ไปยึดเอาทุกข์ มันก็เป็นภพ
ยึดเอาดีมันก็เป็นภพที่ดี ยึดเอาชั่วมันก็เป็นภพที่ชั่ว
ไปยึดเอาทุกข์ก็เป็นภพที่ทุกข์ นี่ที่อยู่
อัตตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน
เมื่อจิตเราสบายแล้ว เราก็ได้ที่พึ่งอันสบาย
เมื่อจิตเราไม่สบาย เราก็ได้ที่พึ่งอันไม่สบาย นี่ มันเป็นอย่างนี้
ให้พึงรู้พึงเห็นซิ สันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติรู้เองเห็นเอง ไม่ใช่ผู้อื่นเห็น
เราเป็นผู้เห็นซี่ ให้มันรู้มันเห็นจริงแจ้งประจักษ์ซี่
มันจึงหายความสงสัยในภพทั้งหลาย
ภพน้อยๆ ใหญ่ๆ ที่ใกล้ที่ไกล ในนอก
ผู้นี้ทั้งหมดเป็นผู้ไปยึด ผู้นี้ทั้งหมดเป็นผู้ไปถือ ให้รู้จัก
นรกมันก็ไม่ได้อยู่ต้นไม้ภูเขาเลากา ในพื้นดินฟ้าอากาศ
นรกก็หมายความทุกข์ อะไรทุกข์เดี๋ยวนี้ ถ้าจิตเราทุกข์นั่นแหละตัวนรก
นรกก็หมายความทุกข์ ภพหนึ่งเป็นอย่างนั้น
สวรรค์หมายความสุข จิตเราเป็นสุข เราก็ได้ที่พึ่งอันสุข
ก็สบาย เย็นอกเย็นใจ หายทุกข์หายยาก หายความลำบากรำคาญ
ไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีความชั่วทั้งหลาย
มีแต่ความเบาความสบาย ใสอยู่ภายในผู้รู้อันนั้น
ความพ้นทุกข์ เราอยากพ้นทุกข์
เราให้รู้จักว่าสิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวทั้งหมด
เราไปยึดเอา เราอยากพ้นทุกข์ก็ให้กำหนดดูซี
ถ้าจิตของเรามีทุกข์อยู่ มันก็ไม่พ้นทุกข์
จิตพ้นทุกข์คือมันไม่ทุกข์ คือมันละมันวางหมด
เมื่อมันละมันวางหมดแล้ว นั่นแหละมันพ้นทุกข์ตรงนั้น
มันไม่ได้พ้นที่อื่น ผู้นี้เป็นทุกข์ นี่หละให้พากันกำหนดดูให้รู้
ให้เพ่งเล็งลงไปซิ ให้มันแน่นอนลงไปซิ เชื่อมั่นลงไปซิ
สันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติรู้เองเห็นเอง จะไม่เห็นอย่างไรล่ะจิตของเรา
เราสบายเราก็รู้ เราไม่สบายเราก็รู้
เอ้า ต่อไปต่างคนต่างฟังดวงใจของเรา ได้ความยังไงแล้วพิจารณาให้มันรู้
เมื่อเราได้ยินเสียงทั้งหลายทั้งหมด
ให้รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีอันตรายแล้ว เราก็ไม่เดือดร้อน ตั้งดูความรู้ของเรานั่น
เราอยากสุขก็วางจิตของเราให้สบาย
สังขารทั้งหลายเหล่านี้มันของไม่เที่ยงทั้งหมด สังขารมันเป็นทุกข์ทั้งนั้น
เรากำหนดจิตของเราผู้รู้อันเดียวเท่านั้น
นี่หละ ตนของตนคือผู้รู้ ผู้รู้นั่นแหละ จิตวิญญาณอันนั้นหละมันไปก่อภพก่อชาติ
มันไปก่อที่ไหนเล่า คือ ไปยึดที่ไหนแล้วมันก็ไปเกิดที่นั่น
เราได้แต่เดี๋ยวนี้ ได้สุขได้ทุกข์ มันต้องสร้างไว้แต่เดี๋ยวนี้ ต้องทำแต่เดี๋ยวนี้
เหตุนี้เราจะนั่งสมาธิดูว่าจิตของเราตกอยู่ในชั้นภูมิใด
เช่น กามาวจรกุศลนี้แบ่งเป็นสองนัย
แบ่งเป็นอบายภูมิอันหนึ่ง แบ่งเป็นฉกามาวจรสวรรค์อันหนึ่ง
เรารู้ได้ยังไง แบ่งเป็นอบายภูมิคือจิตเราทุกข์ จิตเราไม่ดี จิตเศร้าหมอง จิตวุ่นวาย
นี่ไปทางอบายภูมิ ไปทางนรก
จิตเราผ่องใส มีความเบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส นี่เป็นฉกามาวจรสวรรค์
ทีนี้ให้เราพิจารณา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน
เห็นแต่ภายนอก ไม่มีแก่นสาร ไม่มีสาระ เราละได้
เรามาเห็นแต่สังขารร่างกายเท่านี้
มาเห็นแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้
มาเห็นอัตภาพร่างกายนี้ มันเกิดจากนี้ทั้งหมด
เราก็มาพิจารณาสังขารร่างกายเรานี้ นะโม นี้ มันไม่มีแก่น ไม่มีสาร นะคืออันใด
เช่น ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด บุพโพ น้ำเหลือง โลหิตัง น้ำเลือด
เสโท น้ำเหงื่อ เมโท น้ำมันข้น อัสสุ น้ำตา วสา น้ำมันเหลว
เขโฬ น้ำลาย สิงคาณิกา น้ำมูก ละสิกา น้ำไขข้อ มุตตัง น้ำมูตร
สิ่งเหล่านี้เป็นของทิ้งทั้งหมด มิใช่เป็นของเอา
สังขารร่างกายเรานี้ไม่เป็นแก่นเป็นสาร มีแต่กองทุกข์ทั้งนั้น
ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน ไม่ใช่เป็นสัตว์เป็นบุคคล ไม่ใช่เป็นเราเป็นเขา
เราก็ละรูปภพ ถึงอรูปภพ เหลือแต่จิตดวงเดียว มันวางกายหมดแล้ว
เห็นแต่จิตดวงเดียว ใส ว่างอยู่หมด นั่นรียกอรูปภพ ชั้นพรหม
ถ้าเรารู้จักภพทั้งสามนี้ว่ามันยังเป็นทุกข์อยู่ นำให้ทุกข์อยู่ภพทั้งหลายนี้
ละกิเลส ละตัณหา ราคะ โลภะ ที่ยึดน้อยหนึ่งก็ตาม ยังกิญจิรูปัง ในรูปทั้งหลายนี้
จิตมันวางหมดไม่เหลืออะไรจนนิดหนึ่ง ที่มืดที่สว่างไม่มี
เป็นวิมุติหลุดพ้นหมด นั่นมันก็เข้าสู่ปรินิพพาน
ไม่มีเกิด ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ ไม่มีตาย
ไม่มีทุกข์ ไม่มีอะไร สังขารทั้งหลายไม่มี
เป็นผู้ระงับดับหมดแล้ว ไม่มีอะไร เรื่องสมมตินิยมไม่มี
จึงว่าวิมุติ แปลว่าหลุดพ้นหมด
ข้อนี้ตนของตนต้องรู้เอง จะอธิบายอยู่อย่างนี้มันก็เป็นสมมติ
นี่สมมติให้รู้จักหนทาง ผลที่สุดคือวิมุติหลุดพ้น
เอ้า ต่อนี้ไปให้นั่งดูจิตของเราอยู่ในชั้นใด ภูมิใด
พระธรรมเทศนาโดย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ณ วัดป่าอุดมสมพร เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๑๒
09 มีนาคม 2562
การบอกเทวดารักษาตัวของนักเจริญพระกรรมฐาน
การบอกเทวดารักษาตัวของนักเจริญพระกรรมฐาน
โดย หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง
นักปฏิบัติพระกรรมฐานนี่ถ้าจิตเริ่มเข้าถึง
ตั้งแต่อุปจารสมาธิ เทวดาจะตามอารักขา
ตลอดนะ ให้รู้ตัวไว้นะ "
" ถ้าหากบังเอิญเราคิดว่ากลัวภัยอันตราย
ระหว่างทาง แล้วก็อย่าลืม ถ้ากรรมใหญ่
บุพกรรมที่เป็นอุศลใหญ่มีนี่ เขาต้องหลีก
เหมือนกัน แต่ทำให้หนักเป็นเบา มันไม่เต็มอัตรา
กรรมที่เป็นอุกศลหนักนี่ เขาก็กันไม่ได้ แต่ว่า
ทำให้หนักเป็นเบาได้ "
ถ้าเวลาเราออกเดินทางให้คิดว่า
" มีอันตราย ก็บอกเขา เรียกกับแบบย่อๆ ก็ได้
บอกว่าพี่ชาย ไปนี่ให้มันปลอดภัยนะ
แล้วถ้ามีอะไรอันตรายให้เตือนด้วย
อย่าลืมลืมบอกว่า เราจะยืนอยู่ก็ดี จะนั่งก็ดี
จะไปไหนก็ดี ถ้าอันตรายมันจะพึงมีล่ะก็
ให้เตือนด้วย คำเตือนนี่อย่าเฉยๆ นะ
ดีไม่ดีแกบอกเอาเวลากระชั้นชั่วนาทีนะ
ต้องกะเวลาให้แกเตือนก่อน ๑ ชั่วโมง
หรือ ๒ ชั่วโมง ล่ะก็ว่ากันไป "
" แต่ถ้านอนอยู่ในบ้าน ทว่าอันตรายมันจะพึงมา
คนร้ายจะเข้าบ้าน ให้ปลุกก่อนหนึ่งชั่วโมง
อย่างนี้ก็ได้หรือ ครึ่งชั่วโมงก็ได้ "
แต่บังเอิญเราสั่งแบบนี้นะ ถ้าเราง่วงมันอยาก
นอนเต็มที และไอ้อันตรายประเภทนี้มันเข้ามา
ระยะใกล้เลย พอเข้าไปถึงที่นอนแทนที่จะหลับ
มันกลับตาโพลงสว่างหาความง่วงไม่ได้
มันจะรู้สึกว่าทำไมมันถึงไม่หลับ
ถ้าไม่หลับคนร้ายก็เข้าไม่ได้ ท่านก็ทำแบบนี้
เดี๋ยวเราจะหาว่าเขาแกล้ง บางทีอาจจะเดินกุกกักๆ
อย่าไปกลัวเขาล่ะ จะคิดว่าผีหลอกล่ะมัง
" แต่เรากลัวแบบไหนก็อย่าให้เขาทำแบบนั้น
เอาแต่พอรู้สึกตัวหรือสงสัย ถ้าระหว่างเดินทาง
สงสัยว่าจุดนั้นอาจมีอะไร ถ้ามันเกิดความสงสัยจริงๆ
มันดึงใจไม่อยู่ล่ะก็ หยุดวะอย่าเพิ่งไปมันมีแน่
อันนี้เขาบันดาลให้เราสงสัย มันเคยมีบ่อยๆ
เคยเจอะมาแล้ว เอ้อเคยมีหลายวาระ เขาเคยบอก
ในสมัยเขามาปลุกมันเหมือนกับรู้สึกตัว มันตื่นขึ้น
มาเฉยๆ ถ้าหากเราไม่กลัว จิตใจสบายก็ไม่เห็นตัวเขา
แล้วเขาจะบอก เขาจะบอกว่ามันจะมาจากทางทิศไหน
ทิศไหนก็ตามเวลาเท่าไร ถ้าหากคนจะมา มากี่คน
อันนี้เขาบอกหมด "
แต่ถ้าเขากันแล้วจะเราบอกให้ปล่อย " อย่านะ "
ถ้าเขาปล่อยเขาไม่ดู เคยโดนมาแล้ว
ไอ้ผีผู้หญิงประมาณ ๔ ทุ่มมั้ง ไปนอนที่ต้นโพธิ์
แห่งหนึ่ง แล้ว ๔ ทุ่ม ก็เห็นผีผู้หญิงห่มผ้าตะเบงมาน
เข้ามา เห็นเขาจับรัดคอออกไป เราก็เห็นเป็นผู้หญิง
แต่งตัวไม่ดี ก็คิดว่าแกจะลำบาก อาจจะมาขอ
ส่วนบุญก็ได้ เลยบอกพี่ชาย ปล่อยเข้าเถอะ
นั่นมันผีผู้หญิงเขาไม่ทำอันตรายหรอก อาจจะมา
ขอส่วนบุญก็ได้ แต่เขารู้นะ เขาก็ปล่อย ปล่อยแล้ว
ยายนั้นก็ไม่เข้ามา แกก็นั่งอยู่เฉยๆ ก็เลยนอนหลับ
หลับตี ๒ จึงรู้สึกตัวตื่น มันเจ็บหน้าอกทั้งสองข้างๆ
ยายนั่นเอานิ้วชี้จี้ ๒ จุด แหม ยายระยำเราสารมัน
กลับเล่นเราเข้าให้ เอ บิดไปบิดมาก็ไม่พ้นมือมัน
บิดอย่างไรก็หมดแรงทำอะไรไม่ได้ เห็นพรรคพวก
นั่งกัน ๔ คน นั่งสบายยิ้ม เฮ้อ (หัวเราะ) ดีจริงๆ
ถามว่า " พี่ชายทำไมไม่ตีมันไป จับลากแล้วตีมันไป
ไล่ตีมันไปเลย "
ถามว่าทำไมปล่อยเข้ามา เขาก็บอก "อ้าว ทำไมล่ะ
ก็กันแล้ว ดันบอกให้ปล่อยก็ปล่อยนะซิ "
แหม ตรงจริงๆ รักษาคำสั่งมั่นคงมาก บอกทีหลัง
อย่าเอาแบบนี้อีกนะ บอก " ถ้ามันอันตรายอย่าให้มัน
เข้ามาเด็ดขาด"
03 มีนาคม 2562
มนุษย์ ๗ จำพวก
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร พระธรรมเทศนาเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๑๘ มนุษย์ทั้งหลายมี ๗ จำพวก มนุษย์มี ๗ อย่าง
มนุสสติรัจฉาโน ทำไมจึงว่ามนุสสติรัจฉาโน
ดูซิ ร่างกายเป็นมนุษย์ หัวใจเป็นสัตว์เดรัจฉานคือมันขี้เกียจขี้คร้าน รับอาหารแล้วก็นอน ไม่รู้จักการกราบ ไม่รู้จักการไหว้ ไม่รู้จักการรักษาศีลภาวนา ทำบุญให้ทานอะไร เหมือนกับสัตว์เดรัจฉานน่ะ มนุษย์เช่นนั้นแหละตายไปก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานดูเอาซิ พิจารณาเอาซี ร่างกายเป็นมนุษย์แต่หัวใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน
มนุสสเปโต ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่หัวใจเป็นเปรต
มันมีแต่โมโหโทโส อยากฆ่า อยากฟัน ความทะเยอทะยานดิ้นรน มีพยาบาทอาฆาตจองเวร ดูซิ ใจมันมีอาฆาต นี่แหละมนุสสเปโตร่างกายเป็นมนุษย์ เมื่อดับขันธ์ไปแล้วก็ไปเป็นเปรต
มนุสสนิรเย ร่างกายเป็นมนุษย์ หัวใจเป็นนรก
หัวใจเป็นนรก คือมันมืด มันกลุ้มอกกลุ้มใจ ให้ทุกข์ให้ร้อนดูเอาซิ นั่นแหละนรก ดับขันธ์ไปแล้วก็ไปนรกซี่ ได้รับความทุกข์ยากความลำบากรำคาญ นี่มนุษย์เช่นนี้ ทีนี้ถ้าไม่ไปเป็นอย่างนั้น เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ที่ต่ำช้า หัวใจต่ำช้า อย่างอธิบายมาแล้ว ต่ำช้ายังไงล่ะ เป็นใบ้บ้าเสียจริต หูหนวกตาบอด ปากกืด กระจอกงอกง่อย ขี้ทูดกุฏฐัง ตกระกำลำบาก แน่ะ มนุษย์หัวใจเป็นยังงั้น ถ้าเกิดเป็นมนุษย์อีกก็เป็นมนุษย์ที่ต่ำช้า ดูซิ ใจเราทุกคน ไม่ว่าพระว่าเณร ไม่ว่าผู้หญิงผู้ชาย เอ้าดู อธิบายให้ฟัง ถ้ามันเป็นอย่างนั้นเราไม่ต้องการก็เลิกก็ละเสีย ให้รู้จักดีรู้จักชั่ว รู้จักผิดรู้จักถูก รู้จักฟัง อธิบายให้ฟัง
มนุสสเทโว ร่างกายเป็นมนุษย์ หัวใจเป็นเทวธิดา เทวบุตร
หัวใจมีทาน มีศีล มีภาวนา รู้จักเคารพนอบน้อม รู้จักกราบรู้จักไหว้ ใจมีหิริโอตตัปปะ ละอายบาป กลัวบาป ใจเบิกบาน ใจสว่างไสว ใจดีดับขันธ์ก็ไปเป็นเทวบุตรเทวธิดา เรื่องเป็นอย่างนั้น ดูเอาซิ
มนุสสพรหมา ท้าวมหาพรหม นางมหาพรหม หัวใจเช่นใด
มีพรหมวิหาร มีพรหมวิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่ หัวใจว่างไม่มีอะไร เหมือนกะอากาศนี้แหละ ว่างเปล่าหมด
เหลือแต่อรูปจิต ดับขันธ์ไปเป็นพรหม ท้าวมหาพรหม นางมหาพรหม อยากรู้ก็ดูเอาซิ ที่อยู่ของเราเป็นอย่างนี้ มนุษย์ทั้งหลาย
มนุสสอรหัตโต ร่างกายเป็นมนุษย์ หัวใจเป็นพระอรหันต์
คือละกิเลส ละตัณหา กิเลสคือใจเศร้าหมอง ตัณหาคือใจทะเยอทะยานดิ้นรนกระวนกระวาย ท่านละกิเลสตัณหา ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ อวิชชา ตัณหาอุปาทาน ภพชาติ ละขาดในสันดาน ไม่มีสิ่งเหล่านี้ในจิตใจ เมื่อดับขันธ์ไปก็เข้าสู่นิพพาน ดับทุกข์ในวัฏสงสาร ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีก ก็เป็นแต่มนุษย์ ได้แต่มนุษย์ซิ เราจึงมาฝึกหัดอบรมบ่มนิสัยของเรา เพ่งเล็งดูซิ เราอย่าดูอื่น เรานั่งอยู่ก็นั่งดูใจของเรา ไม่ได้ดูดินฟ้าอากาศนะใจของเรามันเป็นอย่างไร เหมือนที่อธิบายให้ฟังไหมล่ะมันไม่ดีตรงไหนก็แก้ไขซิ ทีนี้
มนุสสพุทโธ ร่างกายเป็นมนุษย์ หัวใจเป็นพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์เหมือนกับพวกเรานี้ ว่าเรื่องภพเรื่องชาติของท่าน บิดามารดาของท่านก็มี บุตรภรรยาท่านก็มี ท่านเป็นมนุษย์ครือเรานี่แหละ แต่ท่านประพฤติปฏิบัติ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง เป็นสยัมภู ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ไม่มีบุคคลผู้ใดหรือใครแนะนำพร่ำสอน รู้ด้วยตนเองเป็นสยัมภู รู้แจ้งแทงตลอดหมดซึ่งสารพัดเญยยะธรรมทั้งหลาย ไม่มีที่ปกปิด สัตว์ทั้งหลาย ตนของท่าน บุพเพนิวาสานุสสติญาณญาณความรู้ความเห็นในบุพพชาติเบื้องหลัง เป็นอะไรๆ มา ท่านรู้หมด เรื่องมันเป็นอย่างนั้น จุตูปาตญาณ จุติจากนี้ไปอยู่ในภพชาติใด ภพน้อยภพใหญ่ ท่านรู้หมดคือเหมือนอธิบายให้ฟังนี้ อาสวักขยญาณ สิ้นจากภพจากชาติท่านก็รู้หมด
คัดจาก ๑๐๘ ปีหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ประวัติ พระธรรมเทศนา และพระอภิธรรมสังคิณีมาติกาบรรยาย
อริยสัจ 4 และมรรคแปด
ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...
-
https://youtu.be/V5b6fr4VMjU หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ระยอง - พลังจตุธาตุหนักแน่นเช่นเดิม มาเต็มๆ 100 ทุกพลังธาตุ ตามมาตรฐานหลวงปู่ทิม...
-
พระหลวงพ่อทวด ชุดนี้จัดสร้างโดยมีพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ ดำเนินการร่วมกับพระครูสมุห์อำพล วัดประสาทบุญญาวาสใ พิธีปลุกเสกเมื่อวัน...
-
การจับพลังพระเครื่องนั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และมีรูปแบบการใช้อยู่อย่างหลากหลายเพื่อให้ทราบว่า พระเครื่ององค์นี้ หรือวัตถุมงคล ชิ้นนี้ ...