14 มีนาคม 2562

การฝึกสมาธิสายพระอาจารย์มั่น โดย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร

ตามหา “ผู้รู้”


นั่งให้สบาย นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย 

ตั้งกายให้สบาย เราต้องการความสุขความสบาย 

วางท่าวางทางให้สบาย สง่าผ่าเผย ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ต้องกดต้องตึง 

วางให้สบาย พอกายเราสบายแล้ว วางดวงใจให้สบาย

เมื่อใจเราสบายแล้ว ให้ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ อยู่ในใจ

เชื่อมั่นอยู่นั่น จึงให้นึกคำบริกรรมภาวนาว่าพุทโธ ธัมโม สังโฆ 

พุทโธ ธัมโม สังโฆ สามหนแล้ว ให้นึก พุทโธๆ คำเดียว


หลับตา งับปากเสีย ให้ระลึกอยู่ในใจ

พุทโธคือความรู้ ความรู้อยู่ตรงไหนล่ะ

ตาเราก็เพ่งดูที่รู้ว่าพุทโธ ให้กำหนดดู นี่เราอยากรู้

หูก็ลงไปฟังที่รู้อยู่นั่น สติของเราก็จดจ่อ ดูอันรู้อยู่นั่น

อย่าส่งใจไปข้างหน้ามาข้างหลัง ข้างซ้ายข้างขวา ข้างบนข้างล่าง

ตั้งเฉพาะท่ามกลางอันรู้อยู่ ความรู้อยู่ตรงไหน เรากำหนดอยู่ตรงนั้น 

ไม่ต้องหา วางให้หมด ดูอันรู้นั่นอยู่ นี่แหละเราจึงรู้จักว่าที่พึ่งของเรา


เมื่อจิตของเราสงบเป็นสมาธิ มันตั้งตรงแน่วอยู่ภายใน ใส รู้สึกเบาตนเบาตัว

เมื่อจิตสงบแล้ว หายทุกข์หายยาก หายความลำบากรำคาญ 

มีแต่ความเบามีแต่ความสบาย นั่นแหละ ที่อยู่ของตน นี่เรียกว่าเป็นกุศลกรรม 

เมื่อจิตของเรามีความเบาความสบายแล้ว มันนำความสุขความเจริญให้ 

มันได้อุบายปัญญา ความรู้ความฉลาดเกิดตรงนั้น เราพัก เราจะมีกำลัง 

สติของเรา สมาธิของเรา ปัญญาของเรา เกิดจากนั้น มันไม่เกิดจากที่อื่นไกล

เรารู้นี่ จิตของเรามืด ผู้รู้นั่นพุทธะ แปลว่าผู้รู้ 

เราอยากรู้มันเป็นอยู่ยังไง ผู้รู้ว่ามืดมันมี มันมืด 

เราก็ยึดเอาความมืดมาเป็นตนเสีย มันสว่างก็ไปยึดเอาความสว่างมาเป็นตนเสีย

นี่ มันเป็นอย่างนี้ มันทุกข์ก็ไปยึดเอาทุกข์มาเป็นตนเลย 

เราไม่กำหนดว่า ผู้รู้ว่าทุกข์มันมี ทุกข์ต่างหาก ผู้รู้ต่างหาก 

มันเฉยๆ ก็ผู้รู้เฉยๆ มี ผู้รู้มันไม่ได้เป็นอะไรซี่


อย่างพุทธะเป็นผู้รู้ เหนือหมดทุกอย่างความรู้อันนี้ มืดมันก็รู้ หลงมันก็รู้

ท่านอาจารย์มั่นท่านเคยพูดแต่ก่อน ท่านร้องตะโกนแรง

ท่านว่าใครเรียนไป ถึงแต่อวิชชาก็ไปหยุดหละ ถึงแต่อวิชชา

ผู้ใดก็ว่าแต่อวิชชาคือความหลง ท่านบอกยังงี้หละ

ผู้ใดรู้อวิชชาล่ะไม่ดู รู้แต่ว่าอันนั้นเป็นอวิชชา นั่น ท่านบอกยังงี้

อวิชชาคือความหลง ใครเป็นผู้รู้อวิชชาล่ะ เราไม่ได้ดูแน่ะ

ให้ดูผู้รู้อวิชชานั่นซิ มันก็เป็นวิชชาขึ้นมาล่ะ

อวิชชาคือความไม่รู้ วิชชาคือความรู้แจ้งเห็นจริง 

นี่ มันเป็นอย่างนี้ เราก็เพ่งดูผู้รู้นั้นอยู่

ความรู้อันนี้ไม่ใช่เป็นของแตกของทำลาย และไม่เป็นของสูญหาย

นิดหนึ่งมันก็รู้ มันรู้อยู่หมด จึงว่าพุทธะคือผู้รู้

เราอยากรู้มันเป็นยังไง มันเป็นสุข เราไปยึดเอาสุข ผู้รู้สุขมันมีอยู่

มันเป็นทุกข์ เราก็ไปยึดเอาทุกข์มาเป็นตน ผู้รู้ทุกข์มันมีอยู่ เราเป็นผู้ไปยึดเอาทั้งหมด

นี่ จึงว่าอยากรู้มันเป็นอยู่ยังไง สิ่งทั้งหลายทั้งหมดไม่มีใครทำให้ 

เราทำเอาเองทั้งหมด สุขทุกข์ ดีชั่ว เราไม่มีโอกาสอย่างคุณหลวงว่า

เดี๋ยวนี้เรามีอะไร นั่งอยู่เดี๋ยวนี้ เรามีโอกาสเต็มที่ 

ไม่มีอะไรซักอย่าง ดูแต่ดวงใจดวงเดียวนี้เท่านั้น 

นี่เราต้องฟังดู ทีนี้มันไปเกาะตรงไหนเล่าหัวใจของเรา


ภเว ภวา สัมภวันติ เราจะรู้จักภพที่อยู่ของตน

ภวะแปลว่าภพ เราเจริญภพภาวนานี้ ภวะแปลว่าภพ

ภพน้อยๆ ภพใหญ่ๆ ที่เราไปยึดตรงไหนนั่นหละ ภพอยู่ตรงนั้นหละ

ไปยึดเอาสุข นั่นมันก็เป็นภพ ไปยึดเอาทุกข์ มันก็เป็นภพ

ยึดเอาดีมันก็เป็นภพที่ดี ยึดเอาชั่วมันก็เป็นภพที่ชั่ว 

ไปยึดเอาทุกข์ก็เป็นภพที่ทุกข์ นี่ที่อยู่

อัตตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน 

เมื่อจิตเราสบายแล้ว เราก็ได้ที่พึ่งอันสบาย

เมื่อจิตเราไม่สบาย เราก็ได้ที่พึ่งอันไม่สบาย นี่ มันเป็นอย่างนี้


ให้พึงรู้พึงเห็นซิ สันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติรู้เองเห็นเอง ไม่ใช่ผู้อื่นเห็น

เราเป็นผู้เห็นซี่ ให้มันรู้มันเห็นจริงแจ้งประจักษ์ซี่ 

มันจึงหายความสงสัยในภพทั้งหลาย

ภพน้อยๆ ใหญ่ๆ ที่ใกล้ที่ไกล ในนอก

ผู้นี้ทั้งหมดเป็นผู้ไปยึด ผู้นี้ทั้งหมดเป็นผู้ไปถือ ให้รู้จัก

นรกมันก็ไม่ได้อยู่ต้นไม้ภูเขาเลากา ในพื้นดินฟ้าอากาศ

นรกก็หมายความทุกข์ อะไรทุกข์เดี๋ยวนี้ ถ้าจิตเราทุกข์นั่นแหละตัวนรก

นรกก็หมายความทุกข์ ภพหนึ่งเป็นอย่างนั้น

สวรรค์หมายความสุข จิตเราเป็นสุข เราก็ได้ที่พึ่งอันสุข 

ก็สบาย เย็นอกเย็นใจ หายทุกข์หายยาก หายความลำบากรำคาญ 

ไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่มีความชั่วทั้งหลาย

มีแต่ความเบาความสบาย ใสอยู่ภายในผู้รู้อันนั้น

ความพ้นทุกข์ เราอยากพ้นทุกข์ 

เราให้รู้จักว่าสิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวทั้งหมด

เราไปยึดเอา เราอยากพ้นทุกข์ก็ให้กำหนดดูซี 

ถ้าจิตของเรามีทุกข์อยู่ มันก็ไม่พ้นทุกข์ 

จิตพ้นทุกข์คือมันไม่ทุกข์ คือมันละมันวางหมด 

เมื่อมันละมันวางหมดแล้ว นั่นแหละมันพ้นทุกข์ตรงนั้น

มันไม่ได้พ้นที่อื่น ผู้นี้เป็นทุกข์ นี่หละให้พากันกำหนดดูให้รู้ 

ให้เพ่งเล็งลงไปซิ ให้มันแน่นอนลงไปซิ เชื่อมั่นลงไปซิ 

สันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติรู้เองเห็นเอง จะไม่เห็นอย่างไรล่ะจิตของเรา 

เราสบายเราก็รู้ เราไม่สบายเราก็รู้


เอ้า ต่อไปต่างคนต่างฟังดวงใจของเรา ได้ความยังไงแล้วพิจารณาให้มันรู้

เมื่อเราได้ยินเสียงทั้งหลายทั้งหมด 

ให้รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีอันตรายแล้ว เราก็ไม่เดือดร้อน ตั้งดูความรู้ของเรานั่น

เราอยากสุขก็วางจิตของเราให้สบาย 

สังขารทั้งหลายเหล่านี้มันของไม่เที่ยงทั้งหมด สังขารมันเป็นทุกข์ทั้งนั้น 

เรากำหนดจิตของเราผู้รู้อันเดียวเท่านั้น

นี่หละ ตนของตนคือผู้รู้ ผู้รู้นั่นแหละ จิตวิญญาณอันนั้นหละมันไปก่อภพก่อชาติ

มันไปก่อที่ไหนเล่า คือ ไปยึดที่ไหนแล้วมันก็ไปเกิดที่นั่น 

เราได้แต่เดี๋ยวนี้ ได้สุขได้ทุกข์ มันต้องสร้างไว้แต่เดี๋ยวนี้ ต้องทำแต่เดี๋ยวนี้

เหตุนี้เราจะนั่งสมาธิดูว่าจิตของเราตกอยู่ในชั้นภูมิใด 

เช่น กามาวจรกุศลนี้แบ่งเป็นสองนัย

แบ่งเป็นอบายภูมิอันหนึ่ง แบ่งเป็นฉกามาวจรสวรรค์อันหนึ่ง

เรารู้ได้ยังไง แบ่งเป็นอบายภูมิคือจิตเราทุกข์ จิตเราไม่ดี จิตเศร้าหมอง จิตวุ่นวาย

นี่ไปทางอบายภูมิ ไปทางนรก 

จิตเราผ่องใส มีความเบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส นี่เป็นฉกามาวจรสวรรค์


ทีนี้ให้เราพิจารณา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง 

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน

เห็นแต่ภายนอก ไม่มีแก่นสาร ไม่มีสาระ เราละได้

เรามาเห็นแต่สังขารร่างกายเท่านี้ 

มาเห็นแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้

มาเห็นอัตภาพร่างกายนี้ มันเกิดจากนี้ทั้งหมด

เราก็มาพิจารณาสังขารร่างกายเรานี้ นะโม นี้ มันไม่มีแก่น ไม่มีสาร นะคืออันใด 

เช่น ปิตตัง น้ำดี เสมหัง น้ำเสลด บุพโพ น้ำเหลือง โลหิตัง น้ำเลือด 

เสโท น้ำเหงื่อ เมโท น้ำมันข้น อัสสุ น้ำตา วสา น้ำมันเหลว 

เขโฬ น้ำลาย สิงคาณิกา น้ำมูก ละสิกา น้ำไขข้อ มุตตัง น้ำมูตร 

สิ่งเหล่านี้เป็นของทิ้งทั้งหมด มิใช่เป็นของเอา 

สังขารร่างกายเรานี้ไม่เป็นแก่นเป็นสาร มีแต่กองทุกข์ทั้งนั้น 

ไม่ใช่เป็นตัวเป็นตน ไม่ใช่เป็นสัตว์เป็นบุคคล ไม่ใช่เป็นเราเป็นเขา 

เราก็ละรูปภพ ถึงอรูปภพ เหลือแต่จิตดวงเดียว มันวางกายหมดแล้ว

เห็นแต่จิตดวงเดียว ใส ว่างอยู่หมด นั่นรียกอรูปภพ ชั้นพรหม


ถ้าเรารู้จักภพทั้งสามนี้ว่ามันยังเป็นทุกข์อยู่ นำให้ทุกข์อยู่ภพทั้งหลายนี้ 

ละกิเลส ละตัณหา ราคะ โลภะ ที่ยึดน้อยหนึ่งก็ตาม ยังกิญจิรูปัง ในรูปทั้งหลายนี้

จิตมันวางหมดไม่เหลืออะไรจนนิดหนึ่ง ที่มืดที่สว่างไม่มี 

เป็นวิมุติหลุดพ้นหมด นั่นมันก็เข้าสู่ปรินิพพาน 

ไม่มีเกิด ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ ไม่มีตาย 

ไม่มีทุกข์ ไม่มีอะไร สังขารทั้งหลายไม่มี

เป็นผู้ระงับดับหมดแล้ว ไม่มีอะไร เรื่องสมมตินิยมไม่มี

จึงว่าวิมุติ แปลว่าหลุดพ้นหมด 

ข้อนี้ตนของตนต้องรู้เอง จะอธิบายอยู่อย่างนี้มันก็เป็นสมมติ

นี่สมมติให้รู้จักหนทาง ผลที่สุดคือวิมุติหลุดพ้น

เอ้า ต่อนี้ไปให้นั่งดูจิตของเราอยู่ในชั้นใด ภูมิใด


พระธรรมเทศนาโดย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ณ วัดป่าอุดมสมพร เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๑๒

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...