พากันมาฟังมาก ไม่รู้จะพูดอะไรให้ฟังแล้ว
การฟังธรรมก็เปรียบได้แก่การเตรียมเครื่องทัพสัมภาระสำหรับทำการงาน
ครั้นเตรียมมาแล้ว เครื่องกลเครื่องไกที่เตรียมมาแล้ว ไม่ทำก็ขึ้นขี้สนิมเปล่า
ฉันใดก็ดี การสดับรับฟังโอวาทคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อย่างเดียวกัน
พระพุทธเจ้าเป็นผู้บอกทางให้เท่านั้นแหละ
ครั้นเราเชื่อคำสอนของพระองค์แล้ว
เป็นผู้ดำเนินตาม เป็นผู้ลงมือดำเนินตาม เราเองกระทำด้วยตนเอง
เพราะเหตุนั้น จะว่าโดยย่อ ๆ เท่านั้นแหละ
อาตมาไม่มีความพูดหลาย เพราะอยู่ป่าอยู่ดง
จะว่าให้ฟังย่อ ๆ พอเป็นหลักดำเนินปฏิบัติของพวกเราทั้งหลาย
ศาสนาคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตามตู้ตามใบลาน
อันนั้นเป็นเครื่องชี้บอกทางผู้จะดำเนินตามศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
คือก้อนธรรมอยู่จำเพาะใคร จำเพาะเรา
แก่นของธรรมแท้อยู่ที่สติ ให้พากันหัดทำสติให้ดี ให้สำเหนียก ให้แก่กล้า
สติน่ะทำเท่าไรไม่ผิด สติน่ะให้มันมีกำลังสติดีแล้ว
จิตมันจึงรวม เพราะสติคุ้มครองจิต เพราะสติก็แม่นจิตนั่นแหละ
หากลุ่มลึกกว่า ครั้นใจนึกขึ้นว่าสติ ก็ใจนั่นแหละเป็นผู้นึกขึ้น เรียกว่า “สติ”
เพราะสติก็แม่นใจนั้นแหละ พวกเดียวกัน ทำให้มันดีแล้ว ไม่พลาด
ทำก็ไม่พลาด พูดก็ไม่พลาด คิดก็ไม่พลาด ย่อมถูก ไม่ผิด พากันทำเอา
ธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์อยู่กับสติอันเดียว
พระพุทธเจ้าว่าแล้วในโอวาทปาฏิโมกข์ไม่ใช่เรอะ
ยานิกานิจิ ชงฺคลานํ ปาณานํ ปทชาตานิ สพฺพานิ
ตานิ หตฺถิปเท สโมธานํ คจฺฉนฺติ หตฺถิปทํ เตสํ อคฺคมกฺขายติ
ครั้นเทียบในบรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารจักร
ท่องเที่ยวอยู่ในพื้นปฐพี รอยสัตว์ทั้งหลายไปรวมอยู่ในรอยเท้าช้างอันเดียว
มีรอยเท้าช้างเป็นใหญ่กว่าเขารวมโม๊ด ราชสีห์อะไรลงไปรวมโม๊ด
ฉันใดก็ดี ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันอยู่ในสติ
เย เกจิ กุสลา ธมฺมา สพฺเพ เต อปฺปมาทมูลกา
อปฺปมาทสโมสรณา อปฺปมาโท เตสํ อคฺคมกฺขายตีติ
กุศลธรรมทั้งหลาย คุณงามความดีทั้งหลาย
จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลอยู่กับสติแล้ว
บุญกุศล เค้ามูลกุศลทั้งหลาย มาสโมสรรวมอยู่ในสติ สติเป็นใหญ่
เพราะเหตุนั้น ครั้นรู้อย่างนี้แล้วว่า สติเป็นแก่นธรรม แก่นธรรมก็แม่น
อันนี้อยู่สำหรับทุกคนทีเดียว ทุกขณะมีอยู่ทุกคน
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ของจริง ผู้จะรู้เท่าตามจริงทั้งหลายทั้งปวง มีอยู่ทุกรูปทุกนาม
แต่อาศัยว่าเราหลง จิตของเราเปรียบแปมาเหมือนเด็กอ่อน อ่อนแออยู่
เพราะเหตุนั้นแหละ สติเปรียบเหมือนพี่เลี้ยง ก็เจ้าของนั่นแหละจิต
นั่นแหละ พอมันระลึกขึ้นก็แม่นสติแล้ว สตินั่นอบรมจิต
ครั้นอบรมจนมันรู้เท่าตามความเป็นจริงแล้ว
มันจึงหายความหลงความสว่าง ความหลงความสว่างนั่นก็หลง เพราะไม่มีสติ
ครั้นมีสติคุ้มครอง หัดทำให้มันแน่วแน่ ให้มันแม่นยำ ให้มันสำเหนียกแล้ว
มันจะรู้แจ้งทุกสิ่งทุกอย่าง สติเป็นเครื่องตี่ คือตีสนิมของมัน
เปรียบดวงจิตเรียกว่า ความหลง เรียกว่า อวิชชา
จิตนั่นแหละตัวอวิชชา มันหลงเรียกอวิชชา จิตมันหลง
ขี้สนิมมันก็อยู่กับอวิชชา มันหลงนั่นแหละ ขี้สนิมโอบมัน ความหลงนั่นแหละ
แต่ก่อนจิตผ่องใส พระพุทธเจ้าจึงว่า ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ
ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฺฐํ
จิตเดิมธรรมชาติเลื่อมประภัสสร
แต่อาศัยอาคันตุกะกิเลสคือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสทั้งหลาย
เข้ามาสัมผัสแล้วมันหลงไปตาม จึงเป็นเหตุให้จิตนั้นเศร้าหมองขุ่นมัว
ไม่รู้เท่าอวิชชา ปัจจัยของมัน ความโง่เรียกอวิชชาเหมือนกันกับเหล็ก
เหล็กนั้นมันก็ดี ๆ อยู่นั่นแหละ แต่สนิมมันเกิดขึ้นในเหล็กนั่นแหละ
แต่เขาตีขัดเกลาจนเป็นดาบคมได้ ใช้การได้
ถ้าไม่ตีมันก็อยู่อย่างนั้น สนิมกินเสียจนใช้การไม่ได้
จิตของเราก็ดี อาศัยสติเป็นผู้ขัดเกลา อาศัยสติเป็นผู้คุ้มครองเชื่อมั่น
อันที่จริงอาคันตุกะกิเลสก็ไม่เป็นปัญหา
คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสภายนอก ไม่เป็นปัญหา
เค้ามูละมูเลของมันก็คือ กาม กามาสวะ อวิชชาสวะ สามอันนี้เป็นอนุสัย
เป็นสนิมของมัน เป็นสนิมหุ้มห่อจิตให้มืดมนอนธการ
เพราะเหตุนี้แหละ เราหัดสติ ทำสติให้มีกำลัง
เมื่อสติมีกำลังแล้ว จิตมันก็จะรู้เท่าตามความเป็นจริง
ครั้นในมีสติแล้ว ก็เกิดสัมปชัญญะ ความรู้ตัวพร้อม
ก็หมายความว่า ดวงปัญญานั่นแหละ ญาณก็ว่า ปัญญาก็ว่า
สติกับความรู้ถึงพร้อม ธรรม ๒ อย่างนี้เป็นของคู่กัน
พอเราระลึกขึ้นแล้ว สัมปชัญญะรู้ว่าถูกหรือผิด
รู้พร้อม ๆ จิตรู้พร้อมนี่แหละอบรมดีแล้ว มันจะมีกำลังความสามารถ
สามารถทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถแทงตลอดได้ทุกสิ่งทุกอย่าง
จะทำอะไรก็ดี จิตดีเท่ากัน มันสามารถ อย่างไฟไหม้บ้าน มันมีกำลัง
จิตของเราแม้นอบรมดีแล้วมันมีกำลัง มีกำลังที่สุดทีเดียว
สามารถจะหอบเอาของหนักนั่นออกจากไฟได้
ดับไฟได้แล้ว ไฟดับแล้วจะหาม ๓-๔ คนยังหามไม่ไหวเลย
กำลังจิตเท่านั้นน่ะแหละ เพราะเหตุนั้น เราหัดดีแล้วก็เหาะได้
เหาะได้เหมือนพระโมคคัลลาเจ้า
พวกเราสงสัย สงสัยว่าเหาะขึ้นก็คือ นั่งอยู่นี่แหละ
แต่จิตนั้นไปสวรรค์ ไปนรก ไปนั่น ๆ ละ อันนั้นก็แม่น แต่ว่าไปได้จริง ๆ
หอบเอากายไปได้จริง ๆ คิดดูเถอะ นั่นแหละให้พากันอบรมจิต
พวกเราอะไร ๆ ก็ดี สมบูรณ์บริบูรณ์ทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว
พวกศรัทธาทั้งหลายก็นับว่าเป็นผู้สูง เป็นผู้สูงอยู่แล้ว ศรัทธาก็มีอยู่แล้ว
ให้สดับรับฟังแล้วก็มีแต่จะทำเอาเท่านั้นแหละ ให้พากันทำเอา
มันจะไหน ธรรมทั้งหลายมันก็อยู่นี่แหละ แก่นมันแท้คือสติ ให้ทำเอา ทำให้มีกำลัง
ครั้นสติดีแล้ว มันรักษาจิตของมันไม่ให้ส่ายออกไปตามอารมณ์
สติขนาบเข้ามา ๆ สติแก่กล้ามันเป็นอย่างนั้นแหละ
ครั้นสงบลงแล้ว เดี๋ยวนี้มันไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญามันก็ส่ายไป
พอมันไปหลาย ๆ ครั้ง มันเป็นอาการของมัน มันไปตามแง่ของมันคือ เวทนา
มันเป็นเพียงแสงของจิต สัญญามันก็เป็นแสงของจิต
สังขารความปรุงมันก็เป็นแสงของจิต วิญญาณที่รู้ทวารทั้ง ๖
ก็เป็นแสงของจิตออกไปทั้งนั้น ผู้รู้แท้ ๆ ถ้าจะสมมติว่าตนก็แม่นจิต
เจ้าสตินั่นแหละสมมติว่าตน นอกจากนั้นเป็นอาการทั้งนั้น
รูปอันนี้ก็เป็นแต่เพียงธาตุประชุมกัน ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันเท่านั้น
ดังนั้นเมื่อจิตสงบลงไป เวทนาก็ดับแล้ว พอมันสงบลงไป
คนไม่มี อะไรล่ะมันจะมาเจ็บ มาทุกข์ อะไรล่ะมันจะมาจำ คนไม่มี มันสว่าง ๆ ขึ้น
เมื่อจิตสงบลงละมันสว่างโร่ขึ้น ว่าง ๆ ความจำหมายก็ไม่มี ความปรุงก็ไม่มี
วิญญาณที่รู้ไปทางทวารทั้ง ๖ มันก็ไม่มี มันดับเอง เพราะว่าของไม่มีหมดแล้ว
ของเหล่านี้เป็นของหนัก ครั้นใครยึดถือไว้เป็นของหนัก
ไปถือขันธ์ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
อันนี้ก็ไปยึดไว้ ไปยึดก็ได้ชื่อว่าถือหาบอันหนัก
พระพุทธเจ้าท่านว่า ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ภารหาโร จ ปุคฺคโล
ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก ภารนิกฺเขปนํ สุขํ
ผู้วางภาระ คือวาง ไม่ยึดถือว่าขันธ์ ๕ อันนี้เป็นตัวเป็นตนแล้ว
ไม่ยึดไม่ถือแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผู้วางภาระ ไม่ยึดไม่ถือแล้ว
ต้องมีความสุข จะนั่ง จะยืน เดิน ก็มีความสุข
นิกฺขิปิตฺวา ครุ ภารํ เมื่อไม่ถือเอาขันธ์ ๕ นี้เป็นภาระแล้ว
เพราะรู้เท่าตามความเป็นจริงของมันแล้ว
ไม่ยึดถือเอา อญฺญํ ภารํ อนาทิย สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห
คือได้ชื่อว่าเป็นผู้ตัดตัณหาขึ้นได้ทั้งราก นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโตติ ฯ เป็นผู้เที่ยงแล้ว
เที่ยงว่าจะได้เข้าสู่ความสุขตามเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เที่ยงแล้ว
เมื่อจิตมันรวมแล้ว มันจะรู้ตามความเป็นจริง มันจะว่าง วางนั่นแหละ
พอจิตรวมแล้วมันก็ว่าง ค้นหาตัวไม่มี พอมันสงบแล้ว ปัญญามันเกิดขึ้นของมันเอง
ครั้นมันสงบลงถึงฐานถึงที่ มันถึงอัปปนาแล้ว มันเกิดขึ้นเองนะ
พอนึกเท่านั้น มันปรุงฟุ้งขึ้น มันปรุงแล้ว มันไม่ไปยึดแสงสว่าง
สว่างหมดทั้งโลกนี้ก็ตาม มันไม่ไปยึด มันสาวเข้าหาคน ไหนคน คนอยู่ที่ไหน
มันมาอวดว่าตนว่าตัว ไล่เข้าไป ถ้ามันรวมลงอย่างนั้น มันอาศัยสติควบคุมให้มันอยู่
อย่าให้มันไป จิตรวมลงอย่างนี้ แจ่มใสทีเดียว
ไม่ใช่มันง่วงนอน มันไม่ใช่วิสัยของสมาธิ อันนั้นละ มันแจ่มใสอย่างนั้น
เรียกว่าสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิอันถูกต้อง แล้วก็แม่นมันนั่นแหละ แม่นจิตนั่นแหละ
เป็นตัวศีลละ จิตนั่นแหละเป็นตัวสมาธิ จิตนั่นแหละเป็นตัวปัญญา
อันเดียวนั่นแหละ มันจะถึง อธิจิต อธิศีล อธิปัญญาได้ ก็อาศัยสติควบคุม
พวกศรัทธาได้ยินได้ฟังแล้วก็ให้พากันตั้งใจทำ มันไม่อยู่ที่อื่นหนา
ไม่ได้ไปหาเอาที่อื่นหนา อยู่จำเพาะใคร จำเพาะเรานี่หนา
ไม่ได้ไปคว้าเอาที่ไหนดอก ธรรมน่ะ ยกขึ้นก็ปะไปโลด เห็นไปโลด นึกขึ้นก็เห็นไปโลด
แล้วก็คุมสติเอา มันจะรู้เอง ปัจจัตตังน่ะ สันทิฏฐิโก จะเห็นเองนั่น
อกาลิโก ไม่อ้างกาลอ้างเวลา จิตของเราจะหายจากราคะแล้ว ก็รู้จำเพาะตน
จิตเรายังมีราคะก็จะรู้ จิตมีโทสะก็จะรู้ หายจากโทสะก็จะรู้
จิตมีโมหะ ความหลงงมงายก็จะรู้ จิตหายโมหะก็จะรู้
จิตหดหู่ก็จะรู้ จิตฟุ้งซ่านก็จะรู้ รู้แล้วก็จะได้จัดการแก้ไข รู้ก็ดี จะได้เพิ่มศรัทธา
รีบเร่งความเพียรเข้าอีก เอาละ พากันทำเอา ไม่อ้างที่อ้างฐานดอก
อยู่ที่ไหนก็ได้ เวลามันสงบ มันก็จะมีอยู่นั่นแหละ
หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำพู
อนาลโยวาท กัณฑ์ที่ ๒ คัดลอกจากหนังสือ อนาลโยวาท พระธรรมเทศนาของพระอาจารย์ขาว อนาลโย และ ประวัติความอาพาธ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น