"แต่ปริยัตินี้ก็มีการศึกษาได้ด้วยจุดประสงค์ต่างๆ กันเหมือนกัน เช่น ศึกษาปริยัติเพื่อที่จะมาถกเถียงกัน อาจจะเป็นการทะเลาะกันด้วยซ้ำ อันนี้อาจจะไม่ค่อยได้ประโยชน์นัก แต่ว่ามีการทำกันมาก มาถกเถียงกันมาก ข้อนี้คนนี้พูดว่าอย่างหนึ่ง อีกคนก็แย้งว่าไม่ใช่อย่างนั้น ก็ถกเถียงทะเลาะกัน บางทีหน้าดำหน้าแดงจนกระทั่งเป็นศัตรูกันก็มี"
"เพราะฉะนั้น นอกจากจะศึกษาธรรมะอย่างนักวิชาการหรือนักปริยัติแล้ว ท่านทั้งหลายควรจะได้ศึกษาอย่างนักปฏิบัติอีกสถานหนึ่งพร้อมๆ กันไป จักได้เข้าถึงธรรมะจริงๆ จักได้รู้ได้เชื่อมั่นในธรรมะอย่างแน่วแน่ สมควรแก่หน้าที่ผู้เผยแผ่ศีลธรรมจรรยาและส่งเสริมทำนุบำรุงพระศาสนาอย่างแท้เที่ยง"
<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<
"... ข้าพเจ้าได้พูดกับท่านทั้งหลายถึงแนวทางที่ควรปฏิบัติในการส่งเสริมทำนุบำรุงพระศาสนาและศีลธรรมจรรยามาแล้วหลายคราว คราวนี้ขอปรารภกับท่านถึงแนวทางที่เห็นว่าสำคัญ ควรที่จะนำมาพิจารณาอีกประการหนึ่ง คือ การศึกษาธรรมะและศีลธรรมจรรยาอย่างถูกถ้วน
พระพุทธศาสนาวางแนวทางการศึกษาธรรมะเพื่อให้ประสบผลที่แท้จริงแน่นอนไว้ว่า บุคคลจะต้องศึกษาทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติประกอบพร้อมกันไป โดยกระทำให้หนักแน่นได้สัดส่วนกันทั้งสองด้าน จึงจะเกิดปฏิเวธ คือได้รับและได้เห็นผลของธรรมะนั้นๆ เป็นที่ประจักษ์ตาประจักษ์ใจ
โดยนัยนี้ ตราบใดที่เรียนรู้ แต่ไม่ประจักษ์ในผล ก็เรียกว่าบุคคลยังเรียนไม่สำเร็จ ยังไม่ได้ประโยชน์จากธรรมะอยู่ตราบนั้น และจะนำธรรมะไปแนะนำสั่งสอนหรือเผยแผ่แก่ใครไม่ได้จริง
ธรรมะขั้นใดระดับใดก็ตาม จำต้องศึกษาให้ทราบด้วย ต้องนำไปปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ให้ได้รับผลปฏิบัติด้วย ผู้ศึกษาจึงจะเกิดปัญญารู้ชัดแจ้งในธรรมะนั้นได้
เพราะฉะนั้น นอกจากจะศึกษาธรรมะอย่างนักวิชาการหรือนักปริยัติแล้ว ท่านทั้งหลายควรจะได้ศึกษาอย่างนักปฏิบัติอีกสถานหนึ่งพร้อมๆ กันไป จักได้เข้าถึงธรรมะจริงๆ จักได้รู้ได้เชื่อมั่นในธรรมะอย่างแน่วแน่ สมควรแก่หน้าที่ผู้เผยแผ่ศีลธรรมจรรยาและส่งเสริมทำนุบำรุงพระศาสนาอย่างแท้เที่ยง ..."
[1] พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมใหญ่ของสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๓๐ วันเสาร์ที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕.
ปริยัติธรรม : การศึกษาธรรมะจากคัมภีร์ [1]
... ถ้าจะเป็นการชุมนุมกันหรือรวมกลุ่มกันเพื่อศึกษาพุทธศาสนาหรือที่เรียกว่า ‘พุทธศาสตร์’ มาใช้คำว่า ‘พุทธศาสตร์’ ก็อาจจะเพราะว่าอยากจะให้ดูเป็นว่า พุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งแขนงหนึ่ง เป็นวิชาแขนงหนึ่งซึ่งจะต้องมาศึกษาและมาวิจัย มาศึกษาเพื่อที่จะให้ตั้งเป็นตำรา
ทำอย่างนั้นก็มีประโยชน์เหมือนกัน เพราะว่าเป็นการประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อที่จะให้ผู้อื่นสามารถที่จะได้ใช้ประโยชน์อย่างสะดวกที่สุด จึงทำเป็นการแปลบ้าง การประมวลบ้าง การถกเถียง มีการอภิปรายบ้าง
การทำสิ่งเหล่านั้น ถ้าทำด้วยจุดประสงค์ที่ดีและด้วยความสามารถก็ย่อมมีประโยชน์ แต่ว่าถ้ามีการศึกษาวิจัยพุทธศาสตร์เพื่อที่จะสร้างตำราใหม่ อันนั้นก็ไม่ชอบ เพราะว่าตำรามีอยู่แล้ว
ตำราคือคำสั่งสอนต่างๆ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่ในพระไตรปิฎกและในอรรถกถาต่างๆ ครบถ้วน มีจนบอกได้ว่า มีมากเกินความจำเป็นของแต่ละบุคคล แต่ว่าที่ต้องมีมากเพราะว่า อย่างที่กล่าวไว้ว่าแต่ละคนก็มีฐานะของตัว แต่ละคนก็จะได้เลือกได้
การศึกษาดังนี้เรียกได้ว่าเป็นการศึกษาปริยัติ ปริยัตินั้นก็คือหลักการต่างๆ ที่เป็นตำรานั้นเอง การศึกษาปริยัติจึงเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพุทธศาสนา เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่สมาชิกสมาคมต่างๆ ในทางพุทธศาสนาควรที่จะได้สนใจ
แต่ปริยัตินี้ก็มีการศึกษาได้ด้วยจุดประสงค์ต่างๆ กันเหมือนกัน เช่น ศึกษาปริยัติเพื่อที่จะมาถกเถียงกัน อาจจะเป็นการทะเลาะกันด้วยซ้ำ อันนี้อาจจะไม่ค่อยได้ประโยชน์นัก แต่ว่ามีการทำกันมาก มาถกเถียงกันมาก ข้อนี้คนนี้พูดว่าอย่างหนึ่ง อีกคนก็แย้งว่าไม่ใช่อย่างนั้น ก็ถกเถียงทะเลาะกัน บางทีหน้าดำหน้าแดงจนกระทั่งเป็นศัตรูกันก็มี
อย่างนั้นเท่ากับได้ศึกษาปริยัติมาสำหรับมาทะเลาะกัน สำหรับมาหาความทุกข์ สำหรับมาหาความไม่สงบ จึงเป็นการศึกษาที่อาจจะไม่ค่อยได้ประโยชน์นัก เพราะว่าเป็นการศึกษาเพื่อมาโอ้อวดกัน เป็นการศึกษาเพื่อที่จะมาทะเลาะกันเอาดี ก็หมายความว่าเป็นการยึด เป็นมานะที่แรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับจุดประสงค์ของพระพุทธศาสนา
มีผู้ที่ศึกษาปริยัติของพระพุทธศาสนานี้สำหรับเก็บเอาไว้ ท่านเรียกว่าศึกษาพระปริยัติเป็นขุนคลัง คือหมายความว่าเก็บ เก็บ เก็บ เก็บเอาไว้ เก็บเอาไว้เพราะว่าอยากเก็บ อันนี้ก็เป็นวิธีอย่างหนึ่งที่อาจจะไม่ค่อยได้ประโยชน์นัก
แต่ว่าก็ยังดีกว่าที่จะศึกษาปริยัติมาสำหรับทะเลาะกัน เพราะว่าการทะเลาะนั้นทำให้เกิดความไม่สงบ ทำให้เกิดความรุนแรง ทำให้เกิดแตกแยกกัน ทำให้เกิดทิฏฐิมานะในตัวเอง ไม่เห็นสว่าง
การที่จะศึกษาปริยัติเพื่อเป็นขุนคลังนั้นก็ไม่ได้ประโยชน์นัก และอาจจะเสียอยู่ที่ว่าเท่ากับเราเป็นผู้ที่เก็บของโบราณ เราเป็นเหมือนคนที่สะสมเพราะว่าเรารักเราชอบ มันก็เป็นโลภหรือเป็นราคะก็ได้ ไม่เป็นสิ่งที่จะขัดเกลาให้เรามีความสบายใจแต่ประการใด อาจจะมีความพอใจที่ว่ามีปริยัติเยอะแยะ มันสนุกดีหรือมันน่าชื่นชม แต่ก็เป็นสุขชั่วแล่น
ฉะนั้น การศึกษาปริยัติเพื่อที่จะเก็บไว้เฉยๆ นั้นย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ได้ถึงจุดประสงค์ และอาจจะนำไปสู่ความเดือดร้อนบ้างเหมือนกัน เพราะว่าเราเรียนปริยัติ เราสะสมปริยัติ บางทีมันตกหล่นบ้าง บางทีก็ลืมบ้าง ก็เกิดโทมนัสว่า เอ... ข้อนี้เราลืมไปเสียแล้ว มันหายไปเสียแล้ว เพราะว่าเราเรียน เราจำ มันย่อมลืมได้ โดยเฉพาะอย่างผู้ที่เคยจำได้ และเดี๋ยวนี้ก็จำไม่ได้ ก็เดือดร้อนกลุ้มใจ
ความกลุ้มใจนั้นก็ไม่รู้จะไปแก้ไขอย่างไร เพราะว่าลืมเสียแล้วว่าท่านแก้อย่างไร ลืมปริยัติว่า เวลากลุ้มใจ ท่านแก้ด้วยอะไร ก็ลืมไป ก็กลุ้มใจ ยิ่งกลุ้มก็ยิ่งกลุ้มว่ากลุ้ม ก็นับว่าการเรียนปริยัติอย่างนั้นเพื่อเก็บไว้เฉยๆ ก็ไม่สู้จะดี ...
[1] พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันเสาร์ที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓.
ปฏิบัติ : การปฏิบัติธรรมตามที่ได้ศึกษาจากคัมภีร์ [1]
... การศึกษาปริยัติก็มีอีกอย่างหนึ่ง คือศึกษาปริยัติแล้วที่เรียกว่า “ปฏิบัติ”
เวลาฟังปริยัติ หมายความว่าคำสั่งสอนใดๆ อ่านคำสั่งสอนใดๆ มาแล้วก็มาคิด มาคิดให้เข้าใจ มาคิดให้รู้ มาคิดให้แจ้ง อันนี้แหละเรียกว่า ‘ปัญญา’ ได้ เวลาพูดถึงปริยัติข้อใด เอามาคิดว่า ท่านหมายความว่าอะไร แล้วมาดูที่จิตใจของเราว่ามันตรงหรือไม่ มีเหตุอย่างนั้น มันตรงไหมที่ท่านสอน อันนี้ก็หมายความว่าเป็นการปฏิบัติ
ฉะนั้น ถ้าเรียนปริยัติมาข้อใด แล้วก็มีเวลาเมื่อใด ก็มาพิจารณาถึงข้อปริยัติในระหว่างที่ยังไม่ได้ลืมคำสั่งสอนนั้น มาดูจิตใจของเรา การดูจิตใจนี้ก็คือการปฏิบัติ ไม่ต้องมีอย่างอื่น การดูจิตใจนั้นอย่างเดียวเป็นการปฏิบัติ
ฉะนั้น ถ้าเรียนปริยัติ หรือได้ฟังปริยัติ ได้เห็นปริยัติ ได้รู้สึกปริยัติ หมายความว่า ได้ไปที่ไหน ได้เห็นโลกเป็นอย่างนั้นๆ นั่นเป็นปริยัติทั้งนั้น เอามาพิจารณาว่า เวลาเราเจอสิ่งของเหล่านั้น ใจของเรารู้สึกอย่างไร นี้เป็นการปฏิบัติ และมาพิจารณาว่า ทำไมมันเกิดอย่างนั้น ก็เป็นการปฏิบัติ
ถ้าหากว่า เมื่อฟังปริยัติ อ่านปริยัติ ประสบปริยัติ แล้วมาปฏิบัติ คือดูที่ใจ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะว่าปริยัตินั้นลืมไปแล้ว แต่ใจที่สัมผัสและศึกษาอารมณ์ต่างๆ ไม่ลืม ไม่มีทางลืม เพราะว่าเห็นแล้ว เห็นว่าอะไรเป็นจริงแล้ว เมื่อเห็นจริงแล้ว ไม่มีทางลืม ...
ปฏิเวธ : ผลสำเร็จของการปฏิบัติธรรม [2]
... ธรรมะในพระพุทธศาสนานั้นบริบูรณ์ด้วยสัจธรรมที่เป็นสาระและเป็นประโยชน์ในทุกระดับ ซึ่งบุคคลสามารถจะศึกษาและปฏิบัติให้เกิดประโยชน์คือความเจริญผาสุกแก่ตนได้อย่างแท้จริง กล่าวคือ ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมจะมีชีวิตและกิจการงานที่ประกอบด้วยความสว่าง สะอาด และสงบ
ที่ว่า “สว่าง” นั้นคือ มีปัญญา รู้เหตุรู้ผล รู้ผิดชอบชั่วดีโดยกระจ่างชัด
ที่ว่า “สะอาด” นั้นคือ ไม่มีความทุจริตทั้งกาย วาจา ใจ มาเกลือกกลั้ว เพราะเห็นจริงชัดในกุศลและอกุศล
ที่ว่า “สงบ” นั้นคือ เมื่อไม่ประพฤติทุจริตทุกๆ ทางแล้ว ความเดือดร้อนจากบาปทุจริตก็ไม่มาแผ้วพาน
คนที่ประพฤติตนและปฏิบัติงานโดยตั้งอยู่ในธรรมอย่างเคร่งครัดจึงเป็นผู้มีปรกติสุขอยู่ร่มเย็น ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง แก่ผู้อื่นและสังคมส่วนรวม
ท่านทั้งหลายผู้ตั้งใจอุทิศแรงกายแรงใจของตนเพื่อพระพุทธศาสนาและความผาสุกของประชาชนจึงควรจะได้เพียรพยายามปฏิบัติส่งเสริมให้มหาชนได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมะอย่างถูกต้องทั่วถึง ก็จะช่วยให้แต่ละบุคคลดำรงตนอยู่ได้อย่างมั่นคงและเป็นสุขในทุกสถานการณ์ และช่วยค้ำจุนส่วนรวมมิให้เสื่อมทรุดลงได้ ดังที่ท่านมุ่งหวัง ...
[1] พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันเสาร์ที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓.
[2] พระบรมราโชวาท พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดการประชุมสมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ ๔๐ เรื่อง “พระพุทธศาสนากับภาวะวิกฤตของสังคมไทย” ณ วัดพระยายัง กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑.
ที่มา
เรียบเรียงโดย ณัฐวุฒิ แจ๊สสูงเนิน จากหนังสือ ธรรมะจากพระโอษฐ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น