ภูมิจิตภูมิใจของเราจะขยายวงกว้างออกไปเอง
#เรามีศีลบริสุทธิ์สะอาดเป็นเครื่องอบรมสมาธิ
เรามีสมาธิแล้วจะไม่เกิดความรู้ ไม่เกิดปัญญา
#ขอให้ทำให้ได้ ถ้าเราทำจริงก็ได้จริง อย่าทำแต่เวลามาเข้าปฏิบัติในศูนย์หรือเฉพาะเวลานั่งสมาธิท่าเดียว ถ้าใครจะภาวนาพุทโธ ก็ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
#ภาวนาพุทโธได้ตลอดกาล ผู้ที่มีสติคล่องแคล่วว่องไวดีแล้วไม่ต้องภาวนาพุทโธ ให้กำหนดลมตามรู้การยืนเดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
#ทุกขณะจิตทุกลมหายใจ #แล้วสมาธิจะบังเกิดขึ้นมาเองไม่ต้องสงสัย
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
........
อานาปานสติ
"#ว่าด้วยอุปจารและอัปปนาสมาธิ"
ฌานและวิปัสสนา
อุปจารสมาธิแล่นไปในกุศลวิถีแล้ว ก็หยั่งลงสู่ภวังค์. อัปปนาสมาธิ เมื่อพระโยคีนั่งแนบสนิทตลอดทั้งวัน แล่นไปในกุศลวิถีแม้ตลอดทั้งวัน ก็ไม่หยั่งลงสู่ภวังค์
.....................................................
[จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิด้วยองค์]
จริงอยู่ จิตนี้ย่อมชื่อว่าเป็นธรรมชาติตั้งมั่นด้วยองค์ ๒ คือ ด้วยการละนิวรณ์ในอุปจารภูมิ หรือด้วยความปรากฏแห่งองค์ในปฏิลาภภูมิ. บรรดาภูมิ ๒ อย่างนั้น ที่ชื่อว่าอุปจารภูมิ ได้แก่อุปจารสมาธิ. ที่ชื่อว่าปฏิลาภภูมิ ได้แก่อัปปนาสมาธิ.
ถามว่า สมาธิทั้งสองนั้นมีการทำต่างกันอย่างไร?
แก้ว่า อุปจารสมาธิแล่นไปในกุศลวิถีแล้ว ก็หยั่งลงสู่ภวังค์. อัปปนาสมาธิ เมื่อพระโยคีนั่งแนบสนิทตลอดทั้งวัน แล่นไปในกุศลวิถีแม้ตลอดทั้งวัน ก็ไม่หยั่งลงสู่ภวังค์.
บรรดาสมาธิ ๒ อย่างเหล่านี้ จิตย่อมเป็นธรรมชาติตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิ เพราะนิมิตปรากฏ. ภายหลัง ภิกษุนี้ไม่พึงมนสิการนิมิตนั้นโดยสี ทั้งไม่พึงพิจารณาโดยลักษณะ. ก็อีกอย่างหนึ่งแล เธออย่าประมาท ควรรักษานิมิตไว้ดุจพระมเหสีของกษัตริย์ ทรงรักษาครรภ์แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ และดุจชาวนารักษารวงแห่งข้าวสาลีและข้าวเหนียวฉะนั้น.
จริงอยู่ นิมิตที่รักษาไว้ได้ ย่อมจะอำนวยผลแก่เธอ.
เมื่อพระโยคีรักษานิมิตไว้ได้ จะไม่
มีความเสื่อม จากอุปจารฌานที่ตนได้แล้ว,
เมื่อไม่มีการอารักขา (นิมิต) ฌานที่ตนได้
แล้วๆ ก็จะพินาศไป ฉะนี้แล.
[อุบายสำหรับรักษาอานาปานัสสติกรรมฐานไม่ให้เสื่อม]
ในอธิการแห่งอานาปานัสสติกรรมฐานนั้น มีอุบายสำหรับรักษาดังต่อไปนี้ :-
ภิกษุนั้นควรเว้นอสัปปายะ ๗ อย่างเหล่านี้ คือ อาวาส ๑ โคจร ๑ การสนทนา ๑ บุคคล ๑ โภชนะ ๑ ฤดู ๑ อิริยาบถ ๑ แล้วเสพสัปปายะ ๗ อย่างเหล่านั้นนั่นแล มนสิการนิมิตนั้นบ่อยๆ .
พระโยคีนั้น ครั้นทำนิมิตให้มั่นคงด้วยการเสพสัปปายะอย่างนั้นแล้ว ควรรอคอยความเจริญงอกงามไพบูลย์ บำเพ็ญความเพียรไม่ละทิ้งอัปปนาโกศล ๑๐ อย่างเหล่านี้ คือ ทำวัตถุให้สละสลวย ๑ ประคองอินทรีย์ให้เป็นไปเสมอ ๑ ฉลาดในนิมิต ๑ ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม ๑ ประคองจิตในสมัยที่ควรประคอง ๑ ปลอบจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรปลอบจิตให้ร่าเริง ๑ เพ่งดูจิตในสมัยที่ควรเพ่งดู ๑ เว้นบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ๑ เสพบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น ๑ น้อมไปในสมาธินั้น ๑.
เมื่อพระโยคีนั้นหมั่นประกอบโดยนัยดังกล่าวมาอย่างนี้อยู่ มโนทวาราวัชชนะ ซึ่งมีนิมิตเป็นอารมณ์ ตัดภวังค์แล้วก็เกิดขึ้นในขณะที่ควรกล่าวว่าอัปปนา จักเกิดขึ้นในบัดนี้. ก็เมื่อมโนทวาราวัชชนะนั้นดับไป. บรรดาชวนะทั้งหลาย ๔ หรือ ๕ ดวงยึดเอาอารมณ์นั้นนั่นแลแล่นไป ซึ่งชวนะดวงแรกชื่อบริกรรม, ที่ ๒ ชื่ออุปจาระ, ที่ ๓ ชื่ออนุโลม, ที่ ๔ ชื่อโคตรภู, ที่ ๕ ชื่ออัปปนาจิต.
อีกอย่างหนึ่ง ดวงแรกเรียกว่าบริกรรมและอุปจาระ, ที่ ๒ เรียกว่าอนุโลม, ที่ ๓ เรียกว่า โคตรภู, ที่ ๔ เรียกว่าอัปปนาจิต.
จริงอยู่ ชวนะดวงที่ ๔ เท่านั้น บางทีที่ ๕ ย่อมเป็นไป๑- ไม่ถึงดวงที่ ๖ หรือที่ ๗ เพราะอาสันนภวังค์ (ภวังค์ใกล้อัปปนา) ตกไป.
____________________________
๑- โยชนา ๑/๓๓๘ แก้ อปฺเปติ เป็น ปวตฺตติ
ส่วนพระโคทัตตเถระผู้ชำนาญอภิธรรมกล่าวไว้ว่า กุศลธรรมทั้งหลายย่อมเป็นธรรมมีกำลัง โดยอาเสวนปัจจัย เพราะฉะนั้น ชวนะย่อมถึงที่ ๖ หรือที่ ๗. คำนั้นถูกคัดค้านในอรรถกถาทั้งหลาย.
ในชวนจิตเหล่านั้น จิตที่เป็นบุรพภาคเป็นกามาวจร ส่วนอัปปนาจิตเป็นรูปาวจร. ปฐมฌานซึ่งละองค์ ๕ ประกอบด้วยองค์ ๕ สมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๑๐ มีความงาม ๓ ย่อมเป็นอันพระโยคีนี้บรรลุแล้ว โดยนัยดังกล่าวมาฉะนี้. เธอยังองค์ฌานทั้งหลายมิวิตกเป็นต้นให้สงบราบคาบในอารมณ์นั้นนั่นเอง ย่อมบรรลุฌานที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔. และด้วยเหตุมีประมาณเพียงนี้ เธอย่อมเป็นผู้ถึงที่สุดแห่งภาวนา ด้วยอำนาจแห่งการหยุดไว้.
ในอธิการนี้ มีสังเขปกถาเท่านี้ ส่วนนักศึกษาผู้ต้องการความพิสดาร พึงถือเอาจากปกรณ์วิเสส ชื่อวิสุทธิมรรคเถิด.
ส่วนในกายานุปัสสนานี้ ภิกษุผู้บรรลุจตุตถฌานแล้วอย่างนั้นมีความประสงค์ที่จะเจริญกรรมฐาน ด้วยอำนาจการกำหนดและการเปลี่ยนแปลง แล้วบรรลุความหมดจด กระทำฌานนั้นนั่นแลให้ถึงความชำนิชำนาญ (วสี) ด้วยอาการ ๕ อย่างกล่าวคือ อาวัชชนะ การรำพึง, สมาปัชชนะ การเข้า, อธิฏฐานะ การตั้งใจ, วุฏฐานะ การออกและปัจจเวกขณะ การพิจารณา แล้วกำหนดรูปและอรูปว่า รูป มีอรูปเป็นหัวหน้า หรืออรูป มีรูปเป็นหัวหน้าแล้วเริ่มตั้งวิปัสสนา.
ถามว่า #เริ่มตั้งวิปัสสนาอย่างไร?
แก้ว่า จริงอยู่ พระโยคีนั้น ครั้นออกจากฌานแล้วกำหนดองค์ฌาน ย่อมเห็นหทัยวัตถุซึ่งเป็นที่อาศัยแห่งองค์ฌานเหล่านั้น ย่อมเห็นภูตรูปซึ่งเป็นที่อาศัยแห่งหทัยวัตถุนั้น และย่อมเห็นกรัชกายแม้ทั้งสิ้นซึ่งเป็นที่อาศัยแห่งภูตรูปเหล่านั้น. ในลำดับแห่งการเห็นนั้น เธอย่อมกำหนดรูปและอรูปว่า องค์ฌานจัดเป็นอรูป, (หทัย) วัตถุเป็นต้นจัดเป็นรูป.
อีกอย่างหนึ่ง เธอนั้นครั้นออกจากสมาบัติแล้ว กำหนดภูตรูปทั้ง ๔ ด้วยอำนาจปฐวีธาตุเป็นต้น ในบรรดาส่วนทั้งหลายมีผมเป็นอาทิ และรูปซึ่งอาศัยภูตรูปนั้น ย่อมเห็นวิญญาณพร้อมทั้งสัมปยุตธรรมซึ่งมีรูปตามที่ตนกำหนดแล้วเป็นอารมณ์ หรือมีรูปวัตถุและทวารตามที่ตนกำหนดแล้วเป็นอารมณ์.
ลำดับนั้น เธอย่อมกำหนดว่า ภูตรูปเป็นต้นจัดเป็นรูป, วิญญาณที่มีสัมปยุตธรรมจัดเป็นอรูป. อีกอย่างหนึ่ง เธอครั้นออกจากสมาบัติแล้ว ย่อมเห็นว่า กรัชกายและจิตเป็นที่เกิดขึ้นแห่งลมอัสสาสะและปัสสาสะ. เหมือนอย่างว่า เมื่อสูบของช่างทองยังสูบอยู่ ลมย่อมสัญจรไปมา เพราะอาศัยการสูบ และความพยายามอันเกิดจากการสูบนั้นของบุรุษ ฉันใด, ลมหายใจเข้าและหายใจออกย่อมเข้าออก เพราะอาศัยกายและจิตฉันนั้นเหมือนกันแล.
ลำดับนั้น เธอกำหนดลมหายใจเข้าหายใจออกและกายว่า เป็นรูป, กำหนดจิตนั้นและธรรมที่สัมปยุตด้วยจิตว่า เป็นอรูป. ครั้นเธอกำหนดนามรูปด้วยอาการอย่างนั้นแล้ว ย่อมแสวงหาปัจจัยแห่งนามรูปนั้น. และเธอเมื่อแสวงหาอยู่ ก็ได้เห็นปัจจัยมีอวิชชาและตัณหาเป็นต้นนั้นแล้ว ย่อมข้ามความสงสัยปรารภความเป็นไปแห่งนามรูปในกาลทั้ง ๓ เสียได้.
เธอนั้นข้ามความสงสัยได้แล้ว ยกไตรลักษณ์ขึ้นด้วยอำนาจพิจารณากลาป ละวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ อย่าง มีโอภาสเป็นต้นซึ่งเกิดขึ้นแล้วในส่วนเบื้องต้น ด้วยอุทยัพพยานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นความเกิดและความดับ) กำหนดปฏิปทาญาณที่พ้นจากอุปกิเลสว่าเป็นมรรค ละความเกิดเสีย ถึงภังคานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นความดับ) เบื่อหน่ายคลายกำหนัดพ้นไปในสรรพสังขาร ซึ่งปรากฏโดยความเป็นของน่ากลัว ด้วยพิจารณาเห็นความดับติดต่อกันไป ได้บรรลุอริยมรรคทั้ง ๔ ตามลำดับ แล้วตั้งอยู่ในพระอรหัตผลถึงที่สุดแห่งปัจจเวกขณญาณ ๑๙ อย่าง เป็นอัครทักขิไณยแห่งโลกพร้อมทั้งเทวดา.
ก็การเจริญอานาปานัสสติสมาธิของภิกษุผู้ประกอบในอานาปานกรรมฐานนั้น ตั้งต้นแต่การนับจนถึงมรรคผลเป็นที่สุด จบบริบูรณ์เพียงเท่านี้แล.
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=01.0&i=176&p=2
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น