ชีวิตมหัศจรรย์ชีวิตหนึ่ง เกิดในเมืองจีน รัดเท้าให้เล็กตามธรรมเนียมสาวจีน แต่เมื่อมาอยู่เมืองไทยก็แก้เท้าออกและปรับตัวเป็นไทย เรียนรู้ขนบธรรมเนียมไทย หัดละครในสมัย ร.๑ จนได้เป็นตัวเอก ถูกจารึกชื่อจนถึงปัจจุบันว่าเป็นครูละครหลวง ร.๒ ทรงปฏิพัทธ์ พระราชทานกาพย์พระราชนิพนธ์ “พี่รักเจ้าคนเดียว” มีพระราชโอรสพระราชธิดาถึง ๖ พระองค์ มากกว่าบรรดาเจ้าจอมมารดาใน ร.๒ และเป็นต้นราชสกุลของ ๒ นายกรัฐมนตรีไทย
เจ้าของชีวิตมหัศจรรย์ผู้นี้ ก็คือ เจ้าจอมมารดาอำภา บุตรีของ พระยาอินทรอากร (อิน หรือ โง้ว แซ่หลิม) กับมารดาที่เป็นคนจีน เกิดที่มณฑลฮกเกี้ยน มีพี่น้องร่วมกัน ๗ คน เมื่อพระยาอินทรฯมาทำการค้าในเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ ๑ ตามรอยพี่ชาย คือ พระยาไกรโกษา (เริก ไกรฤกษ์) ซึ่งเข้ามารับราชการตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ในตำแหน่งเสมียนกรมท่าซ้าย มีหน้าที่ติดต่อค้าขายกับประเทศจีน และเป็นต้นสกุล ไกรฤกษ์
เมื่อเจ้าจอมอายุได้ ๘ ขวบ บิดาซึ่งไปมาค้าขายระหว่างสยามกับจีนเป็นประจำ ได้รับตัวมาอยู่เมืองไทยด้วย แล้วแก้ที่รัดเท้าออก ให้ศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีตามแบบกุลสตรีไทย เมื่ออยู่เมืองไทยได้ ๑ ปี ได้นำไปถวายตัวเป็นละครรุ่นเล็กในรัชกาลที่ ๑ หัดรำจนรำได้สวย ได้แสดงในละครเรื่องอิเหนา เป็นตัว กาญจหนา และแสดงได้ดีจนได้รับฉายาว่า “อำภากาญจหนา” ต่อมาก็ได้เป็นครูละครหลวง จนได้รับการจารึกชื่ออยู่ในทำเนียบครูโขนละคร
ในสมัย ร.๒ เถ้าแก่อินเป็นพ่อค้าที่ถวายการรับใช้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอย่างใกล้ชิด จนได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอินทรอากร และมีฉายาว่า “เจ้าสัวเตากระทะ” เพราะมีบริวารมากจนต้องใช้กระทะหุงข้าวเลี้ยงกัน
พระยาอินทรได้ถวายบุตรีเป็นบาทบริจาริกา และเป็นเจ้าจอมที่ทรงโปรดปรานมาก พระราชทานกาพย์พระราชนิพนธ์บทหนึ่งให้เจ้าจอมอำภา มีข้อความว่า
สายหยุดพุดจีบจีน เจ้ามีสินพี่มีศักดิ์
ทั้งวังเขาชังนัก แต่พี่รักเจ้าคนเดียว
เจ้าจอมอำภามีพระราชโอรสธิดาถึง ๖ พระองค์ มากกว่าบรรดาเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒ คือ
๑.พระองค์เจ้าชายกปิตถา กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ ต้นราชสกุล กปิตถา
๒.พระองค์เจ้าชายปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ต้นราชสกุล ปราโมช
๓. พระองค์เจ้าชายเกยุร สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ ไม่มีทายาทสืบสกุล
๔.พระองค์เจ้าหญิงกัณฐา สิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ ๓
๕.พระองค์เจ้าหญิงกัลยาณี สิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ ๒
๖.พระองค์เจ้าหญิงกนิษฐน้อยนารี พระราชธิดาองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ ๒ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔
เจ้าจอมมารดาอำภาเป็นคนเจ้าระเบียบ มารยาทงาม และแต่งกายตามแบบนางใน นุ่งผ้าจีบและห่มสไบสีตามวัน เมื่อชาววังเปลี่ยนมานุ่งโจงกระเบนท่านก็ไม่ได้เปลี่ยนด้วย แม้จะเป็นกุลสตรีไทยเต็มรูปแบบ แต่ท่านก็ไม่ลืมภาษาจีน ทั้งยังสอนให้เจ้านายฝ่ายหญิงบางองค์ด้วย และเมื่อญาติจากเมืองจีนมาพบท่านก็พูดภาษาจีนด้วย
เจ้าจอมมารดาอำภามีความจงรักภักดีต่อเจ้าฟ้ามงกุฎมาก ขณะที่ทรงผนวชเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศก่อนขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ เจ้าจอมอำภาก็ทำอาหารคาวหวานและผลไม้ส่งไปถวายเพลมิได้ขาด ทั้งยังนำพระองค์เจ้าปราโมช หรือ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ บุตรชายคนรองไปถวายเป็นศิษย์ด้วย
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช โอรสของพระองค์เจ้าคำรบ ซึ่งเป็นโอรสของกรมขุนวรจักรธรานุภาพ ได้เขียนใน “โครงกระดูกในตู้” ว่า
“ด้วยความจงรักภักดีอันแน่นแฟ้น ที่เจ้าจอมมารดาอำภามีต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงตรัสเรียกเจ้าจอมมารดาอำภาว่า “แม่ภา” แต่เพียงคนเดียวในบรรดาเจ้าจอมและเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒ นับว่าทรงยกย่องเป็นพิเศษ ท่านผู้อื่นนั้นตรัสเรียกหรือตรัสถึงแต่นามเฉยๆ มิได้ทรงใช้คำว่า “แม่” นำหน้านาม”
เจ้าจอมมารดาอำภามักรวบรวมเงินส่วนตัวของท่านใส่ถุงครั้งละมากๆ เพื่อนำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ทรงใช้จ่ายตามพระราชอัธยาศัย ด้วยความจงรักภักดีและด้วยเหตุผลว่า
“ในหลวงแผ่นดินนี้ท่านยากจน ทรงผนวชมาแต่ทรงพระเยาว์ และลาผนวชมาเสวยราชสมบัติ ไม่มีเวลาที่จะสะสมพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เงินแผ่นดินนั้นต้องทรงใช้จ่ายในราชการแผ่นดิน จะใช้สอยส่วนพระองค์ก็อัตคัด”
แม้จะเข้าวัยชราเจ้าจอมมารดาอำภาก็ยังไม่ทิ้งการสอน แต่การรัดเท้ามาแต่เด็กทำให้เท้าท่านเล็ก มาส่งผลตอนท่านไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน สุจิตต์ วงษ์เทศ เล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งขณะที่ท่านกำลังสอนให้ละครหลายสิบคน ท่านรำข้างหน้าแล้วให้ละครรำตาม พอท่าที่จะต้องยกขาข้างหนึ่งยืนขาเดียว ท่านก็ยืนไม่อยู่ล้มลงกับพื้น พวกละครก็นึกว่าอยู่ในท่าที่ท่านสอน จึงพากันล้มตาม ท่านก็โกรธคิดว่าล้อท่าน ใช้ไม้เรียวที่ใช้เคาะจังหวะหวดพวกที่ล้มตามนั้น
เมื่อเจ้าจอมมารดาอำภาถึงแก่อนิจกรรม คณะละครที่ท่านหัดไว้ก็ตกมาอยู่กับ หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด ธิดาในกรมขุนวรจักรธรานุภาพ ผู้เป็นหลานย่าของท่าน และเป็นท่านป้าของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ๒ นายกรัฐมนตรีไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น