“ดีถีมาฆบูชา อันเป็นวันจาตุรงคสันนิบาต ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ดิถีเช่นนี้เมื่อกว่าสองพ้นห้าร้อยปีก่อน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทานหลักการอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาไว้ ๓ ประการ ได้แก่ การไม่กระทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
“จิต” เป็นสภาพรู้ที่ปรากฏมีอยู่ในทุกชีวิตซึ่งมีสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “เจตสิก” เกิดร่วมด้วย เจตสิกกลุ่มที่เรียกว่า “สังขาร” อาจปรุงแต่งให้จิตเป็นไปในทางสามฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายดี ฝ่ายเลว และฝ่ายที่เป็นกลาง การจะทำจิตให้ผ่องแผ้วได้ตามหลักการอันเป็นหัวใจของพระศาสนา จำเป็นต้องเริ่มขัดเกลาตนเองให้มีปรกติอดทนอดกลั้นที่จะไม่ทำบาป พอใจขวนขวายที่จะทำบุญ คือการบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาอยู่เสมอ เพื่อฝึกจิตให้โน้มน้าวไปสู่วิถีสะอาด คอยชำระซักฟอกไปจนกว่าธุลีแห่งความมัวหมองจะลบเลือนหายไป ทำให้เข้าถึงสภาวะอันผ่องแผ้วด้วยจิตฝ่ายดี มีกุศลจิตเป็นเนืองนิตย์ การฝึกจิตอยู่เสมอ จะเป็นเหตุปัจจัยนำมาซึ่งความหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ ถึงแม้ยังดำเนินไปไม่ถึงที่สุดในฝ่ายคดีธรรม แต่ก็ย่อมยังอำนวยประโยชน์สุขในฝ่ายคดีโลก คือทำให้ผู้ฝึกจิตเป็นสุจริตชน มีการงานสะอาดปราศจากโทษ มีใจสงบระงับ ไม่ต้องกลัวโทษทัณฑ์จากกฎหมายบ้านเมือง ทั้งยังเป็นเครื่องประคับประคองจิตให้ไม่เดือดร้อนต่อโลกธรรม ไม่แสดงอาการขึ้นลง เมื่อประสบกับการมีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข และทุกข์ รวมความได้ว่าจิตที่ผ่องแผ้ว ต้องเกิดจากการฝึก เมื่อฝึกแล้วจิตก็จะมั่นคงไม่หวั่นไหว สมตามพระพุทธานุศาสนีที่ว่า “จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ” ความว่า จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้ ด้วยประการฉะนี้
ขอพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงดำรงมั่นอยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน และขอพุทธบริษัททั้งหลาย จงพร้อมเพรียงกันศึกษาพระสัทธรรมนั้น เพื่อบรรลุถึงความงอกงามไพบูลย์ยิ่ง ๆ ขึ้นสืบไป เทอญ.”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น