24 กรกฎาคม 2565

#มรณานุสสติ


สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนเรื่องมรณานุสสติยังอ่อนอยู่ มีความสำคัญดังนี้

๑. ในเมื่อรู้จิตตนเองว่ายังอ่อนเรื่องการนึกถึงความตายอยู่ ก็ต้องเร่งรัดตนเอง เช่นคิดถึงเรื่องในพระสูตร คือท่านปฏาจราเถรีที่พิจารณาว่า ความตายมีได้ทั้ง ปฐมวัย - มัชฌิมวัยและปัจฉิมวัย แล้วหวนนึกถึงคำสั่งสอนขององค์สมเด็จปัจจุบัน ตรงที่ทรงตรัสว่า เมื่อความตายเข้ามาถึงเรา คนที่เรารักมีบิดา - มารดา สามี - บุตร - ธิดา เป็นต้น ก็ไม่สามารถจักช่วยเราได้มีแต่จิตของเราเอง จักต้องไปตามกฎของกรรมแต่เพียงผู้เดียว แม้ในขณะเดียวกัน คนที่เรารัก มีบิดา - มารดา - สามี - บุตร - ธิดาจักตาย เราก็ช่วยเขาไม่ได้เช่นกัน เขาก็จักต้องไปตามกรรมของเขา

๒. ถ้าพวกเจ้าเอามาพิจารณาว่า หากจิตของตนเองกำหนดรู้อยู่ถึงความตาย พฤติการณ์ของบุคคลใดเล่าจักมีประโยชน์แก่จิตของเราที่พึงจักไปสนใจ มีแต่กรรมของเราเท่านั้นที่พึงควรจักสนใจ เพราะเมื่อตายไปแล้ว มีแต่เราเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งแห่งตน จุดนี้จักทำให้ไม่ประมาทในชีวิต และวางเรื่องของคนอื่นลงได้อย่างสนิทใจ

๓. ให้พยายามถามจิตตนเองบ่อยๆ ว่า หากตายตอนนี้ในขณะจิตนี้จักไปไหน กำหนดจิตให้รู้ลม - รู้ตาย - รู้นิพพานไว้เสมอ จิตจักมั่นคงอยู่อานาปา, มรณา และอุปสมานุสสติอยู่เสมอๆ จัดเป็นการซ้อมตาย และพร้อมที่จักตายอยู่ตลอดเวลาด้วยความไม่ประมาท มีเป้าหมายที่จักต้องไปจุดเดียวคือพระนิพพาน พยายามทำบ่อยๆ ให้ชิน จิตก็จักเป็นฌานในการกำหนดรู้ลม - รู้ตาย - รู้นิพพาน เป็นอัตโนมัติได้ในที่สุด ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับความเพียรของจิตเราแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งแห่งตน หรือจักต้องไปตามกฎของกรรมแต่เพียงผู้เดียว

๔. ดังนั้น การพิจารณาศีล - สมาธิ - ปัญญา โดยเอาสังโยชน์ ๑๐ เป็นเครื่องวัดอารมณ์ของจิตอยู่เสมอ บวกกับมีบารมี ๑๐ เป็นตัวเสริมการพิจารณา จักเป็นทางเข้าถึงพระนิพพานได้ง่ายขึ้น และอย่าลืมเพียรพิจารณาขันธ์ ๕ ให้มากๆ โดยอเนกปริยายแล้ว จักละเอียดในธรรมมากขึ้น เพราะการไปพระนิพพานประสงค์จักตัดหรือละจากขันธ์ ๕ ก็จักต้องพิจารณาขันธ์ ๕ เท่านั้น ไม่มีทางอื่นไปได้

โดยพิจารณาร่างกายนี้ให้เห็นชัดตามสภาพของความเป็นจริง ไม่ว่ารูปอันประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ เป็นอาการ ๓๒ เข้ามาประชุมกัน ให้เห็นความไม่เที่ยงอันเป็นที่ตั้งของรูป มีความเสื่อม มีความสลายตัวไปในที่สุด แล้วให้พิจารณาตาม อันได้แก่ เวทนา - สัญญา - สังขาร - วิญญาณ ก็ไม่เที่ยง มีเกิดขึ้นแล้วก็มีความเสื่อม มีความสลายตัวไปในที่สุดเช่นกัน ให้เห็นสภาพขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง จิตก็จักเกิดความเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕ และละขันธ์ ๕ ได้ในที่สุด

ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๙ เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๙

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

#สมเด็จองค์ปฐม3 #ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น3

22 กรกฎาคม 2565

การเลี้ยงหมานี่ป้องกันนรกได้ดีเหมือนกัน

การเลี้ยงหมานี่ป้องกันนรกได้ดีเหมือนกัน เพราะเป็นเมตตาบารมี เราเลี้ยง เราก็เลี้ยงเพื่อไม่หวังผลตอบแทน ไม่เคยจะใช้มันตักน้ำถูบ้าน ใช้อะไรไม่เคย อย่างนี้ชื่อว่าเลี้ยงโดยการสงเคราะห์ อย่างนี้เป็นการป้องกันนรกได้ดี นี่คนเลี้ยงหมาแบบนี้ละก็จำไว้นะ
    คนเลี้ยงหมาแบบปล่อยแบบนี้ได้บุญขนาดไหนลุงพุฒิ แน่ะ ลุงแกมานั่งนานแล้ว พูดตอนนี้ก็ยิ้ม เลยลืมถามแก ลุง ถามจริงๆ นะ คนเลี้ยงหมานี่น่ะ อ๋อ แกรีบบอกมาเลย บอกว่าล้างบาปไม่ได้ จำไว้นะ ฉันมันพูดป้ำๆ เป๋อๆ เหมือนกัน บอกว่ากันนรกได้จะกลายเป็นล้างบาป แกบอกว่าเรื่องบาปเรื่องความชั่วนี่ล้างไม่ได้นะ แต่ว่าอานิสงส์ของหมา ด้วยการเลี้ยงปล่อย หมายความว่าเลี้ยงไม่หวังผลตอบแทน ลุง ไปทางไหน แกบอกว่ามันหลายทาง ความจริงนี่มันจะไม่เหมือนกันกับที่ฉันเทศน์เสียแล้วล่ะ ฉันเคยเทศน์ว่าเลี้ยงหมานี่ได้ผลขั้นกามาวจรสวรรค์ สามารถจะไปเกิดเป็นเทวดาได้ ลุงพุฒิแกตอบไม่เหมือนกันเสียแล้ว ลุงว่ามาซิ อ๋อ ยังงั้นหรือ บอกว่าถ้าเลี้ยงหมาด้วยการสงเคราะะห์ใช่ไหมล่ะ สงเคราะห์ให้หมามีความสุข อย่างนี้เป็นผลแห่งกามาวจรสวรรค์ งั้นนะลุงนะ ดางดึงส์เลยหรือ บอกว่าดาวดึงส์เลย นี่ฟังแกพูดนา แล้วฉันเทศน์น่ะมันจะผิด ผิดไหมลุง บอกว่าไม่ผิด แต่อธิบบายไม่ครบ อ้อ แหม ดีจริงๆ อย่างนี้ดีจริงๆ 
    แล้วขั้นที่สองเล่าลุง การเลี้ยงหมาถ้าใจจดจ่ออยู่กับการให้ทานหมา หมายความว่าการให้ทานนี่น่ะมีจิตห่วงใยมากรึ ใช่ อ๋อ แกบอกว่าใช่ ไปไหนก็ห่วงกลัวจะอด นอนก็คิดว่าพรุ่งนี้หมาจะกินอะไร จะมีกับข้าวอะไรให้หมากิน พยายามหามาให้สิ่งที่มันต้องการ ที่เรียกว่าพอจะกินได้ หรือว่าขนมพวกนี้หมาจะมีกินไหม ตั้งใจอยู่อย่างนี้เป็นปกติก่อนหลับหรือว่าปกติก็คิดเป็นห่วงอยู่ แกบอกว่าเป็นจาคานุสสติกรรมฐาน คือเป็นจาคานุสสติกรรมฐานอย่างนั้นใช่ไหมลุง แกบอกว่าใช่
    อันนี้ฉันไม่ได้เคยคิดเลยนะลูกหลาน ตอนนี้ฉันไม่เคยคิด หรือไม่เคยเทศน์มาเลยนะ แกยิ้ม แกบอกว่าจะเทศน์ยังไงล่ะก็คนมันโง่บัดซบ นี่แกว่ายังงั้น แกบอกว่าโง่บัดซบแล้วจะเทศน์ยังไง ก็เทศน์ไปเพียงแค่กามาวจรสวรรค์ อ่านหนังสือมายังงั้น แกบอกว่า จิตถ้าจับอยู่อย่างนี้เป็นอารมณ์เขาเรียกว่าอารมณ์ฌาน แล้วก็อารมร์ฌานนี่น่ะเวลาใกล้จะตายถ้าจิตห่วงใยอยู่กับแมวหมาที่เราเลี้ยงไว้ คิดหวังจะให้ทานมันอยู่เป็นฌาน ตายไปเป็นพรหม ถ้าเวลาตายไม่คิด เวลาตายไปแล้วก็ไปเกิดบนกามาวจรสวรรค์ แล้วบุญอันนั้นบันดาลให้เป็นพรหมได้ เมื่อหมดอายุในสวรรค์แล้วก็ไปเกิดเป็นพรหม
    จำไว้ให้ดีนะลูกหลานนะ ฉันไม่เคยเทศนน์แบบนี้เลยนะ ฉันไม่เคยเทศน์ ลุงแกยิ้มใหญ่แล้วแกบอกว่า ต่อไปคนเลี้ยงหมานี่น่ะไปนิพพานได้ เพราะเอาหมาเป็นวิปัสสนาญาณ เอาอาหารเป็นวิปัสสนาญาณ ถาม ทำไงล่ะลุง วันนี้มีประโยชน์มากจำให้ดีนะ นี่คนรู้เขารู้จริงๆ อย่างลุงพุฒินี่แกเป็นพรหม ลุงพุฒิเป็นพรหม แล้วเป็นอนาคามีพรหมด้วย จะบอกไว้ให้เสียก็ได้ แล้วลุงพุฒิน่ะไม่มีโอกาสจะมาเกิดเป็นมนุษย์ จะนิพพานต่อไป นี่แกใกล้นิพพานเต็มทีแล้วใช่ไหมลุง แกบอกว่าใช่ พอสิ้นศาสนานี้แล้วประะมาณ ๕๐ ปี ๕๐ ปีนรกหรือว่า ๕๐ ปีมนุษย์ ลุง ๕๐ ปีมนุษย์หรือ ไปนิพพาน เวลานี้อยู่โต๋งเต๋งเล่นโก้ๆ ยังงั้นนะ เอาละ จำไว้นะ ว่าลุงพุฒิแกจะไปนิพพาน
    เอ้า ลุงว่าต่อไปซิ วิธีเอาขนมเป็นวิปัสสนาญาณทำยังไง คืออาหารหรือขนมที่ให้สัตว์ แกว่ายังงั้น เป็นวิปัสสนาญาณ เราซื้อมามันก็กินหมดไปน่ะซิ กินหมดไปนี่มันอนัตตานี่ ซื้อมามาก มันค่อยๆ ยุบไปทีละน้อยๆ มันเป็นอนิจจัง กินหมดไปเป็นอนัตตา นี่อีกอย่างหนึ่งนะ แล้วก็หมาที่มันกินของๆ เรานี่น่ะมันก็มีชีวิตอยู่ไม่ตลอด ในที่สุดมันก็ตาย นี่แสดงว่าถึงแม้เราจะเลี้ยงมันยังไงก็ตาม สภาพความเที่ยงมันไม่มี แล้วเวลาที่มันอยู่มันหิว มันกระหาย มันร้อน มันเย็น มันหนาว มันก็มีความทุกข์ ก็เป็นทุกขัง แล้วเวลามันตาย ก็เป็นอนัตตา เรารักษารอดไหม พุทโธ่ ลุง ก็ฉันจะตายเองฉันยังรักษาไม่รอด หมามันจะตายฉันจะรักษารอดยังไง แกก็เลยบอกว่านั่นแหล่ะมันเป็นอนัตตา 
    คำว่าอนัตตาหรือกฎธรรมดานี่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๓ ประการนี่ ไม่มีใครบังคับได้ มันเป็นกฎตายตัว นี่ถ้าอารมณ์จิตอย่างนี้ว่าหมาเราเลี้ยงแล้วมันก็ตาย เราจะต้องตายอย่างนี้ เวลาหมามีชีวิตอยู่มันก็จะต้องมีความทุกข์ ต้องการอาหาร ต้องการความสบาย เราได้เกิดอีกเราก็มีทุกข์อย่างนี้ ในที่สุดก็ต้องตายอย่างนี้ เราก็เบื่อความตายมันเสีย เบื่อความเกิดมันเสีย เราไม่ต้องการมัน ขึ้นชื่อว่าความเกิดไม่ว่ามันจะเป็นคนก็ตามสัตว์ก็ตามเราไม่ต้องการ เราไม่เอาทั้งหมด คิดแค่นี้เราก็ไปนิพพาน เท่านี้น่ะหรือลุง แกบอกว่าเท่านี้แหล่ะไม่ต้องมาก

หนังสือ ประวัติหลวงพ่อปาน หน้า ๒๓๔-๒๓๖

พิมพ์แบ่งปัน ปัณณ์ธรรม

การไหว้ขอขมา 7 ครั้งก่อนนอน

1. ไหว้ครั้งแรก เพื่อบูชาและขอขมา"พระพุทธเจ้า" น้อมระลึกถึงคุณงามความดีของท่านที่ช่วยชี้ทางสว่างให้สัตว์โลก พร้อมสำนึกน้อมรับในสิ่งที่พระพุทธองค์ฝากเราไว้ให้ปฏิบัติได้แก่ "ทาน ศีล ภาวนา"

2. ไหว้ครั้งที่สอง เพื่อบูชาและขอขมา"พระธรรม" น้อมระลึกถึงคุณงามความดีของพระธรรมคำสั่งสอนที่เป็นสัจธรรมที่ช่วยรื้อถอน กิเลสให้สัตว์โลกและนำพาสัตว์โลกสู่ความสุขอย่างแท้จริง พร้อมสำนึกและน้อมรับพระธรรมที่พอจะนึกออกมาพิจารณาเนือง ๆ

3. ไหว้ครั้งที่สาม เพื่อบูชาขอขมา"พระสงฆ์" สาวกผู้มีพระคุณสานต่อจากพระพุทธเจ้าในการช่วยกันนำพาสัตว์โลกสู่ทางสว่าง ระลึกถึงพระที่ท่านเคารพรักนับถือแล้วอธิษฐานให้มาเป็นครูบาอาจารย์เพื่อปก ปักรักษาท่าน พร้อมสำนึกและน้อมรับในการช่วยส่งเสริมสถาบันสงฆ์ เพื่อช่วยการสานต่อศาสนาเช่น บำรุงสงฆ์ น้อมรับคำสอน ทำบุญตักบาตร และช่วยเผยแพร่ธรรม เป็นต้น

4. ไหว้ครั้งที่สี่ เพื่อ กราบไหว้บูชาขอขมา"พ่อ-แม่" ไม่ว่าท่านทั้งสองจะล่วงลับหรือยังอยู่ การกราบไหว้ท่านก่อนนอนเป็นประจำจะช่วยสร้างสิริมงคลให้ชีวิตและส่งเสริมให้ ผู้กราบได้บุตรที่ดีในอนาคต การงานและชีวิตส่วนตัวของผู้กราบจะเจริญรุ่งเรือง "ด้วยอานุภาพแห่งความกตัญญู" ขอให้ท่านน้อมระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่ในขณะที่กราบพร้อมขอขมาท่านด้วยใจจริง น้อมสำนึกว่าจะไม่ทำความผิดต่อพ่อแม่อีกทั้งในภพนี้และภพหน้า

5. ไหว้ครั้งที่ห้า เพื่อกราบไหว้บูชาขอขมา"พระสยามเทวาธิราชและพระมหากษัตริย์" ท่านเหล่านี้ล้วนมีบุญบารมีในการปกปักรักษาบ้านเมือง บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้บ้านเมืองของพวกเรา พึงกราบไหว้ก่อนนอนเพื่อขอขมาและขอบารมีท่านมาปกปักรักษาสร้างสิริมงคลให้ ชีวิต ขณะกราบพึงน้อมระลึกสำนึกในหน้าที่ที่ท่านต้องทำเพื่อประเทศชาติ สิ่งศักดิ์สิิทธิ์จะมาอนุโมทนาและคอยส่งเสริมกิจการงานท่านให้เจริญ รุ่งเรือง

6. ไหว้ครั้งที่หก เพื่อกราบไหว้บูชาขอขมา"ครูบาอาจารย์ทั้งทางโลกและทางธรรม"ทั้งหลาย ไม่ว่าท่านเหล่านั้นจะมาในรูปแบบไหน ( เช่น เป็นเพื่อน เป็นครู เป็นคนรู้จัก เป็นเจ้านาย ฯลฯ ) พึงน้อมระลึกสำนึกในบุญคุณของพวกท่านเหล่านั้นและขอขมาต่อสิ่งที่ได้ทำผิด พลาดลงไป

7. ไหว้ครั้งที่เจ็ด เพื่อ กราบไหว้ขอขมา"เจ้ากรรมนายเวร" ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และเป็นดวงวิญญาณจากหลายภพหลายชาติ ( แม้แต่สัตว์ที่ท่านทานเข้าไป ) ให้ท่านน้อมระลึกในความทุกข์ของท่านที่กำลังประสบอยู่ ยิ่งทุกข์มาก แสดงว่ากรรมท่านก็มาก เพราะเคยทำผิดไว้มาก ตาม"กฏแห่งกรรม"ธรรมดาโลกให้ท่านขอขมาเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายที่ท่านเคยล่วงเกินไว้ไม่ว่าจะในภพนี้ หรือภพที่ผ่านๆมา เพื่อขออโหสิกรรมจากเจ้ากรรมนายเวร พึงน้อมสำนึกว่าจะไม่ก่อกรรมร้ายใดๆอีกตราบเท่าที่จะพยายามทำได้เพื่อไม่ให้ เป็นภาระในกาลข้างหน้าอีก ( การไม่ก่อกรรมชั่ว คือการไม่สร้างหนี้สินให้ตัวเอง )

หลังจากไหว้ครบ 7 ครั้ง พึงน้อมจิตแผ่เมตตาดังนี้
“ พรหมโลก เทวโลก มนุษยโลก นรกโลก มารโลก ตลอดทั่วขอบรอบจักรวาล ทุกรูปทุกนาม จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรซึ่งกันและกันเลย ขอให้ทุกรุปทุกนาม จงมีแต่ความสุขกาย สุขใจ อย่าได้มีความทุกข์กายทุกใจเลย ขอให้ทุกรูปทุกนาม จงมีแต่ความสบายจิตสบายใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งหลายทั้งสิ้นเทอญ ”

** อานิสงค์จากการไหว้บูชาขอขมา 7 ครั้งก่อนนอน **
1. ทำให้เป็นที่รักใคร่ของมวลสัตว์โลก และโลกวิญญาณทั้งเบื้องล่างและเบื้องบน
2. หน้าที่การงานเจริญรุ่งเรือง ทำมาค้าขึ้น ยศตำแหน่งรุ่งเรือง เจ้านายเมตตา
3. สิ่งศักดิ์สิิทธิ์คุ้มครอง ไปที่ไหนก็แคล้วคลาดจากอันตรายต่าง
4. จิตแจ่มใส มีสติ มีความเมตตาและความอ่อนโยนอยู่เนือง ๆ
5. สติปัญญาดี ไม่อับจนหนทาง
6. ปราศจากเจ้ากรรมนายเวรอาฆาตพยาบาท
7. เงินทองไหลมาเทมาด้วยอานุภาพของสิ่งทั้ง 7 ที่กราบไหว้
8. จิตเกิดสมาธิได้เร็ว จิตไม่มีมารมาคอยทำให้ฟุ้งซ่าน
9. ปัญหาชีวิตคลี่คลาย จากหนักเป็นเบา
10. ครอบครัวเจริญรุ่งเรือง รักใคร่ปรองดอง

คติธรรมคำสอน…."สมเด็จพระพุฒาจารย์" (โต พฺรหฺมรํสี)
ธรรมะมหัศจรรย์ ตามรอยธรรมสมเด็จโต

หลวงปู่สุ่น

    หลวงพ่อสุ่น พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อปานเป็นพระได้อภิญญา หลวงพ่อสุ่นองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ทรงขึ้น ทรงมีความเคารพนับถือมาก
    ครั้งหนึ่งเมื่อพระองค์เสด็จไปจอดเรืออยู่ที่หน้าวัด เห็นนกกระยางบินผ่านมาหน้าวัด ก็ยกปืนขึ้นยิง ปรากฏว่ายิงไม่ออก แต่ผลที่สุดจะหันปืนไปทางไหน อากาศในบริเวณวัดนั้นทั้งหมด ยิงไม่ออก ท่านมีความสงสัย ขึ้นไปหาท่านเจ้าอาวาส คือ หลวงพ่อสุ่น
    หลวงพ่อสุ่นบอกว่า "อย่าว่าแต่อากาศเลย อะไรก็ยิงไม่ออกในวัดนี้" ถามว่า "เป็นเพราะอะไร" ท่านบอกว่า "เป็นเพราะอำนาจพุทธานุภาพ" รัชกาลที่ ๖ ก็อยากจะทราบว่า "ถ้ากระผมอยากจะเป็นคนยิงไม่ออกบ้างจะได้ไหม" ท่านก็บอกว่า "ได้ แต่ว่าต้องรับปากเสียก่อนว่า นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ในขอบเขตของบริเวณวัด จะไม่ทำอันตรายแก่สัตว์ จะไม่ละเมิดสิทธิของสงฆ์" รัชกาลที่ ๖ ก็รับคำ แล้วท่านก็ขอพระแสงประจำตัว คือมีปืนเล็กๆ กระบอก เมื่อท่านมาเสกๆ แล้วก็ส่งให้ บอก "ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถ้าพระองค์ติดปืนกระบอกนี้อยู่ล่ะก็ ปืนจะยิงไม่ออก อาวุธทุกอย่างทำอันตรายพระองค์ไม่ได้"
    พระองค์ก็บอกว่า "อาวุธทุกอย่างนี่อาจจะไม่ได้ติดตัวในบางขณะ แต่กระผมอยากจะให้ตัวกระผมเองไม่มีอันตรายจากอาวุธ" ท่านก็บอกว่า "ถ้ายังงั้นก็ก้มพระเศียรมา" รัชกาลที่ ๖ ก็ก้มพระเศียรลงไป ท่านก็ลงกระหม่อมให้ แล้วก็บอกให้มหาดเล็กลองยิง ให้ยิงเดี๋ยวนั้น ไม่ติด รัชกาลที่ ๖ มีความเลื่อมใสมาก
    นี่เป็นปฏิปทาของหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ ซึ่งเป็นอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อปาน

หนังสือ พ่อสอนลูก (หลวงพ่อพระราชพรหมยาน) หน้า ๑๐๕
พิมพ์แบ่งปัน ปัณณ์ธรรม

20 กรกฎาคม 2565

#ธรรมโอวาทครั้งสุดท้าย..!!!

#ธรรมโอวาทครั้งสุดท้าย..!!! 
"มาอยู่ นี้ไม่ได้มาหาลาภยศอะไร มาหาทาง
หนีจากความทุกข์ กรรม คือการกระทำ ทั้งบาป ทั้งบุญ ให้พิจารณา รู้ไหม... 

#บุญเป็นอย่างไร_บาปเป็นอย่างไร 

.. คนที่ปฏิบัติหาทางออกจากกองทุกข์นั้น มันหายากแล้ว ให้ลูกหลานจำให้ดี จำได้ไหม ให้
มีสติ มีอารมณ์อยู่กับพุทโธ พุทโธเอาให้ได้ ทำให้มันเห็นของดี จำได้ไหม นี่ไม่ได้พูดเล่นนะ ให้จับลมกับกายนี้ 

.. กายนี้ให้เห็นเป็นกายพระธรรมให้ได้ มีหู
ฟังแล้วก็ให้มันเป็นพระธรรม ตาให้เป็นตาพระธรรม กายให้เป็นกายพระธรรม ใจก็ให้เป็นใจพระธรรม 

.. ทำให้มันได้ ให้มีพุทโธอยู่กับกายนี้ใจนี้ จำ
ไว้ที่ใจ จำได้ไหม จำดีๆอย่าไปลืมนะ ไม่ต้องไปรู้ที่อื่น มันอยู่ในกายนี้ กายนี้แหละมันเป็นทุกข์ อยู่ทุกวันนี้ สังขารจะแตก จะตายก็ให้รู้ จำได้ไหม 

.. สมฺปโยโค ก็ให้รู้ จะต้องจากกันไม่ต้องตกใจ ให้พิจารณาเดี๋ยวนี้ จำได้ไหม จำให้ดีๆ ให้รู้อยู่กับกายกับใจ อย่าไปลืม ให้รู้จริงๆ อย่าทำเล่นไม่ได้นะ กามก็ดี ตัวกามนี้จับมันให้อยู่ จับมันมัดไว้ ให้มันตาย จำได้ไหม ไม่ว่าสัตว์ว่าคน หากาม แสวงหากาม

..มันเดือดร้อนวุ่นวาย ก็เพราะกามนี้แหละ
ชาย หญิง สัตว์ผู้เมียต่างก็ยินกันและกัน มัวเมากันอยู่อย่างนี้ ให้มันเป็นธรรมโม อย่าให้เป็นธรรมเมา ให้ออกจากกาม หาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้จำไว้ จำไว้ให้มันดี ปฏิบัติให้มันรู้ กามมันตายแล้วมันก็สบาย ให้เป็นธรรมโม อย่าให้เป็นธรรมเมา.. "

#จำให้ดีๆนะ_ปฏิบัติให้มันรู้_จำได้ไหม 
#อย่าไปลืมนะ_ไม่ต้องพูดมาก 
#พูดมากไปไม่ใช่ธรรมะ_มันเป็นธรรมเมา 
———————
#สุจิณฺโณวาท 
#หลวงปู่แหวน_สุจิณฺโณ
วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
********************************

15 กรกฎาคม 2565

“คนฉลาดจะรู้จักรักษาใจของตน”


พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พิจารณาว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน ไม่ว่าจะทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ถ้าต้องตายไปก่อนเวลาที่ควร ก็เป็นเพราะวิบากกรรม ทำบุญมาเพียงเท่านี้ก็อยู่ได้เพียงเท่านี้ จะให้อยู่เกินบุญที่ทำไว้ไม่ได้ เหมือนกับเติมน้ำมันรถครึ่งถัง ก็จะไปได้ไม่ไกลเท่ากับเติมเต็มถัง 

คนเราก็เช่นเดียวกัน มีความแตกต่างกัน มีอายุสั้นยาวต่างกัน มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนต่างกัน มีอาการ ๓๒ ไม่เท่ากัน เพราะทำบุญกรรมมาต่างกัน ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตได้มากน้อยเพียงไร ถ้าละได้มากอายุก็ยืนยาวนาน โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียนมาก มีอาการ ๓๒ ครบถ้วนบริบูรณ์ 

นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราพิจารณาอยู่เสมอ เวลามีอะไรเกิดขึ้นกับตัวเราก็ดี กับคนที่เรารักก็ดี จะได้ทำใจได้ ไม่เศร้าโศกเสียใจ เพราะไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น ไม่ได้ทำให้คนที่ตายไปแล้วฟื้นขึ้นมา ไม่ได้ทำให้เราสบายใจ แต่จะทำให้จิตของเราว้าวุ่นขุ่นมัว กินไม่ได้นอนไม่หลับไปเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์อะไร

จึงต้องดูแลรักษาใจเป็นหลัก คนอื่นเราก็ดูแลไปด้วย แต่ต้องไม่ลืมมองใจของเรา บางทีเราห่วงคนอื่นมากจนลืมใจของเราไป ห่วงจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ อย่างนี้ไม่ถูก เป็นการสร้างความทุกข์ให้กับตนเอง เป็นอกุศล เป็นความไม่ฉลาด คนที่ฉลาดจะต้องรู้จักรักษาใจของตนด้วย ในขณะที่ดูแลรักษาผู้อื่น ช่วยอะไรได้ก็ช่วยไป ช่วยไม่ได้ก็ต้องปล่อยไปตามบุญตามกรรม จะมาเศร้าโศกเสียใจก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร 

นี่คือปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เจริญอยู่เรื่อยๆ จะได้ไม่ลืม ถ้ายังคิดอยากจะอยู่ไปนานๆ ไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตายอยู่ แสดงว่ายังไม่มีปัญญา ยังไม่ได้พิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ลองถามตัวเราว่า พร้อมที่จะเจอกับความแก่หรือไม่ พร้อมที่จะเจอกับความเจ็บไข้ได้ป่วยหรือไม่ พร้อมที่จะเจอกับความตายหรือไม่ ถ้ายังไม่พร้อมแสดงว่ายังสอนใจไม่มากพอ

กำลังใจ ๓๓,  กัณฑ์ที่ ๓๑๙       
วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขาชีโอน

13 กรกฎาคม 2565

วันอาสาฬหบูชา สำคัญอย่างไร?

วันอาสาฬหบูชา 
==========
ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ นับเป็นวันที่สำคัญในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา คือวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาหรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้ เป็นครั้งแรกแก่เบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย ด้วยพระพุทธองค์ทรงเปรียบดังผู้ทรงเป็นธรรมราชา ก็ทรงบันลือธรรมเภรียังล้อแห่งธรรมให้หมุนรุดหน้า เริ่มต้นแผ่ขยายอาณาจักรแห่งธรรม นำความร่มเย็นและความสงบสุขมาให้แก่หมู่ประชา ดังนั้น ธรรมเทศนาที่ทรงแสดงครั้งแรกจึงได้ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร กล่าวคือดินแดนแห่งธรรม
.
เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้วนั้นชมพูทวีปในสมัยโบราณ กำลังย่างเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความเจริญก้าวหน้า รุ่งเรืองเฟื่องฟูทุกด้านและมีคนหลายประเภททั้งชนผู้มั่งคั่งร่ำรวย นักบวชที่พัฒนาความเชื่อและ ข้อปฏิบัติทางศาสนา เพื่อให้ผู้ร่ำรวยได้ประกอบพิธกรรมแก่ตนเต็มที่ ผู้เบื่อหน่ายชีวิตที่วนเวียน ในอำนาจและโภคสมบัติที่ออกบวช หรือบางพวกก็แสวงหาคำตอบที่เป็นทางรอกพ้นด้วยการคิดปรัชญาต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องที่เหลือวิสัยและไม่อาจพิสูจน์ได้บ้าง 
.
พระพุทธเจ้าจึงทรงอุบัติในสภาพเช่นนี้ และดำเนินชีพเช่นนี้ด้วยแต่เมื่อทรงพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นขาดแก่นสาน ไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง แก่ตนเองและผู้อื่น จึงทรงคิดหาวิธีแก้ไขด้วยการทดลองต่าง ๆ โดยละทิ้งราชสมบัติ และอิสริยศแล้วออกผนวช บำเพ็ญตนนานถึง ๖ ปี ก็ไม่อาจพบทางแก้ได้ ต่อมาจึงได้ทางค้นพบ มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง เมื่อทรงปฏิบัติตามมรรคานี้ก็ได้ค้นพบสัจธรรมที่นำคุณค่า แท้จริงมาสู่ชีวิต อันเรียกว่า อริยสัจ ๔ ประการ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๔๔ ปี ที่เรียกว่า การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จากนั้นทรงประกาศศาสนาโดยทรงดำริหาทางที่ได้ผลดีและรวดเร็ว คือ เริ่มสอนแก่ผู้มีพื้นฐานภูมิปัญญาดีที่รู้แจ้งคำสอนได้อย่างรวดเร็วและสามารถนำไปชี้แจงอธิบาย ให้ผู้อื่นเข้ามาได้อย่างกว้างขวาง จึงมุ่งไปพบนักบวช ๕ รูป หรือเบญจวัคคีย์ และได้แสดงธรรม เทศนาเป็นครั้งแรกในวันเพ็ญ เดือน ๘
.
[ ใจความสำคัญของปฐมเทศนา ]
ในการแสดงแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้า
ทรงแสดงหลักธรรมสำคัญ ๒ ประการคือ
.
ก. มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด ๒ อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ
.
๑. การหมกหมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่า เป็นการหลงเพลิดเพลินหมกหมุ่นในกามสุข หรือ กามสุขัลลิกานุโยค
.
๒. การสร้างความลำบากแก่ตนดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น การดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
.
ดังนั้นเพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ ๘ ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่
.
๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต
๔. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต
๕. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน
.
ข. อริยสัจ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ 
ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่
.
๑. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด
.
๒. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ
.
๓. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา
.
๔. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห้งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ประการดังกล่าวข้างต้น
.
[ ผลจากการแสดงปฐมเทศนา ]
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแล้ว ปรากฏว่าโกณฑัญญะผู้เป็นหัวหน้าเบญจวัคคีย์ได้เกิดเข้าใจธรรม เรียกว่า เกิดดวงตาแห่งธรรมหรือธรรมจักษุ บรรลุเป็นโสดาบัน จึงทูลขอบรรพชาและถือเป็นพระภิกษุสาวก รูปแรกในพระพุทธศาสนา มีชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ
.
[ ความหมายของอาสาฬหบูชา ]
“อาสาฬหบูชา” (อา-สาน-หะ-บู-ชา/อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา) ประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือ อาสาฬห (เดือน ๘ ทางจันทรคติ) กับบูชา (การบูชา) เมื่อรวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน ๘ หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน ๘ หรือเรียกให้เต็มว่า อาสาฬหบูรณมีบูชา
โดยสรุป วันอาสาฬหบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือน ๘ หรือ การบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญ เดือน ๘ คือ
.
๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
๒. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา
๓. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรกคือการที่ท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์
๔. เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา คือ การที่ท่านโกณฑัญญะขอบรรพชาและ ได้บวชเป็นพระภิกษุ หลังจากฟังปฐมเทศนาและบรรลุธรรมแล้ว
๕. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวกคือ การที่ท่านโกณฑัญญะนั้น ได้บรรลุธรรม และบวชเป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า
เมื่อเปรียบกับวันสำคัญอื่น ๆ ในพระพุทธศาสนา บางทีเรียกวันอาสาฬหบูชา นี้ว่า วันพระสงฆ์ (คือวันที่เริ่มเกิดมีพระสงฆ์)
.
พิธีกรรมที่กระทำในวันนี้ โดยทั่วไป คือ ทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เวียนเทียน ฟังพระธรรมเทศนา (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) และสวดมนต์ ดังนั้นในวันนี้จึงถือว่า พุทธศาสนิกชนควรได้รับประโยชน์ ที่เป็นสาระสำคัญจากอาสาฬหบูชา กล่าวคือ ควรทบทวนระลึกเตือนใจสำรวจตนว่า ชีวิตเราได้เจริญงอกงามขึ้นด้วยความเป็นอยู่อย่างผู้รู้เท่าทันโลกและชีวิตนี้บ้างแล้วเพียงใด เรายังดำเนินชีวิตอยู่อย่างลุ่มหลงมัวเมา หรือมีจิตใจอิสระปลอดโปร่งผ่องใสบ้างแล้วเพียงใด
.
เรียบเรียงจาก ความรู้เกี่ยวกับวันสำคัญไทย (เสฐียรโกเศศ และ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ,๒๕๔๑ : ๓๙ – ๕๙)

วันอาสาฬหบูชา


วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง คือวันอาสาฬหบูชา คำว่า “อาสาฬหบูชา” แปลว่า การบูชาในเดือนอาสาฬห ทำไมจึงมีการบูชาในเดือนอาสาฬห เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าพระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธรรมครั้งแรกให้แก่สัตว์โลก หลังจากที่พระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา พระองค์ก็ทรงใช้เวลาใคร่ครวญพิจารณาอยู่ระยะหนึ่งว่าควรที่จะนำความรู้ที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้มาเผยแผ่ให้แก่สัตว์โลกหรือไม่ ในเบื้องต้นก็มีความท้อแท้พระทัยไม่อยากที่จะสั่งสอนใคร เพราะทรงเห็นว่าสิ่งที่พระองค์จะทรงสั่งสอนเป็นสิ่งที่ยากสำหรับมนุษย์ปุถุชน ที่ยังอยู่ภายใต้อำนาจของโมหะอวิชชากิเลสตัณหา แต่หลังจากที่ทรงได้ใคร่ครวญอยู่ก็ทรงเห็นว่า บุคคลนี้มีไม่เหมือนกัน ทรงแบ่งความรู้ความสามารถไว้เป็น ๔ จำพวกด้วยกัน ทรงเปรียบเหมือนกับบัว ๔ เหล่า มีอยู่ ๓ จำพวกที่อยู่ในวิสัยที่จะเรียนรู้และปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ได้ มีอยู่พวกหนึ่งที่ไม่สามารถที่จะเรียนรู้และปฏิบัติตามได้ พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยที่จะนำความรู้อันประเสริฐที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ ได้ทรงปฏิบัติจนพระทัยของพระองค์ได้หลุดพ้นออกจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด จึงมุ่งไปหาบุคคลที่สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว คือบรรดานักบวชทั้งหลาย นักบวชที่มีทั้งศีล มีทั้งสมาธิพร้อมอยู่แล้ว จะเป็นผู้ที่มีความสามารถที่จะรับความรู้ที่จะเป็นปัญญานี้เอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ทันที ได้ในขณะที่ฟังธรรมเลย

จึงทรงนึกถึงพระปัญจวัคคีย์ผู้ที่เคยศึกษาปฏิบัติร่วมกับพระองค์มา ทรงเห็นว่าพระปัญจวัคคีย์มาพร้อมด้วยศีล ด้วยสมาธิ แต่ขาดเพียงอย่างเดียวคือปัญญา ความรู้ที่จะทำให้จิตได้หลุดพ้นออกจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยมุ่งไปหาพระปัญจวัคคีย์และได้พบกับพระปัญจวัคคีย์ในวันเพ็ญเดือน ๘ อย่างในวันนี้ เมื่อได้พบกันในตอนบ่าย พระองค์ก็ทรงแสดงธรรมให้แก่พระปัญจวัคคีย์ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเป็นครั้งแรกนี้ที่เราเรียกว่า “พระปฐมเทศนา” มีชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” เป็นธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแก่นของพระพุทธศาสนา คือ พระอริยสัจ ๔ และ มรรค ๘ ที่เป็นทางดำเนินสู่การหลุดพ้นจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด หลังจากที่พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมเทศนาเสร็จ หนึ่งในพระปัญจวัคคีย์คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ก็มีดวงตาเห็นธรรม เข้าใจถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า สามารถน้อมเอาเข้ามาปฎิบัติดับกิเลสตัณหาในขั้นที่ ๑ คือขั้นของพระโสดาบันได้ ทำให้สามารถปิดประตูแห่งอบายได้ และตัดภพตัดชาติให้เหลือเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมาก ถ้ายังไม่ได้ปฏิบัติขึ้นสูงกว่าระดับที่ได้บรรลุ ถ้าเกิดมีเหตุทำให้ตายไปก่อน ก็จะกลับมาเกิดใหม่ไม่เกิน ๗ ชาติ แล้วก็จะสามารถปฏิบัติเพื่อให้ขึ้นไปต่อ สู่ขั้นที่สูงต่อไปได้ จนถึงขั้นสูงสุดโดยที่ไม่ต้องมีพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธศาสนามาสอนมานำทาง

เพราะพระโสดาบันนี้เป็นผู้มีพระศาสนาประดิษฐานอยู่ในใจ มีพระธรรมของพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ในใจ ถึงแม้ว่าร่างกายจะตายไปแต่ใจนี้ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ใจที่มีพระพุทธศาสนาอยู่ในใจก็สามารถที่จะบำเพ็ญต่อได้ หลังจากที่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะบำเพ็ญไปจนถึงขั้นพระนิพพานได้ ขั้นพระอรหันตสาวกได้ เพราะคำว่า “โสดา” ก็คือ แปลว่ามาจากคำว่า “โสตะ” โสตะนี่แปลว่ากระแส กระแสสู่พระนิพพาน โสตะเป็นผู้เข้าสู่กระแสของพระนิพพาน “โสดาบัน” ผู้ที่ได้บรรลุเป็นโสดาบันแล้วนี้จะไม่มีทางกลับไปเป็นปุถุชนอีกต่อไป จะมีแต่มุ่งไปสู่พระนิพพาน ออกจากวัฏสงสาร วัฏฏะแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้ไม่เกิน ๗ ชาติเป็นอย่างมาก นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่มี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ปรากฏขึ้นมาครบองค์ มีพระพุทธเจ้าเป็นผู้แสดงพระธรรมคำสอน มีผู้ฟังคือพระอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุเป็นพระอริยสงฆ์สาวกขึ้นมา จึงมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ครบองค์ จึงถือว่าเป็นวันก่อตั้งพระพุทธศาสนา เป็นวันเกิดของพระพุทธศาสนาขึ้นมา พระพุทธศาสนานี้จำเป็นจะต้องมีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ จึงจะสามารถตั้งอยู่ได้เป็นเวลาอันยาวนาน ถ้ามีเพียงแต่พระพุทธเจ้าโดยที่ไม่มีการประกาศพระธรรมคำสอน ก็จะไม่มีพระอริยสงฆ์สาวก ถ้าพระพุทธเจ้าได้ทรงตัดสินพระทัยไม่สั่งสอน พระองค์ก็จะทรงไม่แสดงธรรม พระธรรมคำสอนก็จะไม่มาปรากฏขึ้นมาในโลกนี้ เมื่อไม่มีพระธรรมคำสอนก็จะไม่มีผู้มาศึกษา เมื่อไม่มีผู้ศึกษาก็จะไม่มีผู้ที่จะบรรลุเป็นพระอริยสงฆ์สาวก ก็จะไม่มีใครที่จะสืบทอดพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว คือตายจากโลกนี้ไปแล้ว ก็จะไม่มีศาสนาพุทธอยู่ต่อไป

แต่ถ้ามีพระพุทธเจ้า มีพระธรรมคำสอน มีพระอริยสงฆ์สาวก ก็จะมีการอนุรักษ์รักษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้อยู่คู่ไปกับโลกได้เป็นเวลาอันยาวนาน จึงปรากฏมีพระพุทธศาสนาขึ้นมา วันนี้จึงถือว่าเป็นวันก่อตั้งของพระพุทธศาสนา หรือวันเกิดของพระพุทธศาสนาก็ได้ ถ้าเราอยากจะรู้ว่าอายุของพระพุทธศาสนามีอายุยาวเท่าไหร่ในขณะนี้ ก็ให้เอาปี พ.ศ. เช่นปีนี้ พ.ศ. ๒๕๖๑ บวกกับ ๔๕ เพราะว่าพระพุทธเจ้านั้นทรงสั่งสอนอยู่ ๔๕ ปี ก่อนที่จะเสด็จจากโลกนี้ไป พระพุทธศักราชนี้เราเริ่มนับตั้งแต่วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากโลกนี้ไป ดังนั้นปีนี้ ๒๕๖๑ เป็น ๒๕๖๑ ปีที่พระพุทธเจ้าได้จากพวกเราไป แต่พระพุทธศาสนานี้เกิดก่อนที่พระพุทธเจ้าจะจากเราไป ๔๕ ปี ดังนั้นอายุของพระพุทธศาสนาต้องบวกกับอีก ๔๕ ปี ๒๕๖๑ บวกกับ ๔๕ ก็ได้ ๒,๖๐๖ ปี (๒๕๖๑+๔๕=๒๖๐๖) นี่คืออายุของพระพุทธศาสนา และจะอยู่ต่อไปคู่กับโลกได้นาน ๕,๐๐๐ ปีด้วยกัน อันนี้เป็นคำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้า ที่ทรงได้ตรัสไว้ในโอกาสที่มีพระพุทธมารดาเลี้ยง ได้นำเอาผ้าไตรจีวรที่ทรงตัดเย็บด้วยพระองค์เอง เอามาถวายให้แก่พุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงปฏิเสธถวายถึงสามครั้ง ก็ทรงปฏิเสธทั้งสามครั้งว่าไม่ขอรับเป็นของตน ให้ถวายเป็นของสงฆ์ คือให้ถวายเป็นสังฆทาน

คำว่า สังฆทาน คือไม่เจาะจงให้กับพระรูปใดรูปหนึ่ง ให้เป็นสมบัติรวม เป็นสมบัติส่วนกลางของพระทุกรูป ให้พระที่อยู่ร่วมกันได้พิจารณาว่าพระรูปใดขาดแคลนผ้า ก็ให้พระรูปนั้นรับไปใช้ สาเหตุที่ให้ถวายเป็นสังฆทานเพราะว่าจะได้มีพระสงฆ์อยู่กับพระพุทธศาสนาไปนานๆ นั่นเอง ถ้ามีแต่ญาติโยมถวายผ้าให้กับพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้ถวายให้กับพระภิกษุรูปอื่น พระภิกษุรูปอื่นก็จะอยู่อย่างอดอยากขาดแคลน และอาจจะอยู่ไม่ได้ อาจจะต้องลาสิกขาไป ก็จะไม่มีพระภิกษุสงฆ์มาศึกษา มาปฏิบัติ มาสืบทอดพระศาสนานั่นเอง พระพุทธเจ้าจึงทรงบอกกับพระพุทธมารดาเลี้ยงว่า ให้ถวายผ้านี้เป็นสังฆทานเพื่อจะได้อนุรักษ์รักษาพระพุทธศาสนาให้อยู่ได้นานถึง ๕,๐๐๐ ปี นี่คือเรื่องของการถวายสังฆทาน คือพระองค์ต้องการให้ดูแลพระภิกษุทุกๆรูป ให้มีปัจจัย ๔ พอเพียงทั่วถึงกัน ไม่ให้ไปเลือกที่รักมักที่ชังกับพระรูปใดรูปหนึ่ง ชอบพระรูปนี้แต่ไม่ชอบพระรูปนั้น ก็ไปถวายแต่พระที่เราชอบ พระที่เราไม่ชอบก็อาจไม่มีใครดูแล ก็อาจจะทำให้ไม่มีพระมาบวชกัน นี่คือเรื่องคำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาว่า จะอยู่ได้นานไม่นาน ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่การสนับสนุนของพุทธบริษัท ของศรัทธาญาติโยม ให้สนับสนุนกับสงฆ์เป็นส่วนรวม เพื่อที่สงฆ์จะได้อยู่กันอย่างร่มเย็นผาสุข ไม่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในเรื่องปัจจัย ๔ นี่คือเรื่องของพระพุทธศาสนาที่ปรากฏขึ้นมา ให้ปรากฏเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกอย่างพวกเรา ปรากฎขึ้นมาในวันอาสาฬหบูชานี้ ถ้าเราไม่มีพระพุทธศาสนา พวกเรานี้ก็จะไม่มีผู้นำผู้สอน ผู้ที่จะพาให้เราได้ออกจากกองทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง

ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๑ 

#พระจุลนายก พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี

ขอบคุณภาพจาก วิกิพีเดีย

ตัดราคะ

⚜ตัดราคะ⚜
ถ้าใครสามารถทรงฌานได้ดี เวลาเจริญวิปัสสนาญาณนี่มันรู้สึกว่าง่ายบอกไม่ถูก เมื่อถ้า ฌาน ๔ เต็มอารมณ์แล้ว เราจะใช้วิปัสสนาญาณ ก็ถอยหลังมาถึง อุปจารสมาธิ เราจะต้องการตัดตัวไหนล่ะ
    ตัด ราคะ ความรักสวยรักงาม 
เราก็ยก อสุภกรรมฐาน ขึ้นมาเป็นเครื่องเปรียบ
ยก กายคตานุสสติกรรมฐาน ขึ้นมาเป็นเครื่องเปรียบ
เปรียบเทียบกันว่า ไอ้สิ่งที่เรารักน่ะ มันสะอาดหรือมันสกปรก กำลังของ ฌาน ๔ นี่เป็นกำลังที่กล้ามาก ปัญญามันเกิดเอง เกิดชัด มีความหลักแหลมมาก ประเดี๋ยวเดียวมันเห็นเหตุผลชัด
    พอตัดได้แล้วมันไม่โผล่นะ รู้สภาพยอมรับสภาพความเป็นจริงหมด เห็นคนปั๊ปไม่ต่างอะไรกับส้วมเดินได้ จะเอาเครื่องหุ้มห่อสีสันวรรณะขนาดไหนก็ตาม มันบังปัญญาของท่านพวกนี้ไม่ได้
    พระพุทธเจ้าจึงได้บอกว่า คนที่ทรงฌาน ๔ ได้ และก็รู้จักใช้อารมณ์ของฌาน ๔ ควบคุมวิปัสสนาญาณได้
🌟ถ้ามี บารมีแก่กล้า จะเป็นพระอรหันต์ ภายใน ๗ วัน
🌟ถ้ามี บารมีอย่างกลาง จะเป็นพระอรหันต์ ๗ เดือน
🌟ถ้ามี บารมีอย่างอ่อน จะเป็นพระอรหันต์ ภายใน ๗ ปี
    บารมี เขาแปลว่า กำลังใจ
มี บารมีแก่กล้า คือมีกำลังจิตเข้มข้นนั่นเอง ต่อสู้กับอารมณ์ที่เข้ามาต่อต้าน
    แต่ว่าถ้าบารมีมันเข้มบ้าง ไม่เข้มบ้าง เดี๋ยวก็จริงบ้าง เดี๋ยวก็ไม่ค่อยจริงบ้าง คือ ย่อๆ หย่อนๆ ตึงบ้าง หย่อนบ้าง อย่างนี้ ท่านบอกภายใน ๗ เดือน
    ทีนี้ บารมีย่อหย่อน เปาะแปะๆ ตามอัธยาศัย ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ตามอารมณ์อย่างนี้ไม่เกิน ๗ ปี
    นี่ผมพูดถึงคนที่ทรงฌาน ๔ ได้ และก็ฉลาดในการใช้ฌาน ๔ ควบวิปัสสนาญาณ ถ้าโง่ละก็ดักดานอยู่นั่นแหล่ะ กี่ชาติก็ไม่ได้เป็นอรหันต์

🙏หลวงพ่อพระราชพรหมยาน🙏
ธรรมที่ทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์
📙ธัมมวิโมกข์ 
ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๔๗๐ เดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ 
หน้า ๘๔

🖊ปัณณ์ธรรม

ฟังธรรมแล้วบาปรบกวนไม่ได้...ไปสวรรค์

"แม่เป็นอัมพาต"
️ผู้ถาม : กราบเท้าหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง ความจริงไม่อยากจะรบกวนหลวงพ่อ เห็นว่าหลวงพ่อไม่ค่อยจะมีเวลาพักผ่อน แต่นี่จำเป็นจริงๆก็ต้องขอพึ่งบารมี โดยจะไม่มีการรบกวนแต่อย่างใด คือว่าอย่างนี้ แม่ของดิฉันเป็นอัมพาตเป็นเวลา ๔-๕ ปีแล้ว คือว่าอาการป่วยลูกไม่ตกใจ แต่ที่ตกใจคือว่า ท่านมีแต่ความกลุ้ม ๆ ๆ ชักกลัวตายเป็นอย่างมาก ที่ลูกอยากจะพึ่งบารมีหลวงพ่อ ก็คือว่าหลวงพ่อมีเทปม้วนไหนที่ฟังแล้วไม่กลัวตาย มีบ้างหรือเปล่าเจ้าคะ..?

หลวงพ่อ : เอ้า!..ซื้อไปทั้งหมดไปเปิดให้ท่านฟัง ชอบใจม้วนไหน ฟังม้วนนั้นเป็นประจำ"

ผู้ถาม : "น่าจะตายก่อนฟังหมด"

️หลวงพ่อ : "อ้าว...ตายก่อนจบน่ะดี หูฟังธรรมะขณะที่ฟังทำอยู่ ถ้าตายแล้วนั้น อย่างน้อยที่สุดชั้นดุสิต"

️ผู้ถาม : "ยิ่งฟังจบทุกม้วนนี่ก็..."

️หลวงพ่อ : "ไปนิพพานเลย ไอ้นี่จริงๆนะ ถ้าจิตยังฟังธรรมอยู่นะ เอาอย่างนี้ดีกว่า เอาง่ายๆ ตั้งพระพุทธรูปให้ท่านมองเห็น ให้จิตใจจับพระพุทธรูปไว้ อย่างน้อยนึกถึงพระพุทธรูป อยู่บ้านใช่ไหม...คนป่วยถ้าเกาะก็เกาะติดเลย ถ้าตายอย่างน้อยไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แน่"

️ผู้ถาม : "ตกลงว่า ถ้าเป็นภาพพระพุทธรูป ถ้าเป็นเทปก็เอาหมดเลย"

หลวงพ่อ : "เอาหมดเลย ต้องสังเกตดูท่านชอบฟังอะไร โดยมากจะชอบฟังพระสูตร หาพระสูตรดูซิ พระสูตรมีเยอะนี่อย่าง ท่านมัฏฐกุณฑลี สุปติฏฐิตะ อย่างนี้ดีมาก หรือว่า ตัมพทาฐิกโจร ๓ เรื่องนี้นะเหมาะมาก เพราะคนกลัวบาป จะได้รู้ว่าฟังธรรมแล้วบาปรบกวนไม่ได้...ไปสวรรค์

จาก : หนังสือหลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๘ หน้า ๖๓-๖๕ โดย...หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
Cr : เจง กิสข่าน

09 กรกฎาคม 2565

"การถวายเทียนเข้าพรรษา ทำให้ได้ทิพจักขุญาณ"

  "การถวายเทียนเข้าพรรษานี้ เป็นปัจจัยให้ได้ ทิพจักขุญาณ.. อย่าง พระอนุรุทธ.. พระอนุรุทธในสมัยก่อน ท่านเคยถวายแสงสว่างในพระพุทธศาสนา เวลานั้นตะเกียงไม่มี เขาใช้คบเพลิง.

  ท่านก็นำคบเพลิงไปถวายเป็นเครื่องส่องแสง ให้แก่บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลาย. 

  องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า.. พระอนุรุทธ ทำบุญแบบนั้น ตายแล้วท่องเที่ยวเกิดบนสวรรค์บ้าง มนุษยโลกบ้าง พรหมโลกบ้าง หลายชาติ พอมาชาติสุดท้ายนี้ ปรากฏ.. พระอนุรุทธ มีทิพจักขุญาณ พิเศษ เป็นผู้เลิศ. 

 แม้พระอรหันต์ ปฏิสัมภิหาญาณ ยังมีทิพจักขุญาณสู้ไม่ได้.. ความจริงพระอนุรุทธ เป็นพระวิชชาสาม.

 ตัวอย่างที่เราเห็นได้ว่า เวลาที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน เวลานั้นมีพระอรหันต์ตั้งสองแสนองค์เศษ ไม่มีใครสามารถจะตามญาณของพระพุทธเจ้าได้.

 เพราะว่า.. พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน หรือพระจะตายก็ตามที ถ้าจะตายจะเข้าสมาบัติ ท่านจะนอนเงียบ ๆ แล้วจิตก็เข้าฌาน ถ้าจิตเข้าฌาน ดูเหมือนว่าท่านไม่หายใจ.  

 ฌาน ๔ จะไม่ปรากฏท้องกระเพื่อม ว่ามีการหายใจ.

 พระอานนท์ ก็ย่องไปถามพระอนุรุทธ ว่า.. เวลานี้พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วหรือยัง.. พระอนุรุทธ บอกว่า.. ยัง เวลานี้อยู่ปฐมฌาน เวลานี้อยู่ ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ เวลานี้อยู่ฌานที่ ๓ เวลานี้อยู่ที่ฌานที่ ๔ เรื่อยไปถึงฌานที่ ๘ แล้วก็มาถอยหลังยับยั้งอยู่ที่ฌานที่ ๔ หลังจากนั้นองค์เสมเด็จพระมหามุนี ก็นิพพาน. 

 นี่เป็นอันว่า.. การถวายเทียน ในพระพุทธศาสนา นี่มีอานิสงส์มาก เป็นปัจจัยทำให้เราเกิดปัญญาด้วย เป็นปัจจัยให้ได้ทิพจักขุญาณด้วย มีอานิสงส์ทั้ง ๒ ประการด้วยกัน. 

  จึงขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ที่ทำบุญในวันนี้ ก็จงภูมิใจในความดีของท่าน คือ..

๑. ผ้าจำนำพรรษาก็ดี ผ้าไตรก็ดี เราถวายแล้ว สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะบันดาลให้ บรรดาท่านพุทธบริษัท เป็นเทวดาก็ดี เป็นนางฟ้าก็ดี จะมีเครื่องประดับอันเป็นทิพย์.

ประการที่ ๒. อาหาร ที่ถวายแล้ว.. อาหารจะเป็นปัจจัยให้ได้ร่างกายเป็นทิพย์.

และก็ ประการที่ ๓. ถ้ายังไม่ถวายก็เตรียมใจถวายไว้ก่อน.. น้ำ จะเป็นเหตุให้ได้ สระโบกขรณี.

 ก็รวมความว่า เป็นอานิสงส์หลายประการด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถวายเทียนเข้าพรรษา นี่ มีความสำคัญอย่างมาก นอกจากมีอารมณ์ใจเป็นทิพย์ และก็ มีปัญญามาก..."

จาก : หนังสือ คำสอนหลวงพ่อวัดท่าซุง เล่มที่ ๓๗ หน้าที่ ๑๐๒-๑๐๓ ของวัดท่าซุง จ.อุทัยธานี โดย...หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...