24 กรกฎาคม 2565

#มรณานุสสติ


สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนเรื่องมรณานุสสติยังอ่อนอยู่ มีความสำคัญดังนี้

๑. ในเมื่อรู้จิตตนเองว่ายังอ่อนเรื่องการนึกถึงความตายอยู่ ก็ต้องเร่งรัดตนเอง เช่นคิดถึงเรื่องในพระสูตร คือท่านปฏาจราเถรีที่พิจารณาว่า ความตายมีได้ทั้ง ปฐมวัย - มัชฌิมวัยและปัจฉิมวัย แล้วหวนนึกถึงคำสั่งสอนขององค์สมเด็จปัจจุบัน ตรงที่ทรงตรัสว่า เมื่อความตายเข้ามาถึงเรา คนที่เรารักมีบิดา - มารดา สามี - บุตร - ธิดา เป็นต้น ก็ไม่สามารถจักช่วยเราได้มีแต่จิตของเราเอง จักต้องไปตามกฎของกรรมแต่เพียงผู้เดียว แม้ในขณะเดียวกัน คนที่เรารัก มีบิดา - มารดา - สามี - บุตร - ธิดาจักตาย เราก็ช่วยเขาไม่ได้เช่นกัน เขาก็จักต้องไปตามกรรมของเขา

๒. ถ้าพวกเจ้าเอามาพิจารณาว่า หากจิตของตนเองกำหนดรู้อยู่ถึงความตาย พฤติการณ์ของบุคคลใดเล่าจักมีประโยชน์แก่จิตของเราที่พึงจักไปสนใจ มีแต่กรรมของเราเท่านั้นที่พึงควรจักสนใจ เพราะเมื่อตายไปแล้ว มีแต่เราเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งแห่งตน จุดนี้จักทำให้ไม่ประมาทในชีวิต และวางเรื่องของคนอื่นลงได้อย่างสนิทใจ

๓. ให้พยายามถามจิตตนเองบ่อยๆ ว่า หากตายตอนนี้ในขณะจิตนี้จักไปไหน กำหนดจิตให้รู้ลม - รู้ตาย - รู้นิพพานไว้เสมอ จิตจักมั่นคงอยู่อานาปา, มรณา และอุปสมานุสสติอยู่เสมอๆ จัดเป็นการซ้อมตาย และพร้อมที่จักตายอยู่ตลอดเวลาด้วยความไม่ประมาท มีเป้าหมายที่จักต้องไปจุดเดียวคือพระนิพพาน พยายามทำบ่อยๆ ให้ชิน จิตก็จักเป็นฌานในการกำหนดรู้ลม - รู้ตาย - รู้นิพพาน เป็นอัตโนมัติได้ในที่สุด ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับความเพียรของจิตเราแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งแห่งตน หรือจักต้องไปตามกฎของกรรมแต่เพียงผู้เดียว

๔. ดังนั้น การพิจารณาศีล - สมาธิ - ปัญญา โดยเอาสังโยชน์ ๑๐ เป็นเครื่องวัดอารมณ์ของจิตอยู่เสมอ บวกกับมีบารมี ๑๐ เป็นตัวเสริมการพิจารณา จักเป็นทางเข้าถึงพระนิพพานได้ง่ายขึ้น และอย่าลืมเพียรพิจารณาขันธ์ ๕ ให้มากๆ โดยอเนกปริยายแล้ว จักละเอียดในธรรมมากขึ้น เพราะการไปพระนิพพานประสงค์จักตัดหรือละจากขันธ์ ๕ ก็จักต้องพิจารณาขันธ์ ๕ เท่านั้น ไม่มีทางอื่นไปได้

โดยพิจารณาร่างกายนี้ให้เห็นชัดตามสภาพของความเป็นจริง ไม่ว่ารูปอันประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ เป็นอาการ ๓๒ เข้ามาประชุมกัน ให้เห็นความไม่เที่ยงอันเป็นที่ตั้งของรูป มีความเสื่อม มีความสลายตัวไปในที่สุด แล้วให้พิจารณาตาม อันได้แก่ เวทนา - สัญญา - สังขาร - วิญญาณ ก็ไม่เที่ยง มีเกิดขึ้นแล้วก็มีความเสื่อม มีความสลายตัวไปในที่สุดเช่นกัน ให้เห็นสภาพขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง จิตก็จักเกิดความเบื่อหน่ายในขันธ์ ๕ และละขันธ์ ๕ ได้ในที่สุด

ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๙ เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๙

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

#สมเด็จองค์ปฐม3 #ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น3

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...