เวลาหายใจเข้า รู้อยู่หายใจเข้า
เวลาหายใจออก รู้อยู่หายใจออก
การภาวนาไม่จำกัด
ใครจะภาวนาว่าอย่างไร ก็ไม่เป็นไร ตามถนัด
แต่ว่าก่อนภาวนา ให้นึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน
ถือเป็น พุทธานุสสติ
เวลาภาวนาจะใช้เวลาไหนบ้าง ก็ตามชอบใจ
ถ้าเวลาอื่นไม่มี ก่อนนอนอย่าลืม
ถ้าศีรษะถึงหมอน ภาวนาพุทโธ ทันที
นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง
ที่เราชอบคิด ว่าองค์นี้คือ พระพุทธเจ้า
แล้วก็ภาวนา
อาจจะภาวนา "พุทโธ"
หายใจเข้านึกว่า "พุท"
หายใจออกนึกว่า "โธ"
สัก ๒-๓ ครั้ง ก็ได้ตามความพอใจ
มากก็ได้น้อยก็ได้ แล้วก็หลับไป
พอตื่นขึ้นมาใหม่ๆ
ก็นึกถึงพระพุทธรูปองค์นั้นอีก
แล้วก็ภาวนาว่า "พุทโธ" อีก
ทำอย่างนี้ทุกวัน
จนกระทั่งวันไหน ถ้าเราไม่มีโอกาสจะทำ วันนั้นรำคาญ
ต้องทำเป็นอารมณ์ชิน
อย่างนี้ ถือว่า ทรงฌานในพุทธานุสสติกรรมฐานแล้ว
แม้ศีลมันจะขาดมันจะบกพร่องบ้าง
ถึงยังไงก็ตาม ตายแล้วต้องไปสวรรค์แน่นอน
ญาติโยมพุทธบริษัท
บางท่านที่ไม่สามารถจะรักษาศีล ๕ ได้ครบถ้วน
ก็ให้จับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
หนึ่ง พุทธานุสสติกรรมฐาน อย่าทิ้งพระพุทธเจ้า
และประการที่สอง ให้จับอารมณ์ สังฆทาน
มีภาพแบบไหน มีอะไรบ้าง
ว่าเราเคยถวายสังฆทานแล้วในชีวิตนี้
จับอารมณ์ให้ทรงตัว
ส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่ง ที่พาท่านไปนิพพานได้โดยง่ายเหมือนกัน
และจงอย่าลืมคิดตามความเป็นจริง
ตามอริยสัจว่า
การเกิดมันเป็นทุกข์
ความแก่เป็นทุกข์
ความป่วยไข้ไม่สบายเป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากของรัก ของชอบใจเป็นทุกข์
ความตายเป็นทุกข์
ถ้าเราจะเกิดอย่างนี้ อีกกี่ชาติ ก็จะมีทุกข์อย่างนี้
เมื่อเวลาใกล้จะตาย จิตอย่าลืมนิพพาน
ต้องยึดไว้ทุกวัน
นิพพานนี้ นึกให้เป็นอารมณ์ไปจนชิน
ตัวนึกว่า ถ้าตายจาก โลกนี้เมื่อไหร่
ขอไปนิพพานเมื่อนั้น ให้จิตเป็นฌาน
ที่ เรียกว่า อุปสมานุสสติกรรมฐาน
อย่างนี้ทุกคนจะไม่พลาดนิพพาน
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง)
🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏🙏
"ตอนเช้ามืด ไม่ต้องภาวนาก็ได้
ตั้งจิตไปเลย
นึกถึงพระพุทธเจ้า
นึกถึงพระธรรม
นึกถึงพระอริยสงฆ์
พรหมและเทวดาทั้งหมด ตลอดจนท่านผู้มีคุณ
ขอจงเป็นพยานแก่ข้าพเจ้า
ข้าพระพุทธเจ้าทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาแล้วทั้งหมด
หรือจะทำในกาลข้างหน้าก็ตาม
ไม่ต้องการอย่างอื่น ต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน
จิตจับพระนิพพานเป็นอารมณ์ เพียงเท่านี้แหละ"
หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
(หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง)
จากหนังสือ หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๔ หน้า ๑๐๑-๑๐๔
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น