17 เมษายน 2562

ลายพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี

ลายพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี

เอกสารในสมัยโบราณของไทยใช้การประทับตราประจำกรมของเสนาบดี เช่น กฎหมายตราสามดวง ใช้ตราบัวแก้ว ตราราชสีห์ และตราคชสีห์ แต่ไม่มีการลงชื่อเช่นในปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ก็มีตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ประทับเวลาออกพระบรมราชโองการหรือหมายรับสั่งต่าง ๆ เอกสารจะถูกบันทึกลงในสมุดข่อยหรือสมุดไทยที่มีรูปแบบเป็นพับ เนื้อกระดาษสีดำบ้างขาวบ้าง และแบบที่เป็นกระดาษม้วน

ยุคแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงเอกสาร คือสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ในปี พ.ศ. ๒๓๙๗ มีพระบรมราชโองการว่า

“…ให้ประกาศแก่ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนฝ่ายหน้าฝ่ายใน แลราษฎรทั้งปวง บรรดาที่ต้องทำฎีกา ทูลเกล้าฯ ถวาย อย่าให้เขียนกระดาษม้วนยาว ๆ อย่าให้ต้องคลี่ลำบาก ให้เขียนใส่กระดาษตัดเป็นท่อนๆ แล้วติดเข้าเหมือนอย่างสมุดฝรั่ง จะได้ทรงทอดพระเนตรง่าย ๆ …”

การทรงลง “พระปรมาภิไธย” ในเอกสารสำคัญต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ไทย จึงเริ่มปรากฏหลักฐานครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ปรากฏหลักฐานการลงพระปรมาภิไธยในแต่ละรัชกาลดังนี้

รัชกาลที่ ๔ : “สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม” ในกรณีที่เป็นเอกสารภาษาต่างประเทศจะทรงลงพระปรมาภิไธยว่า “SPPM. Mongkut Rex Siamensium (Somdet Phra Poramenthra Maha Mongkut King of the Siamese)”

รัชกาลที่ ๕ : “จุฬาลงกรณ์ ปร.” หรือ “สยามินทร์”

รัชกาลที่ ๖ : ช่วงต้นรัชกาลทรงลงพระปรมาภิไธยว่า “วชิราวุธ ปร.” ภายหลังทรงเปลี่ยนเป็น “ราม วชิราวุธ ปร.” หรือ “ราม ร.”

รัชกาลที่ ๗ : “ประชาธิปก ปร.”

รัชกาลที่ ๘ : “อานันทมหิดล”

รัชกาลที่ ๙ : โดยทั่วไปทรงลงพระปรมาภิไธยว่า “ภูมิพลอดุลยเดช ปร.” ในเอกสารบางแห่งทรงลงพระปรมาภิไธยว่า “สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” ในกรณีที่เป็นเอกสารภาษาต่างประเทศจะทรงลงพระปรมาภิไธยว่า “Bhumibol R.”

รัชกาลปัจจุบัน : “มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร”

(ขอบคุณเพจ : โบราณนานมา)

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...