30 สิงหาคม 2566

⚜️กายป่วยมิใช่อุปสรรค จิตป่วยตามกายคืออุปสรรค⚜️


 สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอน ไว้ดังนี้
 
 กายป่วยมิใช่อุปสรรค จิตป่วยตามกายคืออุปสรรค เจ้าไปพิจารณาว่า บุคคลส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติธรรมมีร่างกายป่วย แล้วเป็นอุปสรรคใหญ่ของการปฏิบัติธรรม ซึ่งก็เป็นการเข้าใจถูกแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น จักกล่าวสรุปโดยความนัยแล้ว ผู้ที่เห็นร่างกายป่วยเป็นอุปสรรคของการปฏิบัติธรรม คือ ผู้ที่ยังไม่เข้าใจถึงความเป็นจริงของร่างกาย

จิตต่างหากที่สร้างอุปสรรคให้เกิดขึ้นมาเป็นเวทนา ยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายป่วยเป็นอุปสรรค ซึ่งที่แท้จริงแล้วกรรมเป็นผู้บ่งชี้วิถีของร่างกายของแต่ละบุคคล ทุกชีวิตของร่างกายย่อมเป็นไปตามอำนาจกฎของกรรม ทุกชีวิตที่อุบัติขึ้นในไตรภพนี้ ย่อมมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรม แปลว่าการกระทำ สรรพสัตว์ที่ไม่รักษาศีลปาณาติบาต ย่อมเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ยิ่งมีร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็มีความพร่องอยู่เป็นนิจ เป็นปกติธรรมของร่างกาย สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมดาทั้งสิ้น

จิตที่ไม่รู้เท่าทันไปฝืนสภาวธรรมที่เป็นปกติต่างหาก ที่สร้างความทุกข์ให้เกิดกับจิต ถ้าหากจิตผู้ปฏิบัติธรรมรู้อย่างนี้ยังจักคิดว่าร่างกายป่วย เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมหรือไม่ (ก็รับว่าเป็นอุปสรรค) แต่เรื่องเหล่านี้จักพูดได้แต่กับผู้ที่เป็นบัณฑิตเท่านั้น อย่าไปพูดกับคนพาล เนื่องจากเขาจักพาลเอาว่า ลองมาป่วยเองบ้างซิ ถึงจักรู้ว่าอาการเวทนานั้นเป็นอย่างไร พูดแล้วให้ได้ประโยชน์

เรื่องของพุทธศาสนามีเหตุมีผลก็จริงอยู่ แต่ตถาคตก็หลีกเลี่ยงที่จักสอนคนพาล หรือบุคคลที่ไม่เข้าถึงธรรม การรู้เรื่องขันธ์ ๕ ให้ครบทั้ง ๕ ตัว แล้ววางว่าไม่ใช่เรา มิใช่ของง่าย แต่ถ้าหากสนใจศึกษาปฏิบัติจริงก็ย่อมทำได้ ทรงอารมณ์ให้รู้ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเป็นผู้อาศัย ไม่ติดอยู่ด้วย หมั่นชำระล้างจิตออกจากกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม การทรงอารมณ์นี้ก็จักเกิดขึ้นได้เป็นระยะๆ และถ้าหากไม่ละความเพียร การตัดขันธ์ ๕ ก็เป็นของไม่ยาก
 

 ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๑๒ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ตอนหนึ่ง 
 รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน 
 
 #สมเด็จองค์ปฐม4 #ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น4

ให้มีสติคุมดวงจิต

"...อาตมาบอกไว้เท่านั้นว่า ให้มีสติคุมดวงจิต 
สัตว์นรกก็แม่นจิต สัตว์อเวจีก็แม่นจิต พระอินทร์พระพรหมก็แม่นจิต ที่เข้าพระนิพพานก็แม่นจิต ไม่ใช่ใคร 
จิตไม่มีตนมีตัว จิตเหมือนวอกนี่แหละ แล้วแต่มันจะไป บังคับบัญชามันไม่ได้ แล้วแต่มันจะปรุงจะแต่ง บอกไม่ได้ ไหว้ไม่ฟัง 
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าให้วางมันเสีย อย่าไปยึดถือมันก็จิตนั่นแหละมันถือว่าตัวกู อยู่เดี๋ยวนี้ก็ดี เราถือว่าเราเป็นผู้ชาย เราเป็นผู้หญิง 
ก็แม่นจิตนั่นแหละเป็นผู้ว่า มันไม่มีตนมีตัวดอก
แล้วพระพุทธเจ้าว่าให้วางเสีย ให้ดับวิญญาณเสีย ครั้นดับวิญญาณแล้ว ไม่ไปก่อภพก่อชาติอีก ก็นั่นแหละพระนิพพานแหละ 

พระพุทธเจ้าบอกอย่างนั้น มันไม่อยู่ที่อื่น นรกมันก็อยู่นี่ พระนิพพานก็อยู่นี่ อย่าไปค้นที่อื่น อย่าไปพิจารณาที่อื่น ให้ค้นที่สกนธ์กายของตน ให้มันเห็นเป็นอสุภะอสุภัง ให้เห็นเป็นของปฏิกูล ให้เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายมันนั่นแหละ แต่กี้มันเห็นว่าเป็นของสวยของงามของดี 

ดวงจิตนั่นเมื่อมีสติควบคุม มีสัมปชัญญะ ค้นหาเหตุผล ใคร่ครวญอยู่ มันเลยรู้เห็นว่า อัตตภาพร่างกายนี้เป็นของปฏิกูล ของเน่าเปื่อยผุพัง แล้วมันจะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่าย จิตนั่นแหละเบื่อหน่าย 

จิตเบื่อหน่าย จิตไม่ยึดมั่นแล้ว เรียกว่าจิตหลุดพ้น ถึงวิมุตติ วิมุตติ คือความหลุดพ้นจากความยึดถือ หลุดพ้นจากอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น พ้นจากภพจากชาติ ตั้งใจทำเอา.."

หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู

29 สิงหาคม 2566

อารมณ์อยากบรรลุเร็วๆ –อยากมีฤทธิ์-มีเดช-อยากเด่น-อยากดัง ล้วนเป็นอารมณ์อยากเลวทั้งสิ้น


สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนไว้ มีความสำคัญดังนี้
 รักษากำลังใจอย่าให้เครียดเข้าไว้ ร่างกายเหนื่อยก็จงเห็นเป็นธรรมดา จิตอย่าไปเครียดกับมัน วางใจให้สบายๆ เข้าไว้ คิดเอาไว้เสมอว่า งานทางกายอย่างนี้จักมีกับเราเป็นชาติสุดท้าย ตายเมื่อไหร่ ขึ้นชื่อว่าร่างกายที่จักต้องมาทำงานอย่างนี้จักไม่มีกับเรา ขอไปจุดเดียวคือ พระนิพพาน

  อย่าสนใจในจริยาของผู้อื่น จงหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น แม้กระทั่งในใจ รักษาอารมณ์จิตให้เป็นสุขอยู่อย่างสงบเป็นดีที่สุด ไม่ต้องสนใจว่าใครจักเป็นอย่างไร ให้ตัดอารมณ์เมื่อถูกกระทบด้วยอายตนะสัมผัสว่า นั่นไม่ใช่เรื่องของเรา จงปล่อยวาง แล้วจิตจักเป็นสุข พยายามเห็นทุกข์ของการมีอารมณ์แส่ส่ายให้มาก แล้วจักรู้จักปล่อยวาง เรื่องต่างๆ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็นเท่านั้น จิตปลดภาระต่างๆ ลงเสีย ด้วยกำลังใจที่เข้าถึงอริยสัจอย่างแท้จริง จิตจักทรงอริยสัจอยู่ตลอดเวลา 

  อารมณ์อยากบรรลุเร็วๆ –อยากมีฤทธิ์-มีเดช-อยากเด่น-อยากดัง ล้วนเป็นอารมณ์อยากเลวทั้งสิ้น มีบุคคลบางคนฟังเทปเรื่อง ปฏิปทาของท่านผู้เฒ่า (หลวงพ่อฤาษี) แล้ว อยากปฏิบัติให้เหมือนอย่างท่าน เมื่อทำไม่ได้ก็เกิดอารมณ์น้อยใจ-ท้อแท้หมดกำลังใจ อยากฉลาดอย่างท่าน เลยฉลาดไปหมดเหลือแต่ความโง่แทน เพราไม่รู้กำลังใจของตนว่าอยู่ระดับไหน เอากำลังใจของตนไปเปรียบเทียบกับกำลังใจของหลวงพ่อท่าน

  ทรงตรัสว่า นี่แหละตัวกิเลส อารมณ์เปรียบเทียบอย่างนี้ไม่ดี (มานะทิฐิ) จงอย่าลืมว่าการบำเพ็ญบารมีไม่เหมือนกันกำลังใจจึงต่างกัน การเจริญพระกรรมฐานมุ่งพระนิพพานอย่างเดียว จงตัดความทะยานอยากได้ใคร่ดีในการเจริญพระกรรมฐานเสีย มันทำให้เป็นกิเลส จงทำเพื่ออารมณ์ละไม่ใช่ทำเพื่ออารมณ์อยากจนเกินพอดี (อยากเกินพอดีคือ สมุทัยต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์) จิตหมองก็พึงให้รู้สาเหตุ เมื่อหาเหตุได้ก็พึงแก้ที่เหตุนั่นแหละ จิตจักได้คลายทุกข์ จิตจักได้หลุดจากกิเลสได้ จงหมั่นหาเหตุที่ทำให้จิตมีอารมณ์เศร้าหมอง มองเหตุให้ชัด แล้วจักแก้ไขทุกเรื่องที่ค้างอยู่ในจิตใจ

ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น ในเดือนสิงหาคม ๒๕๔๕
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน
#สมเด็จองค์ปฐม #ธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น
#รวมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์ #โอวาทธรรม

ลักษณะคุณธรรม 4 ประการ


๏ ลักษณะของเมตตา ๏
ควรสร้างความรู้สึกคุมอารมณ์ไว้ตลอดวันว่า เราจะหวังสร้างความเมตตาสงเคราะห์เพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่มีในโลกนี้ทั้งหมด เราจะไม่สร้างความสะเทือนใจความลำบากกายให้เกิดมีขึ้นแก่คนและสัตว์ เพราะความสุขความทุกข์ของคนและสัตว์ทั้งหมดเราถือว่าเป็นภาระของเราที่จะต้องสงเคราะห์หรือสนับสนุน ถ้าความทุกข์มีขึ้นเราจะมีทุกข์เสมอด้วยกับเขา ถ้าเขามีสุขเราจะสบายใจด้วยกับเขา มีความรู้สึกรักคนและสัตว์ทั้งโลกเสมอด้วยรักตนเอง

๏ ลักษณะของกรุณา ๏

ความสงสารปรานีนี้ก็มีอาการที่ไม่หวังผลตอบแทนเช่นเดียวกับเมตตา มุ่งหน้าสงเคราะห์คนและสัตว์ที่มีความทุกข์อยู่ให้หมดทุกข์ตามกำลังกาย กำลังปัญญา กำลังทรัพย์เท่าที่จะทำได้

๏ ลักษณะของมุทิตา ๏

ทั้งนี้อารมณ์ของท่านมีมุทิตาประจำใจนั้นคิดอยู่เสมอว่า ถ้าคนทั้งโลกมีโชคดีด้วยทรัพย์และมีความเฉลียวฉลาดเหมือนกันทุกคนแล้ว โลกนี้จะเต็มไปด้วยความสุขและเยือกเย็น ปราศจากภยันตรายทั้งหมด คิดยินดีให้ชาวโลกทั้งหมดเป็นผู้มีโชคดีตลอดวันและคืน อารมณ์พลอยยินดีนี้ต้องไม่เนื่องเพื่อผลตอบแทน ถ้าหวังการตอบแทนแม้แต่เพียงคำว่า "ขอบใจ' อย่างนี้เป็นมุทิตาที่อิงกิเลส ไม่ตรงต่อมุทิตาในพรหมวิหาร 4 นี้ ความแสดงออกถึงความยินดีในพรหมวิหาร 4 ไม่หวังผลตอบแทนด้วยกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น

๏ ลักษณะของอุเบกขา ๏

ความวางเฉยในพรหมวิหาร 4 นี้หมายถึงเฉยโดยธรรม คือทรงความยุติธรรมไม่ลำเอียงต่อผู้ใดผู้หนึ่งที่จะต้องได้รับทุกข์หรือรับสุข พร้อมกันนั้นก็มีอารมณ์ประกอบด้วยความเมตตาปรานี พร้อมที่จะสงเคราะห์ในเมื่อมีโอกาส

พระราชพรหมยาน,ธัมมวิโมกข์ (2555),373,35-36

Facebook : นิตยสารธัมมวิโมกข์ วัดท่าซุง

สมัครสมาชิกนิตสารธัมมวิโมกข์ได้ที่ ID Line : Thammavimok2021 

หรือกดที่ลิ้ง https://line.me/ti/p/bgrsOBjCHf

(ภาพนี้ ไม่ทราบหลวงพ่อถ่ายภาพที่ไหน..?)

28 สิงหาคม 2566

การดับนิวรณ์ เมื่อนิวรณ์ดับสนิท ดวงจิตก็เข้าสู่วิหารธรรม

ท่านพ่อลี สอนว่า ......
"การทำสมาธิ ก็เพื่อต้องการดับนิวรณ์ เมื่อนิวรณ์ดับสนิท ดวงจิตก็เข้าสู่วิหารธรรม เราก็จะทำตนให้พ้นไปจากนิวรณ์ได้ ชาติภพของผู้นั้น อย่างต่ำก็จะต้องได้เกิดเป็นมนุษย์และสุคติพรหมโลก ไม่ต้องไปเกิดในอบาย ๔

เมื่อจิตเข้าสู่วิหารธรรมแล้ว ก็จะได้ยกตนไปสู่โลกุตระ เข้าถึงกระแสธรรม กล่าวคือ โสดาบัน ถ้าใครไม่เกียจคร้าน หมั่นทำกรรมฐานไม่หยุดหย่อน ก็จะพ้นไปจากโลกิยะได้ ถ้าจิตของเราเข้าสู่คุณธรรม คือ โสดาบัน แล้ว เราก็จะไม่ต้องไปเกิดในอบาย"

27 สิงหาคม 2566

นิพพาน หรือ การบรรลุอรหันต์ ถือเป็นกิเลสอย่างหนึ่งหรือไม่ ?

ปุจฉา : การปฏิบัติธรรมเพื่อหวังผลประโยชน์ในทางศาสนาพุทธ เช่น นิพพาน หรือ การบรรลุอรหันต์ ถือเป็นกิเลสอย่างหนึ่งหรือไม่ ?
วิสัชนา : เขาเรียกธรรมปรารภ (ความปรารถนาในการปฏิบัติธรรม) = ซึ่ง เป้าหมายในการปฏิบัติธรรม = การบรรลุมรรคผล = พระอรหันต์ (ตัดกิเลสจนหมดสิ้น) ย่อมไม่ใช่กิเลส

กิเลส คือ การที่บุคคลใด ๆ ก็ตาม ทำอะไรก็ตาม แล้ว โลภะ โทสะ โมหะ ที่มี นั้น นอกจากไม่ลดลง แล้วยังเพิ่มมากขึ้น อันนี้แหล่ะ กิเลส    

เช่น ปกติเคยกินอาหารร้านข้างทางได้สบาย ๆ รู้สึกพอใจ (มีความสุข) แต่วันนึ้พอเดินผ่านร้านอาหารหรู ๆ - ราคาแพง ๆ มีแต่คนรวย ๆ นั่งกินอาหาร พอเห็นคนอื่นได้กินอาหารหรู ๆ ดี ๆ แพง ๆ แล้วเกิดความอิจฉา และ ไม่พอใจ (โทสะ) = นี่แหล่ะ กิเลส ล่ะ  

อนึ่ง การทึ่บุคคลใด กินข้าว - อาหาร - น้ำ แบบคนทั่ว ๆ ไปไม่ได้ทะยานอยากจะกินแต่อาหารหรู ๆ ราคาแพงตามใจอยากของตน มีเงินเท่าไหร่ ก็ซื้อกินตามสมควรแก่อัตภาพ อันนี้ ไม่ใช่กิเลส เพราะ คนเราถ้าอดอาหาร = ทรมานตัวเอง เพราะ การกินอาหารเป็นความต้องการของทางร่างกาย    

เช่นเดียวกัน การปรารถนาจะปฏิบัติธรรมเพื่อการลด - ละ - เลิก (ตัดกิเลส) = การปรารถในธรรม (ปรารถนาปฏิบัติธรรมเพื่อการบรรลุมรรคผล) = อันนี้ก็ย่อมไม่ใช่กิเลส เพราะ การปฏิบัติธรรมเป็นการทำให้ โลภะ - โทสะ - โมหะ ลงน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนหมดสิ้นไปในที่สุด (บรรลุพระอรหันต์) นั่นเอง  

** แยกให้ออกระหว่าง จำเป็น กับ อยากได้แล้วทำให้เกิดกิเลสให้ดี 

- บางคนที่ทำงานอยู่ใกล้บ้าน ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อรถยนต์ไว้ทำงาน แต่ อาจมีความจำเป็นต้องเดินทางไปอื่น ๆ อยู่บ้าง เช่น โรงพยาบาล และ บ้านญาติ ๆ ซึ่งอยู่ไกลหลายกิโล เขาจึงซื้อรถจักรยานยนต์เอาไว้ใช้ในการเดินทาง อันนี้ไม่ใช่กิเลส เพราะ จำเป็นต้องใช้ หรือ จะให้เขาเดินไปโรงพยาบาล และ เดินไปบ้านญาติ ๆ ล่ะ ???

- บางคนเคยเดินทางไปทำงานด้วยรถจักรยานยนต์ทุกวัน ก็ไม่เคยรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจอะไร แต่พอวันหนึ่งเห็นเพื่อนซื้อรถยนต์รุ่นใหม่ขับไปทำงาน เกิดความรู้สึกด้อยกว่าเพื่อน จึงตัดสินใจจะทำทุกวิถีทางเพื่อซื้อรถมาขับโชว์แข่งกับเพื่อน ๆ ให้ได้ จึงไปกู้เงินดอกร้อยละ 20 มา 8 แสนบาท แล้วรีบไปซื้อรถด้วยเงินสด ตอนแรกเขารู้สึกเท่มากที่ซื้อรถรุ่นใหม่ ใคร ๆ เห็นก็ชื่นชม แต่ ต่อมาเขาต้องจ่ายเงินผ่อนให้เจ้าหนี้นอกระบบถึงเดือนละหลายหมื่นบาท ทำให้เงินเดือนเริ่มไม่พอใช้จ่าย (เกิดความทุกข์) เขาจึงไปกู้เงินคนอื่น ๆ เพื่อมาจ่ายหนี้ พันกันยุ่งเหยิงไปหมด สุดท้ายไม่มีเงินใช้หนี้ ต้องยอมขายรถ - ขายบ้านเพื่อใช้หนี้ = กิเลส 100%    

เพราะ เดิม รถจักรยานยนต์ที่เขามีก็สามารถใช้เดินทางไปทำงานได้สบาย ๆ แต่ เพราะ กิเลส (ความอยากอวดเพื่อน) จึงไปกู้เงินมาซื้อรถยนต์ ทำให้ต้องไปกู้หนี้นอกระบบมา พอถึงเวลาผ่อนคืนพร้อมดอกเบี้ย (ร้อยละ 20) หาเงินมาคืนไม่ไหวจึงตัองขายรถ - ขายบ้าน = เกิดความเดือดร้อน ในที่สุด

รถ จำเป็นมากไหมในชีวิต ถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่ต้องซื้อ แต่ ถ้าจำเป็น เช่น ใช้เดินทางไปทำงาน - พา พ่อ - แม่ ไปโรงพยาบาล - พาลูกไปโรงเรียน 9ล9 = จำเป็นต้องใช้รถ จึงต้องไปหาซื้อรถไว้ใช้ = อันนี้ไม่ใช่กิเลส   

หรือ คุณจะพาลูกเดินไปโรงเรียน - พา พ่อแม่ ที่ป่วยเดินไปโรงพยาบาล และ เดินไปทำงานแต่เช้ามืด ล่ะ ???

เงิน จำเป็นไหมในชีวิต ? ถ้าบอกว่าไม่จำเป็น แล้ว ค่าน้ำ - ค่าไฟ - ภาษีที่ดิน - ค่าอาหาร - ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ 9ล9 จะเอาอะไรมาใช้จ่ายล่ะ ? ดังนั้น การทำงานเพื่ออยากหาเงินมาใช้จ่าย = ไม่ใช่กิเลส แต่ คือความจำเป็นในชีวิต

การอยากได้เงิน และ พยายามหางาน - ทำงานในอาชีพที่สุจริตเพื่อหาเงินมาใช้จ่าย เพราะ เป็นความจำเป็นในชีวิตประจำวัน อันนี้ไม่ใช่กิเลส เพราะ คือความจำเป็น     

แต่ การที่อยากรวยเป็น สิบล้าน - ร้อยล้าน - พันล้าน แล้ว เกิดความเครียด - เกิดความโลภ จนยอมเป็นขโมย - ถ้ารับราชการก็ยอมคอรัปชั่น เพื่อให้ได้เงินมามาก ๆ - ถ้าเป็นหมอก็คิดค่ารักษาเกินราคา เช่น จาก 1 แสนบาท ก็ คิด 2 - 3 แสนบาท ยอมทรยศต่อจรรยาบรรณ คดโกง เพราะ อยากรวยมีเงินเยอะ ๆ = แบบนี้แหล่ะ กิเลส 100%  

อีกตัวอย่างหนึ่ง ลองคิดง่าย ๆ นะ การกินข้าว - อาหาร - น้ำ เนี่ย เป็นความจำเป็นของร่างกายของมนุษย์ทุกคน ขนาดพระอรหันต์ ท่านยังต้องกินข้าว - ทานอาหาร - น้ำ เลย ถามว่าเวลาหิว แล้ว อยากกินข้าว - อาหาร เป็น กิเลสไหมล่ะ ??? มันจะเป็นได้ไง เพราะ มันเป็นความจำเป็นพื้นฐานของร่างกาย น่ะสิ คนอดอาหาร - ไม่กินข้าว อาจป่วย - ตาย เอาได้เลยนะ 

#ขอบอก 

หรือ ใครจะคิดว่า เวลาหิวข้าว แล้ว ต้องยอมอดข้าว - อาหาร เพราะ กลัวเป็นกิเลส ก็เชิญตามสบายนะ 555+

#วัชระวรมนต์

**อานิสงส์กรรมบถ ๑๐ หลวงพ่อฤาษี**

**อานิสงส์กรรมบถ ๑๐ หลวงพ่อฤาษี**

**กรรมบถ ๑๐ ประการ
 
 **๑. ไม่ฆ่าสัตว์ หรือไม่ทรมานสัตว์ให้ได้รับความลำบาก
 ๒. ไม่ลักทรัพย์ คือไม่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่เขาไม่ให้ด้วยความเต็มใจ
 ๓. ไม่ทำชู้ในบุตรภรรยาและสามีของผู้อื่น
(ขอแถมนิดหนึ่ง ไม่ดื่มสุราและเมรัยที่ทำให้มึนเมาไร้สติ)
 ๔. ไม่พูดจาที่ไม่ตรงความเป็นจริง
 ๕. ไม่พูดวาจาหยาบคายให้สะเทือนใจผู้รับฟัง
 
 ๖. ไม่พูดส่อเสียดยุให้รำตำให้รั่ว ทำให้ผู้อื่นแตกร้าวกัน
 ๗. ไม่พูดจาเพ้อเจ้อเหลวไหล
 ๘. ไม่คิดอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่นที่เจ้าของเขาไม่ยกให้
 ๙. ไม่คิดประทุษร้ายใคร คือไม่จองล้างจองผลาญเพื่อทำร้ายใคร
 ๑๐. เชื่อพระพุทธเจ้าและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านด้วยดี

**อานิสงส์กรรมบถ ๑๐**

**ท่านที่ปฏิบัติในกรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ท่านเรียกชื่อเป็นกรรมฐานกองหนึ่งเหมือนกัน คือ ท่านเรียกว่า สีลานุสสติกรรมฐาน หมายความว่าเป็นผู้ทรงสมาธิในศีล
 
 ท่านที่ปฏิบัติในกรรมบถ ๑๐ ประการได้นั้น มีอานิสงส์ดังนี้
 
 **๑. อานิสงส์ข้อที่หนึ่ง **จะเกิดเป็นคนรูปสวย ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีอายุยืนยาว ไม่อายุสั้นพลันตาย**
 ๒. อานิสงส์ข้อที่สอง **เกิดเป็นคนมีทรัพย์มาก ทรัพย์ไม่ถูกทำลายเพราะโจร , ไฟไหม้, น้ำท่วม , ลมพัด จะมีทรัพย์สมบัติสมบูรณ์บริบูรณ์ขั้นมหาเศรษฐี**
 ๓. อานิสงส์ข้อที่สาม **เมื่อเกิดเป็นคนจะมีคนที่อยู่ในบังคับบัญชาเป็นคนดี , ไม่ดื้อด้าน อยู่ภายในคำสั่งอย่างเคร่งครัด มีความสุขเพราะบริวาร
 **และการไม่ดื่มสุราเมรัยเมื่อเกิด **เป็นคนจะไม่มีโรคปวดศีรษะที่ร้ายแรง, ไม่เป็นโรคเส้นประสาท, ไม่เป็นคนบ้าคลั่ง จะเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์, มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด
 
 เรื่องของวาจา
 
 **๔. อานิสงส์ข้อที่สี่, ข้อห้า, ข้อหก และข้อเจ็ด เมื่อเกิดเป็นคน **จะเป็นคนปากหอม หรือมีเสียงทิพย์ คนที่ได้ยินเสียงท่านพูด เขาจะไม่อิ่มไม่เบื่อในเสียงของท่าน ถ้าเรียกตามสมัยปัจจุบัน จะเรียกว่าคนมีเสียงเป็นเสน่ห์ก็คงไม่ผิด จะมีความเป็นอยู่ที่เป็นสุข และทรัพย์สินมหาศาลเพราะเสียง
 
 เรื่องของใจ
 
 **๕. อานิสงส์ข้อที่แปด ,ข้อเก้า และข้อสิบ เป็นเรื่องของใจ คืออารมณ์คิด ถ้าเว้นจาก
 การคิดลักขโมย เป็นต้น ไม่คิดจองล้างจองผลาญใคร, เชื่อพระพุทธเจ้า และปฏิบัติตามคำสอน
 ของท่านด้วยความเคารพ, **ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ จะเป็นคนมีอารมณ์สงบ, มีความสุขสบายทางใจ
 ความเดือดเนื้อร้อนใจในกรณีใดๆ ทุกประการจะไม่มีเลย มีแต่ความสุขใจอย่างเดียว**

**อานิสงส์รวม**

เมื่อกล่าวถึงอานิสงส์รวมแล้ว ผู้ที่ปฏิบัติกรรมฐานในขั้นนี้ ถึงแม้ว่าจะทรงสมาธิไม่ได้นาน ตามที่เรียกว่า ขณิกสมาธิ นั้น ถ้าสามารถทรงกรรมบถ ๑๐ ประการได้ครบถ้วน ท่านกล่าวว่าเมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิอีกต่อไป บาปที่ทำไว้ตั้งแต่สมัยใดก็ตาม **ไม่มีโอกาส นำไปลงโทษในอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น**อีกต่อไป

 
 **ถ้าบุญบารมีไม่มากกว่านี้ ตายจากคนไปเป็นเทวดาหรือพรหม เมื่อหมดบุญแล้วลงมาเกิดเป็นมนุษย์ จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้น แต่ถ้าเร่งรัดการบำเพ็ญเพียรดี , รู้จักใช้ปัญญาอย่างมีเหตุผล ก็สามารถบรรลุมรรคผลเข้าถึงพระนิพพานได้ในชาตินี้**

ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือวิธีฝึกกรรมฐานด้วยตนเองแบบง่าย ๆ โดย พระสุธรรมยานเถระ(หลวงพ่อฤาษี)

#รวมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์11 #หลวงพ่อฤาษี6

26 สิงหาคม 2566

การเจริญพระกรรมฐาน

การเจริญพระกรรมฐาน ต้องเข้าหาความจริงจึงจักเป็นของแท้
สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

๑. การนอนในท่าสีหไสยาสน์เป็นของดี แต่มิใช่ว่าจักต้องอยู่ในท่านั้นเสมอไป และที่คุณหมอคิดว่า ถ้าหากนอนอยู่ในท่าเดียวก็ทนไม่ไหว จักต้องพลิกเปลี่ยนท่าไปตามสภาวะของร่างกายบ้างนั้น เป็นการถูกต้องแล้ว ดูแต่การนั่งขัดสมาธิตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่นก็เช่นกันเป็นของดี แต่พึงเป็นเฉพาะบางเวลา ถ้าปวดถ้าเมื่อยก็เปลี่ยนท่านั่งได้ฉันใด การนอน สีหไสยาสน์ก็ฉันนั้น

๒. อย่าลืมกรรมฐานอยู่ที่จิต แต่จิตก็อาศัยอยู่ในกาย มิใช่กายจักอย่างไรไม่สำคัญ จะเอากรรมฐานอย่างเดียวนั้นก็ไม่ได้ ให้หาความพอดีของกายเอาไว้ด้วย ทุกๆ อิริยาบถของกาย พึงหาความเหมาะสมของความสบายของกายไว้ด้วย ถ้ากายถูกเบียดเบียน จิตก็พลอยถูกเบียดเบียนไปด้วย นี่เป็นอริยสัจ

๓. อนึ่ง การยืนนาน นั่งนาน นอนนาน เดินนาน เป็น อัตตกิลมถานุโยค ทั้งสิ้น ให้หาความพอดีของอิริยาบถ ๔ ไว้ด้วย

๔. สำหรับร่างกาย จักห้ามไม่ให้มันเสื่อมเลยนั้นไม่ได้ เพียงแต่เราคือจิตให้รู้จักหาอริยสัจ คือความเป็นจริงของร่างกายเอาไว้ด้วย ต้องรู้เท่าทัน และปฏิบัติในร่างกาย ความทุกข์ของร่างกายอันจักถูกเบียดเบียน ก็จักบรรเทาเบาบางลงไปด้วย

๕. ความพอดีของจิตก็มี ความพอดีของกายก็มี หาให้พบแล้วปฏิบัติตามนั้น

๖. เจ้าจักต้องไม่ลืมความจริงข้อนี้ การเจริญพระกรรมฐาน ต้องเข้าหาความจริงจึงจักเป็นของแท้ ให้เห็นกาย เห็นจิต เห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง การเจริญพระกรรมฐานจึงจักได้ผล

๗. เมื่อเห็นความไม่เที่ยงของกายสังขาร สัตว์ คน วัตถุธาตุ ก็พึงทำจิตอย่าให้มีความประมาทมากนัก สำรวจอารมณ์เข้าไว้เสมอ อย่าปล่อยอารมณ์ให้ฟูไปตามกิเลสมากนัก หมั่นนึกถึงความตายให้ถี่มากได้แค่ไหน ความประมาทก็จักน้อยลงแค่นั้น อย่าลืม รู้ลม รู้ตาย รู้นิพพาน

ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๘ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๘ ตอน ๑
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน
#สมเด็จองค์ปฐม4 #ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น4

ที่มา FB เอนก บวรไกรศรี

ศีล สมาธิ ปัญญา

***********
             ก็ท่านแสดงความที่ข้อปฏิบัติของพระเถระเหล่านั้น งามในเบื้องต้นด้วยศีล. และศีลชื่อว่างามในเบื้องต้น ด้วยข้อปฏิบัติ โดยพระบาลีว่า โก จาทิ กุสลานํ ธมฺมานํ สีลญฺจ สุวิสุทฺธํ (ก็อะไรเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย ได้แก่ศีลที่บริสุทธิ์ดีแล้ว) บ้าง สีเล ปติฏฺฐาย (นระตั้งอยู่แล้วในศีล) บ้าง สพฺพปาปสฺส อกรณํ (การไม่ทำบาปทั้งปวง) บ้าง เพราะความเป็นเหตุนำมาซึ่งคุณธรรม มีความไม่ต้องเดือดร้อนเป็นต้น. 
               ท่านแสดงความงามในท่ามกลางด้วยสมาธิ สมาธิชื่อว่างามในท่ามกลางด้วยข้อปฏิบัติ โดยพระบาลีว่า จิตฺตํ ภาวยํ (ยังจิตให้เจริญอยู่) บ้าง กุสลสฺส อุปสมฺปทา (ยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม) บ้าง เพราะเป็นเหตุนำมาซึ่งคุณมีอิทธิวิธะเป็นต้น. 
               ท่านแสดงความงามในที่สุดด้วยปัญญา ปัญญาชื่อว่าเป็นที่สุดของข้อปฏิบัติ โดยพระบาลีว่า สจิตฺตปริโยทปนํ (การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว) บ้าง ปญฺญํ ภาวยํ (ยังปัญญาให้เจริญ) บ้าง ปัญญานั่นแหละชื่อว่างาม โดยเหตุที่ปัญญาเหนือกว่ากุศลธรรมทั้งหลาย เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้คงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ทั้งหลาย.
………….
ข้อความบางตอนใน นิทานกถาวรรณนา อรรถกถาขุททกนิกาย เถรคาถา 
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26.0...
ข้อความข้างต้นสรุปได้ว่า
สพฺพปาปสฺส อกรณํ (การไม่ทำบาปทั้งปวง) = งามในเบื้องต้นด้วยศีล
กุสลสฺส อุปสมฺปทา (ยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม) = งามในท่ามกลางด้วยสมาธิ
สจิตฺตปริโยทปนํ (การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว) = งามในที่สุดด้วยปัญญา
#ศีล #สมาธิ #ปัญญา

วิธีปฏิบัติของผู้เล่าเรียนมาก *

#โอวาทธรรม 
#หลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต 

โอวาทธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ

วิธีปฏิบัติของผู้เล่าเรียนมาก *
ผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์วินัยมาก
มีอุบายมากเป็นปริยายกว้างขวาง
ครั้นมาปฏิบัติทางจิต จิตไม่ค่อยจะรวมง่าย

ฉะนั้น ต้องให้เข้าใจว่า ความรู้ที่ได้ศึกษามาแล้วต้องเก็บใส่ตู้ ใส่หีบไว้เสียก่อน ต้องมาหัดผู้รู้คือจิตนี้ หัดสติให้เป็นมหาสติ หัดปัญญาให้เป็นมหาปัญญา

กำหนดรู้เท่ามหาสมบัติมหานิยม
อันเอาออกไปตั้งไว้ว่าอันนั้นเป็นอันนั้น
เป็นวันคืนเดือนปี เป็นดินฟ้าอากาศกลางหาว ดาวนักขัตฤกษ์ สารพัดสิ่งทั้งปวง
อันเจ้าสังขารคืออาการจิต หากออกไปตั้งไว้ บัญญัติไว้ว่า เขาเป็นนั้นเป็นนี้ จนรู้เท่าแล้วเรียกว่า กำหนดรู้ทุกข์ สมุทัย

เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก รู้เท่าเอาทันแล้ว จิตก็จะรวมลงได้ เมื่อกำหนดอยู่ก็ชื่อว่าเจริญมรรค หากมรรคพอแล้ว นิโรธก็ไม่ต้องกล่าวถึง หากจะปรากฏชัดแก่ผู้ปฏิบัติเอง

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

24 สิงหาคม 2566

ลูกแก้วคู่บารมีหลวงพ่อทวด (ดวงจริง)

ลูกแก้วนี้ตามประวัติพญางูใหญ่(งูบองหลา)มาคายไว้ให้ท่านในสมัยที่ยังเป็นทารก พ่อแม่ของท่านได้ไปเกี่ยวข้าวและผูกเปลไว้ให้ท่านนอนที่ใต้ร่มไม้ (ปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวกลายเป็นสำนักสงฆ์นาเปล)ต่อมาเมื่อหลวงพ่อทวดได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ บิดามารดาของท่านได้มอบลูกแก้วนี้ให้เป็นสมบัติแก่ท่าน ท่านนำพาติดตัวเป็นแก้วคู่กายไปในทุกที่
ในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาเกิดโรคระบาด ท่านได้นำดวงแก้วคู่บารมีนี้มาตั้งจิตอธิษฐานบารมีทำน้ำพุทธมนต์จนโรคระบาดสงบระงับลง เมื่อท่านมาบูรณะและจำพรรษาอยู่ที่วัดพะโคะ จึงนำลูกแก้วนี้ประดิษฐานไว้บนยอดพระเจดีย์ จึงได้ชื่อว่า "สุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ" กาลต่อมาลูกแก้วได้หล่นลงมาและแตกร้าวบางส่วน ทางวัดพะโคะจึงนำมาเก็บรักษาและให้ผู้คนกราบไหว้ระลึกถึงท่านจนถึงปัจจุบัน

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...