18 พฤศจิกายน 2566

**ความสงบของจิตมีได้ ๒ ประการ

**

**สมเด็จองค์ปฐม **ทรงตรัสสอน มีความสำคัญดังนี้

**๑.** **มองร่างกายที่ป่วยอยู่ก็จักต้องรู้ว่าป่วยมิใช่ว่าจักไม่รู้นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะร่างกายยังมีวิญญาณเป็นเครื่องรักษา จิตละเอียดมากขึ้นแค่ไหน ยิ่งรู้ร่างกายป่วยด้วยอาการเช่นไรมากขึ้นแค่นั้น เพียงแต่ว่าท่านรู้ก็สักเพียงแต่ว่ารู้ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจไปกับอาการทุกขเวทนาของร่างกายนั้นๆ**

**การหาหมอการเยียวยาก็ทำไปตามหน้าที่ ทำได้เป็นปกติและมีความรู้สึกเจ็บ รู้สึกปวดตามปกติ เมื่อเป็นอย่างนี้เมื่อพวกเจ้าเจ็บป่วยขึ้นมาบ้าง การรู้สึกเจ็บรู้สึกป่วยก็เป็นธรรมดา อย่าคิดว่าผิดธรรมดา เรื่องอย่างนี้ไม่จำเป็นต้องปิดบัง หรือเก็บงำเอาไว้ ป่วยแล้วจักบอกคนอื่นว่าไม่ป่วย ก็คือว่าฝืนธรรมดา หรือแม้แต่ป่วยแล้วยังหลอกจิตตนเองว่าไม่ได้ป่วยก็ฝืนธรรมดาอีกนั่นแหละ พิจารณาอย่างไรให้ลงกฎธรรมดาเข้าไว้ แล้วจิตจักสบาย**

**๒. การดูร่างกายป่วยด้วยอารมณ์จิตที่มีความสบาย คือดูด้วยความยอมรับกฎของธรรมดาของร่างกาย ความสุข ความสงบของจิตมีได้ ๒ ประการ คือ อารมณ์เป็นสุข เนื่องจากฌานหรือสมถะภาวนานั้นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งสุขด้วยกำลังของวิปัสสนาญาณแต่จักเห็นความแตกต่างกันไปว่า การกำหนดสมถะ อาทิเช่น การกำหนดจิตมุ่งสู่พระนิพพานด้วยกำลังของรูปฌานนั้น มีอารมณ์หนัก และมีความกังวลคอยควบคุมดูอยู่ว่า ภาพนั้นจักหายหรือไม่ ต่างกับกำลังของวิปัสสนาญาณ ที่ค่อยๆ พิจารณาร่างกายตามความเป็นจริง เมื่อจิตวางร่างกายจิตก็เบา และจักตัดการเกาะติดในมนุษย์โลก - เทวโลก - พรหมโลก จิตจักพุ่งตรงไปสู่พระนิพพานเองด้วยความเข้าใจเป็นอย่างมาก พึงสังเกตอารมณ์ ๒ จุดนี้ไว้ให้ดี ทำสลับกันไปสลับกันมา เพื่อให้จิตทรงตัว**

**๓. อย่าติดในขันธ์ ๕ ของบุคคลอื่น ยิ่งพระอรหันต์ท่านทิ้งแล้ว จิตของท่านหมดภาระจากขันธ์ ๕ แล้ว เอาจิตระลึกถึงความดีของท่าน ปฏิบัติตามท่านให้ได้มรรคผลตามนั้น นี่แหละจึงจักเรียกว่าเข้าถึงพระ อริยสงฆ์อย่างแท้จริง อย่าหลงในขันธ์ ๕ ของท่าน มีโอกาสไปก็ไปตามหน้าที่ เมื่อไม่มีโอกาสไปก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เอาจิตน้อมถึงท่านได้เป็นดี (ทรงเตือนเพราะมีบุคคลจำนวนมากที่ไปติดขันธ์ ๕ ของพระอรหันต์ แต่ไม่ยอมติดความดีของท่าน จิตมีความวิตกกังวล เมื่อไม่มีโอกาสไปงานเผาศพท่านจนเกินพอดี)**

**๔. ให้สังเกตดูว่า การฟังธรรมแล้วลืมนั้นเป็นการฟังด้วยสัญญา มิใช่การฟังด้วยปัญญา คือ เป็นการฟังแล้วผ่านไป ไม่ได้ฟังแล้วนำมาใคร่ครวญพิจารณา ฟังก็ฟังแค่ผ่านไป ฟังโดยไม่ได้ตั้งใจจำ เหตุนั้นจึงเป็นสัญญา ต่างกับการฟังอย่างรู้เรื่องด้วย คิดตามเรื่องด้วย เห็นอริยสัจตามนั้น โดยน้อมเข้ามาในจิตแท้ๆ จิตมีความเห็นพ้องในอริยสัจนั้น นั่นแหละจิตจึงจักเข้าถึงคำว่าปัญญา เพราะจิตยอมรับนับถือเรื่องของขันธ์ ๕ อย่างจริงใจ ศึกษาเรื่องสัญญากับปัญญาให้ถ่องแท้ด้วย อย่าจำเอาแต่ตัวหนังสือว่าปัญญาคืออะไร ประเดี๋ยวจักได้แต่การติดตำรา**

ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๙** **เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๙

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

#สมเด็จองค์ปฐม2** **#ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น2

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...