20 พฤศจิกายน 2566

ไม่พึงไปกล่าวตำหนิติเตียนเรื่องฤทธิ์ให้มากนัก จะไม่ต่างกับการปรามาสพระธรรม

**ไม่พึงไปกล่าวตำหนิติเตียนเรื่องฤทธิ์ให้มากนัก เพราะตั้งแต่ เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัตปัตโต เป็นหมวดของอภิญญาทั้งหมด หากพูดตำหนิไปก็ไม่ต่างกับการปรามาสพระธรรม**
**สมเด็จองค์ปฐม** ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้

๑. **เห็นคนติดฤทธิ์ จงอย่าตำหนิเขาเพราะจิตของบุคคลผู้ยังเข้าไม่ถึงพระอริยเจ้า ย่อมจักติดฤทธิ์เป็นธรรมดา** สอบสวนอารมณ์ของจิตให้ดีๆ พวกเจ้าในอดีตก็ติดฤทธิ์อยู่เช่นกัน พอหนักเข้าเห็นทุกข์ ก็เริ่มปล่อยจากการต้องการฤทธิ์ **กำลังของฤทธิ์เป็นกำลังของอภิญญา เป็นส่วนหนึ่งของพระธรรมในหลักสูตรของคำสอนของพระพุทธศาสนานี้ หากมีแล้วใช้ไปในด้าน สัมมาทิฎฐิ ก็เป็นของดี มิใช่ของทราม** แต่ถ้าใช้ไปในทางด้าน มิจฉาทิฎฐิ ก็จักเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ จิตมักเหลิงทะนงตนว่าเป็นผู้ประเสริฐ

๒. แต่ถ้าอภิญญาสมาบัตินั้นเป็น โลกุตรวิสัยของผู้ใช้ ก็ย่อมไม่เป็นโทษแก่ตนเองและผู้อื่น **อภิญญาเป็นของดี นี่ถ้าหากใช้ให้เป็นก็มีประโยชน์จึงไม่พึงไปกล่าวตำหนิติเตียนเรื่องฤทธิ์ให้มากนัก เพราะตั้งแต่ เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัตปัตโต เป็นหมวดของอภิญญาทั้งหมด หากพูดตำหนิไปก็ไม่ต่างกับการปรามาสพระธรรม** เพราะฉะนั้นจุดนี้ตั้งใจให้ดีๆ พิจารณาคำพูดก่อนจักพูดเรื่องฤทธิ์ทุกครั้ง อย่าสักแต่ว่าพูดโดยมิได้คิด

๓. เพราะฉะนั้น การมีฤทธิ์เป็นของดี แต่ดีให้จริงคือดีใน สัมมาทิฎฐิ เป็นที่ตั้ง การฝึกฝนอภิญญา เพราะฉะนั้นคนใดที่ติดฤทธิ์ จักกล่าวว่าไม่ดีก็ไม่ได้ จักต้องคิดว่าเขาติดดี เพียงแต่เวลาคุณหมอคุย ก็พึงให้เขาติดด้วยความเป็น **สัมมาทิฎฐิ คือ มีศีลเป็นพื้นฐาน** ไม่ไปตำหนิเขา แต่พูดเสริมให้เขาไปในทางที่ถูก ยึดหลักพระตถาคตเจ้าเข้าไว้ ท่านไม่ตำหนิใคร จักกล่าวเสริมแนะนำในสิ่งที่บุคคลนั้นๆ ได้ทำอยู่แล้ว ให้ทำให้ถูกยิ่งๆ ขึ้นไป

๔. อย่างคน ๆ หนึ่งนั้น ชอบบริโภคน้ำพริกกะปิอยู่เป็นปกติ เราจักไปเปลี่ยนแปลงเขาไม่ให้บริโภคได้อย่างนั้นหรือ แต่ถ้าแนะนำเขาให้หาผักมาแกล้มด้วยเอาอย่างนั้นมาเสริม ก็ย่อมจักดีกว่าไปบอกเขาให้เลิกกินน้ำพริกกะปิ

๕. **อย่างคนติดฤทธิ์ก็คือคนติดดี ฤทธิ์เป็นของดีในพระพุทธศาสนา**เราก็ไม่จำเป็นต้องคัดค้าน **เพียงแต่แนะนำส่งเสริมให้เขาดำเนินอยู่ในศีล** จิตเขาก็อยู่ในฌานสมาบัติได้ทรงตัว เป็นการป้อนสังโยชน์ ๓ เพิ่มให้ไม่ขัดใจใคร เชิญตามอัธยาศัย เยี่ยงนี้จักมีประโยชน์มากกว่า

๖. อนึ่ง ถ้าจักเตือนเรื่อง**พระเทวทัต ติดฤทธิ์** ก็พึงย้ำว่า เป็นอภิญญาโลกีย์ คือ **ท่านไม่มีศีล ฤทธิ์จึงเสื่อม** แต่ในที่นี้ทุกคนไม่อยากให้พบกับความเสื่อม ก็พึงต้องมีศีล อย่างต่ำคือศีล ๕ ให้เป็นปกติ รับรองว่าฤทธิ์หรืออภิญญาสมาบัติก็จักไม่เสื่อม เน้นตรงนี้ให้เข้าใจกันจักดีกว่า

ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๗ ธันวาคมตอน ๑

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

[#สมเด็จองค์ปฐม5 ]

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...