20 พฤศจิกายน 2560
15 พฤศจิกายน 2560
ชีวประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์
หมอชีวกเป็นบุตรนางโสเภณีนามว่า “สาลวดี” นางนครโสเภณีผู้ทรงเกียรติแห่งเมืองราชคฤห์ โดยพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้ง มีเงินเดือนและค่าตัวสำหรับผู้ร่วมอภิรมย์อีกคนละ ๑๐๐ กหาปณะ (ประมาณ ๔๐๐ บาท) เพราะไม่ได้ตั้งใจให้เกิด เมื่อเกิดมาแล้วแถมเป็นชายเสียด้วย นางจึงไม่เลี้ยง สั่งให้เอาไปทิ้งที่หน้าประตูวัง เช้าตรู่วันนั้น เจ้าฟ้าอภัยพระโอรสของพระเจ้าพิมพิสารเสด็จไปพบเข้า จึงนำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมตั้งชื่อให้ว่าชีวกโกมารภัจจ์ แปลว่า ผู้ยังมีชีวิตรอดมาได้ ตอนเป็นเด็ก
ชีวกเป็นคนฉลาดมีปฎิภาณเฉียบคม ถูกเด็กๆ ในวังด่าเสียดสีว่า เป็นลูกไม่มีพ่อ จึงมีมานะจะเอาชนะหาความรู้ใส่ตัวให้ใครดูถูกไม่ได้ จึงหนีไปกับกองคาราวานไปยังเมืองตักกสิลา ฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาแพทย์กับอาจารย์ทิศาปราโมกข์ เรียนอยู่ ๗ ปีก็จบ ลาอาจารย์กลับบ้านเกิดเมืองนอน
อาจารย์ให้เสบียงมานิดหน่อยหมดระหว่างทาง จึงต้องใช้วิชาความรู้ที่เรียนมารักษาโรคปวดหัวของภรรยาเศรษฐีเมืองสาเกต ที่เป็นมา ๗ ปีแล้ว รักษาหมอที่ไหนก็ไม่หายสักที สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการปรุงยาขนานเดียว ได้รับรางวัล ๔,๐๐๐ กหาปณะ
เมื่อกลับถึงเมืองราชคฤห์แล้วได้มีโอกาสรักษาโรคภคันทบาพาธ (โรคริดสีดวงทวาร) ของพระเจ้าพิมพิสารจนหายขาด พระเจ้าพิมพิสารจึงแต่งตั้งให้เป็นแพทย์หลวงประจำพระราชสำนัก ได้พระราชทานบำเหน็จจำนวนมาก รวมทั้งสวนมะม่วงด้วย
ได้ผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้ของบุตรเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี คนหนึ่งให้หายขาดจากโรคร้ายได้ แล้วได้ผ่าตัดสมองเศรษฐีชาวเมืองราชคฤห์คนหนึ่งจนอาการโรคปวดหัวหายขาด
จากนั้นมาชื่อเสียงเกียรติคุณของหมอชีวกก็แพร่สะพัดไปทั่วเมืองว่าเป็นหมอเทวดา ชื่อเสียงได้ฟุ้งขจรไปยังต่างแดน ถึงเมืองอุชเชนีแคว้นอวันตีซึ่งอยู่ห่างไกล พระเจ้าจัณฑปัชโชต กษัตริย์ผู้ดุร้ายประชวรด้วยโรคปวดพระเศียรข้างเดียวมาเป็นเวลานาน ๗ ปีแล้ว จึงส่งราชฑูตมาขอจากพระเจ้าพิมพิสารให้ไปรักษา หมอชีวกถวายการรักษาจนหายแต่ก็เกือบถูกประหารชีวิตเพราะพระองค์ไม่ชอบเนยใส หมอชีวกปรุงยาใส่เนยใส ถึงกับสั่งคนตามล่าหาว่าหมอชีวกแกล้ง แต่หมอชีวกก็เอาชีวิตรอดกลับมาได้ด้วยปัญญาของตน
เมื่อพระเจ้าจัณฑปัชโชตหายประชวรแล้วทรงสำนึกในบุญคุณหมอชีวกจึงทรงส่งผ้ากัมพลหรือผ้าแพรเนื้อละเอียดอย่างดีสองผืนไปพระราชทานแก่หมอชีวก
หมอชีวกได้นำผ้าสองผืนนั้นไปถวายพระพุทธเจ้า จนเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับผ้าสำเร็จทำชาวบ้านถวายได้แต่บันนั้นมาทำให้คหบดี และชาวเมืองต่างดีใจพากันนำจีวรมาถวายพระเป็นจำนวนมาก
ในสมัยนั้น พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเวฬุวัน เมื่อบำเพ็ญพุทธกิจตลอดทั้งวัน ทรงมีเวลาพักผ่อนน้อย พุทธกิจ ๕ ประการ คือ
๑.เวลาเช้ามืด ทรงตรวจดูอุปนิสัยสัตว์โลกที่ควรโปรด
๒.เช้า เสด็จออกบิณฑบาต หรือโปรดสัตว์
๓.เวลาเย็น ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่พุทธบริษัท
๔.เวลาค่ำ ทรงให้โอวาทแก่ภิกษุสงฆ์
๕.เวลาดึก ทรงแก้ปัญหาเทวดา
พระวรกายของพระองค์จึงเกิดหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ ท้องผูกอย่างร้ายแรงเนื่องจากนั่งนาน พระอานนท์จึงไปหาหมอชีวกแจ้งพระอาการของพระพุทธเจ้าให้ทราบ หมอชีวกได้ไปถวายยาถ่าย พระวรกายของพระพุทธองค์ได้กลับเป็นปกติดังเดิม และได้ถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พร้อมทั้งถวายสวนมะม่วงให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าอีกด้วย
หมอชีวกได้ถวายการรักษาพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ถูกพระเทวทัตรอบทำร้าย กลิ้งหินบนยอดเขาคิชฌกูฏหมายจะให้ทับพระองค์ให้สิ้นพระชนม์ แต่ก็ทำได้แค่ทำให้พระบาทของพระพุทธองค์มีพระโลหิตห้อเท่านั้นหมอชีวกได้ถวายการรักษาที่สวนมะม่วงนั้น
หมอชีวกตลอดชีวิตท่านยุ่งอยู่กับการรักษาโรคคนทั้งเมืองไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม แต่ท่านก็เป็นพระโสดาบัน ได้ใช้วิชาความรู้ที่เล่าเรียนมาบำเพ็ญประโยชน์แก่ชนหมู่มาก ช่วยเหลือผู้เจ็บไข้ไม่เลือกยากดีมีจน จนได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะในด้านเป็นที่รักของปวงชน คนเช่นนี้ชื่อว่าไม่เสียชาติเกิดโดยแท้ และเราควรเอาเยี่ยงอย่างเป็นอย่างยิ่ง
(เครดิตข้อมูลจาก www.dhammathai.org)
ที่มา ธรรมะพระป่ากรรมฐาน สายหลวงปู่มั่น
ทุกข์ในอริยสัจ 11 อย่าง
ทุกข์ในอริยสัจ
ทุกข์ถือเป็นความจริงอันประเสริฐข้อที่ 1 ในอริยสัจ 4 จึงเรียกว่าทุกขสัจ มี 11 อย่าง ได้แก่ :-
1. ชาติ หมายถึง ความเกิด ความบังเกิด ความหยั่งลงเกิด เกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้อายตนะครบ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ
2. ชรา หมายถึง ความแก่ ภาวะของความแก่ ฟันหลุด ผมหงอก หนังย่นเป็นเกลียว ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ
3. มรณะ หมายถึง ความเคลื่อน ภาวะของความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยู ความตาย ความทำกาละ ความทำลายแห่งขันธ์ ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ จากหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ
4. โสกะ หมายถึง ความสใจ กิริยาที่แห้งใจ ภาวะแห่งบุคคลผู้แห้งใจ ความผาก ณ ภายใน ความแห้งผาก ณ ภายใน ของบุคคลผู้ประกอบด้วย ความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือ ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง กระทบแล้ว
5. ปริเทวะ หมายถึง ความคร่ำครวญ ความร่ำไรรำพัน กิริยาที่คร่ำครวญ กิริยาที่ร่ำไรรำพัน ภาวะของบุคคลผู้คร่ำครวญ ภาวะของบุคคลผู้ร่ำไรรำพัน ของบุคคลผู้ประกอบด้วย ความพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่งกระทบแล้ว
6. ทุกข์ (กาย) หมายถึง ความลำบากทางกาย ความไม่สำราญทางกาย ความเสวยอารมณ์ อันไม่ดีที่เป็นทุกข์เกิดแต่ กายสัมผัส
7. โทมนัส หมายถึง ความทุกข์ทางจิต ความไม่สำราญทางจิต ความเสวยอารมณ์อันไม่ด ีที่เป็นทุกข์เกิดแต่ มโนสัมผัส (สัมผัสทางใจ นึกคิดขึ้นมา)
8. อุปายาส หมายถึง ความแค้น ความคับแค้น ภาวะของบุคคลผู้แค้น ภาวะของบุคคลผู้คับแค้น ของบุคคล ผู้ประกอบด้วยความพิบัติ อย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ถูกธรรมคือ ทุกข์ อย่างใดอย่างหนึ่ง กระทบแล้ว
9. ความประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก หมายถึง ความประสบ ความพรั่งพร้อม ความร่วม ความระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (ความรู้สึกทางกาย) อันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ หรือด้วย บุคคลผู้ปรารถนาสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่ไม่เกื้อกูล ปรารถนาความไม่ผาสุก ปรารถนาความไม่เกษมจากโยคะ (กิเลส) ซึ่งมีแก่ผู้นั้น
10. ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก หมายถึง ความไม่ประสบ ความไม่พรั่งพร้อม ความไม่ร่วม ความไม่ระคน ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ หรือด้วยบุคคลผู้ปรารถนาประโยชน์ ปรารถนาสิ่งที่เกื้อกูล ปรารถนาความผาสุก ปรารถนาความเกษม จากโยคะ คือ มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง มิตร อมาตย์ หรือ ญาติสาโลหิต ซึ่งมีแก่ผู้นั้น
11. ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น หมายถึง ความปรารถนาย่อมบังเกิดแก่ สัตว์ผู้มีความเกิดเป็นธรรมดา สัตว์ผู้มีความแก่เป็นธรรมดา สัตว์ผู้มีความเจ็บเป็นธรรมดา สัตว์ผู้มีความตายเป็นธรรมดา สัตว์ผู้มี โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสเป็นธรรมดา อย่างนี้ว่า โอหนอ ขอเราไม่พึงมีความเกิดเป็นธรรมดา ขอความเกิดอย่ามีมาถึงเราเลย ขอเราไม่พึงมีความแก่เป็นธรรมดา ขอความแก่อย่ามีมาถึงเราเลย ขอเราไม่พึงมีความเจ็บเป็นธรรมดา ขอความเจ็บอย่ามีมาถึงเราเลย ขอเราไม่พึงมีความตายเป็นธรรมดา ขอความตายอย่ามีมาถึงเราเลย ขอเราไม่พึงมี โสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส เป็นธรรมดา ขอโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส อย่ามีมาถึงเราเลย สัตว์ไม่พึงได้สมความปรารถนา
สรุปว่าอุปาทานขันธ์ 5 ทั้งหมดนั่นเองที่เป็นทุกขสัจ เป็นโทษ เป็นภัยที่สุด.
ขออนุโมทนาที่มา วิกิพีเดีย และเจ้าของภาพด้วย สาธุ
14 พฤศจิกายน 2560
วิปัสนาญาณ โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง
วิปัสสนาญาณ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
บุคคลที่ทำลายพระศาสนา
เป็นนิสัย ไม่ควรมีในหมู่พุทธศาสนิกชน เพราะเป็นการดูแคลนพระพุทธศาสนาเกินไป พูดกันตรง ๆ ก็ว่า ไม่มีความเชื่อถือจริง และไม่ใช่นักปฏิบัติจริงปฏิบัติตามเขา พอได้ชื่อว่าฉันก็ปฏิบัติวิปัสสนาคนประเภทนี้แหละที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรม เพราะทำไปไม่นานก็เลิกแล้วก็เอาความไม่จริงไม่จังของตนเองนี่แหละไปโฆษณา บอกว่าฉันปฏิบัตินานแล้วไม่เห็นมีอะไรปรากฏ เป็นการทำลายพระศาสนาโดยตรง ฉะนั้นนักปฏิบัติแล้วควรตั้งใจจริงเพื่อมรรคผล ถ้ารู้ตัวว่าจะไม่เอาจริงก็อย่าเข้ามายุ่งทำให้ศาสนาเสื่อมทรามเลย ต่อไปนี้จะพูดถึงนักปฏิบัติที่เอาจริง
ก่อนพิจารณาวิปัสสนา
ทุกครั้งที่จะเจริญวิปัสสนาท่านให้เข้าฌานตามกำลังสมาธิที่ได้เสียก่อน เข้าฌานให้ถึงที่สุดของสมาธิถ้าเป็นฌานที่ ๔ ได้ยิ่งดี ถ้าได้สมาธิ ๆ ไม่ถึงฌาน ๔ ก็ให้เข้าฌานจนเต็มกำลังสมาธิที่ได้เมื่ออยู่ในฌานจนจิตสงัดดีแล้วค่อยๆคลายสมาธิมาหยุดอยู่ที่อุปจารฌาน แล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณทีละขั้นอย่าละโมบโลภมาก ทำทีละขั้น ๆ นั้นจะเกิดเป็นอารมณ์ ประจำใจไม่หวั่นไหวเป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ไม่กำเริบแล้ว จึงค่อยเลื่อนไปฌาน ต่อไปเป็น ลำดับทุกฌานปฏิบัติอย่างเดียวกันทำอย่างนี้จะได้รับผลแน่นอน ผลที่ได้ต้องมีการทดสอบจากอารมณ์จริงเสมอ อย่านึกคิดเอาเองว่าได้เมื่อยังไม่ผ่านการกระทบจริงต้องผ่านการกระทบจริงก่อน ไม่กำเริบแล้วเป็นอันใช้ได้
ธรรมเครื่องบำรุงวิปัสสนาญาณ
นักเจริญวิปัสสนาญาณที่หวังผลจริง ไม่ใช่นักวิปัสสนาทำเพื่อโฆษณาตัวเองแล้วท่านว่าต้องเป็นผู้ปรับปรุงบารมี ๑๐ ให้ครบถ้วนด้วย ถ้าบารมี ๑๐ ยังไม่ครบถ้วนเพียงใด ผลในการเจริญวิปัสสนาญาณจะไม่มีผลสมบูรณ์
บารมี ๑๐ นั้นมีดังต่อไปนี้
๑. ทาน คือการให้ ต้องมีอารมณ์ใคร่ต่อการให้ทานเป็นปกติ ให้เพื่อสงเคราะห์ ไม่ให้เพื่อผลตอบแทน ให้ไม่เลือกเพศ วัย ฐานะ และความสมบูรณ์เต็มใจในการให้ทาน เป็นปกติ ไม่มีอารมณ์ไหวหวั่นในการให้ทาน
๒. ศีล รักษาศีล ๕ เป็นปกติ ศีลไม่บกพร่อง และรักษาแบบอุกฤษฏ์ คือไม่ทำศีล ให้ขาดหรือด่างพร้อยเอง ไม่ยุคนอื่นให้ละเมิดศีล ไม่ดีใจเมื่อคนอื่นละเมิดศีลไม่ดีใจเมื่อ คนอื่นละเมิดศีล
๓. เนกขัมมะ การถือบวช คือถือพรหมจรรย์ ถ้าเป็นนักบวช ก็ต้องถือสิกขาบท อย่างเคร่งครัดถ้าเป็นฆราวาสต้องเคร่งครัดในการระงับอารมณ์ทีเป็นที่เป็นทางของนิวรณ์ ๕ คือทรงฌานเป็นปกติอย่างต่ำก็ก็ปฐมฌาน
๔. ปัญญา มีความคิดรู้เท่าทันสภาวะของกฎธรรมดา เห็นอนิจจัง ทุกขังอนัตตา เป็นปกติ
๕. วิริยะ มีความเพียรเป็นปกติไม่ท้อถอยในการปฏิบัติเพื่อมรรคผล
๖. ขันติ อดทนต่อความยากลำบาก ในการฝืนใจระงับอารมณ์ที่ไม่ถูกใจอดกลั้น ไม่หวั่นไหว จนมีอารมณ์อดกลั้นเป็นปกติ ไม่หนักใจเมื่อต้องอดทน
๗. สัจจะ มีความจริงใจไม่ละทิ้งกิจการงานในการปฏิบัติความดีเพื่อมรรคผล
๘. อธิษฐาน ความตั้งใจ ความตั้งใจใด ๆ ที่ตั้งใจไว้ เช่นสมัยที่สมเด็จพระผู้มี พระภาคเจ้าพระองค์เข้าไปนั่งที่โคนต้นโพธิ์ พระองค์ทรงอธิษฐานว่า ถ้าเราไม่ได้สำเร็จ พระโพธิญาณเพียงใดเราจะไม่ยอมลุกจากที่นี้แม้เนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไปหรือชีวิต จะตักษัยคือสิ้นลมปราณก็ตามทีพระองค์ทรงอธิษฐานเอาชีวิตเข้าแลกแล้วพระองค์ก็ทรงบรรลุในคืนนั้น การปฏิบัติต้องมีความมั่นใจอย่างนี้ ถ้าลงเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้วสำเร็จ ทุกราย และไม่ยากเสียด้วย ใช้เวลาก็ไม่นาน
๙. เมตตา มีความเมตตาปรานีไม่เลือก คน สัตว์ ฐานะ ชาติ ตระกูลมีอารมณ์เป็น เมตตาตลอดวันคืนเป็นปกติ ไม่ใช่บางวันดีบางวันร้ายอย่างนี้ไม่มีหวัง
๑๐. อุเบกขา ความวางเฉยต่ออารมณ์ที่ถูกใจ และอารมณ์ที่ขัดใจอารมณ์ที่ถูกใจรับแล้วก็ทราบว่าไม่ช้าอาการอย่างนี้ก็หมดไป ไม่มีอะไรน่ายึดถือพบอารมณ์ที่ขัดใจก็ปลงตกว่า เรื่องอย่างนี้มันธรรมดาของโลกแท้ๆ เฉยได้ทั้งสองอย่าง
บารมี ๑๐ นี้ มีความสำคัญมากถ้า นักปฏิบัติบกพร่องในบารมี๑๐ นี้ แม้อย่างเดียว วิปัสสนาญาณก็มีผลสมบูรณ์ไม่ได้ที่ว่าเจริญกันมา ๑๐ปี ๒๐ ปี ไม่ได้อะไรนั้น ก็เพราะเป็น ผู้บกพร่องในบารมี ๑๐ นี่เอง ถ้าบารมี ๑๐ ครบถ้วนแล้วผลการปฏิบัติเขานับวันสำเร็จกันไม่ใช่นับเดือนนับปี ฉะนั้นท่านนักปฏิบัติเพื่อมรรคผลต้องสนใจปฏิบัติในบารมี ๑๐ นี้ ไม่ให้บกพร่องเป็นกรณีพิเศษ
วิปัสสนาญาณสามนัย
วิปัสสนาญาณที่พิจารณากันมานั้น ท่านสอนไว้เป็นสามนัย คือ
๑. พิจารณาตารมแบบวิปัสสนาญาณ ๙ ตามนัยวิสุทธิมรรคที่ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ รจนาไว้
๒. พิจารณาตามนัยอริยสัจ ๔
๓. พิจารณาขันธ์ ๕ ตามในพระไตรปิฎก ที่มีมาในขันธวรรค
ทั้งสามนัยนี้ ความจริงก็มีอรรถ คือความหมายเป็นอันเดียวกันโดยท่านให้เห็นว่าขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกันท่านแยกไว้เพื่อเหมาะแก่อารมณ์ของแต่ละท่าน เพราะบางท่านชอบค่อยทำไปตามลำดับตามนัยวิปัสสนาญาณ ๙ เพราะเป็นการค่อยปลด ค่อย เปลื้องตามลำดับทีละน้อยไม่หนักอกหนักใจ บางท่านก็ชอบพิจารณาแบบรวม ๆ ใน ขันธ์ ๕เพราะเป็นการสะดวกเหมาะแก่อารมณ์ บางท่านที่ชอบพิจารณาตามแบบอริยสัจนี้พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเอง และนำมาสอนปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก ท่านเหล่านั้นได้มรรคผลเป็นปฐม ก็เพราะได้ฟังอริยสัจ แต่ทว่าทั้งสามนี้ก็มีความหมายอย่างเดียวกันคือให้เห็น อนัตตาในขันธ์ ๕ เหมือนกัน ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคและในขันธวรรคในพระไตรปิฎก ว่าผู้ใดเห็นขันธ์ ๕ ผู้นั้นก็เห็นอริยสัจผู้ใดเห็นอริยสัจก็ชื่อว่าเห็นขันธ์ ๕
เอาสังโยชน์ ๑๐ เป็นเครื่องวัดอารมณ์
นักปฏิบัติเพื่อมรรคผล ที่ท่านปฏิบัติกันมาและได้รับผลเป็นมรรคผลนั้นท่านคอยเอาสังโยชน์เข้าวัดอารมณ์เป็นปกติ เทียบเคียงจิตกับสังโยชน์ว่าเราตัดอะไรได้เพียงใด แล้วจะรู้ผลปฏิบัติตามอารมณ์ที่ละนั้นเอง ไม่ใช่คิดเอาเองว่าเราเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหัตตามแบบคิดแบบเข้าใจเอาเอง
สังโยชน์ ๑๐
สังโยชน์ แปลว่า กิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจให้จมอยู่ในวัฏฏะมี ๑๐อย่างคือ
๑. สักกายทิฏฐิ มีความเห็นว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณนี้ เป็นเรา เป็นของเรา เรามีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ มีในเรา
๒. วิจิกิจฉา สงสัยในผลการปฏิบัติว่าจะไม่ได้ผลจริงตามที่ฟังมา
๓. สีลัพพตปรามาส ถือศีลไม่จริงไม่จัง สักแต่ถือตาม ๆเขาไปอย่างนั้นเอง สามข้อ นี้ ถ้าตัดได้เด็ดขาด ท่านว่าได้บรรลุเป็นพระโสดากับพระสกิทาคามี
๔. กามราคะ ความกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รสและอาการ ถูกต้องสัมผัส
๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งใจ ทำให้ไม่พอใจ อันนี้เป็นโทสะแบบเบาๆ ข้อ (๑) ถึง (๕) นี้ ถ้าละได้เด็ดขาด ท่านว่าบรรลุเป็นอนาคามี
๖. รูปราคะ พอใจในรูปธรรม คือความพอใจในวัตถุ หรือ รูปฌาน
๗ รูปราคะ พอใจในอรูป คือเรื่องราวที่กล่าวถึง หรือในอรูปฌาน
๘. อุทธัจจะ อารมณ์ฟุ้งซ่าน คิดนอกลู่นอกทาง
๙. มานะ ความถือตนโดยความรู้สึกว่า เราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขาเราเสมอเขา
๑๐.อวิชชา ความโง่ คือหลงพอใจในกามคุณ ๕ และกำหนัดยินดีในกามคุณ ๕ที่ ท่านเรียกว่า อุปาทาน เป็นคุณธรรมฝ่ายทราม ที่ท่านเรียกว่า อวิชชา
สังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ถ้าท่านพิจารณาวิปัสสนาญาณแล้ว จิตค่อย ๆ ปลดอารมณ์ที่ยึดถือได้ครบ ๑๐ อย่างโดยไม่กำเริบอีกแล้ว ท่านว่าท่านผู้นั้นบรรลุอรหัตผลเครื่องวัด อารมณ์ที่พระพุทธเจ้าตรัสจำกัดไว้อย่างนี้ขอนักปฏิบัติจงศึกษาไว้แล้วพิจารณาไปตามแบบ ท่านสอนเอาอารมณ์มาเปรียบกับสังโยชน์ ๑๐ทางที่ดีควรคิดเอาชนะกิเลสคราวละข้อ เอาชนะ ให้เด็ดขาด แล้วค่อยเลื่อนเข้าไปทีละข้อข้อต้น ๆ ถ้าเอาชนะไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งเลื่อนเข้าไปหา ข้ออื่น ทำอย่างนี้ได้ผลเร็วเพราะข้อต้นหมอบแล้ว ข้อต่อไปไม่ยากเลย จะชนะหรือไม่ชนะ ก็ข้อต้นนี้แหละเพราะเป็นของใหม่และมีกำลังครบถ้วนที่จะต่อต้านเรา ถ้าด่านหน้าแตกด่านต่อไปง่ายเกินคิด ขอให้ข้อคิดไว้เพียงเท่านี้ต่อไปจะนำเอาวิปัสสนาญาณสามนัยมากล่าว ไว้พอเป็นแนวปฏิบัติพิจารณา
วิปัสสนาญาณ ๙
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความเกิดและความดับ
๒. ภังคานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความดับ
๓.ภยตูปัฎฐานญาณ พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว
๔.อาทีนวานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นโทษของสังขาร
๕.นิพพิทานุปัสสนาญาณ พิจารณาสังขารเห็นเป็นของน่าเบื่อหน่าย
๖. มุญจิตุกามยตาญาณ พิจารณาเพื่อใคร่จะให้พ้นจากสังขารไปเสีย
๗. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ พิจารณาหาทางที่จะให้พ้นจากสังขาร
๘. สังขารุเปกขาญาณ พิจารณาเห็นว่า ควรวางเฉยในสังขาร
๙. สัจจานุโลมิกญาณ พิจารณาอนุโลมในญาณทั้ง ๘ นั้นเพื่อกำหนดรู้ในอริยสัจ
ญาณทั้ง ๙ นี้ญาณที่มีกิจทำเฉพาะอยู่ตั้งแต่ญาณที่ ๑ ถึง ญาณที่ ๘ เท่านั้น ส่วนญาณ ที่ ๙ นั้นเป็นชื่อของญาณบอกให้รู้ว่า เมื่อฝึกพิจารณามาครบ ๘ ญาณแล้ว ต่อไปให้พิจารณาญาณทั้ง๘ นั้น โดยอนุโลมและปฏิโลม คือพิจารณาตามลำดับไปตั้งแต่ญาณที่ ๑ ถึงญาณที่ ๘แล้วพิจารณาตั้งแต่ญาณที่ ๘ ย้อนมาหาญาณที่ ๑จนกว่าจะเกิดอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ทุก ๆ ญาณและจนจิตเข้าสู่โคตรภูญาณคือจิตมีอารมณ์ยอมรับนับถือกฎธรรมดา เห็นเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยตนหรือคนอื่นเป็นของธรรมดาไปหมด สิ่งกระทบเคยทุกข์เดือดร้อนก็ไม่มีความทุกข์ ความเร่าร้อนไม่ว่าอารมณ์ใดๆ ทั้งที่เป็นเหตุของความรัก ความโลภความโกรธ ความผูกพัน ยอมรับนับถือกฎธรรมดาว่ามันต้องเป็นอย่างนี้ อาการอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดาแท้ ท่านว่าครอบงำความเกิด ความดับ ความตายได้เป็นต้นคำว่าครอบงำหมายถึงความไม่สะทกสะท้านหวั่นไหว ใครจะตายหรือเราจะตายไม่หนักใจเพราะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องตาย ใครทำให้โกรธในระยะแรกอาจหวั่นไหวนิดหนึ่งแล้วก็รู้สึกว่านี่มันเป็นของธรรมดาโกรธทำไม แล้วอารมณ์โกรธก็หายไป นอกจากระงับความหวั่นไหวที่เคยเกิดเคยหวั่นไหวได้แล้วจิตยังมีความรักในพระนิพพานยิ่งกว่าสิ่งใด สามารถจะสละวัตถุภายนอกทุกอย่างเพื่อพระนิพพานได้ ทุกขณะมีความนึกคิดถึงพระนิพพานเป็นปกติคล้ายกับชายหนุ่มหญิงสาวเพิ่งแรกรักกัน จะนั่ง นอน ยืนเดินทำกิจการงานอยู่ก็ตามจิตก็ยังอดที่จะคิดถึงคนรักอยู่ด้วยไม่ได้บางรายเผลอถึงกับเรียกชื่อคนรัก ขึ้นมาเฉย ๆ ทั้ง ๆที่ไม่ได้คิดว่าจะเรียกทั้งนี้เพราะจิตมีความผูกพันมาก คนรักมีอารมณ์ ผูกพันฉันใดท่านที่มีอารมณ์เข้าสู่โคตรภูญาณก็มีความใฝ่ฝันถึงพระนิพพานเช่นเดียวกัน หลังจากเข้าสู่โคตรภูญาณเต็มขั้นแล้ว จิตก็ตัดสังโยชน์ ๓ เด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหานคือตัดได้เด็ดขาดไม่กำเริบอีก ท่านเรียกว่าได้อริยมรรคต้นคือเป็นพระโสดาบันต่อไปนี้ จะได้ อธิบายในวิปัสสนาญาณ ๙ เป็นลำดับไปเป็นข้อ ๆ
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ
ญาณนี้ท่านสอนให้พิจารณาความเกิดและความดับของสังขาร คำว่าสังขาร หมายถึง สิ่งที่เป็นร่างทั้งหมด ทั้งที่มีวิญาณและวัตถุท่านให้พยายามพิจารณาใคร่ครวญเสมอ ๆ ว่า สังขารนี้มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้วต่อไปก็แตกสลายทำลายไปหมด ไม่มีสังขารประเภทใดเหลืออยู่เลยพยายามหาเหตุผลในคำสอนนี้ให้เห็นชัด ดูตัวอย่างคน ที่เกิดแล้วตายของที่มีขึ้นแล้วแตกทำลาย ดูแล้วคิดทบทวนมาหาตน และคนที่รักและไม่รักของที่มีชีวิตและไม่มีคิดว่านี่ไม่ช้าก็ต้องตายทำลาย อย่างนี้และพร้อมเสมอที่จะไม่หวั่นไหว ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นเป็นอย่างนั้นพิจารณาทบทวนอย่างนี้จนอารมณ์เห็นเป็นปกติ ได้อะไรมา เห็นอะไรก็ตามแม้แต่เห็นเด็กเกิดใหม่ อารมณ์ใจก็คิดว่านี่ไม่ช้ามันก็พัง ไม่ช้ามันก็ทำลายแม้แต่ร่างกายเรา ไม่ช้ามันก็สิ้นลมปราณอะไรที่ไหนที่เราคิดว่ามันจะยั่งยืนถาวรตลอดกาล ไม่มีรักษาอารมณ์ให้เป็นอย่างนี้จนอารมณ์ไม่กำเริบแล้วจึงค่อยย้ายไปพิจารณาญาณ ที่สอง จงอย่าลืมว่าก่อนพิจารณาทุกครั้งต้องเข้าฌานก่อน แล้วถอยจากฌานมาหยุดอยู่เพียงอุปจารฌานแล้วพิจารณาวิปัสสนาญาณ จึงจะเห็นเหตุเห็นผลง่าย ถ้าท่านไม่อาศัยฌานแล้ววิปัสสนาญาณก็มีผลเป็นวิปัสสนึกเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรดีไปกว่า นั่งนึกนอนนึกแล้วในที่สุดก็เลิกนึก และหาทางโฆษณาว่าฉันทำมาแล้วหลายปีไม่เห็นได้ อะไรเลยจงจำระเบียบไว้ให้ดี และปฏิบัติตามระเบียบให้เคร่งครัด วิปัสสนาไม่ใช่ต้ม ข้าวต้มจะได้สุกง่าย ๆ ตามใจนึก
๒.ภังคานุปัสสนาญาณ
ญาณนี้ท่านสอนให้พิจารณาถึงความดับ ญาณต้นท่านให้เห็นความเกิดและความดับสิ้นเมื่อปลายมือ แต่ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นความดับที่ดับเป็นปกติทุกวัน ทุกเวลา คือพิจารณาให้เห็นสรรพสิ่งทั้งหมดที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า คนสัตว์ ต้นไม้ ภูเขา บ้านเรือนโรง ของใช้ทุกอย่าง ให้ค้นหาความดับที่ค่อย ๆ ดับตามความเป็นจริง ที่สิ่งเหล่านั้นค่อย ๆ เก่าลง คนค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นจากความเป็นเด็ก และค่อยๆ ละความเป็นหนุ่มสาวถึงความเป็นคนแก่ ของใช้ที่ไม่มีชีวิตเปลี่ยนสภาพจากเป็นของใหม่ค่อยๆ เก่าลง ต้นไม้เปลี่ยนจากเป็นต้นไม้ที่เต็มไปด้วยกิ่งใบที่ไสวกลายเป็นต้นไม้ที่ค่อยๆ ร่วงโรย ความสลายตัวที่ค่อยเก่าลง เป็น อาการของความสลายตัวทีละน้อยค่อยๆ คืบคลานเข้าไปหาความสลายใหญ่คือความดับสิ้นในที่สุด ค่อยพิจารณาให้เห็นชัดเจนแจ่มใส จนอารมณ์จิตเป็นเอกัคคตารมณ์ คือมีความชินจิตว่าไม่มีอะไรมันทรงตัว ไม่มีอะไรยั่งยืน มันค่อยๆ ทำลายตัวเองอย่างนี้ทั้งสิ้น แม้แต่อารมณ์ใจก็เช่นเดียวกัน อารมณ์ที่พอใจและอารมณ์ที่ไม่ชอบใจก็มีสภาพไม่คงที่มีสภาพค่อย ๆสลายตัวลงไปทุกขณะเป็นธรรมดา
รวมความว่าความเกิดขึ้นนี้เป็นสภาพที่จำต้องเดินไปหาความดับในที่สุด แต่กว่าจะถึงที่สุดก็ค่อยๆ เคลื่อนดับ ดับทีละเล็กละน้อยทุกเวลาทุกขณะ มิได้หยุดยั้งความดับเลยแม้แต่เสี้ยวของวินาที ปกติเป็นอย่างนี้จิตหายความหวั่นไหวเพราะเข้าใจและคิดอยู่ รู้อยู่อย่างนั้นเป็นปกติ
๓. ภยตูปัฏฐานญาณ
ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว ท่านหมายถึงให้กลัวเพราะสังขารมีสภาพพังทลายเป็นปกติอยู่เป็นธรรมดา อย่างนี้จะเอาเป็นที่พักที่พึ่งมิได้เลย สังขารเมื่อมีสภาพต้องเสื่อมไปเพราะวันเวลาล่วงไปก็ดี เสื่อมเพราะเป็นรังของโรคมีโรคภัยนานา ชนิดที่คอยเบียดเบียน เสียดแทงจนหาความปกติสุขมิได้ โรคอื่นยังไม่มีโรคหิวก็รบกวน ตลอดวัน กินเท่าไรก็ไม่อิ่มไม่พอ กินแล้วกินอีก กินในบ้านก็แล้วกินนอกบ้านก็แล้ว อาหาร ราคาถูกก็แล้ว ราคาแพงก็แล้ว มันก็ไม่หายหิวถึงเวลามันก็เสียดแทงหิวโหยเป็นปกติของ มันฉะนั้นโรคที่สำคัญที่สุดพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โรคนั้น คือโรคหิวดังพระบาลี ว่า ชิฆจฺฉาปรมา โรคา แปลว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง โรคภัยต่างๆ มีขึ้นได้ก็เพราะอาศัยสังขาร ความหิวจะมีได้ก็เพราะอาศัยสังขาร ความแก่ ความทุกข์อันเกิดจากภยันตรายจะมีได้ ก็เพราะอาศัยสังขาร เพราะมีสังขารจึงมีทุกข์ในที่สุดก็ถึงความแตกดับ ก็เพราะสังขารเป็นมูลเหตุ สังขารจึงเป็นสิ่งน่ากลัวมาก ควรจะหาทางหลีกเร้นสังขารต่อไป
๔.อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณนี้ท่านให้พิจารณาให้เห็นโทษของสังขาร ความเจริญญาณนี้น่าจะจัดรวมกับญาณที่ ๓ เพราะอาการที่ทำลายนั้น เป็นอาการของสิ่งที่เป็นโทษอยู่แล้ว ฉะนั้นข้อนี้จึง ไม่ต้องอธิบายโปรดถือคำอธิบายของญาณที่ ๓ เป็นเครื่องพิจารณา
๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ
ญาณนี้ท่านให้พิจารณาให้มีความเบื่อหน่ายจากสังขาร เพราะสังขารเกิดแล้วดับในที่สุดนี้ประการหนึ่ง สังขารมีความดับเป็นปกติทุกวันเวลา หรือจะว่าทุกลมหายใจเข้า ออกก็ไม่ผิด นี้ประการหนึ่ง สังขารเป็นภัยเพราะมีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเป็นปกติ และ ทำลายในที่สุดประการหนึ่งสังขารเต็มไปด้วยความทุกข์และโทษประการหนึ่ง ฉะนั้นสังขารนี้เป็นสภาพที่น่าเบื่อหน่าย ไม่เป็นของน่ารัก น่าปรารถนาเลย ญาณนี้ควรเอาอสุภสัญญาความเห็นว่าไม่สวยไม่งามมาร่วมพิจารณาด้วย เอามรณานุสสติธาตุ ๔ มาร่วมพิจารณาด้วยจะเห็นเหตุเห็นผลชัดเจน เกิดความเบื่อหน่ายได้โดยฉับพลัน เพราะกรรมฐานที่กล่าวแล้วนั้นเราพิจารณาในรูปสมถะอยู่แล้ว และเห็นเหตุผลอยู่แล้วเอามาร่วมด้วยจะได้ผลรวดเร็ว และชัดเจนแจ่มใสมากเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารอย่างชนิดที่ไม่มีวันที่จะเห็นว่าน่ารัก ได้เลย
๖. มุญจิตุกัมมยตาญาณ
ญาณนี้ท่านให้พิจารณาเพื่อใคร่ให้พ้นจากสังขาร ทั้งนี้เพราะอาศัยที่เห็นแล้วจากญาณต้น ๆ ว่า เกิดแล้วก็ดับ มีความดับเป็นปกติเป็นเรือนร่างที่เต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะโรคภัยไข้เจ็บจนเกิดความเบื่อหน่ายเพราะหาความเที่ยง ความแน่นอนไม่ได้ ท่านให้พยายามหาทางพ้นต่อไปด้วยการพยายามหาเหตุที่สังขารจะพึงเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่มีสังขารแล้ว ความทุกข์ความเบื่อหน่ายทั้งหลายเหล่านี้จะมีไม่ได้เลยการที่หาทางเบื่อหน่าย ท่านให้แสวงหาเหตุของความเกิดดังต่อไปนี้
๑. ชรา ความแก่ มรณะ ความตาย เป็นต้น มีขึ้นได้เพราะชาติ คือความเกิด
๒. ชาติ ความเกิดมีได้เพราะ ภพ คือความเป็นอยู่
๓. ภพ คือภาวะความเป็นอยู่ มีขึ้นได้ เพราะอาศัย อุปาทาน ความยึดมั่น
๔. อุปาทาน ความยึดมั่นมีขึ้นได้ เพราะอาศัย ตัณหา คือความทะยานอยากคือ อยากมี อยากเป็น อยากปฏิเสธ
๕. ตัณหา มีได้ เพราะอาศัย เวทนา คือ อารมณ์ที่รู้สึกสุข ทุกข์และเฉยๆ
๖. เวทนา มีขึ้นได้ เพราะอาศัย ผัสสะ คือ การกระทบกระทั่ง
๗. ผัสสะ มีขึ้นได้ เพราะอาศัย อายตนะ ๖ คือ ตาเห็นรูป หูฟังเสียงจมูกสูดกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส และอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ชอบใจและไม่ชอบใจที่เรียกว่า ธัมมารมณ์ คืออารมณ์ที่เกิดแก่ใจ
๘. อายตนะ ๖ มีขึ้นได้เพราะอาศัย นามและรูป คือ ขันธ์ ๕สิ่งที่เห็นได้ด้วยตา คือ ร่างกายเรียกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นนามท่านรวมเรียกทั้งรูปทั้ง นามว่า นามรูป
๙. นามรูป มีขึ้นได้เพราะอาศัย วิญญาณปฏิสนธิ คือ เข้ามาเกิด วิญญาณในที่นี้ท่านหมายเอาจิต ไม่ได้หมายเอาวิญญาณในขันธ์ ๕
๑๐. วิญญาณ มีขึ้นได้เพราะ มีสังขาร
๑๑. สังขาร มีได้เพราะอาศัย อวิชชา คือ ความโง่เขลาหลงงมงาย มีความรักความพอใจในโลกวิสัยเป็นเหตุ
รวมความแล้วความทุกข์ทรมานที่ปรากฏขึ้น จนต้องหาทางพ้นนี้ อาศัยอวิชชา ความโง่เป็นสมุฏฐานฉะนั้น การที่จะหลีกเร้นจากสังขารได้ก็ต้องตัดอวิชชาความโง่ออกด้วยการพิจารณาสังขารให้เห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้แน่นอนจึงจะพ้นสังขารนี้ได้
๗.ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ
พิจารณาหาทางที่จะให้สังขารพ้น ญาณนี้ไม่เห็นทางอธิบายชัด เพราะมีอาการ ซ้อนๆ กันอยู่ ควรเอา ปฏิจจสมุปบาท นั่นแหละเป็นเครื่องพิจารณา
๘. สังขารุเปกขาญาณ
ท่านสอนให้วางเฉย ในเมื่อสังขารภายในคือ ร่างกายของตนเองและสังขารภายนอกคือร่างกายของคน และ สัตว์ ตลอดจนของใช้ที่ไม่มีและมีวิญญาณที่ต้องได้รับเคราะห์กรรม มีทุกข์ มีอันตราย โดยตัดใจปลงได้ว่าธรรมดาต้องเป็นอย่างนี้ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ มีจิต สบายเป็นปกติไม่มีความหวั่นไหว เสียใจ น้อยใจเกิดขึ้น
๙. สัจจานุโลมิกญาณ
พิจารณาญาณทั้งหมดย้อนไปย้อนมาให้เห็นอริยสัจ คือเห็นว่า สังขารที่เป็นแดนของความทุกข์ เพราะอาศัยตัณหา จึงมีทุกข์หนักอย่างนี้ พิจารณาเห็นว่าสังขารมีทุกข์ประจำ เป็นปกติ ไม่เคยว่างเว้นจากความทุกข์เลย อย่างนี้เรียกว่าเห็นทุกขสัจจะเป็นอริยสัจที่ ๑
พิจารณาเห็นว่าทุกข์ทั้งหมดที่ได้รับเป็นประจำไม่ว่างเว้นนี้ เกิดมีขึ้นได้เพราะอาศัย ตัณหาความทะยานอยาก ๓ ประการ คือ อยากมีในสิ่งที่ไม่เคยมี อยากเป็นในสิ่งที่ ไม่เคยเป็นอยากปฏิเสธ ในเมื่อความสลายตัวเกิดขึ้น ไม่อยากให้สลายตัว เจ้าความอยาก ทั้ง ๓นี้แหละเป็นผู้สร้างความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์นี้จะสิ้นไปได้ก็เพราะเข้าถึงจุดของความดับ คือนิโรธเสียได้
จุดดับนั้นท่านวางมาตรฐานไว้ ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ท่านเรียกว่ามรรค ๘ ย่อมรรค ๘ ลงเหลือ ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ เพราะอาศัยศีลบริบูรณ์ สมาธิเป็นฌาน ปัญญารู้เท่าทันสภาวะความเป็นจริง หมดความเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและดับอารมณ์พอใจไม่พอใจ เสียได้ ตัดอารมณ์ใจในโลกวิสัยได้ ตัดความกำหนัดยินดีเสียได้ด้วยปัญญาวิปัสสนาญาณ ชื่อว่าเห็นในอริยสัจ ๔ ทำอย่างนี้ คิดอย่างนี้ให้คล่องจนจิต ครอบงำความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเมาในชีวิตเสียได้ชื่อว่าท่านได้ วิปัสสนาญาณ ๙ และอริยสัจ ๔ แต่อย่าคิดว่าเราดีแล้วต้องฝึกฝนพิจารณาเรื่อยไป จนตัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการได้แล้วนั่นแหละชื่อว่าเอาตัวรอดได้แล้ว
:- http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=34508&start=15
อริยสัจ 4 และมรรคแปด
ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...
-
https://youtu.be/V5b6fr4VMjU หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ระยอง - พลังจตุธาตุหนักแน่นเช่นเดิม มาเต็มๆ 100 ทุกพลังธาตุ ตามมาตรฐานหลวงปู่ทิม...
-
พระหลวงพ่อทวด ชุดนี้จัดสร้างโดยมีพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ ดำเนินการร่วมกับพระครูสมุห์อำพล วัดประสาทบุญญาวาสใ พิธีปลุกเสกเมื่อวัน...
-
การจับพลังพระเครื่องนั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และมีรูปแบบการใช้อยู่อย่างหลากหลายเพื่อให้ทราบว่า พระเครื่ององค์นี้ หรือวัตถุมงคล ชิ้นนี้ ...