พระอาจารย์มั่นมีนิสัยจิตผาดโผดมาตั้งแต่ดั้งเดิม นับตั้งแต่เริ่มออกปฏิบัติกรรมฐานใหม่ ๆ แล้ว จิตผาดโผนของท่านที่ว่านี้คือ เป็นจิตอยากรู้อยากเห็นช่างคิดช่างค้นคว้า มีความอาจหาญยอมตายถึงไหนถึงกัน ขอให้ได้แสวงหาเพื่อที่จะรู้ สิ่งที่อยากรู้ให้รู้แจ้งเห็นจริงจนถึงที่สุด จิตผาดโผนอยากรู้อยากเห็นของท่านเป็นนิสัยนี้เอง ทำให้ท่านเป็นพระอริยเจ้าฝ่าย “เจโตวิมุติ” มีฤทธิ์มาก ทรงอภิญญา 6 คือ สำเร็จอรหันต์โดยการปฏิบัติทางสมถะกรรมฐานจนได้ “ฌาน” แล้วใช้อำนาจฌานสมาบัติเป็นบาทฐานปฏิบัติวิปัสสนาจนบรรลุอรหันต์ผล
พระอรหันต์ฝ่ายเจโตวิมุตินี้มีฤทธิ์มากกว่าพระอรหันต์ฝ่าย “ปัญญาวิมุติ” ที่หลุดพ้นโลกบรรลุธรรมด้วยดวงปัญญาล้วน ๆ พระอรหันต์ฝ่ายปัญญาวิมุติ ท่านเห็นสังขารเป็นของแห้งแล้ง ประสงค์ “สุขวิปัสโก” คือ ความสุขจากความสงบอย่างเดียว ไม่สนใจอยากรู้อยากเห็นอิทธิฤทธิ์ใด ๆ ไม่ต้องการฤทธิ์ แต่ท่านก็สามารถแสดงฤทธิ์ได้บ้างเป็นบางอย่าง เป็นแต่ว่าแสดงได้ช้ากว่าพระอรหันต์ฝ่ายเจโตวิมุติ
ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า แม้ขณะจิตของท่านจะเข้าถึงจุดอันเป็นวาระสุดท้าย ด้วยการสำเร็จธรรมวิเศษสูงสุดในพระศาสนา จิตของท่านก็ยังแสดงลวดลายอิทธิฤทธิ์ให้ท่านระลึกอยู่ไม่รู้ลืม ถึงกับได้นำมาเล่าให้บันดาลูกศิษย์ฟัง พอเป็นขวัญประดับใจและประดับสติปัญญา ท่านว่าจิตเป็นสิ่งมหัศจรรย์ยิ่งนัก พอจิตของท่านพลิกคว่ำวัฏฏจักรออกไปจากใจโดยสิ้นเชิงแล้ว จิตยังแสดงฤทธิ์เป็นลักษณะฉวัดเฉวียดรอบตัววิวัฏฏจิตถึงสามรอบ
รอบที่หนึ่งสิ้นสุดลงแสดงบทบาลีขึ้นมาว่า “โลโป” บอกความหมายขึ้นมาพร้อมว่า ขณะใหญ่ของจิตที่ทำหน้าที่สิ้นสุดลงนั้น คือการลบสมมติทั้งสิ้นออกจากใจ
รอบที่สองสิ้นสุดลง แสดงคำบาลีขึ้นมาว่า “วิมุตติ” บอกความหมายว่า ขณะใหญ่ของจิตที่ทำหน้าที่สิ้นสุดลงนั้น คือความหลุดพ้นอย่างตายตัว และการเข้าถึงพระนิพพานอย่างแท้จริง
รอบที่สามสิ้นสุดลงแสดงคำบาลีขึ้นมาว่า “อนาลโย” บอกความหมายว่า ขณะใหญ่ของจิตที่ทำหน้าที่สิ้นสุดลงนั้นคือ การตัดอาลัยอาวรณ์โดยสิ้นเชิง เป็นเอกจิต เอกธรรม จิตแท้ ธรรมแท้มีอันเดียว ไม่มีสองเหมือนสมมติทั้งหลาย
นี่คือวิมุตติธรรมล้วน ๆ ไม่มีสมมติเข้าแอบแฝง จึงมีได้เพียงอันเดียว รู้ได้เพียงครั้งเดียว ไม่มีสองมีสามสืบต่อสนับสนุนกันพระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์ ล้วนแต่รู้เพียงครั้งเดียวก็เป็นเอกจิตเอกธรรอันสมบูรณ์ ไม่แสวงเพื่ออะไรอีก สมมติภายในคือขันธุ์ ก็เป็นขันธุ์ล้วน ๆ ไม่เป็นพิษเป็นภัยและทรงตัวอยู่ตามปกติเดิมไม่มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามความตรัสรู้ คือขันธุ์ที่เคยนึกคิดเป็นต้น ก็ทำหน้าที่ของตนไปตามคำสั่งของจิตผู้บงการ
จิตที่เป็นวิมุตติก็หลุดพ้นจากความคละเคล้าพัวพันในขันธ์ต่างอันต่างอยู่ ต่างอันต่างจริงต่างไม่หาเรื่องหลอกลวงต้มตุ๋นกันดังเคยที่เป็นมา ต่างฝ่ายต่างสงบอยู่ตามธรรมชาติของตน
ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ธุระประจำตนจนกว่าจะถึงกาลแยกย้ายจากส่วนผสม เมื่อกาลนั้นมาถึงจิตที่บริสุทธิ์ก็แสดง “ยถาทีโป จ นิพพุโต” เหมือนประทีบดวงไฟที่หมดเชื้อแล้วดับไปฉะนั้น
นี่คือธรรมแสดงในจิตท่านพระอาจารย์มั่น ขณะที่ท่านบรรลุธรรมวิเศษเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ ที่ท่านนำมาเล่านี้ใช่เป็นการอวดอุตริมนุสธรรม เป็นการเปิดเผยแย้มพรายให้ฟังเฉพาะลูกศิษย์ที่เป็นพระอริยเจ้าด้วยกัน ท่านไม่ได้เล่าโดยทั่วไป เมื่อลูกศิษย์ของท่านที่เป็นพระอริยเจ้าได้รับฟังระดับบารมีตนแล้วก็บันทึกไว้เป็นเรื่องมหัศจรรย์
พระอาจารย์มั่นเที่ยวบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่ภาคเหนือเป็นเวลานานถึง 11 ปี การจำพรรษาของท่านเท่าที่จำได้ ท่านจำพรรษาที่หมู่บ้านจอมแดง อำเภอแม่ริม 1 พรรษา ที่บ้านโป่ง อำเภอแม่แตง 1 พรรษา ที่บ้านกลอย อำเภอพร้าว 1 พรรษา ในภูเขาอำเภอแม่สวย 1 พรรษา ที่บ้านปู่พระยา อำเภอแม่สวย 1 พรรษา ที่วัดเจดีย์หลวง 1 พรรษา ส่วนที่อื่น ๆ นั้นจำไม่ได้ทั่วถึง เพราะตลอดเวลา 11 ปี ท่านจาริกไปตามสถานที่ต่าง ๆ นับไม่ถ้วนอย่างที่เชียงราย ท่านจำพรรษาที่บ้านแม่ทองทิพย์ อำเภอแม่สาย 1 พรรษา ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ 1 พรรษา
เริ่มแรกที่ท่านออกปฏิบัติธุดงค์กรรมฐานในเขตเชียงใหม่ หลังจากแยกย้ายกับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ที่วัดเจดีย์หลวงแล้วพระอาจารย์มั่นออกธุดงค์เข้าป่าไปเพียงลำพังผู้เดียว หลังจากท่านบรรลุธรรมวิเศษได้อรหัตตผลแล้ว จึงปรากฏว่าค่อยมีพระลูกศิษย์ทยอยกันขึ้นไปเชียงใหม่หาท่าน มีท่านเจ้าคุณเทศน์ อำเภอท่าบ่อ หนองคาย อาจารย์สาร อาจารย์ขาววัดถ้ำกองเพล หลวงปู่แหวนวัดดอยแม่ปั๋ง หลวงปู่ตื้อจากนครพนม พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์ (ท่านพ่อลี) วัดอโศการาม สมุทรปราการ เป็นต้น
พระลูกศิษย์ทั้งหลายที่บุกบั่นรอนแรมเข้าป่าเข้าดงไปหาพระอาจารย์มั่น ท่านจะให้อยู่กับท่านไม่นานนัก แล้วท่านก็จะสั่งให้แยกย้ายกันออกหาที่วิเวกตามที่ต่าง ๆ เพื่อบำเพ็ญเพียรภาวนามุ่งทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ท่านให้พักตามถ้ำบ้าง ตามชายเขาและยอดเขาบ้าง การขบฉันอาหารก็ให้ออกบิณฑบาต ไปตามหมู่บ้านชาวป่าชาวเขา บางครั้ง 7-8 วันถึงได้ออกบิณฑบาต กันเพราะมัวแต่เพลิดเพลินเจริญในสมาธิวิปัสสนาจนลืมเวล่ำเวลา ลืมคืนลืมวัน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าหิวโหยอ่อนเพลียเจ็บไข้ได้ป่วยกันแต่อย่างไร เพราะจิตสงเคราะห์มีความสุขชุ่มชื่นเย็นกายด้วยอำนาจบารมีธรรม
มีพระลูกศิษย์ของท่านบางองค์มีอำนาจจิตแก่กล้าบุญญาบารมีสูง ทรงอภิญญา 6 สามารถทรงตัวอยู่ในสมาธิวิปัสสนาได้เป็นเวลานานถึง 3 เดือนก็มี ไม่ขบฉันอาหารเลยนอกจากฉันแต่น้ำอย่างเดียว นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์ พระธุดงค์กรรมฐานสมัยพระอาจารย์มั่นพาดำเนิน ล้วนเป็นผู้เด็ดเดี่ยวอาจหาญมากเที่ยวแสวงหาธรรมกันในป่าในเขาถิ่นอันตรายแบบเอาชีวิตเข้าแลกจริง ๆ ไม่อาลัยชีวิตยิ่งกว่าธรรม ที่ใดมีเสือชุม พระอาจารย์มั่นจะสั่งให้พระไปอยู่ที่นั้นเพราะเป็นสถานที่กระตุ้นเตือนสติปัญญามิให้นิ่งนอนใจ ความเพียรก็จำต้องติดต่อกันไปเอง และเป็นเครื่องหนุนใจให้มีกำลังขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าปกติที่ควรจะเป็น
ท่านเองก็บำเพ็ญสุขวิหารธรรมอยู่โดดเดี่ยวในป่าในเขาอันชุกชุมด้วยสัตว์ร้านสงัดเงียบปราศจากผู้คนทั้งกลางวันกลางคืน
การติดต่อกับพวกกายทิพย์ เช่น เทวบุตร เทวธิดา อินทร์ พรหม พญานาค และภูตผีที่มาจากที่ต่าง ๆ ท่านถือเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นเรื่องมีจริง เป็นเรื่องลี้ลับพิสดารที่พระธุดงค์กรรมฐานเท่านั้นจะพานพบรู้เห็นได้ เหลือวิสัยที่จะพูดที่จะอธิบายให้ปุถุชนชาวบ้านเข้าใจได้ เพราะปุถุชนชาวบ้านทั่วไปมีความช่างสงสัยเป็นนิสัย ชาวบ้านศึกษาเรียนรู้ช่างจดช่างจำช่างสงสัยหมายรู้เอาด้วยทางวัตถุสิ่งมีตัวตนจับต้องได้มองเห็นได้ แต่ทางพระศึกษาเรียนรู้ทางจิตที่ไม่ใช่วัตถุ การรู้เห็นทางจิตจึงเป็นการรู้ด้วยสติปัญญานามธรรม ดังนั้นการเห็นการรู้ของพระและของชาวบ้านจึงแตกต่างกัน
พระอาจารย์มั่นมีการติดต่อกับพวกกายทิพย์จากโลกวิญญาณเช่นเดียวกับมนุษย์ติดต่อไปมาหาสู่กันกับพวกมนุษย์ชาติต่าง ๆ ที่รู้ภาษากันนั่นเอง เพราะท่านชำนิชำนาญในทางนี้มานานแล้ว
การพบเห็นพวกวิญญาณของท่าน ไม่ใช่สิ่งลวงตาลวงใจหรือเป็นเพียงภาพมายา หากเป็นเรื่องจริงที่ท่านพิสูจน์เห็นแท้แน่นอนในทุกแง่ทุกมุมไม่มีผิดพลาด ท่านพักอยู่ในป่าในเขา โดยมากก็ได้ทำประโยชน์โปรดสัตว์อบรมสั่งสอนข้ออรรถธรรมแก่พวกกายทิพย์ แต่ละภูมิแต่ละชั้นตามภูมิปัญญาของแต่ละภูมิแต่ละชั้นให้พวกเขาได้ซาบซึ้งในอรรถธรรม
พวกชาวป่าชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เช่น อีก้อ ขมุ มูเซอ แม้วยางเหล่านี้ นับถือผีสางนางไม้ พระอาจารย์มั่นได้แผ่ธรรมะเข้าไปถึงชีวิตจิตใจพวกเขา ทำให้พวกเขาเคารพเลื่อมใสท่านมาก ทำให้ชาวป่าชาวเขาเป็นคนดีมีสัตย์มีศีลหันมานับถือพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
ที่มา ธรรมะของพระอรหันต์ สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น