คาถากันเจ็บของพระพุทธเจ้าใช้ควบคู่กับรักษาทางกายของแพทย์ “สมเด็จพระญาณสังวร” ทรงแนะนำว่าช่วยให้การรักษาหายไวนัก
สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฏ (มียอดเหมือนหัวแร้ง) ใกล้กรุงราชคฤห์ นครหลวงแห่งมคธรัฐ วันหนึ่งเสด็จไปบิณฑบาต ขณะเสด็จพระพุทธดำเนินอยู่ตอนล่าง พระเทวทัตขึ้นไปผลักหินก้อนใหญ่ให้กลิ้งลงมา เพื่อจะให้ทับพระองค์ให้แหลกลาญ
หินก้อนใหญ่นั้นกลิ้งลงมากระทบแง่หิน ๒ ก้อน ติดอยู่ไม่ถึงพระองค์ แต่สะเก็ดหินที่แตกเพราะแรงกระทบ กระเด็นไปต้องพระบาทเพียงให้เกิดอาการห้อพระโลหิต เกิดเวทนากล้า พวกภิกษุได้นำเสด็จไปยังสวนมะม่วงของชีวกโกมารภัจ แพทย์หลวงผู้มีชื่อเสียงในเวลานั้น
นายแพทย์ชีวกได้ถวายยาพอกอย่างแรงตรงที่ห้อพระโลหิต ได้กราบทูลลากลับเข้าไปเยี่ยมไข้ในเมือง เสร็จธุระแล้วได้รีบมาที่ประตูเพื่อออกจากเมือง แต่ไม่ทันเวลาเพราะประตูเมืองปิดเสียก่อน
จึงคิดเสียใจว่า ได้พอกยาอย่างแรงที่พระบาทของพระพุทธเจ้า ทิ้งไว้เหมือนพระองค์เป็นบุคคลสามัญ เวลานี้ก็เป็นเวลาที่จะแกะยาพอกออกได้แล้ว เมื่อไม่แกะออกก็จักเกิดความเร่าร้อนในพระวรกายตลอดคืน
ในขณะนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งให้พระอานนท์แกะยาพอกออก ตรงกับเวลาที่หมอชีวกคิดอยู่นั้น แผลช้ำเลือดที่พระบาท ได้หายเรียบร้อยดังปลิดทิ้ง
รุ่งเช้า พอประตูเมืองเปิดก่อนอรุณ นายแพทย์ชีวกรีบออกมาเฝ้า กราบทูลถามว่า ได้ทรงมีอาการเร่าร้อนในพระวรกายอย่างไร
พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่า "ความเร่าร้อนทั้งหมดของตถาคตสงบสิ้นแล้วที่ต้นโพธิในวันตรัสรู้" และได้ตรัสแปลคาถาแปลความว่า "ความเร่าร้อนไม่มีแก่ผู้ที่เดินทางสิ้นสุด หายโศก หลุดพ้นทุกสถาน เครื่องร้อยรัดหมดทุกอย่าง"
ตามพระพุทธประวัติ เมื่อพระพุทธเจ้าประชวร บางคราวทรงรักษาเองด้วยอำนาจขันติหรือจิตตานุภาพ บางคราวทรงให้หมอรักษาเหมือนบุคคลทั่วๆ ไป เพราะพระกายก็ต้องมีเกิด แก่ เจ็บ ตายเหมือนอย่างร่างกายของทุกๆ คน เมื่อเจ็บก็ต้องมีเวทนาเหมือนกัน
แต่คนเจ็บทั่วไปมีใจไปผูกพันอยู่กับเจ็บ กลัวเจ็บ กลัวตาย ใจจึงพลอยเจ็บ เร่าร้อนทุรนทุราย ส่วนพระพุทธเจ้าไม่ทรงผูกพันพระจิตอยู่กับความเจ็บ ไม่ทรงกลัวเจ็บกลัวตาย ปล่อยวางความเจ็บไว้ที่กาย เป็นเรื่องของกาย เป็นเรื่องของหมอจะรักษาไปอย่างไร จึงทรงเป็นผู้หลุดพ้นไม่มีความเร่าร้อน เพระทรงดับเสียได้เด็ดขาดแล้วตั้งแต่เวลาที่ตรัสรู้ ณ โพธิพฤกษ์ นี้แล คือ ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์
เมื่อเจ็บป่วยน่าจะใช้คาถากันเจ็บของพระพุทธเจ้า บทที่แปลไว้ข้างบนนี้ดูบ้าง แต่ต้องใช้ปฏิบัติให้ได้ดั่งคาถาเป็นเครื่องรักษาทางใจ ช่วยกับหมอที่รักษาทางกาย
พระนิพนธ์ในเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร
คัดลอกจากหนังสือเรื่อง วิธีการของพระพุทธเจ้า (หัวข้อ แม้เจ็บกายแต่ใจเย็น)
พิมพ์น้อมถวายเป็นวิทยาทานโดยมหามงกุฏราชวิทยาลัย ปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ หน้า ๕๗-๕๘
ที่มา FB:เพจวัดป่า@watpha
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น