---------------------------------------------------------
เนื่องในวันจักรี ๖ เมษายน เป็นวันที่รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมราชวงศ์จักรี ปราสาทพระเทพบิดร เปิดให้ประชาชนเข้ากราบบังคมพระบรมรูปพระบูรพมหากษัตริยาธิราชที่ประดิษฐานอยู่ภายใน ในการนี้จึงขอกล่าวถึงที่มาของการหล่อพระบรมรูป และการประดิษฐานพระบรมรูป เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า ปัจจุบันพระบรมรูปประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดรได้อย่างไร
---------------------------------------------------------
ตามโบราณราชประเพณี การสร้างพระรูปพระเจ้าแผ่นดินเป็นอนุสรณ์ ทำแต่เป็นพระพุทธรูปหรือเทวรูป เรียกว่า พระพุทธรูปหรือเทวรูปฉลองพระองค์
การสร้างพระรูปเหมือนพระองค์จริงนี้ เริ่มขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยในสมัยนั้นมีพระเจ้าแผ่นดินทางยุโรป ส่งพระรูปเหมือนพระองค์เข้ามาถวายเป็นบรรณาการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริที่จะทำพระบรมรูปเพื่อทรงพระราชทานตอบแทน ได้โปรดส่งพระบรมฉายาลักษณ์ออกไปให้ช่างฝรั่งปั้น แต่เมื่อทอดพระเนตรแล้วก็ไม่โปรด ด้วยฝรั่งได้แต่พระบรมฉายาลักษณ์ไป จึงปั้นแผกเพี้ยนไปจากพระองค์จริงมาก จึงทรงให้ช่างปั้นพระบรมรูปขึ้นใหม่ การสร้างพระบรมรูปเป็นมนุษย์จึงได้เริ่มแต่ในรัชกาลนี้
ส่วนการสร้างพระบรมรูปทั้ง ๔ รัชกาลนั้น สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ต้นรัชกาล คือใน พ.ศ.๒๔๑๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงสันนิษฐานว่า อาจเป็นพระราชดำริของรัชกาลที่ ๔ ซึ่งได้มีพระราชปรารภไว้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรืออาจจะเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอง ทำนองเดียวกับการสร้างพระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่คราวนี้มีพระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ หล่อเป็นพระรูปเหมือนจริงอยู่ จึงได้ทรงพระราชดำริที่จะสร้างพระบรมรูปโดยตรงขึ้นทั้ง ๔ รัชกาล
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงสืบสวนเรื่องนี้จากพระยามหานิเวศน์ ซึ่งปู่ของท่านได้เป็นผู้รู้เห็นในการสร้างพระบรมรูปในครั้งนี้ ได้ความว่าการสร้างเป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระราชประสงค์ที่จะไว้สักการบูชาในฐานะพระเทพบิดร จึงเป็นอันยุติว่า การสร้างพระบรมรูปเหมือนพระองค์เริ่มมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ทั้งได้ทรงพระราชดำริต่อไปที่จะสร้างพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตล่วงลับไปแล้วไว้สักการะอย่างพระเทพบิดรเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา
การสร้างพระบรมรูปทั้ง ๔ รัชกาลนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ อธิบดีกรมช่างสิบหมู่ เป็นผู้อำนวยการปั้นและหล่อ เมื่อปั้นหุ่นนั้นทราบได้แน่คือ ขนาดพระองค์ว่าสูงเท่าใด ด้วยมีพระพุทธรูปฉลองพระองค์อยู่ ส่วนพระรูปโฉมนั้นมีข้อลำบากอยู่ ที่เหลือผู้รู้เห็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์อยู่น้อยคน เท่าที่หาได้ในเวลานั้นมีเพียง ๔ คน คือ พระองค์เจ้าหญิงปุก พระราชธิดาในในรัชกาลที่ ๒ พระองค์๑ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี)วัดระฆังองค์๑ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี) คน๑ กับเจ้าพระยาธรรมาธิกรณบดี (ลมั่ง สนธิรัตน) คน๑ ส่วนรัชกาลอื่นๆ ยังเหลือผู้เคยเห็นพระองค์อยู่มาก จึงไม่มีข้อลำบากนัก การปั้นพระบรมรูปได้อาศัยท่านเหล่านี้ได้บอกพระลักษณะและคอยติให้ช่างแก้ไข จนกระทั่งเป็นที่รับกันว่าเหมือนจริง จนสำเร็จลง หล่อเป็นพระบรมรูปแล้วเสร็จในปีมะแม พ.ศ.๒๔๑๔
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงเล่าเรื่องการปั้นการหล่อในครั้งนี้ว่า
...ตอนแรกจำได้ว่าตั้งการปั้นหุ่นพระบรมรูปทั้ง ๔ พระองค์นั้น อยู่ที่ศาลารายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังข้างตะวันออกริมทางเสด็จขึ้นพระอุโบสถ ตอนที่ ๒ จำได้ว่าเสด็จพระราชดำเนินไปในการกาไหล่พระบรมรูปที่โรงหล่ออันตั้งอยู่ที่ศาลาสหทัยเดี๋ยวนี้ เห็นเขาเอาเหล็กร้อยพระองค์แต่พระบาททะลุออกพระเศียรเป็นแกน นอนพระบรมรูปเรียงกันผันพระเศียรไปทางเหนือ ที่หัวแกน ท้ายแกน ปักหลักรับ ที่ท้ายแกนมีกงพัดจับหมุนได้ ตรงกลางก่อเป็นเตาที่ติดไฟ ทรงปฏิบัติพระราชกิจอะไรบ้างจำไม่ได้ จำได้แต่เขาถือกงพัดหมุนพระบรมรูปไปช้าๆ...
และได้ทรงสรุปเวลาในการนี้ไว้ดังนี้
ปั้นหุ่น ปีมะเส็ง จ.ศ.๑๒๓๑ – พ.ศ.๒๔๑๒
หล่อ ปีมะแม จ.ศ.๑๒๓๓ – พ.ศ.๒๔๑๔
บัญญัติถวายบังคมประจำปี จ.ศ.๑๒๓๕ ปีระกา พ.ศ.๒๔๑๔
โดยพระบรมรูปได้อัญเชิญไปประดิษฐานยังสถานที่ต่างๆตามลำดับ ดังนี้
>>> เมื่อหล่อพระบรมรูปเสร็จ ได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางมุขตะวันออก มีเศวตฉัตรกั้นถวายทุกพระองค์
>>> ครั้นถึงปีระกา พ.ศ.๒๔๑๔ เมื่อสร้างตราจุลจอมเกล้า ได้ทรงพระราชปรารภให้มีการถวายบังคมพระรูปเนื่องกับการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จึงโปรดให้ย้ายพระบรมรูปไปประดิษฐานในพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เพื่อสะดวกในการถวายบังคม เพราะพระราชทานตราที่พระที่นั่งอนันตสมาคม (พระที่นั่งอนันตสมาคม ในหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ในสวนศิวาลัย ต่อมาได้รื้อลง เป็นคนละองค์กับพระที่นั่งอนันตสมาคมในปัจจุบัน) ทั้งได้ทรงพระราชดำริสืบไปว่าควรมีปราสาทสำหรับประดิษฐานโดยเฉพาะ
>>> จากพระราชดำริในคราวนั่น ต่อมาจึงได้กะการสร้างปราสาท ที่ในบริเวณระหว่างพระพุทธรัตนสถานกับพระกุฏิ เป็นปราสาทยอดปรางค์ เรียกกันว่า ปราสาทพระรูป แต่ทำค้างอยู่ คงเห็นขัดขวางด้วยเป็นที่อยู่ข้างใน ข้าราชการเข้าไปถวายบังคมไม่สะดวก จึงได้สร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทขึ้นเป็นที่ไว้ใหม่ มีพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมรูปไปประดิษฐานที่พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทในปี พ.ศ.๒๔๒๕ อันเป็นพระราชพิธีเนื่องในการสมโภชพระนครร้อยปี
>>> ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ทรงพระราชดำริว่าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๕ รัชกาล (หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพิ่มอีกพระองค์หนึ่ง ประดิษฐานร่วมกับพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อนหน้า) ซึ่งประดิษฐาน ณ พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท ยังไม่เหมาะแก่การพระราชพิธี จึงโปรดให้ซ่อมแปลงพุทธปรางค์ปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นที่ประดิษฐาน พระราชทานนามใหม่ว่า ปราสาทพระเทพบิดร ได้มีพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมรูปเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๖๑
---------------------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูลจาก :
- ความทรงจำ : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- สาส์นสมเด็จ เล่ม ๓ /สาส์นสมเด็จ เล่ม ๔ (ฉบับคุรุสภา ๒๕๑๕)
ภาพ : ภายในปราสาทพระเทพบิดร ถ่ายโดย : สิทธิโชค ปรีงาม. /วันอังคารที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๔
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น