22 เมษายน 2564

พระสถูปแห่งกบิลพัสดุ์และพระบรมสารีริกธาตุ

- อีกหนึ่งหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในทางประวัติศาสตร์
นอกจากจารึกที่ลุมพินีอันเป็นหลักฐานเชิงลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งอยู่ในยุคพระเจ้าอโศก ยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทรงมีตัวตนอยู่จริงและประสูติที่หมู่บ้านลุมพินี โบราณคดีได้มีการค้นพบหลักฐานที่เก่าแก่กว่านั้นและสอดคล้องตรงกับพระไตรปิฎกว่าด้วยพระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตหลังการปรินิพพาน ซึ่งได้ถูกแบ่งออกเป็น ๘ ส่วนไปยังเมืองต่างๆ หนึ่งในจำนวนนั้นคือเมืองกบิลพัสดุ์(Kapilvastu कपिलवस्तु) ของเหล่าเจ้าศากยวงศ์-ตระกูลสายโลหิตของพระศาสดา สถูปแห่งกบิลพัสดุ์ตั้งอยู่ใน ณ หมู่บ้านปิปราห์วา(Piprahwa पिपरहवा) ใกล้บิรดปูร์(Birdpur) ในรัฐอุตตรประเทศของอินเดีย มีหลักฐานสำคัญยิ่งต่อพุทธศาสนาที่เกี่ยวโยงถึงกัน ได้แก่

• พระบรมสารีริกธาตุเป็นชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์
• ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและจารึกอักษรพราหมีโบราณยืนยันว่าเป็นของ"พระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาค"
• อีกประการที่น่าสนใจมากคือโครงสร้างพระสถูปดั้งเดิมมีอายุเก่าแก่รุ่นก่อนพระเจ้าอโศก ร่วมสมัยกับระยะเวลาพระพุทธปรินิพพาน และวัสดุก็สมดังที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาทีเดียว บ่งชี้ว่าเป็นสถูปที่ถูกสร้างทันทีหลังการปรินิพพาน
• ในภายหลังได้รับการบูรณะในยุคต่อมาตรงกับสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชดังที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์พุทธอีกเช่นกัน
________________________

๐ การขุดค้นครั้งแรก

หลังการค้นพบเสาหินที่ลุมพินีพร้อมจารึกจากยุคพระเจ้าอโศก ในปี 1896 ที่รุมมินเด ใกล้ชายแดนประเทศเนปาล-อินเดีย ยืนยันว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า
ฤดูใบไม้ผลิปี 1897 วิลเลียม แคลกซ์ตัน เปปเป(William Claxton Peppe) วิศวการและเจ้าของที่ดินแห่งปิปราห์วาในสมัยอาณานิคมอังกฤษ ได้เริ่มต้นการขุดค้นเนินดินแห่งหนึ่งซึ่งดูโดดเด่นพิเศษกว่าเนินดินอื่นๆ ใกล้หมู่บ้านปิปราห์วา(Piprahwa) ในเขตบิร์ดปูร์(Birdpur) การตัดสินใจเริ่มขุดค้นครั้งนี้ของเขาอาจมาจากความเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น ตลอดปี 1896-1897 อินเดียภาคกลางและตะวันตกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากความทุพภิกขภัย อัตราการเสียชีวิตจากความอดอยากและโรคระบาดมีสูงมาก ความพยายามเช่นการขุดค้นที่ปิปราหวาอาจช่วยยกระดับขวัญกำลังใจและบรรเทาความอดอยากในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ซึ่งเปปเปในฐานะเจ้าของที่ดินก็ตระหนักถึงสิ่งนี้ดี

หลังจากหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านไปกับการขนย้ายดินและพงป่ารกชัฏที่ปกคลุมเนินดิน การขุดค้นเบื้องต้นพบโครงสร้างก่ออิฐเผาไฟสีแดงจำนวนมากหลังจากทำการขุดเพิ่มเติมเปิดเผยว่าตัวเองเป็นหลังคาโดมขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 130 ฟุต

• ต้นเดือนมกราคม 1898 จากโครงสร้างก่ออิฐหนา เปปเปขุดค้นต่อไปลึกลงไอีก 18 ฟุต และพบแผ่นหินขนาดมหึมาที่ต่อมาปรากฏว่าเป็นสิ่งปกปิดหีบหินทรายทรงสี่เหลี่ยมขนาดมหึมา
• ภายในหีบหินทรายพบภาชนะทำจากหินสบู่ 5 ใบ แต่ละใบสูงไม่เกิดน 7 นิ้วซึ่งบรรจุแก้วอัญมณีมีค่ามากมาย ได้แก่ ดวงดาวทำจากเหล็กและทองจำนวนหนึ่ง แผ่นทองคำที่ประดับตราสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา มุกหลายขนาดจำนวนมากซึ่งถูกหลอมรวมเข้าด้วยกันเป็นชุดละ 2,3,4 มีลูกปัดเจาะ, ดาว และดอกไม้ที่ตัดในคอร์เนเลียนสีแดงหรือสีขาว, หินเขี้ยวหนุมาน, บุษราคัม, โกเมน, ปะการังและคริสตัล
• ที่สำคัญคือหนึ่งในห้าผอบนั้น ผอบใบหนึ่งในมีชิ้นส่วนของเถ้ากระดูกมนุษย์ (พระบรมสารีริกธาตุ) บรรจุอยู่ภายใน พร้อมอักษรจารึกอักษรพราหมี ว่า:

𑀲𑀼𑀓𑀺𑀢𑀺𑀪𑀢𑀺𑀦𑀁 𑀲𑀪𑀕𑀺𑀦𑀺𑀓𑀦𑀁 𑀲𑀧𑀼𑀢𑀤𑀮𑀦𑀁 𑀇𑀬𑀁 𑀮𑀺𑀮𑀦𑀺𑀥𑀸𑀦𑁂 𑀩𑀼𑀥𑀲 𑀪𑀕𑀯𑀢𑁂 𑀲𑀓𑀺𑀬𑀦𑀁
[ สุกิติภตินํ สภคนิกนํ สปุตทลนํ อิยํ สลิลนิธเน พุธส ภควเต สกิยนํ ]

"นี่เป็นที่บรรจุพระสรีรธาตุแห่งพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาค ของเหล่าพี่น้องชายสุกิติตระกูลศากยะ พร้อมทั้งพี่น้องหญิง พร้อมทั้งบุตรและภรรยา"

จารึกนี้ให้ข้อมูลว่าชิ้นส่วนกระดูกเหล่านี้เป็นส่วนที่เหลือจากพระสรีระของพระพุทธเจ้าศากยมุนี -พระศาสดาของชาวพุทธ
________________________

ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกชั้นนำของยุโรปในยุคนั้นเป็นคนแรกถอดรหัสความหมายนี้คือ Georg Bühler ผู้เชี่ยวชาญด้านอินเดียและจารึกคนอื่นๆในยุคนั้นได้แก่ , Vincent Smith, William Hoey, Thomas Rhys Davids, and Emile Senart, John Fleet ต่างเห็นพ้องกับความหมายเดียวกันนี้ในเวลาต่อมา และยืนยันความเก่าแก่จริงแท้ของโบราณวัตถุ

*จากลักษณะจารึกอักษรพราหมีที่ผอบมีความแตกต่างและไม่ได้ระบุถึงมาตรฐานอาลักษณ์ของพระเจ้าอโศก จึงสันนิษฐานกันว่าผอบนี้มีอจมีอายุก่อนสมัยโมริยะ

*สำหรับบางคนที่ตั้งข้อสงสัยว่าผอบและจารึกอาจถูกปลอมแปลงขึ้นโดย เอ.เอ.ฟูห์เรอร์(Alois Anton Führer)-ผู้นำด้านโบราณคดีของรัฐบาลที่เป็นผู้แกะรหัสจารึกฉบับนี้คนแรก สมมุติฐานนี้ถูกปฏิเสธจากหลักฐานว่า อันที่จริงฟูห์เรอร์ได้มาถึงจุดเกิดเหตุในภายหลังการค้นพบถึง 4 สัปดาห์ หลักฐานภายในจดหมายของเปปเป, วินเซนต์ สมิธ และฟูห์เรอร์ ล้วนแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ฟูห์เรอร์ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงการขุดค้นและจารึกของเปปเปได้เลย อนึ่ง เนื้อความในจารึกบ่งถึงความเก่าแก่และเฉพาะถิ่นเป็นถ้อยความผิดปกติจากแหล่งอื่น (หากเป็นการปลอมแปลงเพื่อกล่าวอ้างน่าจะใช้ถ้อยความที่สื่อตรงๆและคนคุ้นเคย) ซึ่งในทุกกรณีชี้ชัดเจนว่าเป็นของแท้ดั้งเดิม

*ชิ้นส่วนพระบรมสารีริกธาตุดั้งเดิมนี้ได้ถูกส่งไปถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่๕) และปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ ภูเขาทอง วัดสระเกศ
________________________

๐ การขุดค้นครั้งต่อมา

ปี 1971-1973 ทีมโบราณคดีอินเดียนำโดย ศรีวาสตวะ(K.M. Srivastava) ได้ทำการขุดค้นพระสถูปแห่งปิปราห์วาต่อจากระดับที่เปปเปเคยค้นพบหีบศิลามาก่อนลึกลงไปอีกประมาณ 1 เมตร ในชั้นดินยุคก่อนราชวงศ์โมริยะและพบห้องกรุขนาดเล็ก 2 ห้องติดกับชั้นดาน (ดินธรรมชาติ) เยื้องไปทางทิศเหนือและทิศใต้จากตรงกลาง พบผอบหินสบู่ห้องละ 1 ใบ ผอบทั้งสองใบบรรจุชิ้นส่วนกระดูกที่ถูกเผามาก่อนรวมกัน 22 องค์ แม้ไม่ได้มีจารึกใดๆกำกับแต่ก็เชื่อว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุ ชั้นดินอยู่ในยุคเครื่องขัดเงาดำเหนือ(Northern Black Polished Ware) กำหนดอายุประมาณ 4-5 ศตวรรษก่อนค.ศ. อันเป็นช่วงเวลาที่ถือกันว่าพระพุทธเจ้าทรงพระชนม์ชีพ

*การค้นพบครั้งนี้ ซึ่งได้พบผอบหินสบู่ขัดเงา 2 ชิ้นในลักษณะศิลปะเดียวกันกับผอบหินสบู่ที่มีจารึกระบุว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุในหีบศิลาชั้นบนซึ่งถูกพบมาก่อนโดยเปปเป  จึงเชื่อว่าผอบทั้งสามนี้น่าจะถูกสร้างขึ้นในยุคเดียวกัน โดยพระเจ้าอโศกมหาราชได้เป็นผู้ให้ขุดค้นขึ้นมาและบรรจุใหม่ ส่วนหนึ่งทรงบรรจุในสถานที่ดั้งเดิม(ในชั้นดินที่ลึกกว่า)เพื่อแสดงความเคารพให้เกียรติแก่คนรุ่นก่อน(เจ้าศากยะที่บรรจุพระธาตุครั้งแรก) และทรงเลือกออกมาผอบหนึ่งพร้อมทำการจารึกแล้วทรงทำการบรรจุใหม่อย่างวิจิตรอลังการและเก็บไว้อย่างดีในหีบหินทรายเพื่อความแน่นหนามั่นคงพร้อมผอบที่ประดับด้วยเครื่องอัญมณีบูชาอีกสี่ใบ ตั้งไว้ในชั้นบนกว่า เพื่อทรงมีส่วนร่วมในการบูรณะและยกระดับพระสถูปนี้ให้มั่นคงถาวรและยิ่งใหญ่ขึ้น
________________________

๐ พระสถูปถูกสร้างทับซ้อนกันในสามสมัย
พระสถูปปิปราห์วา เป็นหนึ่งในการค้นพบทางโบราณคดียุคแรกสุดของอินเดียเท่าที่ค้นพบ และยังเป็นหลักฐานยืนยันการมีตัวตนของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมครูของชาวพุทธในฐานะบุคคลทางประวัติศาสตร์ โดยพระสถูปถูกสร้างขึ้นในสามยุคสมัย

1) ยุคแรกสุด 6-5 ศตวรรษก่อนค.ศ. ใกล้เคียงช่วงเวลาหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า โดยถูกก่อเป็นพูนด้วยดินเหนียวตามธรรมชาติของบริเวณรอบๆ ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเกี่ยวกับการก่อสร้างสถูปแบบเนินดินในสมัยช่วงพุทธกาล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 38.9 เมตรและสูง 0.9 เมตร

2) สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (น่าจะเสร็จสมบูรณ์หลังการสวรรคตของพระองค์ ประมาณ 253 ปีก่อนค.ศ.) ตามพระราชประสงค์จะสร้างสถูปเจดีย์ 84,000 องค์ทั่วชมพูทวีปเพื่อบรรจุพระสรีรธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ทรงนำพระสารีริกธาตุออกมาจากสถูปเดิมเพื่อแจกจ่ายไปยังสถูปแห่งอื่นๆ และปฏิสังขรณ์พระสถูปเก่านี้พร้อมบรรจุพระสารีริกธาตุส่วนหนึ่งกลับไปด้วย ที่ปิปราหวาพบว่ามีการบูรณะด้วยการเติมดินเหนียวหนาเข้าไปบนโครงสร้างและสร้างทับเป็นสองชั้นด้วยอิฐจากดินเหนียวเผาไฟทำด้วยฟางข้าวและลาดในรางดิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เมตร และสูง 4.55 เมตร

3) สมัยกุษาณะ พระสถูปได้รับการขยายใหญ่จนกระทั่งสูงถึง 6.35 เมตร พร้อมทั้งทำฐานสี่เหลี่ยม โดยรอบพระสถูปยังมีอารามทิศตะวันออกขนาด 45.11 x 41.14 เมตรซึ่งประกอบด้วยลานกลางภายในพร้อมห้องกุฏิเล็กรายรอบกว่า 30 ห้อง และยังมีอารามด้านตะวันตก เหนือ และใต้ด้วย ในพระอารามแห่งปิปราห์วานี้ยังมีถาดดินเผายุคกุษาณจารึกว่า "ของสงฆ์ในสังฆารามแห่งกบิลพัสดุ์" ยืนยันว่าที่นี้คือเมืองกบิลพัสดุ์
____________________________
หมายเหตุ:
* หลายท่านอาจสงสัยว่า ตระกูลศากยะโดนฆ่าทำลายล้างหมดสิ้นโดยความอาฆาตของพระเจ้าวิฑูฑภะผู้เป็นโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศลมิใช่หรือ? หลักฐานหลายฝ่ายในพุทธศาสนาทั้งสายเหนือและใต้ให้ร่องรอยว่า ตระกูลศากยะยังคงสืบทอดเชื้่อสายต่อมาหลังจากการทำลายล้างครั้งนั้น โดยส่วนหนึ่งอาจเล็ดรอดหนีไปได้จากกรุงกบิลพัสดุ์ และอีกส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเจ้าศากยะในเขตนิคมอื่น เนื่องจากมีเพียงเมืองหลวงของศากยะคือกบิลพัสดุ์เท่านั้นที่ถูกระบุว่าโดนทำลาย มิได้รวมศากยะในเมืองน้อยอื่นๆ
*ในเนปาลมีการอ้างว่า เมืองกบิลพัสด์ุนั้นได้แก่ ติเลาราโกต(तिलौराकोत) ในประเทศเนปาล แต่ที่อินเดียก็ถือว่า ปิปราห์วา(पिपरहवा) นี้คือกบิลพัสดุ์ อันที่จริงเป็นไปได้ว่าเมืองโบราณสองแห่งทั้งในอินเดียและเนปาลต่างเป็นกบิลพัสดุ์ทั้งสิ้นเพราะต่างก็มีหลักฐานทางโบราณคดี โดยติเลาราโกตในเนปาลน่าจะเป็นเมืองกบิลพัสดุ์เดิมที่เจ้าชายสิทธัตถะดำรงพระชนม์ชีพช่วง 29 ชันษาแรกก่อนการออกผนวช ส่วนปิปราหวาในอินเดียนี้น่าจะเป็นกบิลพัสดุ์ใหม่ที่เจ้าศากยะซึ่งเหลือรอดมาจากการทำลายล้างของวิฑูฑภะได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นและเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุหลังการปรินิพพานนี้แล

* Sukitibhatinaṃ sabhaginikanaṃ saputadalanaṃ iyaṃ salilanidhane budhasa bhavati sakiyanaṃ
[สุกิติภตินํ สภคนิกนํ สปุตทลนํ อิยํ สลิลนิธเน พุธส ภควเต สกิยนํ]
ปริวรรตเทียบเป็นบาลีภาษาว่า:
"สุกิตฺติภาตีนํ สภคินิกานํ สปุตฺตทารานํ อิทํ สรีรนิธานํ พุทฺธสฺส ภควโต สกฺยานํ" 
"นี่เป็นที่บรรจุพระสรีรธาตุแห่งพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาค [อันเป็นทานถวาย]ของเหล่าพี่น้องชายสุกิติตระกูลศากยะ พร้อมทั้งพี่น้องหญิง พร้อมทั้งบุตรและภรรยา"  *สุกิตติ= "มีเกียรติดีงาม" สุกิติภตินํ อาจแปลว่า "เหล่าพี่น้องผู้มีเกียรติงาม" แต่ดูเหมือนจะเป็นชื่อเฉพาะของบุคคลมากกว่า อันน่าจะเป็นผู้ที่ทำภาชนะบรรจุพระธาตุ(สลิลนิธน/สรีรนิธาน)ถวาย   *ในจารึกพราหมีไม่มีการแยกเสียงยาว-สั้น และมีรูปแบบที่แปลกของลิงค์ อย่าง 'อิยํ สลิลนิธเน' = บาลี: 'อยํ สรีรนิธาโน' บ่งชี้ว่าเป็นปุํลิงค์ ในขณะที่บาลี: อิทํ สรีรนิธานํ ควรเป็นนปุํสกลิงค์

อ้างอิง:
http://www.piprahwa.com/home
https://en.wikipedia.org/wiki/Piprahwa
q=%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%94%E0%B8%B8%E0%B9%8C%20%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%9B&epa=SEARCH_BOX
*สารคดีบีบีซี เรื่อง Bones Of The Buddha (กระดูกของพระพุทธเจ้า) ภาษาอังกฤษ อธิบายการค้นพบและแสดงหลักฐานยืนยันความแน่ชัดของพระบรมสารีริกธาตุและผอบบรรจุ
https://www.youtube.com/watch?v=yn3lk6xTF24
ข้อมูลเพิ่มเติมภาษาไทย:
https://www.facebook.com/search/top/?

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...