สมเด็จองค์ปฐมทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ดังนี้
๑. เรื่องที่ท่านฤๅษีบอกกับลูกๆ หลานๆ ว่า
ผู้ใดที่ไม่ทิ้งอภิญญาสมาบัติ หรือ มโนมยิทธิ แม้ท่านเองจะทิ้งขันธ์ ๕ ไปแล้ว ก็ยังเหมือนท่านอยู่ใกล้ๆ
เพราะเมื่อท่านฤๅษีละขันธ์ ๕ ไปแล้ว กายจริงๆ ก็คือจิต หรืออาทิสมานกาย ซึ่งลูกๆ หลานๆ ศิษย์ทุกคน จักเห็นท่านได้ด้วยกำลัง อภิญญาสมาบัติหรือ มโนมยิทธินั้น กำหนดจิตที่ใดก็เห็นท่านอยู่ทุกที่ ดังนั้น จึงได้ชื่อว่าท่านอยู่ใกล้ๆ
๒. จิตถึงจิตนี่แหละเป็นของจริง ในพระพุทธศาสนานี้ กำลังของจิตมีอำนาจมหาศาล อยู่คนละภพคนละชาติ หรืออีกฝ่ายหนึ่งอยู่ในดินแดนอมตะ ก็ยังสื่อสารเชื่อมโยงถึงกันได้ด้วยอำนาจแห่งจิตที่มีกำลังนั้น
๓. บุคคลผู้เข้าถึงศีล - สมาธิ - ปัญญาพร้อม
ความมั่นคงของจิตก็จักเกิดขึ้นได้มากยิ่งกว่าปุถุชน ที่ทรงฌานโลกีย์ อำนาจกำลังของจิตที่จักรู้ในภพต่างๆ ชาติต่างๆ หรือดินแดนอมตะ ก็จักไม่เสื่อม รู้จริง - เห็นจริง - ทราบจริงอยู่ในจิตของบุคคลผู้นั้น มีความมั่นใจในตนเองทุกๆ เมื่อ คำว่าหลงตายไม่มีสำหรับบุคคลผู้นั้น
ขอเพียงแต่อย่าติดเปลือก คือ ร่างกายของคนหรือสัตว์ ให้มองทะลุเปลือกเข้าไปถึงภายในแล้ว จิตก็จักเชื่อมโยงถึงกันและกันได้ สื่อสารเป็นความรู้ ความเข้าใจถึงกันและกันได้ด้วยภาษาของจิต นั่นแหละเป็นของจริงในพระพุทธศาสนา
๔. เพื่อนของผมก็เห็นหลวงพ่อท่านนั่งยิ้มอยู่ ท่านผ่องใสเป็นสุขอย่างยิ่ง ท่านพูดว่า ก็เพราะไม่มีขันธ์ ๕ น่ะซิ จึงได้สุขอย่างนี้ การไม่เกิดมีขันธ์ ๕ หรือร่างกายอีกจึงเป็นยอดของความสุขเตสังวู (สังโว) ปะสะโม สุขโข อันเดียวกัน
๕. ทรงตรัสว่า ถ้าต้องการจะเป็นสุขอย่างท่านฤๅษี ก็จงตั้งจิตให้มั่นคงเข้าไว้ เพียรละสังโยชน์ทั้ง ๗ ประการที่คั่งค้างอยู่ในจิต อย่าท้อแท้ กำหนดรู้ทั้งวิธีตัดสังโยชน์ ใช้กรรมฐานให้ถูกกอง แก้จริตที่ยังละไม่ได้อย่างไม่หยุดยั้ง วันหนึ่งข้างหน้าคำนี้ ก็จักเกิดแก่เจ้าเอง นิพพานังปรมัง สุขัง หรือ เตสังวู ปะสะโม สุโข นั่นแหละเหมือนกัน
รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น