เคยสงสัยมั้ย ว่าทำไมกรมสมเด็จพระเทพรัตน์ ไปปลูกบ้านอยู่ที่อุทัยธานี
บ้านสะแกกรัง ภูมิบ้านภูมิเมืองต้นราชวงศ์จักรี
บ้านสะแกกรังเป็นเมืองพระชนกจักรี ซึ่งมีหลักฐานจากพระราชหัตถเลขาระบุว่า บ้านสะแกกรังหรือจังหวัดอุทัยธานีวันนี้ คือ ถิ่นกำเนิดของพระชนกแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี อันเป็นภูมิสถานที่ตั้งอยู่กลางประเทศไทย
เรื่องราวของ สมเด็จพระปฐมบรมชนกนาถ ผู้เป็นพระชนกแห่งรัชกาลที่ 1 นั้นหม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย ดิศกุล พระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ประทานความรู้และแนะนำให้นายพลาดิศัย สิทธิธัญกิจ ผู้เป็นศิษย์ได้ทำการศึกษาค้นคว้าและนำเสนอจังหวัดอุทัยธานี
โดยนายเวทย์ นิจถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี และนายน้อย มัทธวรัตน์ ประธานสภาจังหวัดอุทัยธานีให้ความเห็นชอบและเสนอกระทรวงมหาดไทยริเริ่มโครงการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมชนกขึ้น
โดยมีการจัดงาน"ลุ่มน้ำสะแกรังและกาชาดอุทัยธานี"หาทุนและรับการบริจาคจากชาวอุทัยธานี จนสามารถสร้างจนสำเร็จ พร้อมกับขอใช้รูปพลับพลาอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นตราจังหวัดอุทัยธานีจนทุกวันนี้
............................................................................
สมเด็จพระปฐมบรมชนกนาถ เดิมชื่อว่า "ทองดี" เป็นบุตรคนโตของพระยาราชนิกูล ( ทองคำ)
พระยาราชนิกูล ( ทองคำ) เป็นบุตรของเจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง)
เจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) เป็นบุตรของโกษาปานผู้สืบเชื้อสายมาแต่กรมพระเทพามาตย์หรือเจ้าแม่วัดดุสิต
............................................................................
ท่านเกิดใน แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมโกษฐ์ ซึ่งถือกำเนิดที่ "บ้านสะแกกรัง" เมืองอุทัยธานี
เมื่อครั้งพระยาราชนิกูลเป็นจมื่นมหาสนิท มหาดเล็กในเจ้าฟ้าเพชร ที่ออกมาตั้งบ้านเรือนที่บ้านสะแกกรังในแผ่นดินพระเจ้าเสือ ต่อมามีความชอบที่ช่วยให้เจ้าฟ้าเพชร ได้ครองราชย์เป็น พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ จึงได้ย้ายครอบครัวเข้าไปรับราชการและตั้งบ้านเรือนอยู่ในกรุงศรีอยุธยา แถววัดสุวรรณดาราราม
นายทองดี นั้นได้ถวายตัวเข้ารับราชการอยู่กับบิดาในกรมมหาดไทย และแต่งงานกับดาวเรือง ต่อมานายทองดีได้รับแต่งตั้งเป็น หลวงพินิจอักษร และเป็นพระอักษรสุนทรศาสตร์ เสมียนตรากรมมหาดไทย
พระอักษรสุนทรศาสตร์กับคุณดาวเรืองนั้น มีบุตรธิดา 5 คน ภายหลังได้รับพระอิริยยศในการสถาปนาพระบรมวงศานุวงศ์ วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2338 ดังนี้
1.สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระเทพสุดาวดี (สา)
2.พระเจ้ารามรงค์
3.สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว)
4.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ทองด้วง)
5.สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระราชวังบวรเจ้ามหาสุรสิงหนาท (บุญมา)
หลังจากเกิดเหตุการเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่านั้น พระอักษรสุนทรศาสตร์ได้หลบไปอยู่ที่เมืองพิษณุโลกกับคุณบุญมา ภรรยาน้อย และสิ้นชีวิตที่นั่น
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้สถาปนาราชวงศ์จักรีแล้ว จึงอัญเชิญพระอัฐิของพระชนกมาสถาปนาเป็น "สมเด็จพระชนกาธิบดี" เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2338 เช่นเดียวกันพร้อมกับทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างมหาเวชยันต์ราชรถขึ้นเพื่อใช้ในงานถวายพระเพลิงพระอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดีพระองค์นี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- อาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม 2553 พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ และชมรมประวัติศาสตร์สยาม
ภาพประกอบ ยอดเขาสะแกกรัง และพระบรมรูปของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ
ที่มา.............................................................
อัษฎางค์ ยมนาค
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น