วิญญาณไม่ใช่จิต
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง.
"สักกายทิฎฐิ" เห็นว่าร่างกายนี้ ไม่ใช่ของเรา
เราไม่มีในกายกายไม่มีในเรา ท่านละความเห็นว่า
เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์บุคคลเราเขาเสียได้
โดยเห็นว่า..
"ร่างกาย" นี้เป็นเพียงแต่ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
ประชุมกันชั่วคราวเป็นที่อาศัยของนามธรรม คือ..
"เวทนา" ความรู้สึกสุขทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์
คืออารมณ์วางเฉยจากอารมณ์สุขทุกข์
"สัญญา" มีความจดจำเรื่องราวที่ล่วงมาแล้ว
"สังขาร" อารมณ์ชั่วร้ายและอารมณ์เมตตาปรานี
สดชื่นอันเกิดต่ออารมณ์ที่เป็นกุศล คือความดี
และอารมณ์ที่เป็นอกุศลคือความชั่ว ที่เรียกกันว่า
อารมณ์เป็นบุญและอารมณ์เป็นบาปที่คอยเข้า
ควบคุมใจ
"วิญญาณ" คือ ความรู้ หนาว ร้อนหิวกระหายเผ็ด
เปรี้ยวหวานมันเค็ม และการสัมผัสถูกต้องเป็นต้น...วิญญาณนี้ไม่ใช่ตัวนึกคิด ตัวนึกคิดนั้นคือจิต
วิญญาณ กับ "จิต" นี้คนละอัน แต่นักแต่งหนังสือ
มักจะเอาไปเขียนเป็นอันเดียวกันทำให้เข้าใจเขว
ควรจะแยกกันเสีย เพื่อความเข้าใจง่าย
อีกสิ่งหนึ่งที่เข้ามาอาศัยกาย และไม่ตายร่วมกับ
ร่างกาย สิ่งนั้นก็คือ "จิต" เวทนา สัญญา สังขาร
วิญญาณนี้ ตายร่วมกับร่างกาย คือ กายตาย
ก็ตายด้วย
แต่ จิตที่เข้ามาอาศัยกายนี้ เข้ามาอาศัยชั่วคราว
เมื่อกายตั้งอยู่ คือดำรงอยู่ร่วมพร้อมกับ เวทนา
สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตก็อาศัยอยู่
แต่ ถ้าขันธ์ ๕ มีร่างกายเป็นประธานตายแล้ว
จิตก็ท่องเที่ยวไปแสวงหาที่อาศัยใหม่ คำว่า "เรา"
ในที่นี้ท่านหมายเอา "จิต" ที่เข้ามาอาศัยกาย
เมื่อท่านทราบอย่างนี้..
"ท่านจึงไม่หนักใจและผูกใจว่าขันธ์ ๕ คือร่างกายนี้
เป็นเรา เป็นของเรา เราไม่มีในกาย กายไม่มีในเรา
เราคือจิตที่เข้ามาอาศัยในกายคือขันธ์ ๕ นี้ ขันธ์ ๕
ถ้าทรงอยู่ได้รักษาได้ก็อาศัยต่อไป ถ้าผุพังแล้ว
ท่านก็ไม่หนักใจ ไม่ตกใจ ไม่เสียดายห่วงใยใน
ขันธ์ ๕ ท่านปล่อยไปตามกฎของธรรมดา
เสมือนกับคนอาศัยรถหรือเรือโดยสารเมื่อยังไม่ถึง
เวลาลงก็นั่งไป แต่ถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไร
ก็ลงจากรถจากเรือ โดยไม่คิดห่วงใย เสียดายรถ
หรือเรือโดยสารนั้น เพราะทราบแล้วว่ามันไม่ใช่
ของเรา เขาก็ไม่ใช่เรา เราก็ไปตามทางของเรา
ส่วนรถเรือโดยสารก็ไปตามทางของเขา ต่างคน
ต่างไม่มีห่วงใย พระอรหันต์ทั้งหลายท่านมี
ความรู้สึกอย่างนี้.."
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น