อย่าไปห่วงชาติบ้านเมืองให้มากนัก เพราะมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นเอง แม้จักมีการโกงบ้าน - กินเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขายกิจการรัฐวิสาหกิจ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวไปจนหมดสิ้น ก็จงอย่ากังวลว่าไทยจักสิ้นชาติ จงอย่าเพิ่งเบื่อหน่าย - ท้อใจ กับพฤติกรรมของคนบางคน ให้เห็นเป็นธรรมดาของโลกว่ามันเป็นปกติธรรมของมันอยู่อย่างนั้นเอง
การมีสติกำหนดรู้อารมณ์ตนเองอยู่เสมอ คือผู้ไม่ประมาท หากมีอานาปาเข้มแข็ง จิตย่อมมีกำลัง และพร้อมด้วยสติ - สัมปชัญญะ ทำให้ขณะนั้นจะมีสมาธิ - ปัญญามั่นคง สู้กับกิเลสได้ โดยใช้หลักกรรมทั้งปลายมาแต่เหตุ เป็นหลักสำคัญในการแก้ปัญหา ซึ่งก็คืออริยสัจ อันเป็นปัญญาสูงสุดในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ต่างก็บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยอริยสัจ และพระอรหันต์ทุกองค์ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ด้วยอริยสัจด้วยกันทั้งสิ้น มีทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี
จงรักษาศีลให้บริสุทธิ์ตามกำลังของตน ไม่ว่าจักเป็นศีล ๕ - ศีล ๘ หรือศีล ๒๒๗ เพราะศีลเป็นแม่ของพระธรรม-เป็นมารดาของพระพุทธศาสนา-เป็นรากฐานของการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา ทุกคนที่เข้ามาในพุทธศาสนาต่างเข้ามาด้วยความศรัทธา เมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องเริ่มต้นด้วยการมีศีลก่อนทั้งสิ้น ศีลป้องกันอบายภูมิทั้ง ๔ ได้อย่างถาวร คุณของศีลมีมากสุดจะบรรยายให้หมดได้ คนฉลาดจึงรีบรักษาศีล ๕ ให้ครบ กันนรกไว้ก่อน เพราะความตายเป็นของเที่ยง แต่ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง
ทำจิตให้ว่างจากกิเลสทุกครั้งก่อนจักนอน วางภาระทั้งปวงของจิตลงเสีย และมองพระนิพพานให้ชัดเจน ด้วยจิตอันผ่องใสนั้น แล้วจึงนอน
ทำใจให้สบาย อย่าไปกังวล อันใดจักเกิดมันก็ต้องเกิด ผลดีหรือผลเสียย่อมไม่เกิดแก่ผู้ไม่ยึดติด การทำจิตเพื่อพระนิพาน คือการปล่อยวางทุกอย่าง ให้เป็นไปตามกฎของกรรม ไม่ฝืนกฎของกรรม
กำลังใจเท่านั้นที่จักสำคัญมากที่สุดในการปฏิบัติให้ดำรงอยู่ในธรรม หากกำลังใจตก ให้ดูบารมี ๑๐ พร่องข้อไหนรีบแก้ไข ทำเสียให้เต็ม และดูเทวธรรม และพรหมธรรม หรือพรหมวิหาร ๔ ด้วย อาทิ - ตัวเมตตา จะต้องเมตตาตนเองก่อนเสมอ เพราะสิ่งที่เรารักที่สุดในโลกก็คือ ตัวเรา หากเราขาดเมตตา ก็จะเผลอทำร้ายตัวเองอยู่เสมอ ตัวเราคือจิต วันหนึ่งๆ จึงไม่มีใครมาทำร้ายเราได้มากเท่ากับ อารมณ์จิตของเราเองทำร้ายจิตเราเอง จากอารมณ์ ๒ พอใจกับไม่พอใจ เมื่อถูกกระทบด้วยอายตนะสัมผัสทั้งหก จิตก็หวั่นไหวไปกับสิ่งกระทบนั้น ๆ ทำให้เกิดอารมณ์พอใจ กับไม่พอใจ นักปฏิบัติธรรมจึงต้องรู้อารมณ์จิตตนเองอยู่เสมอ และสามารถปรับอารมณ์ - แก้ไขอารมณ์ของตนเองอยู่เสมอตลอดเวลา
- ตัวกรุณา จะต้องกรุณาจิตตนก่อน แต่ส่วนมากมักเผลอจุดไฟเผาใจตนเอง ตัวกรุณาจึงเกิดยาก เพราะไม่สำรวมอายตนะใจ - ขาดสติ - สัมปชัญญะ
- ตัวมุฑิตาจิต หรือจิตอ่อนโยน และเยือกเย็น จะต้องทำให้เกิดมีกับเราก่อนจึงจะเป็นของจริง แล้วส่งออกไปยินดีกับผู้อื่นที่เขาได้ดี มิฉะนั้นก็เหมือนหลอกเขาและหลอกตนเอง ขาดเทว ธรรม
- ตัวอุเบกขา จึงเป็นธรรมที่ทำได้ยากยิ่ง หาก ๓ ตัวแรกก็ยังทำไม่ได้ ก็จงอย่าพึงหวังว่าธรรมอุเบกขา หรืออุเบกขาธรรมจะเกิดขึ้น
สรุป พระธรรมในพุทธศาสนาพูดง่าย แต่ทำยาก จึงเสี่ยงต่ออบายภูมิ ๔ เพราะจำมาผิด - ตีความหมายผิดและเข้าใจผิด บางคนศีล ๕ ข้อยังไม่มีในตน ก็ออกมาแสดงธรรม
ที่มา
จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๑๗ รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน คัดลอกโดย ด.ญ.ปุณยนุช ขจรนิธิพร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น