ผอบชิ้นนี้ขุดพบในสถูปหมายเลข 2 ที่เมืองโสนาริ ห่างจากเมืองสาญจี ประเทศอินเดีย ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 6 ไมล์ในปี ค.ศ. 1851 โดย อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (Alexander Cunningham) และ เอฟ. ซี. ไมเซย์ (F.C. Maisey) ผอบนี้ทำจากหินสเตทไทต์กลึงจนกลมเป็นสองส่วนบนฐานรองทรงกลมที่อยู่เหนือเกลียวสี่ชั้น บางทีอาจหมายถึงฉัตร
ภายในพบว่ามีกระดูกที่เผาแล้วหนึ่งชิ้น มีลักษณะเป็นกระดูกที่เผาจนขาวนวล ส่วนบนของผอบสลักด้วยอักขระพราหมีภาษาปรากฤตความว่า "สปุริสสะ มัฌิมาสะ โกทินิปุตสะ"
"สปุริสะ" คือ สัปบุรุษ หมายถึง คนดี คนสงบ คนที่พร้อมมูลด้วยธรรม หรือแปลว่าผู้หลุดพ้น (emancipated) ส่วนชื่อ "มัฌิมาสะ โกทินิปุตสะ" คือพระมัชฌิมะ เป็นลูก (ปุตสะ) อยู่ในตระกูลโกทินิ (คาดว่าเป็นชื่อภาษาปรากฤตของคำว่า "โกณฑัญญะ") ซึ่งอาจหมายความว่าท่านเป็นลูกของคนชื่อโกณฑัญญะก็ได้ หรืออาจเป็นธรรมทายาทในสายของพระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้เหมือนกัน
ในมหาวงศ์พงศาวดารลังกาบันทึกว่า ท่านคือพระธรรมทูตที่เดินทางไปประกาศพระศาสนาที่ภาคกลางของหิมาลัยพร้อมกับพระสงฆ์อีก 4 รูป หลังจากการสังคายนาครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองปาฏลีบุตร (ปัฏนา) ในปีที่ 18 ของรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. 273-232)
ดังนั้น นี่คือหลักฐานสำคัญของพระเถระที่ช่วยเผยแผ่พุทธศาสนาครั้งใหญ่ในยุคสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช จนทุกวันนี้ พุทธศาสนาก็ยังรุ่งเรืองอยู่ในแถบหิมาลัย คือ ตอนเหนือของอินเดีย เนปาล ทิเบต และภูฏาน
ปัจจุบัน ผอบนี้อยู่ที่ Victoria and Albert Museum กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น