(หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย)
อุบาสกกราบเรียน
กระผมเข้าใจแล้วครับท่านอาจารย์ กระผมอยากจะทราบวิธีดำเนินของฤๅษีที่เขาเจริญฌาน เขาทำอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ
อาตมาได้ศึกษาและปฏิบัติน้อย เห็นว่าไม่ใช่ทางโลกุตตระเลยหยุด จึงเป็นเหตุให้รู้น้อย จะอธิบายเท่าที่รู้เห็นดังต่อไปนี้ วิธีเจริญกสิณฌาน จุดประสงค์เบื้องต้นต้องการสร้างสติให้มีพลังสูงเหนือจิตใจ วิธีสร้างสติเขาทำกันอย่างนี้ คือเขานำดินสีขาว หรือสีแดงเขียนวงกลมแบบเลขศูนย์ติดฝากุฏิหรือต้นเสา หรือเขียนใส่ป้ายนำไปติดไว้ตรงที่ตนเองเห็นว่าเป็นที่เงียบสงัดจากฝูงคนพลุกพล่าน อิริยาบถใช้ประกอบเจริญกสิณฌาน สามอิริยาบถ คือ ยืน นั่ง นอน ตัวอย่างมีอย่างนี้ ถอยออกจากป้ายให้มองดูที่เลขศูนย์ ให้เห็นถนัดพอดี เมื่อรู้ว่าพอดีแล้วให้ลืมตามองดูอยู่อย่างนั้น ทำได้ทั้งสามอิริยาบถ ให้มีสติระลึกรู้อยู่เฉพาะวงกสิณ เมื่อเผลอสติจิตคิดไปต่ออารมณ์อื่น เมื่อมีสติระลึกรู้ ให้รีบกลับเข้ามารับรู้ที่ดวงกสิณทันที พยายามทำอยู่อย่างนี้เสมอๆ จนกว่าสติจะมีกำลังสูงกว่าจิต จนบังคับจิตให้รู้เฉพาะวงกสิณ ความระลึกรู้จนกลายเป็นชวนะจิตอยู่ในอำนาจของสติไม่นอกเหนืออำนาจของสติไปได้ เพราะคลื่นของสติมันถี่จนเป็นเหตุให้บังคับจิตรับรู้อยู่เฉพาะกสิณ เมื่อเห็นว่าสติต้อนจิตอยู่ในอำนาจของมันได้แล้ว ให้หลับตาลองดูจะปรากฏดวงกสิณเป็นนิมิตติดตาอยู่ไหม เมื่อปรากฏดวงกสิณติดตาอยู่ให้เพ่งหรือรับรู้ที่ดวงกสิณนั้น อย่าได้คิดไปในทางอื่นเลยเป็นอันขาด ต่อไปจิตกับสติเป็นอันเดียวกัน เขาเรียกว่า มรรคสมังคี เมื่อทำความรู้อยู่เฉพาะดวงกสิณได้ก็เรียกว่า เอกัคคตารมณ์ คืออารมณ์เป็นอันเดียว เมื่อปรากฏดวงกสิณเด่นเป็นนิมิตอยู่เรียกว่าได้อุคคหนิมิต ต่อไปสั่งดวงกสิณให้ห่างออกไป ปรากฏว่าดวงกสิณลอยห่างออกไปจริงๆ สั่งให้เข้ามาปรากฏว่าดวงกสิณลอยเข้ามาใกล้จริงๆ เมื่อเป็นได้อย่างนี้ เรียกว่าสติมีพลังเหนือจิต หรือจะพูดว่าจิตกับสติสมังคีกันเต็มที่ก็ได้ ต่อไปจะลืมกาย เหมือนความรู้ทั้งหมดเข้าไปอยู่ที่ดวงกสิณแล้วสั่งดวงกสิณให้ขยายตัวออกให้กว้าง ปรากฏว่ากว้างออกจริงๆ จิตไม่งอแงคัดค้านกับสติตัวสั่ง สติสั่งให้กสิณหดตัวเข้าให้เล็กเท่าเดิม ทำอยู่อย่างนี้จนชำนาญให้ไวที่สุดเท่าที่จะไวได้ ทำได้อย่างนี้เรียกว่า ผู้ได้ปฏิภาคนิมิตภายนอก ต่อจากนั้นไป หนึ่งให้ ๑. รับรู้เรื่องกาย...ให้กายเป็นดวงกสิณ สั่งกายให้ใหญ่ให้เล็กให้ชำนาญเหมือนดวงกสิณ เรียกว่าผู้ได้ปฏิภาคนิมิตภายใน
๒. สอง...ต่อจากนั้นไปปรากฏว่าเบา สั่งให้ลอยขึ้นปรากฏว่าลอยจริงๆ นี้เรียกว่าเจริญเพื่ออิทธิฤทธิ์ในทางกาย เป็นอันได้ความว่าฤทธิ์ที่หนึ่งก็สำเร็จขึ้น เรียกว่าผู้ถึงรูปฌาน รูปฌานของฤๅษีมีอย่างนี้ ส่วนรูปฌานอื่นๆ เขาทำดุจเดียวกันนี้ แต่เขาเจริญตามธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ น้ำเพื่อดำดิน ลมเพื่อให้แรง สำหรับต่อสู้เหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเป็นอันตรายแก่ตัว ไฟสำหรับเผาผลาญ ที่เขาเรียกว่าฤๅษีตาไฟมีอยู่อย่างนี้ รูปฌานสี่ของฤๅษีจบเพียงเท่านี้
วิธีเจริญฤทธิ์ในทางอรูปฌานคือ หมายถึงในทางจิตใจ ไม่ได้นำมาประกอบในทางกายเพื่อจะให้ ดำดินบินบนอะไรเลย เป็นฤทธิ์ในทางใจ วิธีทำเขามีอย่างนี้ คือ สมมุติคนที่ทำยากให้เพ่งอากาศ คือช่องว่าง หมายถึงความโปร่งโล่งบนอากาศ หรือบางทีเขาให้เพ่งบริกรรมว่าไม่มี ทั้งหมดจุดประสงค์จะไม่ให้จิตปรากฏว่ามีกายทับอยู่ เพราะต้องการจะนำจิตออกไปหารู้สิ่งต่างๆ ตัวอย่างเช่น ตาทิพย์ หูทิพย์ ไม่ใช่ตาอิงประสาทตา หูอิงประสาทหูอย่างที่เราได้เห็นได้ยินอยู่ปัจจุบันนี้ แต่อาศัยจิตได้ยินได้เห็นเพราะนำจิตออกจากร่างไปดู จุดประสงค์ต้องการพยากรณ์สิ่งต่างๆ ให้ถูกต้องได้ จุดประสงค์มีเพียงเท่านี้ ตามจุดประสงค์ของความต้องการมีอยู่ ๔ อย่าง ๑. ลาภ ๒. ยศ ๓. สรรเสริญ ๔. ความสุข จุดประสงค์ของผู้เจริญกสิณฌานเท่าที่ดูมีเพียงเท่านี้ ลาภยศสรรเสริญ เป็นเพียงสมบัติของโลก และเป็นความปรารถนาของคนในโลก อันความสุขนั้นเป็นเพียงกามสุข ไม่ใช่บรมสุข ขอให้คิดดูสิ่งที่ต้องการเพียงแค่อาหารของกิเลส หรือฤทธิ์อำนาจต่างๆ ใน #เมื่อผู้เจริญได้ในสมัยโน้นเขาจัดว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เขาจะนิมนต์หรือเป็นเจ้าพิธีต่างๆ เรียกว่าเป็นผู้มีเกียรติ เขานับถือว่าเป็นผู้เด่น ก็เรียกว่าผู้มียศ ลาภสักการะ ก็ย่อมเจริญมีแก่ท่าน ผู้ที่ยังไม่ได้ที่ยังไม่ถึงก็ดิ้นรนกันดูๆ ความต้องการและจุดประสงค์ ก็ควรเรียกว่า พิธีทางไสยศาสตร์ หรือศาสนาไสยศาสตร์ก็เรียก นี่แหละอุบาสกดูให้ดีๆ จุดเจตนาทุกอย่างเท่าที่อาตมาได้ดำเนินและได้ฟังเสียงหมู่คณะที่พูดกัน ฟังที่เจตนาคือความต้องการแล้ว ไม่เป็นไปเพื่อทำลายกิเลสตัณหาเลย ความต้องการทั้งหมดอาศัยกิเลสตัณหาให้ต้องการอยากได้อยากทำ เมื่อเขาทำไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาต้องการ เรียกว่าเริ่มทำหน้าที่ของกิเลสตัณหา จึงเรียกว่าผู้เป็นทาสของกิเลสตัณหา เมื่อปล่อยให้กิเลสตัณหาเป็นเจ้านายนำพาอย่างนี้ยังจะเรียกว่าโลกุตตระอยู่อีกหรือ อาตมาเชื่อมาอย่างนี้ว่าผู้มีเจตนาอย่างนี้จะไม่ได้รับปริญญาบัตรของพระพุทธเจ้าเลย ถึงแม้ผู้ดำเนินอยู่ในพระพุทธศาสนาของเราหากมีจุดเจตนาอย่างนี้ไม่มีทางที่จะได้รับปริญญาบัตรเหมือนกัน ถึงแม้จะได้ปริญญาบัตรคงได้ปริญญาบัตรของปุถุชน
............
#ศาสนาไสยศาสตร์เกิดขึ้นมาได้เพราะความกลัว ตัวอย่าง การสู้รบ สงคราม คนเมื่อเข้าสงครามไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว มีแต่เรื่องกลัว ไม่กล้าหาญ เมื่อได้เครื่องรางของขลังและวิชาอาคม ทำให้เกิดความอบอุ่นและกล้าหาญและอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น กลัวอสุนิบาต ฟ้าผ่า ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น และกลัวทุกข์ มีการเจ็บป่วย เขาเข้าใจว่าจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์นำพาให้เป็นไปเหล่านี้เป็นต้น และอื่นๆ อีกมากมาย สรุปแล้วได้ความว่า ศาสนาไสยศาสตร์เกิดขึ้นมาได้เพราะความกลัว และความทุกข์ เพราะว่ามีความกลัวแล้วก็ต้องมีทุกข์ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้ครูบาอาจารย์ในสมัยนั้นค้นคิดหาสิ่งป้องกัน และหาวิธีทำให้อบอุ่น เพราะมีสิ่งยึดเหนี่ยวมิให้กลัวจนสำเร็จขึ้น จึงให้นามว่า" ศาสนาไสยศาสตร์ " หรือศาสนาพราหมณ์ก็เรียก โดยจุดประสงค์ต้องการจะให้คนพ้นไปเสียจากความทุกข์ แต่ขอให้อุบาสกคิดเองมันจะนำให้คนพ้นทุกข์ได้จริงไหม สำหรับพระพุทธองค์คงไม่มองเห็นว่าหมดทุกข์ได้จริง เป็นเพียงระงับทุกข์ชั่วคราว เมื่อพวกเราพิสูจน์ตามความเป็นจริงแล้วก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะมานึกถึงสาเหตุของความทุกข์ ได้แก่กิเลสตัณหา เมื่อมาพิจารณาตามทางไสยศาสตร์แล้ว ไม่เห็นทางที่กิเลสตัณหาจะหลุดไปได้ หรือบางทีอาจเพิ่มให้กิเลสมากขึ้นก็ได้ หรืออาจจะสร้างความทุกข์ให้แก่ตนเองและคนอื่นอย่างที่พวกเราเคยได้เห็นเคยได้ยินมาแล้ว เมื่อเป็นอย่างนั้นการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอริยสงฆ์ จึงได้ทำการปฏิวัติ หรือสอดแทรกสัจธรรมของจริงแข่งขันกับศาสนาเหล่านั้น จนเป็นเหตุให้เจ้าลัทธินิยมเหล่านั้นเลิกจากศาสนาเดิมเข้ามานับถือลัทธินิยมทางพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก ตัวอย่างชฎิลสามพี่น้อง และพราหมณ์พาวรี ฤๅษี และวัคคีย์พราหมณ์ ตลอดเบญจวัคคีย์ฤๅษี เหล่านี้เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเด่นเป็นเอก เนื่องจากพระพุทธองค์ทรมานเจ้าลัทธินิยมทั้งหลายเหล่านี้ให้ทิ้งพิธีไสยศาสตร์มีการบูชาไฟ บูชายัญ อันเป็นพิธีพิลึกทั้งหลายเหล่านั้น แต่แล้วตอนสุดท้ายที่จะอวสานแห่งศาสนา กรรมมันช่างสนองกรรม สาเหตุแห่งความล้มเหลวของพระพุทธศาสนาคงจะเนื่องมาจากพิธีอันพิลึกพิลั่นมันแก้มือ เมื่อพุทธบริษัทเข้าใจกันว่าพิธีนี้เป็นศัตรูต่อพระพุทธศาสนา พวกเราจงช่วยกันป้องกันอย่าให้ศัตรูดังกล่าวนี้เข้ามาย่ำยีศาสนา ของเราได้ ก็เท่ากับว่าเป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนถาวรต่อไป
............
ยังมีสมาธิอีกประการหนึ่ง ที่ผู้ปฏิบัติโดยส่วนมากไปติดหรือหลงกัน #ที่ท่านเรียกว่าภวังค์ #หรือภพภายในของจิต ถ้าใครไปตกภวังค์พวกนี้แล้ว มีหวัง ไปยากเต็มที #ไม่เก่งจริงๆมีหวังจมตายอยู่เพียงแค่นั้น เพราะผลของสมาธิดึงดูดจิตใจมาก ถ้าไปหลงติดอยู่แค่นี้ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นได้ ฉะนั้น จึงสมควรนำมาเล่าสู่กันฟังพอเป็นข้อสังเกตดังนี้คือ :--
เมื่อเราสร้างอำนาจตัวคุ้มครองขึ้นมาได้แล้ว เราเอาคุ้มครองจิตของเราจริงๆ เมื่อจิตของเราจำนนต่ออำนาจตัวบังคับ คือสติได้แล้ว จิตของไม่มีโอกาส ไปต่ออารมณ์สัญญาโดยลำพังของมันได้ มีหวังว่าจิตของเราจะจมดิ่งเข้าสู่สมาธิ พอจิตตกกระแสหรือรวมเข้าสู่สมาธิแล้ว เราจะเห็นผลหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น ความอิ่ม ความเบา ความเย็น ซาบซ่าน ความสว่างไสว เป็นต้น แต่ผลในที่นี้หมายถึง ผลเกิดขึ้นจากความสงบของจิต คือ จิตสงบ ฐานมี 3 ฐานด้วยกัน ได้แก่ ขณิกะ อุปจาระ อัปปนา แต่ละฐานแบ่งออกเป็น 2 ระยะ มีตอนต้นกับตอนปลายรวม 3 ฐาน จึงเป็น 6 ระยะ แต่ลักษณะของมันในเบื้องต้นฐานที่ 1 เรียกว่า ขณิกะ ภวังค์ของมันมีอยู่ 2 ฐาน คือ ฐานต้นกับฐานปลาย ฐานต้นได้แก่ ความอิ่มนี่เอง มันรู้สึกมีความอิ่มจริงๆ อิ่มจนไม่อยากหลับไม่อยากนอน ไม่อยากพูดจากับใคร มันเพลินอยู่คนเดียว แต่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าเราอยู่ในฐานไหน แท้ที่จริงก็นี่แหละคือ ฐานต้น ฐานปลายมีความเบาเข้ามาแทรกกับความอิ่ม แต่ไม่มาก ถ้าเลยเข้าไปฐานที่ 2 ได้แก่ อุปจาระ ภวังค์ของมัน ฐานต้นจะมีความเบาเหมือนจะเหาะจะลอย เหมือนไม่ได้นั่งอยู่กับพื้น คล้ายๆกับว่ามีของทิพย์ เป็นเครื่องรองรับ ลอยอยู่สักศอกสองศอกทำนองนี้ ฐานปลายจะรู้สึกมีความเย็นซาบซ่านเพิ่มเข้ามาอีก ถ้าเราสามารถสร้างสติให้สมบูรณ์ หรืออำนาจตัวสั่ง ตัวบังคับมันบังคับความรู้สึกได้ดีที่สุด บังคับให้อยู่ในอำนาจของมันตลอดเวลา มันจะสามารถดิ่งเข้าไปลึกกว่านั้นอีก เมื่อจิตเข้าสู่อัยดับที่ 3 หรือฐานที่ 3 ที่เรียกว่า อัปปนา ภวังค์เบื้องต้น จะมีความสว่างเพิ่มเข้ามานิดๆ จากความซาบซ่าน พออยู่ในอันดับชำนิชำนาญแล้ว ตอนปลายจะเกิดความสว่างไสวโล่งโปร่ง มีความเย็นซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กายเย็ยเหทือนๆยาทิพย์เข้าไปอยู่ในร่างกาย และยังมีคล้ายกับเมฆหมอกขาวๆสลัวๆทั่งสรรพางค์กายสว่างไสวรุ่งโรจน์ ที่ขาวๆจะเหมือนยาทิพย์ชะโลมตัวเรา รู้สึกสบายมาก มันเย็นซาบซ่านโปร่ง โล่งในสมอง ประสาท แม้แต่ถอนสมาธิออกมาแล้วก็ยังรู้สึกโปร่งโล่งในสมอง สิ่งที่มันมืดๆทึบๆ ในสมองของเรามันหายหมดเกลี้ยงอะไรต่ออะไร รู้สึกว่ามันตกฉานแปลกจริงๆ เพียงแค่สมาธิ 3 อันดับ ถ้าสามารถสร้างสติอย่างเดียว ไม่มีตัวอริยมัคคุเทศก์ คือ ปัญญาญาณ เพียงแค่อาศัยสติประคองจิตเข้าสู่สมาธิ 3 อันดับนี้ ยังมีอานิสงส์ถึงขนาดนี้ ลองดูซิ พวกเราทุกคนเมื่อเข้าสู่สมาธิ 3 อันดับนี้แล้วจะชอบด้วยกันทั้งสิ้น เพราะมันสบายจริงๆสบายอย่างบอกไม่ถูก เมื่อทุกคนเข้าไปถึงแล้วจะรู้สึกเองว่ามีความสุขอย่างไร แค่ไหน ถ้าใครอยากสิ้น สงสัยก็ทำดู ถ้านั่งนึกเดาเท่าไร ยิ่งไกลความจริงเป็นลำดับ แต่สมาธิ 3 อันดับนี้ จัดเป็นกามภพภายในหรือกามภพอันละเอียด
สมาธิ 3 อันดับที่กล่าวมานี้เป็นของสำคัญมาก ถ้าผู้ปฏิบัติไม่ศึกษาให้เข้าใจจริงๆแล้ว อาจจะหลงอยู่เพียงแค่นี้ เข้าใจว่าเป็นจุดสูงสุดของการบำเพ็ญ แท้ที่จริงเป็นภวังค์ในสมาธิเท่านั้น ถ้าใครไปหลงยึดมั่นถือมั่นมันก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส คือกิเลสในสมาธิ ถ้าใครรู้เท่าทันจิตทุกอย่าง ไม่ไปหลงยึดมั่นถือมั่น รู้แล้ววางเป็นวิปัสสนา แต่บางคนเข้าใจว่า ภวังค์คือการนอนหลับ เพราะจิตมันทำงานมาก จิตเหนื่อย มันก็เข้าไปพักในภวังค์ ความจริงไม่ถูก คำว่า ภวังค์ ในที่นี้ท่านหมายถึง จิตติดอยู่ในผลของสมาธิ 3 อันดับ ดังกล่าวมาแล้วนั้น คือหมายความว่า เมื่อจิตของเรา ไปเจอผลของสมาธิแล้วมันอยากจะแช่จมอยู่ ในที่นั้น
ฉะนั้นท่านจึงบอกว่า อันนี้เป็นส่วนของภพเหมือนกัน คือภพภายใน และไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เพราะจิตไม่ได้รู้แจ้งเห็นจริงตามสภาพความเป็นจริงอะไร เป็นเพียงบังคับจิตให้จมดิ่งเข้าสู่ฐานของสมาธิเท่านั้น ยังไม่ได้ชำระกิเลส แต่ถ้าใครรักษาระดับนี้ไว้ได้ก็สามารถไปสู่ฉกามาวจรสวรรค์ได้ แต่โดยส่วนมาก ผู้ปฏิบัติมักจะเอาแต่ผลของสมาธิ 3 อันดับ มาเล่าสู่กันฟัง ส่วนเรื่องการทำลายกิเลสหรือภพของจิตก็ดี หรือกิเลสมีลักษณะอย่างไร มันเกิดขึ้นได้มาเพราะ เหตุใดไม่ค่อยพูดถึง เพราะฉะนั้นผู้ทำสมาธิ ยังมีกิเลสท่วมท้นกันอยู่ เช่น มีการทะเลาะเบาะแว้งซึ่งกันและกัน เป็นต้น ก็เป็นไปตามเรื่องตามเหตุการณ์ เนื่องจากการทำสมาธิดังกล่าวยังไม่ได้ถอนกิเลส เพราะยังไม่ได้สร้างตัวอริยมัคคุเทศก์ คือตัวปัญญาญาณ จึงไม่สามารถสังหารกิลเสได้เลยแม้แต่ตัวเดียว เป็นเพียงใช้อำนาจสติข่มกันอยู่เท่านั้น
............
ที่จริงการทำสมาธิในครั้งพุทธกาลมีหลายลัทธิด้วยกัน
บางลัทธิเมื่อทำไปทำไป จิตหายเงียบไปเลย
ไม่รู้เรื่องอะไร พอออกจากสมาธิมา
เขาก็เล่าว่า "พระนิพพานไม่มีอะไร ดับหมด"
สมาธิดังกล่าวมานี้
พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็น “#โมหะสมาธิ”
เพราะสติยังอ่อน
ไม่สามารถควบคุมจิตได้ สติตามไม่ทันจิต
จึงหายเงียบไปไม่รู้ตัว
ถ้าอยู่ในลักษณะนี้จนตลอดชีวิต
ตายไปแล้วก็มีหวังตก “อสัญญีพรหม”
คือ พรหมไม่มีสัญญา พรหมลูกฟักก็เรียก
ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า โมหะสมาธิ นั้นถูกแล้ว
เพราะสติตามไม่ทัน ลักษณะที่จิตหายเงียบไปพักหนึ่ง
แล้วก็ถอนจากสมาธิออกมา
เราจะว่าดับเลยก็ไม่ถูก เพราะถ้าดับจริงๆ
คงกลับมาไม่ได้ จะต้องหายเงียบไปเลย
บางลัทธิเมื่อทำไปทำไป พอถึงที่สุดของเขา
จิตเฉื่อยชา สุขก็ไม่สุข ทุกข์ก็ไม่ทุกข์
เมื่อเขาออกมาแล้วก็เล่าว่า
“นิพพานมีลักษณะเฉยๆ ว่างหมดอะไรก็ไม่เอา
บุญก็ไม่มีบาปก็ไม่มี ถ้ายังมีบุญมีบาปอยู่ ยังไม่ใช่นิพพาน”
ลัทธินี้อะไรก็ไม่เอา บุญก็ไม่เอา บาปก็ไม่เอา
นี่เล่าย่อๆ สู่ฟัง
............
กำหนดที่ลมหายใจเข้า ออกเรา ลมหายใจเข้าออก ๆ ๆ เราก็กำหนดให้รู้ ลมหยาบละเอียด สั้นยาว เราก็ให้รู้ แล้วบริกรรมหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ พุทโธ ๆ ๆ ๆ กล่อมจิตของเราอยู่อย่างนั้นแหละ จนกว่าจะหลับ เมื่อตื่นขึ้นเราก็พุทโธ ๆ ๆ นั่นแหละ เรื่อยเสมอไป นี่เราต้องทำอย่างนี้
ทีนี้เวลาเรานั่งสมาธิ ก็นั่งดูพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิก็แล้วกัน เอาซ้าย เอาเท้าซ้ายวาง เอาเท้าขวาทับ แล้วก็เอามือซ้ายวางลง แล้วเอามือขวาซ้นขึ้นมาข้าบน แล้วก็นั่งตั้งตัวให้ตรงพอดี ๆ ดำรงสติไว้ให้มั่น กำหนดที่ลมหายใจเข้าปลายจมูก ออกปลายจมูก กำหนดหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ สั้นยาวหยาบละเอียดให้สังเกต เราหายใจขนาดไหนพอดี หายใจสั้นมันสบาย หรือหายใจยาวมันสบาย หายใจเบามันสบายหรือหายใจหนักมันสบาย เมื่อมันสบายหายใจขนาดไหน ก็ต้องหายใจขนาดนั้น ให้หาเอา แต่งหาเอาจนสบายแล้ว เสร็จแล้ว ก็กำหนดอย่างนั้น หายใจเข้า หายใจออก ก็พุทโธ ๆ ๆ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เอาอยู่อย่างนั้นแหละ พอจิตของเรามันคิดไปในทางไหน รีบกลับเข้าสู่จุด คือเป้าที่เป็นนิมิต ได้แก่ลมหายใจเข้าออก เอาคำบริกรรมเป็นเครื่องช่วย เกาะไว้ด้วย เอาจุดเป็นหลักสำหรับผูกมัดให้มั่นด้วย เอ้า..จุดนั้นคือว่า ตรงปลายจมูกก็ได้ หรือจะเอาตรงซอกคอนี้ก็ได้ หรือจะเอาตรงท่ามกลางอกนี้ก็ได้ กำหนดรับรู้อยู่ตรงนั้นแหละ หายใจเข้า หายใจออก แต่โดยส่วนมากกำหนดตรงเพดานนี้ก็ได้ ลมมันผ่านกระทบตรงเพดานตรงนี้ รู้สึกมันกระเทือน กำหนดตรงนั้นก็ได้ หายใจเข้าก็พุท หายใจออกก็โธ นี่เมื่อหากเรากำหนดตรงนี้มันปวดหัว มันอื้อในหู เอ๊...นี่สติของเราสูงขึ้น ๆ ๆ กำลังดีขึ้น มันอาจจะสะกดตัวเราก็หยุดซะ กำหนดจุดนี้ เราก็เอาซอกคอดู พอตรงซอกคอดูแล้ว เอ๊...มันก็ไม่สบาย คอแห้ง ก็ถือว่า อื้อ..มันสะกดตัวเองแล้ว ปล่อย เอาท่ามกลางอก เมื่อเอาท่ามกลางอกนี้ มันสบายก็กำหนดอยู่ มันไม่สบายอึดอัด เราก็หยุด หยุดแล้วให้กำหนดเพียงรู้ว่ามีลมหายใจเข้า-ออกอยู่ข้างนอกนี้ ฟูฟ่า ซู่ซี่ ๆ ๆ อยู่ เอาอย่างนั้นแหละ กำหนดรับรู้อย่างนั้นแหละ มันก็สบาย สบายเบา สบาย เบาสบาย โปร่ง ที่นี้เมื่อจิตของเราจะรวม เราจะมองเห็นได้ มันสบาย ๆ ๆ เบา เหมือน ๆ เราไม่ได้นั่งกับที่หรอก เหมือนเราลอยอยู่ อย่างนี้ก็มี หรือบางทีมันลอยขึ้นมาเป็นคืบ ๆ ก็มี เบา สบาย อย่างนั้นก็มี บางทีเหมือนมันมีแสงสว่างวูบ ๆ ๆ เฉพาะหน้าก็มี บางทีมีมันวูบ สว่างโล่งรอบตัวเลยก็มี เอ้อ..นั่นมันเป็นผลของมัน ทีนี้บางทีลมหายใจเข้าออกเหมือนมันหมดไป ๆ ๆ ๆ ๆ มีความสุขเย็นตรงหน้าอกซ่า ๆ เย็นไปหมดทั่วร่างกายก็มี แต่เรื่องนี่เอาอย่าไปเอามัน เราไม่ได้เอาดีอยู่ตรงนี้ แต่แล้วมันเป็นผลชนิดหนึ่ง มันช่วยให้เราปรากฏเห็นเป็นเบื้องต้น แต่อันนี้ไม่ใช่เราเอา ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเอา สิ่งที่เราจะเอาจริงนั้น คือ เมื่อจิตของเรากำหนดที่ลมหายใจเข้า หายใจออก หายใจเข้า หายใจออก #สามารถประคองจิตของเราให้อยู่ในจุดได้สมปรารถนา เราจะมาเอากำลังตรงนี้ กำลังอันนี้ได้แก่สติ ทีนี้มีกำลังอีกชนิดหนึ่ง
#เมื่อจิตเคลื่อนออกไปสู่อารมณ์ #เมื่อระลึกรู้แล้วมันมีปัญญาชนิดหนึ่งเกิดขึ้น เพื่อทำการแก้ไข มีเหตุผลมาแก้กัน แล้วก็จิตมันวางจากอารมณ์ชนิดนั้น มันแก้กันอยู่อย่างนั้นแหละ มันก็วางมันก็แก้มันก็วาง มันก็แก้ อยู่อย่างนั้นแหละ คือ หมายความว่าเราหาเหตุผลมา เราหาเหตุผลมาโต้กับจิตเรา จนจิตของเราวาง ที่เราหาเหตุผลมาแก้โดยสัญญาชนิดดังกล่าวนี้นั้น เรียกว่าปัญญา เมื่อสติกับปัญญาสมังคีกันดีแล้ว สมควรแล้ว เราทำการปฏิวัติตัณหาได้ ตัวที่นำจิตของเราให้เป็นไปแต่ก่อนนั้น
#เราก็เข้าไปดูจิตโดยตรง เมื่อมันบัญชาวุบขึ้นมันจะให้พูด หยุด เราไม่พูด ปฏิวัติเลยไม่พูด รอดูเสียก่อนเมื่อเราจะพูดเราต้องพูดด้วยคำสั่งของเรา ต้องพูดอย่างนี้ มันถึงจำพอดีกับเพศ วัย ฐานะของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันบัญชาให้ต้องการจะเป็นไปในทางฝ่ายทุกข์ดังกล่าว ทั้งหมดนั้นก็ดี เราก็ต้องหาทางเข้าทำการปฏิวัติ ระงับทันที ไม่ยอม ต้องสู้กันอย่างนี้ นี่เรียกว่าผู้ทำการปฏิวัติแล้ว เนื่องจากกำลังของเราพอ ทีนี้ส่วนธรรมาวุธเราก็สะสม
ครูบาอาจารย์ท่านก็ประสิทธิ์ประสาทให้ เมื่อครูบาอาจารย์ท่านประทานให้พอแล้ว เอาแหละทีนี้บุกปฏิวัติ ผลสุดท้าย ๆ สุดแล้ว ตัวอำนาจฝ่ายต่ำที่มีอยู่ล้างหมดเลย เสร็จทีนี้ก็มีสติกับปัญญาสมังคีกันดีแล้วก็นำจิตเราไป นำจิตเราไปนะ สติ ปัญญา สติ ปัญญา เป็นคุณธรรม บุคคลที่มีคุณธรรมในจิตใจ ธัมโม ปฏิธมมจารึ ผู้ปฏิบัตินั่นแหละ ธรรมจะรักษาบุคคลผู้มีคุณธรรมย่อมไม่ตกไปสู่ที่ชั่ว อมุฬโห ปรํ กโรนติคุณ ย่อมเป็นผู้ไม่หลงตาย
#ย่อมเป็นผู้ไม่งมงาย อำนาจฝ่ายต่ำจะล่อลวงให้หลงตายไม่ได้
#ย่อมเป็นผู้มีปัญญาหยั่งรู้เห็นตามสภาพความเป็นจริง สิ่งนี้สุข เข้าใจว่าสุขจริง สิ่งนี้ทุกข์ เข้าใจว่าทุกข์ ไม่เหมือนแต่ก่อน ตั้งแต่สมัยก่อนกิเลสตัณหามันนำพาให้รู้เห็นให้เป็นไปนั้น สิ่งนี้ทุกข์แท้ ๆ มันบอกว่าสุข เอ้า..ก็ไป เห็นไหมอย่างไปดูหนังนะ ทุกข์แท้ มันบอกว่าสุข ก็ไป แท้ที่จริงมันเป็นเรื่องทุกข์ เอ้า…ว่าดูซิ อะไร ๆ ที่เรามองดูแล้วเราจะมองเห็นว่าที่เราทำลงไปนั่น มันได้รับความทุกข์นานัปการ หลายอย่างเหลือที่จะพรรณนา ก็มันทั้งนั้นที่เราเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องสุขทั้งนั้น นี่มันเป็นอย่างนี้ ทีนี้เมื่อเรามีธรรม ที่เราปฏิบัติได้แล้ว ดังกล่าวนี้ ธรรมทั้งหลายเป็นเครื่องช่วยเรา เมื่อธรรมทั้งหลายนี้เป็นเครื่องช่วยเราแล้ว ในเรื่องเข้าใจอย่างเบื้องหลังที่เล่าสู่ฟังมานี้ไม่มี เข้าใจเรื่องสุขเป็นสุขแท้ เข้าเรื่องทุกข์เป็นทุกข์แท้ ความคิดเห็นชนิดนี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ
#ผู้เห็นชอบคำที่ว่าเห็นชอบ #ต้องเอาทิฏฐิหรือความเห็นของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องตัดสิน
เราจะเห็นได้ในวรรคสวากขาตธรรม ในพระบทคำสอนของพระองค์ ในสิ่งที่พระองค์เห็นว่าทุกข์ เราก็เห็นด้วยในสิ่งที่พระองค์เห็นว่าสุขเราก็เห็นด้วย ถูกต้อง ไม่ขัดกัน แต่เดี๋ยวนี้ เรายังไม่ทำการปฏิวัติตัณหามันเป็นหัวหน้ามันขัดกัน อันนี้พระองค์บอกว่าทุกข์นา เราก็บอกว่าสุข สิ่งนี้พระองค์บอกว่าสุข เราก็หาว่าทุกข์ ไปอย่างนั้น
............
"#การพิจารณาถึงความไม่เที่ยง"
ลำดับ ก็อธิบายสู่ฟังแล้วปฏิปทาข้อปฏิบัติ อุบายวิธีที่จะให้หมดจดจากภพชาติกิเลส เป็นอุบายวิธีที่จะดำเนินให้ถูกต้องตามหลักสัมมาสมาธินั้น เราสอนกันเหลือเกินแล้ว เข้าใจกันดีแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องไปนั่งสมาธิเกิดกายลหุตาจิต ลหุกายเบาจิตบาง มีความสุข #อานิสงส์ของสมาธิแค่นั้นๆใช้ไม่ได้ นั่งลงไปแล้ว #เห็นผีเห็นเทวดา #มาพูดกันกันเรื่องผีเรื่องเทวดา นั่งไปแล้วรู้สึกว่าขนพองสยองกล้าเอามาคุยกัน เป็นคุณของสมาธินั้นพวกเราไม่นิยมการนิยมของพวกเรานั้นเป็นการเอาชนะจิตเราเอง สามารถบังคับจิตของเราอยู่ในจุดที่เป้าที่เราตั้งขึ้นมา แล้วกำหนดอยู่ในเป้า จนอำนาจส่วนสร้างขึ้นมาสมบูรณ์จริง ๆ สามารถประคองจิตของเราอยู่ในอำนาจ ส่วนบังคับจริง ๆ อยู่ในเป้าที่เราต้องการจริง ๆ จนกระทั่งที่สุด อำนาจส่วนสร้างสมบูรณ์ สามารถบังคับจิตได้อย่างเต็มที่แล้ว เราถึงจะโอปนยิกธรรมน้อมของจริงเข้ามาพิจารณาสภาพของจริงนั้นคืออะไร เราก็รู้อยู่แล้ว
#สภาพของความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา มันง่าย ๆ หญ้าปากคอกเอามาพิจารณาซิ #จิตของเรายอมรับไหมหละ ที่เราไปเห็นเขาตายเป็นอย่างไรบ้าง ใจของเราว่าอย่างไง ไปเห็นเขาเจ็บเป็นอย่างไงบ้าง ไปเห็นเขามีทุกข์เป็นอย่างไรบ้างหละ #ทุกสิ่งทุกอย่างเราพิจารณาดูเอง #ตามสภาพแต่ละอย่างที่แท้จริงนั้น ใจของเรายอมไหม
ในเมื่อใจของเรายอมรันจะเปลี่ยนความรู้สึกทันทีหละ ถ้าไม่ยอมก็คือ ไม่ยอม มันก็ไม่เปลี่ยน ถ้าจิตของเรายอมรับอันนี้อันอื่นต่อไปหละก็ยอมรับ ลักษณะคำว่าโลกวิทูแห่งจิตนั้น คือ #รู้สภาพความเป็นจริงเหล่านี้ จึงเรียกว่าโลกวิทูแห่งจิต เออ..พรุ่งนี้คนนี้จะมา วันมะรืนคนนี้จะมา หวยจะออกตัวนั้นตัวนี้ อันนั้นไม่ใช่ทางที่จะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์เป็นแค่อภิญญาสมาบัติชนิดหนึ่ง อาจจะทำให้เรานี้หลง หรืออาจจะเป็นผีหลอกก็ได้ ไม่ใช่คุณสมบัติอันแท้จริงเป็นผลพลอยได้ เราต้องตัดทิ้ง ถ้าเราต้องการก้าวไปสู่ความสำเร็จ เพราะฉะนั้นขอให้พวกเราทุกท่านตั้งอกตั้งใจดำเนินขึ้นมา สร้างอำนาจส่วนที่เราสร้างขึ้นมานี้ให้สมบูรณ์ขึ้นมาเถอะ จนกว่าจะชนะกับจิตของเราอย่างสมบูรณ์แล้วนั้น การโอปนยิกธรรม น้อมสภาพความเป็นจริงเหล่านี้ มาให้จิตของเรายอมรับว่าอันนี้เป็นทุกข์ จะยอมรับว่าทุกข์ อันนี้ไม่เที่ยงคือ เห็นว่าจริง ๆ อันนี้ไม่ใช่อัตตาตัวตนเราเขาอะไรเลย เขาเหล่านี้จะต้องสลายไปตามกำลังของธาตุโลก เราก็ย่อมเห็นคนตายมันเป็นยังไง ในป่าช้าเห็นกระดูก เศษกระดูกเห็นอะไรต่ออะไรต่าง ๆ เราก็จะเอามาเป็นพยานได้ทันที จิตก็ยอมรับ เราก็เช่นนั้น ทุกวันนี้เราอยู่มันอยู่เท่านั้น ถ้าเราเกิดเข้าใจ หรือยอมรับอย่างนี้ การเปลี่ยนแปลงทางด้าน
#จิตใจจะต้องเปลี่ยนเข้าธรรมะเรื่อยๆไปสามารถที่ #จะมองเห็นความละเอียดของความเป็นจริงละเอียดเข้าไปเป็นลำดับ
#จนกระทั่งจิตไปหลงภพอย่างไร #ลักษณะของภพเป็นอย่างไร #จะละเอียดขึ้นเป็นลำดับ #อันนี้เรื่องของเราจะต้องเห็น
#เราไม่ต้องการเรื่องผีเรื่องเทวดา เรื่องหวย เรื่องเบอร์
#เรื่องอะไรไม่ต้องสนใจ เราต้องการอย่างนี้ต่างหากสำหรับของพวกเรา เพื่อจะแก้ไขความหลงของเรา หลงรัก หลงชัง ให้มันพ้นไปเสียนี้ก็มีแค่นั้น เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเราผู้ปฏิบัติทั้งหลายพยายามคุยกันเฉพาะในสิ่งที่จะเป็นไปเพื่ออุบายของความหลุดพ้น เป็นไปเพื่อสมาธิจิต เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น ให้มองสภาพความเป็นจริงของโลกให้เข้าใจ ว่าทำไมเราถึงมาหลงความทุกข์ว่าเป็นสุข มันทุกข์แท้ ๆ มันสุขที่ไหนกันนี้ ทำไมไปยึดเอาความทุกข์ว่าเป็นสุข เราทำไมถึงแย่อย่างนี้ คุยกันซิ คุยขึ้นมาเรื่องจริงให้มันเข้ากัน แล้วเราจะได้เข้าใจมุมจริงของธรรมะเราจะก้าวสู่ธรรมะว่าเป็นลมวิเศษอันหนึ่ง จะต้องวิ่งเข้ามาหาตัวเราจะได้รับอย่างโน้นอย่างนี้ อันนั้นเป็นความหลง อันความหลงของมนุษย์มันหลงมาก ขอให้เข้าใจว่าสภาพของความเป็นจริงนั้นคือ ธรรมะเทศก์พรรณนาสู่ฟังนี้ก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติเพียงแค่นี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น