เกวัฏฏะ ! นี่ปาฏิหาริย์สามอย่าง ที่เราได้ทำให้
แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ได้.
๓ อย่างอะไรเล่า ? ๓ อย่าง คือ :-
๑. อิทธิปาฏิหาริย์
๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์
๓. อนุศาสนีปาฏิหาริย์
(๑) เกวัฏฏะ! อิทธิปาฏิหาริย์นั้นเป็นอย่างไรเล่า ?
เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ กระทำอิทธิวิธีมีประการต่าง ๆ : ผู้เดียวแปลงรูปเป็นหลายคน, หลายคนเป็นคนเดียว, ทำที่กำบังให้เป็นที่แจ้ง ทำที่แจ้งให้เป็นที่กำบัง, ไปได้ไม่ขัดข้อง ผ่านทะลุฝา ทะลุกำแพง ทะลุภูเขา ดุจไปในอากาศว่าง ๆ, ผุดขึ้นและดำรงอยู่ในแผ่นดินได้เหมือนในน้ำ, เดินไปได้เหนือน้ำ เหมือนเดินบนแผ่นดิน, ไปได้ในอากาศเหมือนนกมีปีก ทั้งที่ยังนั่งสมาธิคู้บัลลังก์ ลูบคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์อานุภาพมาก ได้ด้วยฝ่ามือ และแสดงอำนาจทางกายเป็นไปตลอดถึงพรหม
โลกได้ เกวัฏฏะ ! กุลบุตรผู้มีศรัทธาเลื่อมใสได้เห็นการแสดงนั้นแล้ว เขาบอกเล่าแก่กุลบุตรอื่นบางคน ที่ไม่ศรัทธาเลื่อมใสว่าน่าอัศจรรย์นัก กุลบุตรผู้ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้น ก็จะพึงตอบว่า วิชา ชื่อ คันธารี มีอยู่ ภิกษุนั้นแสดงอิทธิวิธีด้วยวิชานั่นเท่านั้น เกวัฏฏะ ! ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร : ก็คนไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ย่อมกล่าว
ตอบผู้เชื่อผู้เลื่อมใสได้อย่างนั้น มิใช่หรือ ?
“พึงตอบได้ พระเจ้าข้า !”
เกวัฏฏะ!
เราเห็นโทษในการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
ดังนี้แล จึงอึดอัด ขยะแขยง เกลียดชัง ต่อ
อิทธิปาฏิหาริย์
(๒) เกวัฏฏะ ! อาเทสนาปาฏิหาริย์นั้น เป็น
อย่างไรเล่า?
เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมทายจิต ทายความรู้สึก
ของจิต ทายความตรึก ทายความตรอง ของสัตว์เหล่าอื่นของบุคคลเหล่าอื่นได้ ว่า ใจของท่านเช่นนี้ ใจของท่านมีประการนี้ ใจของท่านมีด้วยอาการอย่างนี้. ... ฯลฯ ...
กุลบุตรผู้ไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ย่อมค้านกุลบุตรผู้เชื่อผู้เลื่อมใสว่า วิชา ชื่อ มณิกา มีอยู่ ภิกษุนั้น กล่าวทายใจได้เช่นนั้น ๆ ก็ด้วยวิชานั้น (หาใช่มีปาฏิหาริย์ไม่), เกวัฎฎะ ! ท่านจะ เข้าใจว่าอย่างไร : ก็คนไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ย่อมกล่าวตอบ
ผู้เชื่อผู้เลื่อมใสได้อย่างนั้น มิใช่หรือ?
“พึงตอบได้ พระเจ้าข้า !”
เกวัฏฏะ !
เราเห็นโทษในการแสดง อาเทสนาปาฏิหาริย์
ดังนี้แล จึงอึดอัด ขยะแขยง เกลียดชัง ต่อ
อาเทสนาปาฏิหาริย์
(๓) เกวัฏฏะ! อนุศาสนีปาฏิหาริย์ นั้นเป็น
อย่างไรเล่า?
เกวัฏฏะ ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมสั่งสอนว่า “ท่านจงตรึก
อย่างนี้ ๆ อย่าตรึกอย่างนั้น ๆ, จงทำไว้ในใจอย่างนี้ ๆ
อย่าทำไว้ในใจอย่างนั้น ๆ, จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้ ๆ แล้ว แลอยู่” ดังนี้ เกวัฏฏะ ! นี้เราเรียกว่า อนุศาสนีปาฏิหาริย์
เกวัฏฏะ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้
เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ชอบเอง สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้วจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ตถาคตนั้น ทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้กับทั้งเทวดา มาร พรหม หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาพร้อมทั้งมนุษย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตาม ตถาคตนั้นแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น –ท่ามกลาง – ที่สุด, ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงคหบดีหรือบุตร คหบดี หรือผู้เกิดในตระกูลใดตระกูลหนึ่งในภายหลังก็ดีได้ฟังธรรมนั้นแล้ว เกิดศรัทธาในตถาคต. เขาผู้ประกอบด้วยศรัทธา ย่อมพิจารณาเห็นว่า “ฆราวาสคับแคบ เป็นทาง
มาแห่งธุลี, บรรพชาเป็นโอกาสว่าง; การที่คนอยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดแล้วนั้น ไม่ทำได้โดยง่าย ถ้ากระไรเราจะปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนเถิด”, ดังนี้. โดยสมัยอื่นต่อมา เขาละกองสมบัติน้อยใหญ่และวงศ์ญาติน้อยใหญ่ปลงผมและหนวด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว ภิกษุนั้น ผู้บวชแล้วอย่างนี้ สำรวมแล้วด้วยความสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและ
โคจร, มีปกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลาย แม้ว่าเป็นโทษเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย, ประกอบแล้วด้วยกายกรรม วจีกรรมอันเป็นกุศล, มีอาชีวะบริสุทธิ์,ถึงพร้อมด้วยศีล, มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย, ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ, มีความสันโดษ
เกวัฏฏะ ! ภิกษุถึงพร้อมด้วยศีล เป็นอย่างไรเล่า ?
เกวัฏฏะ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ละการทำสัตว์
มีชีวิตให้ตกล่วงไป เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้และศัสตราเสียแล้ว มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงอยู่
เกวัฏฏะ ! นี้เราเรียกว่า อนุศาสนีปาฏิหาริย์
เกวัฏฏะ ! ภิกษุนั้น ครั้นจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใส
ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส เป็นธรรมชาติอ่อนโยน
ควรแก่การงาน ตั้งอยู่ได้อย่างไม่หวั่นไหว เช่นนี้แล้ว,
เธอก็น้อมจิตไปเฉพาะต่ออาสวักขยญาณ เธอย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า “นี้ทุกข์, นี้เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์, นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์”; และรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า “เหล่านี้อาสวะ, นี้เหตุเกิดขึ้นแห่งอาสวะ, นี้ความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ, นี้ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ” เมื่อเธอรู้อยู่อย่างนี้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็พ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ครั้นจิตหลุดพ้นแล้วก็เกิด ญาณหยั่งรู้
ว่า “จิตพ้นแล้ว”. เธอรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้. เกวัฏฏะ ! เปรียบเหมือน
ห้วงน้ำใสที่ไหล่เขาไม่ขุ่นมัว, คนมีจักษุดียืนอยู่บนฝั่งในที่นั้น, เขาเห็นหอยต่าง ๆ บ้าง กรวดและหินบ้าง ฝูงปลาบ้างอันหยุดอยู่และว่ายไปในห้วงน้ำนั้น, เขาจะสำเหนียกใจอย่างนี้ว่า “ห้วงน้ำนี้ใส ไม่ขุ่นเลย หอย ก้อนกรวด ปลาทั้งหลายเหล่านี้หยุดอยู่บ้าง ว่ายไปบ้าง ในห้วงน้ำนั้น” ดังนี้;
ฉันใดก็ฉันนั้น. เกวัฏฏะ ! นี้เราเรียกว่า อนุศาสนีปาฏิหาริย์
เกวัฏฏะ ! เหล่านี้แล ปาฏิหาริย์ ๓ อย่าง ที่เรา
ได้ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย
สี. ที. ๙/๒๗๓ – ๒๗๖/ ๓๓๙ – ๒๔๒.
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาบุญท่านเจ้าของผู้ถ่ายภาพนี้ พร้อมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการเผยแผ่โอวาทธรรมนี้ ทุกๆท่าน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น