ชีวิตไม่มีสิ่งไหนเที่ยงแท้แน่นอน
จะมีก็เพียงแต่ “ความตาย” เท่านั้น เป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด
เป็นของขวัญที่แถมมากับการเกิด
ของขวัญ...ที่เราต้องได้รับเสมอเหมือนกันทุกชีวิต
เมื่อเช้าเราออกจากบ้าน ใครเล่าจะรู้ ว่าจะได้กลับมาอีกไหม
ค่ำนี้เราหลับไป จะแน่ใจได้ยังไง ว่าพรุ่งนี้จะได้ลืมตาตื่นขึ้นมาดูโลกอีก
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสถามพระอานนท์ว่า
พระพุทธเจ้า : “ดูก่อนอานนท์ เธอระลึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง?”
พระอานนท์กราบทูลตอบว่า : “ระลึกถึงความตายวันละ ๗ ครั้งพระเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าตรัสว่า : “ยังห่างมากอานนท์ ตถาคตระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก”
แม้แต่พระพุทธเจ้าเฝ้าคิดถึงความตายเพียงนี้ แสดงให้เห็นว่า การระลึกถึงความตายนั้น มีประโยชน์กับชีวิตเราอย่างมาก เพราะผู้ที่นึกถึงความตายอยู่เป็นปกติ จิตใจจะมีความมั่นคง รู้ว่าชีวิตไม่ยั่งยืน รู้แค่วันเกิด แต่วันตายจะมาตอนไหน ไม่มีใครรู้ได้ พอคิดอย่างนี้ ก็เริ่มปล่อยวางได้ ปล่อยวางจากความเพลิดเพลินในกาม ความมัวเมาในชีวิต ตั้งใจเลิกทำความชั่ว ความไม่ดีทั้งหลาย
เสด็จพ่อรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงบทหนึ่งไว้ว่า
“เห็นหน้ากันเมื่อเช้า สายตาย
สายสุขอยู่สบาย บ่ายม้วย
บ่ายยังรื่นเริงกาย เย็นดับ ชีพนา
เย็นอยู่หยอกลูกด้วย ค่ำม้วย ดับสูญ”
ความตาย เวลาจะมา ไม่เคยบอกกล่าวเราล่วงหน้า
และไม่เคยเลือกว่าจะเป็นทารก เด็ก หนุ่มสาว หรือคนแก่เฒ่า
ตะวันเคลื่อนคล้อย ชีวิตก็น้อยนิดลงไปทุกที ๆ
ใครเล่าจะรู้ ว่าวันพรุ่งนี้ หรือชาติหน้าจะมาถึงก่อนกัน
วันนี้...ลองถามตัวเองว่า...
เรายังคงมัวเมาในความเป็นหนุ่มสาวหรือความเยาว์วัยอยู่หรือไม่?
ยังคิดว่าร่างกายที่แข็งแรงดีอยู่นี้ จะไม่มีวันเจ็บป่วยหรือเปล่า?
หรือยังยึดติดถือมั่นในตัวตน ว่าตัวฉันดี ตัวฉันเก่งกว่าใครทั้งหมด...
มีความโกรธเคืองตัวเอง หรือคนอื่น ๆ ติดค้างอยู่ไหม?
หรือยังคงตั้งหน้าตั้งตาทำงานหนัก จนหลงลืม ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว หลงลืมสร้างความสงบให้กับจิตใจตัวเองหรือเปล่า?
อดีตล่วงเลยผ่านมาแล้ว จะดีหรือเลว มันก็จบลงไปแล้ว ไม่ควรตามนึกถึง
อนาคตก็ยังมาไม่ถึง ไม่มีรูปร่างที่แน่นอน การคิดกังวลล่วงหน้า จะต่างอะไรกับการหาทุกข์มาใส่ใจตนเอง เป็นความทุกข์ที่ได้มาแบบฟรี ๆ เลย
ผู้ที่มีปัญญา จึงควรระลึกถึงความตายอยู่เสมอ เพื่อเตือนจิตเตือนใจ ให้อยู่กับปัจจุบันขณะ และทำชีวิตในชาติปัจจุบันนี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้สมกับที่ได้โอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้
ที่มา อมตะธรรม ประเทศไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น