26 พฤษภาคม 2564

ภาพสัญลักษณ์การประสูติของพระพุทธเจ้า

ภาพเกี่ยวกับการประสูตินั้น นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗ ลงมา มีการทำเป็นภาพพระมารดายืนประสูติ มีพระกุมารพุ่งออกมาจากสะเอว ซึ่งมีทั้งแบบคันธาระ, สารนาถ, และเบ็งกอล. อีกทั้งในพุทธศตวรรษที่ ๕-๖ นั้น ยังไม่กล้าทำรูปพระกุมารพุ่งออกมาทำนองนั้น คือไม่ทำรูปพระกุมาร แต่ทำเพียงรอยเท้า อยู่ในผืนผ้าที่เทวดาประคองอยู่ข้าง ๆ พระมารดาซึ่งกำลังยืนเหนี่ยวกิ่งไม้ ดังเช่นแบบอมราวดีตอนปลาย ๆ และแบบนาคารชุนโกณฑ เป็นต้น. ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๔ ขึ้นไป ไม่มีการทำภาพใด ๆ ในทำนองเป็นของจริงเช่นนี้ แต่ได้ทำเป็นสัญลักษณ์แทนภาพ 

1. บนซ้าย : ภาพตรีรตนะบนดอกบัว

ดอกบัวหมายถึงการตรัสรู้ หรือการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าโดยสมบูรณ์, ซึ่งหมายถึงการปรากฏของธรรมอันเบิกบานออกมา, วงกลม หมายถึงความไม่มีที่สิ้นสุด หรือความว่างอันมีลักษณะไม่มีที่สิ้นสุด, ดอกบัวในวงกลมจึงหมายถึงธรรมอันมีลักษณะไม่มีที่สิ้นสุด คือเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง จนไม่อาจจะคำนวณได้ว่ามีอะไรเท่าไร. เปลวรัศมีนั้นคือแสงสว่างอันแผ่ไปได้รอบตัวและไม่มีประมาณอีกนั่นเอง แต่อาจจะจัดประเภทได้เป็น ๓ ประเภท ตามความหมายของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วแต่ว่าเราจะจัดคุณของสิ่งทั้งสามนี้ไว้ในลักษณะอย่างไร เช่นเป็นผู้ชี้ทาง-หนทาง-ผู้เดินทาง, หรือเป็นหมอรักษาโรค-ยารักษาโรค-ผู้หายโรค, หรือเป็นผู้สอน-สิ่งที่สอน-ผู้รับคำสอน, ดังนี้เป็นต้น, หากแต่เป็นสิ่งที่เนื่องกัน อย่างที่ไม่อาจจะแยกกันได้ เหมือนไม้สามอันอิงกันอยู่ไม่มีล้ม

2.บนขวา : หม้อรับกอบัว ขนาบด้วยสิงห์มีปีกสองข้าง 

หม้อรับกอบัวในภาพนี้ ซึ่งเป็นแบบสาญจี เป็นแบบที่แปลกจนกลายเป็นกระถางปากแตร, และมีพบแต่ภาพนี้เท่านั้น จึงนำมาเป็นตัวอย่างสำหรับศึกษา, กอบัวนี้ มีใบ ๔ ใบ, ดอกตูม ๔ ดอก, ดอกบาน ๑ ดอก, ฝักบัว ๒ ฝัก, สิงห์มีปีกเหยียบอยู่บนฝักบัวฝักละตัว. การประกอบภาพสวยงามน่าสนใจ. บัวบานเป็นตัวสัญลักษณ์การประสูติ สิงห์เป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำพระองค์ตลอดไป ดังเช่นคำว่า ศากยสิงห์ ชินสิห์ เป็นต้น. ในภาพอื่นที่มีภาพสิงห์ตัวเดียว นั่งอยู่กลางดอกบัว ทำนองเดียวกับช้างในภาพที่ ๑๑ นั้นก็ยังมี, ซึ่งมองเห็นได้ง่ายว่าหมายถึงอะไร, ส่วนในภาพนี้มีสิงห์ถึง ๒ ตัว หันหน้าออกจากกัน ความหมายก็ต้องแปลกออกไป เช่นหมายถึงพระองค์ทรงเป็นสิงห์ ทั้งในหมู่เทวดาและมนุษย์

3.กลางซ้าย : ภาพลายมังกรคาบกันข้างบน และสัตว์เรียงแถวข้างล่าง ตรงกลางเป็นลายขยุกขยิก ดวงหนึ่งมี ๖ แฉกรวมกันหลายดวง 

ในภาพนี้ เป็นสัญลักษณ์ของการประสูติของพระพุทธองค์ ที่น่าสนใจที่สุด. หินส่วนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของหินแท่งยาวแท่งเดียวซึ่งสลักเป็น ๔ ช่อง แต่ละช่องคั่นกันไว้ด้วยลายบัวครึ่งซีกบนและล่าง และโยงไว้ด้วยเส้น ๒ เส้น ดังที่ท่านจะเห็นได้ในภาพนี้ทางขวามือ (ของคนดู), ในช่องทั้งสี่นั้น ช่องที่หนึ่งคือภาพลายขยุกขยิกนี้, ช่องที่สองมีภาพต้นโพธิ์ตรัสรู้, ช่องที่สามวงล้อธรรมจักร, ช่องที่สี่สถูปปรินิพพาน ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนว่า สัญลักษณ์ภาพนี้เป็นสัญลักษณ์ของการประสูติ. ถ้าหากมิได้อยู่ในหินแท่งเดียวกันกับภาพทั้งสามที่ถัดไป เช่นไปอยู่โดดเดี่ยวในที่ใดที่หนึ่ง ก็เป็นการยากหรือถึงกับเป็นการสุดวิสัยด้วย ที่พวกเราในเวลานี้จะทราบได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของอะไร. ภาพลายมังกรคาบกันข้างบน และสัตว์เรียงแถวข้างล่างนั้น เป็นเพียงลวดลายประดับ ไม่เกี่ยวกับสัญลักษณ์เพราะยาวตลอดไปสุดแผ่นหินทั้ง ๔ ช่อง. ปัญหาเหลืออยู่แต่ว่าลายขยุกขยิกนี้ มีความหมายอย่างไร ในทางที่เป็นสัญลักษณ์ของการประสูติ. ยังไม่มีเวลาสอบถามชาวอินเดียผู้คงแก่เรียนในทางวัฒนธรรมโบราณของเขา, ทั้งยังไม่แน่ใจว่า แม้ชาวอินเดียเองก็จะเป็นผู้ทราบความหมายของภาพนี้โดยถูกต้องตามความประสงค์ของผู้ทำ เพราะทำไว้เป็นเวลาถึง ๑,๗๐๐ ปีเศษมาแล้ว, ดังนั้น ปล่อยให้คิด ให้ทาย หรือให้เดากันเอาเอง สนุกดี. ฝรั่งนักศึกษาหนุ่ม ๆ คนหนึ่งดูแล้วตอบคำถามของข้าพเจ้าว่า คงจะเป็นภาพของมดลูกตัดตามขวาง แล้วก็หัวเราะกันใหญ่ เพราะเป็นมะทีเรียลลิสติคมากเกินไป ในที่สุดก็ยังไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้เป็นที่พอใจแก่ทุกคน. ข้าพเจ้าเองเดาเอาว่า ๖ แง่งนี้คงจะหมายถึงธาตุ ๖ ธาตุ ที่ประกอบกันเข้าเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ๆ ได้แก่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ ดังที่ตรัสไว้ในบาลีธาตุวิภังคสูตร, แต่แล้วก็ฉงนว่าจะไม่ใช่เสียแล้ว เพราะในลายดวงหนึ่งนั้น แบ่งออกเป็น ๓ แฉกก่อน แล้วปลายของแฉกหนึ่งแบ่งออกเป็น ๒ แฉก จึงรวมกันเป็น ๖ แฉก มิได้แบ่งออกเป็น ๖ แฉกออกไปโดยเท่า ๆ กัน พร้อม ๆ กัน, ในที่สุดก็ต้องยอมแพ้ ฝากไว้ให้คิดกันเอาเอง, ในใจได้แต่นึกชมความคิดของผู้ทำเมื่อพันกว่าปีมาแล้วนั้นเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่ต้องสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ที่บริเวณร่วมกลางของภาพ ตามระหว่างดอกหกแง่งนั้น มีก้อนกลม ๆ ๖ เหลี่ยม, ๔ ก้อน, แทรกอยู่ในลักษณะที่ล้อมรอบ "ดวงหกแง่ง" ดวงหนึ่งในทำนอง ๔ ทิศหรือ ๔ มุม, นี้ก็ต้องเป็นความมุ่งหมายของผู้ทำที่เล็งถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ด้วยน้ำหนักที่ไม่น้อยกว่าความหมายของ "หกแง่ง" นั้นเหมือนกัน

4.กลางขวา ภาพขีด 3 ขีด ประดิษฐ์เป็นสวัสติกะขนาบด้วยดอกบัว 

ภาพสัญลักษณ์การประสูติในภาพนี้ เป็นแบบภารหุต แต่ก็มีความน่าอัศจรรย์ไม่น้อยไปกว่าแบบอมราวดีในภาพที่แล้วมา, และยังเก่าก่อนกว่าแบบอมราวดีสัก ๓๐๐ ปี. ถ้าหากภาพนี้ มิได้รวมอยู่ในกลุ่มสัญลักษณ์การประสูติ ประเภทที่ทำเป็นดอกบัวหรือกอบัวแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะสันนิษฐานได้ง่าย ๆ ว่า เป็นสัญลักษณ์ของการประสูตินั้นเหมือนกัน. สิ่งแรกที่ต้องสังเกตคือ ในวงกลมนั้น ประกอบอยู่ด้วยขีด ๓ ขีด, ตามนอนบ้าง ตามตั้งบ้าง, และตรงปลายสุดที่มันบรรจบกันนั้น ประดิษฐ์เป็นลายสวัสติกะ (ซึ่งหมายถึงการหมุนเชี่ยว) มีดอกบัวบานเล็ก ๆ อยู่เป็นใจกลาง, ทำให้เกิดความคิดว่า สิ่งทั้งสามนี้ แต่ละกลุ่มหมุนอย่างสัมพันธ์กันไปอย่างไม่มีชะงัก, ส่วนความหมายจะหมายถึงอะไรนั้น ต้องขอปล่อยให้แต่ละคนคิดเอาเองอย่างเป็นอิสระ ดังในภาพที่แล้วมา. สำหรับสิ่งที่มีจำนวนสาม และมีความสำคัญสมกับที่จะเป็นสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์นั้น ก็มีอยู่มากด้วยกัน เช่นพระรัตนตรัย (ซึ่งจัดได้ว่า เป็น ตรีมูรติ ของพุทธศาสนา), สิกขาสาม, วิชชาสาม, สามัญญลักษณะสาม เป็นต้น, กระทั่งถึงพวก ภพสาม ตัณหาสาม ฯลฯ, แม้ที่สุดแต่ของใหม่ ๆ เช่นสัทธรรมสาม, พุทธคุณสาม (คือบริสุทธิคุณ ปัญญาคุณ เมตตาคุณ) เป็นต้น, แต่การที่จะนำเอาพุทธคุณสามเป็นต้น ไปจับกันกับขีด ๓ ขีดในที่นี้ ดูไม่มีทางจะเป็นไปได้, เพราะการจัดพุทธคุณเป็นสามเช่นนี้เป็นของใหม่สมัยพุทธโฆษาจารย์จอมอรรถกถาเป็นอย่างมาก ไม่เก่าถึงสมัยภารหุตเลย, ดังนั้น เท่าที่จะเป็นไปได้ ก็ต้องเล็งถึงรตนะสาม หรือวิชชาสาม  

5.ล่างซ้าย : ภาพดอกบัวบานมีช้างประกอบ 

สัญลักษณ์การประสูติที่น่าสนใจอีกอันหนึ่ง คือรูปภาพดอกบัวบาน มีช้างประกอบ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของพระองค์. ช้างเป็นสัตว์สัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ เข้ากับเรื่องที่กล่าวว่า ในการปฏิสนธิของพระองค์นั้น พระมารดาทรงพระสุบินว่ามีช้างมาเข้าในพระอุทร. หรือยิ่งกว่านั้น ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ช้างเป็นสัญลักษณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์กันมาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล และยังคงถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์เช่นนั้นเรื่อยมาทุกยุคทุกสมัย และทุกลัทธินิกายไม่เฉพาะแต่พุทธศาสนาก็เป็นได้ สำหรับพุทธบริษัทเรา ยอมรับเอาสัตว์เพียง ๒ ชนิดว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ คือช้างกับสีหะ ซึ่งเราเรียกกันในเมืองไทยว่า สิงห์, เป็นสัญลักษณ์และอุปมา สำหรับพระพุทธองค์ ทั้งในแง่ของศิลปะและธรรมะ. และใช้คำว่านาคะกับช้าง แทนที่จะใช้คำว่า คชะ, ข้อนี้ทำให้คนบางคนเข้าใจคำว่านาคะ เป็นพระยานาคหรืองูไปเสียก็มีโดยที่แท้คำว่านาคะซึ่งเล็งถึงช้างนั้น มีความหมายเพียงว่า เป็นยอดของบรรดาสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ในทางที่มีคุณธรรมอันประเสริฐเท่านั้นเอง แตกต่างไปจากสีหะ ซึ่งเล็งไปถึงยอดแห่งความกล้าหาญและชัยชนะต่อศัตรู ดอกบัวกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญรองลงไปจากช้างในภาพนี้, แต่กระนั้นก็ไม่ทิ้งหลักเดิม ที่ต้องการให้มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้วยกัน, ในที่นี้มี ๑๒ กลีบ, มีเม็ดลูกแก้วหรือลูกประคำที่ขอบวงรอบนอก ๓๖ เม็ด, และจะกลายเป็น ๑๐๘ เม็ด ถ้านับรวมหมดทั้งสามแถว 

6.ล่างขวา : ภาพดอกบัวบาน 

ภาพดอกบัวบานล้วน ๆ มีรูปดอก รูปกลีบ หรือเกสร เป็นต้น หลายแบบด้วยกัน. นอกจากนั้นยังมีดอกบัวบานมีลวดลายอย่างอื่นประกอบเข้ามา, กระทั่งบัวบานทั้งกอ, ประกอบด้วยสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งต่างก็เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ด้วยกัน บัวในภาพนี้ มีจำนวนกลีบ ๑๒ กลีบ, เส้นเกสรตัวผู้ยาว ๆ ๓๖ เส้น, จุดตุ่มเกสรตัวเมีย ๗ จุดด้วยกันที่ตรงใจกลางของดอกบัว, ทั้งนี้เป็นเจตนาเจาะจงที่จะให้มีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง, เพราะถ้าทำตามสะดวกสบายหรือเพื่อความสวยงามอย่างเดียวแล้ว ทำกลีบเป็น ๘ กลีบหรือ ๑๖ กลีบง่ายกว่า. และจำนวนจุด ๗ จุดนั้น ก็คงจะทำตามสะดวกไม่เป็น ๗ จุดเสมอไป หรือเป็นเกณฑ์สำคัญ

ทั้งหมดนี้แสดงว่าประชาชนก็ดี ศิลปินหรือช่างผู้ทำการแกะสลักก็ดี ตลอดถึงพระราชาผู้บันดาลการกระทำนี้ก็ดี ล้วนแต่มีความเชื่อถือในจำนวนเลขศักดิ์สิทธิ์กันอยู่แล้ว และยิ่งกว่านั้น อาจจะมีผู้ซึ่งเป็นนักธรรมของพุทธศาสนาเอง เป็นผู้ระบุจำนวนสิ่งที่เป็นจำนวนสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นให้เสียเลย เช่น จำนวนกลีบ ๑๒ กลีบ หมายอาการสิบสอง (ทฺวาทสาการํ) ของอริยสัจสี่หรือธรรมจักร ดังที่ระบุอยู่ในบาลีแห่งสูตร ๆ นั้น ซึ่งพิจารณาดูแล้วทุกคนจะยอมรับว่า เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในหลักธรรม และควรมาใช้เป็นจำนวนเลขศักดิ์สิทธิ์ได้จริง, และจำนวนจุด ๗ จุดนั้น ต้องการให้เล็งถึงธรรมที่สำคัญที่สุดในการทำความตรัสรู้ให้แก่พระพุทธเจ้า กล่าวคือ โพชฌงค์ ๗ ประการ มีสติสัมโพชฌงค์ เป็นต้น สรุปว่าภาพเช่นนี้ มิได้เป็นเพียงสัญลักษณ์การประสูติและวัตถุศิลปะเท่านั้น หากเป็นการเผยแพร่หลักธรรมะ ที่ก่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์พร้อมกันไปในตัวด้วย
  
อ้างข้อมูลจาก :ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ/หนังสือภาพพุทธประวัติหินสลัก ชุดแรกที่สุดในโลก น่าสนใจและมีค่าที่สุดในโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...