การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ในที่นี้หมายถึงกรรมประเภทต่างๆ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผลของกรรมเหล่านั้น แบ่งเป็นหมวดได้ 3 หมวด
หมวดที่ 1 ว่าโดยกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล
1. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน คือ ภพนี้
2. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในชาติต่อไป คือ ภพหน้า
3. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมที่ให้ผลในภพต่อๆไป คือให้ผลหลังจากอุปปัชชเวทนียกรรม ให้ผลเรื่อยไป สบโอกาสเมื่อใดให้ผลเมื่อนั้น
4. อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก
หมวดที่ 2 ว่าโดยกิจ คือ จำแนกการให้ผลตามหน้าที่
5. ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด กรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด
6. อุปถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน กรรมที่ช่วยสนับสนุนหรือซ้ำเติม
7. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น กรรมที่มาให้ผลบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปถัมภกกรรมนั้นให้แปรเปลี่ยนทุเลาลงไป บั่นทอนวิบากกรรมมิให้เป็นไปได้นาน
8. อุปฆาตกรรม กรรมตัดรอน กรรมที่แรง ฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรมและอุปถัมภกกรรม เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรมสองอย่างนั้นให้ขาดไปเสียทีเดียว เช่น เกิดในตระกูลสูง มั่งคั่ง แต่กลับอายุสั้น เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เป็นต้น
หมวดที่ 3 ว่าโดยการให้ผลตามแรงหนักเบา
9. ครุกรรม กรรมหนัก ฝ่ายดีหมายถึงสมาบัติ 8 ฝ่ายชั่วหมายถึงอนันตริยกรรม 5 อันประกอบด้วย ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนห้อพระโลหิต ทำให้สงฆ์แตกแยก
10. อาจิณณกรรม หรือ พหุลกรรม กรรมที่ทำจนเคยชิน ทำมาก ทำสม่ำเสมอ กรรมนี้จะให้ผลยั่งยืนมาก
11. อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย คือกรรมที่ทำเมื่อจวนจะตายจับใจอยู่ใหม่ๆ ถ้าไม่มี 2 ข้อก่อน ก็จะให้ผลก่อน มีอานุภาพให้บุคคลไปสู่สุคติหรือทุคติได้ ถ้าเขาหน่วงเอากรรมนั้นเป็นอารมณ์ก่อนสิ้นใจ
12. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักแต่ว่าทำ กรรมที่ทำไว้ด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นโดยตรง ต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผลแล้ว กรรมนี้ก็จะให้ผล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น