23 มิถุนายน 2564

การภาวนาจิต

ความสงัดเหล่าใด ความวิเวก ความสันโดษเหล่าใดเหมาะแล้วกับการฝึกจิตที่จะเป็นวิหารธรรม ที่จะเป็นครูบาอาจารย์ ที่ใดก็ตามที่เราฝึกแล้วภาวนาจิตแล้วทำให้จิตเราตื่นตัวได้ตลอดนั่นแล..สถานที่แห่งนั้นแลเหมาะกับการเจริญพระกรรมฐานอย่างยิ่ง สถานที่ใดเมื่อเราประพฤติแล้ว ระลึกแล้ว อาศัยแล้วทำให้เรานั้นเกิดความเคลิบเคลิ้มจิตเกิดความสุข..สถานที่แห่งนั้นแลย่อมทำให้จิตเรานั้นมีแต่ความเสื่อม 

ดังนั้นขอให้โยมจงพิจารณาเพ่งโทษในการนอน..นี่คือความเพลิดเพลิน อย่างน้อยก่อนนอน ๑๐ นาที ๑๕ นาที ครึ่งชั่วยาม อึดใจเดียวของเราก็ดี ให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือว่ากำหนดรู้ในอานาปานสติแล้ว ทำความรู้สึกให้ทั่วตัว วางจิตไว้ในกาย ทรงจิตให้สงบ แล้วระลึกถึงพุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าขอระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งเป็นสรณะของข้าพเจ้า แล้วก็ทำจิตนั้น..สำรวมจิตนั้นให้สงบตั้งมั่น อยู่ในกาย วาจา ใจ 

เมื่อสงบดีแล้วก็ภาวนาจิตกำกับเข้าไป กำหนดรู้ลมพุทธ-เข้า โธ-ออก อยู่อย่างนี้ จนจิตรู้สึกว่าพอสมควรแล้วกับความเพียรของเรา ก็อธิษฐานจิตแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตายกับเราในโลกนี้ ก่อนที่เราจะนอนหลับลงไป 

ก็เอาความสงบนั้นแลดูความสงบที่เหนือศูนย์จากกลางกาย เหนือสะดือของเรา ภาวนากำกับลงไปจนจิตเรานั้นดับลงไป กายสังขารสงบหลับลงไป องค์ภาวนาที่โยมกำกับไปนั้นแลจะเป็นตัวรักษาจิตของโยม เพราะขณะที่โยมระลึกถึงพุทโธนั้นแล..เค้าเรียกตัวสติ 

ตัวสติจะเป็นตัวรักษาจิตไม่ให้ฝันร้าย ไม่ให้ฝันลามก เมื่อมีเภทภัยอะไรเข้ามา..สติตัวนี้ก็จะทำหน้าที่คอยดูแลตามรักษาร่างกายสังขารของโยม ผู้ใดมีองค์ภาวนาพุทโธก็ดี ธัมโมก็ดี สังโฆก็ดี พุทธัง สรณัง คัจฉามิก็ดี ธัมมัง สรณัง คัจฉามิก็ดี สังฆัง สรณัง คัจฉามิก็ดี จะมีเทพเทวดามาคอยปกปักรักษา

แม้ผู้ใดเรือนใดเจริญมนต์อยู่ไม่ขาดแล้ว ผู้นั้นเรือนนั้นจะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข แม้อัคคีไฟก็ดี ความฉิบหายก็ดี โจรภัยก็ดีจะมาปล้นเอาทรัพย์ไปก็ดี จักต้องต้องมนตรานั้น จะทำการนั้นไม่สำเร็จ ดังนั้นแล้วขอให้โยมทั้งหลายจงเห็นคุณของอำนาจแห่งพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ 

ในวาระใดอารมณ์ใดก็ตามที่เรานั้นพอจะทำได้ ในการสวดมนต์ก็ดี ในการฟังธรรมก็ดี ในการให้ธรรมก็ดี ในการตรึกตรองในธรรมก็ดี ในการเจริญวิปัสสนาคือพิจารณาอารมณ์ทั้งหลายของจิตก็ดี ล้วนแล้วนำไปสู่ทางแห่งมรรคแห่งนิโรธทั้งนั้น 

ดังนั้นแล้วข้อเตือนใจมีอยู่ว่าการสวดมนต์อย่ารีบสวดเพื่อเราจะนั่ง..อยากจะนั่งสมาธิ แท้ที่จริงแล้วการที่โยมสวดมนต์อยู่นั้นแลก็คือการทำสมาธิอย่างหนึ่ง การเจริญมนต์อยู่นั้นแลคือการฝึกขันติธรรมอย่างหนึ่ง การเจริญมนต์อยู่นั้นแลเค้าเรียกว่าการเนกขัมมะคือการละอารมณ์อย่างหนึ่ง ดังนั้นเป็นการเจริญบารมีทั้ง ๑๐ ให้เกิดขึ้น 

และเมื่อในขณะที่เราเจริญมนต์อยู่ จิตเรานั้นไม่มีเวรภัยกับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ในขณะนั้นเรียกว่าจิตเรานั้นเข้าถึงความบริสุทธิ์ บุญที่เราสวดมนต์ภาวนานั้นแลจะมีรัศมีออกทางกายของเรา บุญนี้เมื่อเราระลึกแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ดวงวิญญาณเหล่าใดก็ตาม เค้าก็จะได้รับกระแสบุญนี้ นี่เรียกว่าเป็นทานแห่งเสียงนั่นเอง 

ไม่ว่าเราจะสวดในใจก็ดี สวดขณะที่เรามีเสียงพอดีก็ดี สวดในเสียงดังก็ดี แต่จิตเรานั้นต้องมีสมาธิจดจ่ออยู่แต่อักขระภาษาที่เราสวดอยู่ จนจิตเรานั้นเข้าถึงตัวปัญญา คือเข้าถึงความหมายของบทสวด นั่นแลก็จะนำพาให้เกิดทั้งปัญญาเห็นทางพ้นทุกข์ได้ ก็จะมีอานิสงส์มากนั่นเอง..

ที่มา
มูลนิธิเมืองธรรมพรหมรังสี สมเด็จพระพุฒาจารย์โต
โทร ๐๙๕ ๕๖๙๕๑๙๙ , ๐๘๑ ๙๒๙๓๒๒๒

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...