29 มิถุนายน 2564

สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี สร้าง หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร

พ.ศ. ๒๔๑๐ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ขณะนั้นท่านอายุประมาณ ๘๐ปี ได้เริ่มก่อสร้างพระพุทธรูปยืน อุ้มบาตร เป็นวัดบางขุนพรหมนอก (วัดอินทรวิหาร) เป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้วางรากฐานโดยใช้ซุงใหญ่ฝังเป็นคานทับถมด้วยไหและตุ่ม ตั้งเสาไม้ตะเคียนเป็นแกนกลาง ๗ ต้น ก่ออิฐถือปูนติดแน่นตลอดทั้งองค์ เป็นการวางรากฐานไว้อย่างแน่นหนามั่นคง นับเป็นพุทธานุสรณ์ที่ท่านมุ่งมั่นตั้งใจ ด้วยมีเหตุว่าท่านมายืน-มาเติบโตที่วัดบาง ขุนพรหมนอกแห่งนี้ ท่านจะระลึกถึงทุกสถานที่ที่ผูกพันกับชีวิตท่านเสมอ เพื่อแสดงความกตัญญูกับสถานที่ ที่ท่านเคยดำรงอยู่ในช่วงหนึ่งของชีวิตท่าน 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) ที่วัดอินทรวิหาร ทว่าการก่อสร้างก็ยังไม่ทันสำเร็จ โดยขณะนั้นก่อองค์พระได้ถึงเพียงระดับพระนาภี (สะดือ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ได้อาพาธถึงแก่มรณภาพสิ้นชีพิตักษัย บนศาลาเก่าวัดอินทรวิหาร ณ วันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ เวลา ๒ ยาม สรีระสังขารของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ก็ได้เคลื่อนย้ายไปสู่วัดระฆัง ตรงกับในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ ๘๔ ปี อยู่ในสมณเพศ ๖๔ พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ ๒๐ ปี

“อภินิหารของหลวงพ่อโต”
หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ดังเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วโดยทั่วกันในอดีต กล่าวคือในระหว่างที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในระหว่างสงคราม (พ.ศ. ๒๔๘๔ - ๒๔๘๗) หลวงพ่อโตหาได้กระทบกระเทือนแต่อย่างใดไม่ คงอยู่เป็นมิ่งขวัญเป็นที่สักการะของชาวเราอยู่ตลอดไป ได้มีผู้กล่าวสรรเสริญถึงอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของท่านอยู่เสมอมิได้ขาด ในยามสงครามประชาชนในเขตอื่นๆ อพยพกันเป็นจ้าละหวั่น แต่ในบริเวณเขตหลวงพ่อโตมิใคร่จะมีใครอพยพกัน ซึ่งบางท่านกล่าวว่าจะไม่ยอมไปไกลจากองค์หลวงพ่อโตเป็นอันขาด แต่มีบางท่านที่จะต้องอพยพ ได้ไปทูลลาสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทว)” วัดสุทัศน์ มีรับสั่งว่า
“อย่าไปเลย ในบริเวณวัดอินทรวิหารเหมาะและปลอดภัยดีแล้ว เพราะหลวงพ่อโตท่านก็คุ้มครองอยู่คงจะปัดเป่าภยันตรายไปได้ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ฯ (โต) ท่านเป็นผู้สร้าง ได้ทำไว้ดีแล้ว”
ประชาชนส่วนมากในบริเวณวัดอินทรวิหาร จึงไม่ใคร่อพยพจากไป นอกจากนั้นเมื่อมีภัยทางอากาศเกิดขึ้นในคราวใด ประชาชนในเขตอื่นๆ ยังพลอยหลบภัยเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณหลวงพ่อโตเป็นจำนวนมาก ปรากฏว่ามีเครื่องบินมาทิ้งลูกระเบิดที่บริเวณวัดอินทรวิหารเหมือนกัน เป็นลูกระเบิดเพลิงรวมด้วยกัน ๑๑ ลูก แต่ไม่ระเบิดและไม่เกิดเพลิงแต่อย่างใด ในครั้งต่อมาได้มีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่ตำบลเทเวศร์ โดยเฉพาะองค์หลวงพ่อโตวัดอินทรวิหารใกล้กับจุดอันตรายมาก แต่ก็หาเป็นอันตรายแม้แต่น้อยไม่ ซึ่งประชาชนส่วนมากที่หลบภัยเข้ามาในบริเวณหน้าหลวงพ่อโต มองเห็นฝูงเครื่องบินมาทิ้งระเบิดบ่ายโฉมหน้ามุ่งหมายตรงมายังหลวงพ่อโต ครั้นมาถึงในระยะใกล้เครื่องบินฝูงนั้นกลับวกมุ่งไปทางทิศอื่น ซึ่งดูประหนึ่งว่าหลวงพ่อโตท่านโบกพระหัตถ์ให้ไปทางอื่นเสีย ประชาชนและบ้านเรือนในบริเวณหน้าหลวงพ่อโตวัดอินทรวิหารจึงหาเป็นอันตรายแต่ประการใดไม่
พรรณนาไว้ในเรื่องประวัติ อภินิหารหลวงพ่อโต (พิมพ์เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐)

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...