< ๑.พระพุทธเจ้าสอนอะไร ?>
ผมแน่ใจว่าคนที่พอจะสนใจในศาสนาพุทธก็ทราบแล้วว่าพระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่องอริยสัจสี่ บางคนอาจจะคิดว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องทำบุญเพื่อไปสวรรค์กระมัง
ผมคิดว่าคำตอบที่จะทำให้เห็นชัดเจนที่สุดอยู่ในนิทานเรื่องนี้
ฤาษีผู้มีฤิทธ์ตนหนึ่งใช้ไม้เท้ากายาสิทธิ์แปลงร่างของชายคนหนึ่งเป็นเสือโคร่งไปในชั่วพริบตา เราต้องตั้งคำถามว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับชายผู้นี้ อยู่อย่างเป็นเสือโคร่งต่อไปหรือพยายามหาทางแก้มนต์ของฤาษีและรีบเร่งกลับสู่ความเป็นคน เห็นได้ชัดว่าคำตอบมีอยู่เพียงข้อเดียวเท่านั้น คือต้องรีบแก้มนต์และหาทางกลับคืนสู่ความเป็นคนให้เร็วที่สุด คนที่จะแก้มนต์ให้ได้ จะต้องเป็นชายอีกผู้หนึ่งที่รู้ว่าเสือตัวนี้มิใช่เป็นเสือจริง แต่เป็นเสือเพราะถูกแปลงร่างจากความเป็นคน ด้วยความเมตตาของชายผู้นี้ เขาจึงเสาะหาจนเจอสูตรแก้มนต์ของฤาษี และกลับมาแปลงร่างของเสือให้กลับเป็นคนเช่นเดิม
นิทานเรื่องนี้ได้บรรจุเนื้อหาอันเป็นแก่นของศาสนาพุทธไว้ครบถ้วน
▪มนต์ของฤาษีคืออวิชชา
▪ชายในนิทานคือสภาวะของจิตเดิมแท้หรือจิตประภัสสร ซึ่งเป็นจิตที่ปราศจากความทุกข์อันมีอยู่แล้วในคนทุกคน
▪เสือโคร่งคือสภาวะที่สูญเสียจิตเดิมแท้ คือจิตที่ถูกครอบงำด้วยอวิชชาและความทุกข์
▪ชายอีกคนหนึ่งที่มีความเมตตาคือพระพุทธเจ้าผู้เสาะแสวงหาจนเจอสูตรแก้มนต์ คือเจอหนทางแห่งความดับทุกข์ และสามารถนำจิตเดิมแท้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง
สถานการณ์ของมนุษย์ในขณะนี้คือ เราได้สูญเสียจิตบริสุทธ์ หรือจิตเดิมแท้อันเนื่องจากอวิชชา หลายคนอยากจะถามว่า แล้วพวกเราไปได้อวิชชามาตั้งแต่เมื่อไร นี่เป็นคำถามเดียวกับถามว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นของสังสารวัฎที่พระพุทธองค์เตือนว่าอย่าถาม เพราะเป็นเรื่องอจินไตย รู้ไม่ได้ ถามแล้วก็ไม่มีประโยชน์ หากใครไปเอามาคิดมาก ก็อาจจะทำให้เป็นบ้าได้ ครั้นพระพุทธเจ้าได้มาบอกข่าวดีกับพวกเราแล้ว เราควรจะรับฟังท่านโดยดุษณี ท่านตรัสว่าหน้าที่ของความเป็นมนุษย์มีเพียงข้อเดียวคือต้องปลดเปลื้องอวิชชาและกลับไปสู่ความสมบูรณ์ของชีวิตที่เป็นมาแต่ดั้งเดิมคือจิตหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิงหรือความเป็นพระอรหันต์ ผู้ที่มาปลดเปลื้องอวิชชาให้เราได้คือพระพุทธเจ้านั่นเอง
ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อชายใจดีมาบอกข่าวดีต่อเสือโคร่งว่าเขาได้มนต์ตรามาแล้ว ขอให้เสือโคร่งยืนนิ่ง ๆ สักอึดใจจะได้ท่องบ่นมนตราพร้อมเอาไม้เท้ากายสิทธิ์ชี้ไปที่ตัวเพื่อเสือโคร่งจะได้กลับคืนสู่ความเป็นมนุษย์ดังเดิม เสือโคร่งกลับอวดเก่งบอกว่าไม่จริงและเถียงว่าเขาก็เป็นเสือโคร่งมาแล้วแต่เดิม ไม่จำเป็นต้องกลับไปเป็นอะไรอีก นี่คือคนประเภทที่ไม่เอาธรรมะเลยและคิดว่าธรรมะไม่มีความจำเป็นและไม่สำคัญต่อการอยู่รอดของชีวิต หาเงินพออยู่รอดได้ก็ดีแล้ว เป็นกลุ่มคนที่ให้ความเชื่อมั่นต่อข้อเท็จจริงและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มากกว่าเรื่องศาสนาที่เขาคิดว่าเป็นเรื่องงมงายและพิสูจน์ไม่ได้ คนประเภทนี้เปรียบเหมือนกับอยู่ในห้องมืดแล้วยังเลือกใส่แว่นตาดำ ความมืดของอวิชชาจึงรัดตัวมันเองแน่นยิ่งขึ้น เป็นบุคคลประเภทที่น่าสงสารเป็นอย่างยิ่ง
คนอีกประเภทหนึ่งที่หวังทำบุญเพื่อไปสวรรค์ก็เปรียบได้ว่า อยากจะเปลี่ยนจากความเป็นเสือโคร่งมาเป็นเสือลายเท่านั้นเอง ภพภูมิต่าง ๆ ในสังสารวัฏจากพระพรหม เทวดา มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เปรต และสัตว์นรกนั้น ล้วนแล้วแต่มีความเป็นเสืออยู่ทั้งสิ้น ต่างกันที่ชนิดหรือพันธ์เท่านั้นเอง
ข้อแตกต่างอีกข้อหนึ่งคือ ในหมู่แห่งพระพรหม เทวดาและมนุษย์นั้น ยังมีเสือบางตัวที่อยู่ในขั้นตอนแห่งการกลับกลายสู่ความเป็นมนุษย์ ผู้ที่สนใจศาสนาพุทธมากจนถึงขั้นการฝึกสมาธิวิปัสสนาคงจะได้ยินเรื่องญาณ๑๖ ญานที่ ๑๓ มีชื่อเรียกว่า โคตรภูญานหรือญานข้ามโครต นั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ คือการข้ามจากโครตแห่งความเป็นมนุษย์ไปสู่โครตแห่งความเป็นพระอริยะบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจของปัญญาชน จะขออธิบายว่าโดยบุคลาธิษฐานแล้ว
▪พระโสดาบันคือเสือที่กลับกลายเป็นมนุษย์ได้ ๒๕%
▪พระสกิทาคามีคือเสือที่กลับกลายเป็นมนุษย์ได้ ๕๐%
▪พระอนาคามีคือเสือที่กลับกลายเป็นมนุษย์ได้ ๗๕%
▪พระอรหันต์คือเสือตัวที่สามารถกลับกลายเป็นมนุษย์ได้๑๐๐% เป็นผู้ที่ได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มเปี่ยม คือสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิงและกลับสู่ความเป็นธรรมดาของชีวิต (ตถตา) แน่นอน โดยความเป็นจริงแห่งการปฏิบัติแล้วไซร้ ไม่อาจจะบอกเป็นตัวเลขเช่นนี้ได้ นี่เป็นเพียงสื่อแห่งการทำให้ผู้อ่านประเภทปัญญาชนเข้าใจเท่านั้น
ข้อเปรียบเทียบดังกล่าวทำให้สามารถมองเห็นโครงสร้างของชีวิตชัดมากขึ้นว่าความสมบูรณ์ที่เต็มเปี่ยมของชีวิตหรือเป้าหมายของชีวิตอยู่ที่ความเป็นพระอรหันต์นั่นเอง ฉะนั้น อย่าว่าแต่พอใจที่จะเป็นเพียงเทวดาซึ่งอาจจะยังเป็นเสือโคร่งเต็มตัวเลย การพอใจอยู่เพียงแค่เป็นพระอริยบุคคลในสาม ระดับก็ยังเป็นสิ่งไม่ควร เพราะยังไม่ถึงความสมบูรณ์แห่งชีวิต การเกิดมาในภพชาติแห่งความเป็นมนุษย์หมายความว่ามนุษย์สามารถสร้างบารมีอย่างเต็มเปี่ยมโดยการเร่งรีบปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะการทำสมาธิวิปัสสนา หากไม่สามารถหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิงได้ในชาตินี้ บุญบารมีที่สร้างไว้จะได้เป็นปัจจัยหรือทุนรอนที่จะทำให้ก้าวใกล้ความเป็นพระอรหันต์ได้มากขึ้นในชาติต่อไป แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์แล้วไซร้ ความพากเพียรพยายามของมนุษย์จะหยุดนิ่งไม่ได้
》สิ่งสำคัญที่ทุกคนจะต้องถามตนเองคือ พวกเรารู้หรือยังว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนอะไรอย่างแท้จริง การไม่สนใจธรรมะและการไม่ปฏิบัติธรรมนั้นก็เท่ากับการยอมรับฐานะความเป็นเสือโคร่งของตนเอง ซึ่งเป็นสภาวะแห่งความโง่เขลาและมืดบอด
-San Nirvara-
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น