คำว่า “กิจของสงฆ์” เป็นคำพูดธรรมดาในภาษาไทย มีความหมาย ๒ นัย คือ
.
๑. สังฆกรรมต่างๆ ตามพระวินัยที่ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไปร่วมกันทำ
เช่น อุโบสถกรรม (ประชุมฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน) อุปสมบทกรรม (พิธีบวช) กฐินกรรม (รับกฐิน) ตลอดจนกิจทั่วไปที่ภิกษุผู้อยู่ร่วมกันจะพึงช่วยกันทำ เช่น ดูแลรักษาและซ่อมแซมเสนาสนะ กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์ เป็นต้น นี่ก็เรียกว่า “กิจของสงฆ์”
.
๒. กิจส่วนตัวของภิกษุแต่ละรูปที่จะพึงปฏิบัติตามพระวินัย
เช่น ออกบิณฑบาต ทำวัตรสวดมนต์ ศึกษาพระธรรมวินัย ปฏิบัติกรรมฐาน เป็นต้น รวมทั้งกิจอื่นๆ ที่ไม่ขัดต่อสมณวิสัย นี่ก็เรียกว่า “กิจของสงฆ์”
.
พระสงฆ์รุ่นเก่าในเมืองไทยกำหนด “กิจของสงฆ์” ไว้ เรียกกันว่า “กิจวัตร ๑๐ อย่าง” มีดังนี้
.
@@@@@
.
กิจวัตร ๑๐ อย่างของภิกษุ
.
๑. ลงอุโบสถ
๒. บิณฑบาตเลี้ยงชีพ
๓. สวดมนต์ไหว้พระ
๔. กวาดอาวาสวิหารลานพระเจดีย์
๕. รักษาผ้าครอง
๖. อยู่ปริวาสกรรม
๗. โกนผมปลงหนวดตัดเล็บ
๘. ศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์
๙. เทศนาบัติ
๑๐. พิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง ๔ เป็นต้น
.
กิจวัตร ๑๐ เหล่านี้เป็นกิจใหญ่ ควรที่ภิกษุจะต้องศึกษาให้ทราบความชัด และจำไว้เพื่อปฏิบัติสมควรแก่สมณสารูปแห่งตน
.
@@@@@
.
มักมีปัญหาเกิดขึ้นในหมู่ประชาชนเมื่อเห็นการกระทำของพระสงฆ์ว่า “นั่นใช่กิจของสงฆ์หรือเปล่า” นอกจากมีพระธรรมวินัย และ “กิจวัตร ๑๐ อย่าง” เป็นกรอบพิจารณาแล้ว ก็มีหลักอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ :-
.
“วิญฺญุปสตฺถ” (วิน-ยุ-ปะ-สัด-ถะ) = วิญญูชนสรรเสริญ
หรือ “วิญฺญุครหิต” (วิน-ยุ-คะ-ระ-หิ-ตะ) = วิญญูชนติเตียน
หมายความว่า การกระทำนั้นๆ ผู้ที่รู้เรื่องนั้นแจ่มแจ้งดีและเป็นคนมีคุณธรรม ท่านสรรเสริญหรือตำหนิ ถ้าท่านสรรเสริญก็ควรทำ ถ้าท่านตำหนิก็ไม่ควรทำ
.
โปรดสังเกตว่า ท่านใช้คำว่า “วิญญูชน” ซึ่งหมายถึงผู้รู้ผิดรู้ชอบตามปรกติ ทั้งนี้เพราะคำสรรเสริญหรือคำตำหนิอาจมาจาก “พาลชน” คือผู้ไม่รู้เรื่องนั้นๆ อย่างถูกต้องถ่องแท้ แต่เอาความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปตัดสิน เช่นถ้าเรื่องนั้นถูกใจตน ก็บอกว่าเป็นกิจของสงฆ์ ถ้าเรื่องนั้นไม่ถูกใจตน ก็บอกว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์
.
เมื่อพอจะจับหลักได้แล้ว ต่อไปนี้ถ้าเห็นพระภิกษุสามเณรทำอะไร หรือได้ยินข่าวเกี่ยวกับพระ เราจะมีหลักในการมอง อย่างน้อยก็-ไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวเข้าไปตัดสิน อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เห็นภาพผิดเพี้ยนไปจากหลักที่ควรจะเป็น และทำให้ท่าทีของเราต่อเรื่องนั้นๆ พลอยผิดพลาดไปด้วย
.
.
.
___________
ขอขอบคุณ :-
บทความของ : พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ,๑๗:๒๖
photo : pinterest
web : dhamma.serichon.us/2022/02/20/หลักปฏิบัติของสาวกผู้ม/
Posted date : 24 กุมภาพันธ์ 2022 , By admin.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น