11 กันยายน 2561

…อาการอารมณ์อุปจารสมาธิ…และณานแต่ละระดับ..


…อาการและอารมณ์ของอุปจารสมาธิ…และณานแต่ละระดับ..
“….อาการของอุปจารสมาธิคือ ปีติได้แก่อารมณ์ความอิ่มใจเมื่อทำมาถึงตอนนี้อารมณ์จะชุ่มชื่นมาก อารมณ์สะอาดเยือกเย็น มีความเป็นสุขอย่างยอดเยี่ยม ไม่เคยพบความสุขอย่างนี้มาก่อนเลยในชีวิต ตอนนี้เวลาภาวนาลมหายใจจะเบากว่าปกติมาก อารมณ์เป็นสุขร่างกายของนักปฏิบัติที่เข้าถึงระดับนี้ ผิวหนังจะนวลขึ้นเพราะอารมณ์ที่มีความสุขแต่อาการทางร่างกายนี่สิที่ทำให้นักปฏิบัติตกใจกันมากนั่นก็คือ
….๑. อาการขนลุกซู่ซ่า เมื่อเกิดอาการอย่างนี้หรืออย่างอื่นที่กล่าวถึงต่อไปจะมีอารมณ์ใจเป็นสุข ขอให้ทุกท่านปล่อยอาการอย่างนั้นไปตามสภาพของร่างกาย จงอย่าสนใจ เมื่อสมาธิสูงขึ้น หรือลดตัวลงต่ำกว่านั้น อาการอย่างนั้นก็จะหมดไปเอง อาการขนลุกพองถ้ามีขึ้นพึงควรภูมิใจว่า เราเข้าถึงอาการของปีติระดับหนึ่งแล้ว อย่ากังวลอาการของร่างกาย ….
….๒. อาการของปีติขั้นที่ ๒ ได้แก่อาการน้ำตาไหล”
…..๓. อาการของปีติขั้นที่ ๓ คือร่างกายโยกโคลง โยกไปข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้างบางคราวโยกแรง จนศีรษะใกล้ถึงพื้น….
….๔. อาการของปีติขั้นที่ ๔ ตามตำราท่านว่าตัวลอยขึ้นบนอากาศ แต่ผลของการปฏิบัติไม่แน่นัก บางรายก็เต้นเหมือนปลุกตัว บางรายก็ตัวลอยขึ้นบนอากาศ เมื่อลอยไปแล้ว ถ้าสมาธิคลายตัวก็กลับมาที่เดิมเอง (อย่าตกใจ)…
….๕. อาการของปีติขั้นที่ ๕ คือ มีอาการแผ่ซ่านในร่างกายซู่ซ่าเหมือนมีลมไหลออกในที่สุดเหมือนตัวใหญ่และสูงขึ้น หน้าใหญ่แล้วมีอาการเหมือนลมไหลออกจากกาย ในที่สุดก็มีความรู้สึกว่าตัวหายไปเหลือแต่ท่อนหัว..
….อาการทั้งหมดนี้ เมื่อเกิดขึ้นอารมณ์ใจจะมีความสุข ฉะนั้น นักปฏิบัติให้ถืออารมณ์ใจเป็นสำคัญ อย่าตกใจในอาการตามที่กล่าวมาแล้วนั้น พอสมาธิสูงถึงระดับฌานก็จะสลายตัวไปเอง ปีตินี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วอารมณ์จะเป็นสุข คือถึงระดับที่สี่ ที่จะเข้าถึงปฐมฌาน ต่อไปก็เป็นปฐมฌานเพราะอยู่ชิดกัน
อัปปนาสมาธิหรือฌาน’…
….ต่อไปนี้จะพูดหรือแนะนำใน อัปปนาสมาธิ คำว่า อัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิใหญ่ มีอารมณ์มั่นคง เข้าถึงระดับฌาน ตั้งแต่ฌานที่หนึ่งถึงฌานที่สี่ แต่ก่อนที่จะพูดถึง อัปปนาสมาธิ ขอย้อนมาอธิบายถึงอุปจารสมาธิเล็กน้อยก่อน การที่พูดมาแล้วเป็นการพูดในเรื่องของนิมิตโดยตรงท่านที่ไม่นิยมนิมิตจะไม่เข้าใจ….
…..อุปจารสมาธิระดับสุดท้าย……
….เมื่อจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิขั้นสุดท้าย ถ้าผู้ปฏิบัติไม่สนใจในนิมิต หรือสร้างนิมิตให้เกิดขึ้นไม่ได้ ให้สังเกตอารมณ์ใจดังนี้ อารมณ์นี้มีเหมือนกันทั้งท่านที่ถือนิมิตหรือไม่ถือนิมิต คือจะมีความรู้สึกว่ามีอารมณ์ตั้งมั่นทรงตัวดี มีความชุ่มชื่นไม่อิ่มไม่เบื่อในการปฏิบัติ มีอารมณ์เป็นสุขเยือกเย็นมาก ซึ่งไม่เคยพบมาเลยในชีวิต และมีอารมณ์เป็นหนึ่ง กำหนดอารมณ์ไว้อย่างไรอารมณ์ไม่เคลื่อนจากที่ตั้งอยู่ได้นาน ตอนนี้เป็น ฌาน อารมณ์ที่สังเกตได้คือ…
…๑. รู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออก คำภาวนาทรงตัว ไม่ลืมไม่เผลอไม่ฟุ้งไปสู่เรื่องอื่นนอกเหนือจากที่คิดจะภาวนา มีอารมณ์เต็มเปี่ยมด้วยกำลังใจไม่อิ่มไม่เบื่อไม่อยากลุกออกจากที่ มีความสุขหรรษาเป็นพิเศษ ซึ่งไม่เคยมีความสุขใดในชีวิตที่เคยพบมาก่อนเลยมีอารมณ์ตั้งมั่นดิ่งอยู่ในที่เดียวเป็นพิเศษ (ข้อห้านี้เป็นฌาน) หูได้ยินเสียงทุกอย่างชัดเจนมากที่เข้ามากระทบประสาทหู เสียงคนหรือเสียงสัตว์ธรรมดาไม่ใช่เสียงทิพย์ แม้แต่เสียงเครื่องขยายเสียงที่มีเสียงดังมาก ตอนนี้ได้ยินทุกอย่างชัดเจนตามปกติแต่ไม่รำคาญในเสียงนั้นเลย คงภาวนาหรือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกได้เป็นปกติเหมือนไม่มีเสียงรบกวนลมหายใจจะเบากว่าเวลาปกติจนสังเกตได้ชัดอาการอย่างนี้ท่านเรียกว่า ปฐมฌาน คือ ฌานที่หนึ่ง…
…๒. เมื่อจิตเป็นสมาธิในฌานที่สองมีความรู้สึกดังนี้คือจะรู้สึกว่าคำภาวนาหายไปบางท่านหรือหลายท่านควรจะพูดว่า มากท่านก็คงไม่ผิดเมื่ออารมณ์เข้าถึงฌานที่สองใหม่ๆ อารมณ์ยังไม่ชิน เมื่อขณะที่จิตทรงอยู่ในฌานนี้ จะมีความอิ่มเอิบสุขสบาย จะเผลอตัว เมื่อจิตมีสมาธิลดลง เพราะกำลังจิตถอยสมาธิ จะลดลงอยู่ที่อุปจารสมาธิ ตอนนี้อารมณ์คิด คือความรู้สึกก็เกิดขึ้น เมื่อจิตตั้งอยู่ในฌานจะไม่สามารถคิดอะไรได้ เพราะเอกัคคตารมณ์คืออารมณ์เป็นหนึ่งไม่มีอารมณ์คิดจะทรงตัวเฉยอยู่และไม่มีคำภาวนา คำภาวนานี้ตั้งแต่ฌานที่สองถึงฌานที่สี่จะไม่มีคำภาวนาเมื่อรู้สึกตัวว่าไม่ได้ภาวนาก็จะคิดว่าตนเองหลับไปหรือเผลอไป ความจริงไม่ใช่ ซึ่งเป็นอาการของฌานที่สอง…
…๓. เมื่อจิตมีสมาธิเข้าถึงฌานที่สาม ตอนนี้จะรู้สึกว่า ลมหายใจเบาลงมาเกือบไม่รู้สึกว่าหายใจ แต่ความจริงยังรู้สึกถนัดอยู่แต่เบามากนั่นเอง อาการทางร่างกายจะรู้สึกเหมือนเกร็งไปทั้งร่าง แต่ความจริงร่างกายเป็นปกติ แต่ที่มีความรู้สึกอย่างนั้นเป็นอาการของสมาธิ เสียงภายนอกที่เข้ามากระทบหูเกือบไม่ได้ยินเสียงนั้นเลยได้ยินแต่เบามาก จิตทรงอารมณ์เป็นหนึ่งสงัดดีมากเป็นพิเศษ อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่สาม..
…๔. อาการของฌานที่สี่ เมื่อจิตเข้าถึงฌานที่สี่ ฌานสี่นี้มีสองขั้นคือ หยาบ กับ ละเอียด สำหรับฌานหนึ่ง สอง สาม นั้น แต่ละฌานมีสามชั้นคือ หยาบ กลาง ละเอียด ที่ไม่อธิบายไว้ ก็เพราะกลัวจะเฝือ เพราะเมื่อฝึกได้ใหม่ยังไม่มีกำลังใจที่แน่นอน ประเดี๋ยวได้ประเดี๋ยวสลายตัวอธิบายละเอียดเข้าแทนที่จะเป็นผลดี จะกลายเป็นอาหารผสมยาพิษไปจุกจิกใจเข้าเลยเลิกดีกว่า..
….เป็นอันว่ารู้กันว่าเป็นฌานชั้นที่สี่ก็พอ ฌานอื่นๆ พอรู้ว่าถึงฌานก็พอ จงอย่าลืมว่าเมื่อถึงฌานแล้วเวลาไม่นานก็พลัดจากฌาน คืออารมณ์ลดลงมาที่อารมณ์ปกติ ให้คิดว่าเราถึงฌานได้แล้วจะอยู่นานหรือไม่นานก็ช่าง เป็นอันว่าเราเข้าถึงธงชัยแล้วก็ดีถมไป วันนี้ฌานสลายตัววันหน้าเวลาหน้ายังมีอีก เมื่อเรายังไม่ตายเพียงใด เราก็เล่นเพลิดเพลินในฌานให้อารมณ์เป็นสุข เพื่อเพราะกำลังสมาธิไว้เป็นกำลังช่วยตัดกิเลสในโอกาสหน้าต่อไป
….เลอะเทอะมาเสียนาน ตอนนี้เข้าตอนฌานสี่กันเถอะ เมื่อจิตเข้าถึงฌานสี่หยาบตอนนั้นจะมีความรู้สึกว่า ลมหายใจหายไป ไม่รู้สึกว่าหายใจ แต่ที่จริงแล้วลมหายใจยังมีตามปกติแต่ทว่าจิตไม่รับทราบว่าร่างกายทำอะไร หายใจหรือไม่ จิตใจย่อมไม่รับรู้ตามท่านพูดว่าจิตกับประสาทแยกกันเด็ดขาด แต่ตอนฌานสี่หยาบนี้จิตแยกออกจากประสาทจริงแต่ยังไปไม่ไกลนัก ฉะนั้นเมื่อมีเสียงดังขนาดเครื่องขยายเสียงที่ดังมากๆ ตั้งอยู่ใกล้หูยังพอได้ยินแว่วๆ เหมือนอยู่ไกลกันมาก..
…เมื่อจิตเข้าถึงฌานสี่ละเอียด ตอนนี้สบายมาก เพราะไม่รู้อะไรเลย (ไม่ใช่หลับ) ภายในกำลังของจิตเข็มแข็งมาก มีความสว่างโพลง แต่จิตไม่ยอมรับรู้เรื่องของประสาทเลย ไม่ว่าเสียงหรือการกระทบกาย จิตไม่ยอมรับทราบด้วยประการทั้งปวง อาการของฌานสี่ที่ละเอียดเป็นอย่างนี้…
….ที่นำอาการของฌานมากล่าวไว้ที่นี้ก็เพราะว่าการปฏิบัติในหมวดสุกขวิปัสสโก ก็ทรงฌานเหมือนหมวดอื่นเหมือนกัน เพื่อนักปฏิบัติจะได้ทราบอาการเอาไว้ เพราะมีผู้มาถามเรื่องอาการของฌานนี้นับรายไม่ถ้วน บางรายถามแล้วถามอีกถามบ่อยๆ ชักสงสัยว่าทำจริงหรือเปล่า เพราะผู้ทำจริงเขาไม่ถามบ่อย เมื่อถามแล้วเอาไปปฏิบัติได้แล้วรู้เรื่องก็ไม่มีเรื่องถามต่อไป…”.
.
.
หนังสือวิธีฝึกกรรมฐานด้วยตนเองแบบง่ายๆ หน้า ๒๕ – ๓๐ โดยหลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี..

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...