"ฝึกหัดเปลี่ยนนิสัย" โดย หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
การตามดูใจของตัวเองนี่ น่าสนใจมาก ใจที่ยังไม่ได้ฝึก มันก็คอยวิ่งไปตามนิสัยเคยชินที่ยังไม่ได้ฝึก ไม่ได้อบรม มันเต้นคึกคักไปตามเรื่องตามราว ตามความคะนอง เพราะมันยังไม่เคยถูกฝึก ดังนั้นจงฝึกใจของตัวเอง การปฏิบัติภาวนาในทางพุทธศาสนาก็คือการปฏิบัติเรื่องใจ ฝึกจิตฝึกใจของตัว ฝึกอบรมจิตของตัวเองนี่แหละเรื่องนี้สำคัญมาก การฝึกใจเป็นหลักสำคัญ พุทธศาสนาเป็นศาสนาของใจ มันมีเท่านี้ ผู้ที่ฝึกปฏิบัติทางจิต คือผู้ปฏิบัติธรรมในทางพุทธศาสนา
การฝึกใจ
ใจของเรานี่มันอยู่ในกรง ยิ่งกว่านั้นมันยังมีเสือที่กำลังอาละวาดอยู่ในกรงนั้นด้วย ใจที่มันเอาแต่ใจของเรานี้ ถ้าหากมันไม่ได้อะไรตามที่มันต้องการแล้ว มันก็อาละวาด เราจะต้องอบรมใจด้วยการปฏิบัติภาวนา ด้วยสมาธิ นี้แหละที่เราเรียกว่า "การฝึกใจ"
พื้นฐานของการปฏิบัติธรรม
ในเบื้องต้นของการฝึกปฏิบัติธรรม จะต้องมีศีลเป็นพื้นฐานหรือรากฐาน ศีลนี้เป็นสิ่งอบรมกาย วาจา ซึ่งบางทีก็จะเกิดการวุ่นวายขึ้นในใจเหมือนกัน เมื่อเราพยายามจะบังคับใจไม่ให้ทำตามความอยาก
กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย นิสัยความเคยชินอย่างโลกๆ ลดมันลง อย่ายอมตามความอยาก อย่ายอมตามความติดของตน หยุดเป็นทาสมันเสีย พยายามต่อสู้เอาชนะอวิชชาให้ได้ด้วยการบังคับตัวเองเสมอ นี้เรียกว่าศีล
เมื่อพยายามบังคับจิตของตัวเองนั้น จิตมันก็จะดิ้นรนต่อสู้มันจะรู้สึกถูกจำกัด ถูกข่มขี่ เมื่อมันไม่ได้ทำตามที่มันอยาก มันก็จะกระวนกระวายดิ้นรน ทีนี้เห็นทุกข์ชัดละ
เห็นทุกข์ทำให้เกิดปัญญา
"ทุกข์" เป็นข้อแรกของอริยสัจจ์ คนทั้งหลายพากันเกลียดกลัวทุกข์ อยากหนีทุกข์ ไม่อยากให้มีทุกข์เลย ความจริง ทุกข์นี่แหละจะทำให้เราฉลาดขึ้นล่ะ ทำให้เกิดปัญญา ทำให้เรารู้จักพิจารณาทุกข์ สุขนั่นสิมันจะปิดหูปิดตาเรา มันจะทำให้ไม่รู้จักอด ไม่รู้จักทน ความสุขสบายทั้งหลายจะทำให้เราประมาท
กิเลสสองตัวนี้ทุกข์เห็นได้ง่าย ดังนั้นเราจึงต้องเอาทุกข์นี่แหละมาพิจารณา แล้วพยายามทำความดับทุกข์ให้ได้ แต่ก่อนจะปฏิบัติภาวนาก็ต้องรู้จักเสียก่อนว่าทุกข์คืออะไร
ตอนแรกเราจะต้องฝึกใจของเราอย่างนี้ เราอาจยังไม่เข้าใจว่ามันเป็นอย่างไร ทำไป ทำไปก่อน ฉะนั้นเมื่อครูอาจารย์บอกให้ทำอย่างใดก็ทำตามไปก่อน แล้วก็จะค่อยมีความอดทนอดกลั้นขึ้นเองไม่ว่าจะเป็นอย่างไรให้อดทนอดกลั้นไว้ก่อน เพราะมันเป็นอย่างนั้นเองอย่างเช่นเมื่อเริ่มฝึกนั่งสมาธิ เราก็ต้องการความสงบทีเดียวแต่ก็จะไม่ได้ความสงบ เพราะมันยังไม่เคยทำสมาธิมาก่อน ใจก็บอกว่า"จะนั่งอย่างนี้แหละจนกว่าจะได้ความสงบ"
อย่าทอดทิ้งจิต
แต่พอความสงบไม่เกิดก็เป็นทุกข์ ก็เลยลุกขึ้น วิ่งหนีเลย การปฏิบัติอย่างนี้ไม่เป็น "การพัฒนาจิต" แต่มันเป็นการ "ทอดทิ้งจิต"ไม่ควรจะปล่อยใจไปตามอารมณ์ ควรที่จะฝึกฝนอบรมตนเองตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ขี้เกียจก็ช่าง ขยันก็ช่าง ให้ปฏิบัติมันไปเรื่อยๆ ลองคิดดูซิ ทำอย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือ การปล่อยใจตามอารมณ์นั้นจะไม่มีวันถึงธรรมของพระพุทธเจ้า
เมื่อเราปฏิบัติธรรม ไม่ว่าอารมณ์ใดจะเกิดขึ้นก็ช่างมัน แต่ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ปฏิบัติให้สม่ำเสมอ การตามใจตัวเองไม่ใช่แนวทางของพระพุทธเจ้า ถ้าเราปฏิบัติธรรมตามความคิดความเห็นของเรา เราจะไม่มีวันรู้แจ้งว่าอันใดผิด อันใดถูก จะไม่มีวันรู้จักใจของตัวเองและไม่มีวันรู้จักตัวเอง ดังนั้นถ้าปฏิบัติธรรมตามแนวทางของตนเองแล้วย่อมเป็นการเสียเวลามากที่สุด แต่การปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้าแล้วย่อมเป็นหนทางตรงที่สุด
การพัฒนาจิต
ขอให้จำไว้ว่า ถึงจะขี้เกียจก็ให้พยายามปฏิบัติไป ขยันก็ให้ปฏิบัติไป ทุกเวลาและทุกหนทุกแห่ง นี่จึงจะเรียกว่า "การพัฒนาจิต" ถ้าหากปฏิบัติตามความคิดความเห็นของตนเองแล้ว ก็จะเกิดความคิดความสงสัยไปมากมาย มันจะพาให้คิดไปว่า "เราไม่มีบุญ เราไม่มีวาสนาปฏิบัติธรรมก็นานนักหนาแล้ว ยังไม่รู้ ยังไม่เห็นธรรมเลยสักที" การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็น "การพัฒนาจิต" แต่เป็น "การพัฒนาความหายนะของจิต"
ถ้าเมื่อใดที่ปฏิบัติธรรมไปแล้ว มีความรู้สึกอย่างนี้ว่ายังไม่รู้อะไร ยังไม่เห็นอะไร ยังไม่มีอะไรใหม่ๆเกิดขึ้นบ้างเลย นี่ก็เพราะที่ปฏิบัติมามันผิด ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
สิ้นสงสัยด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้อง
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า "อานนท์ ปฏิบัติให้มาก ทำให้มากแล้วจะสิ้นสงสัย" ความสงสัยจะไม่มีวันสิ้นไปได้ ด้วยการคิด ด้วยทฤษฎี ด้วยการคาดคะเน หรือด้วยการถกเถียงกัน หรือจะอยู่เฉยๆไม่ปฏิบัติภาวนาเลย ความสงสัยก็หายไปไม่ได้อีกเหมือนกัน กิเลสจะหายสิ้นไปได้ก็ด้วยการพัฒนาทางจิต ซึ่งจะเกิดได้ก็ด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้องเท่านั้น
การปฏิบัติทางจิตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น ตรงกันข้ามกับหนทางของโลกอย่างสิ้นเชิง คำสั่งสอนของพระองค์มาจากพระทัยอันบริสุทธิ์ ที่ไม่ข้องเกี่ยวกับกิเลสอาสวะทั้งหลาย นี่คือแนวทางของพระพุทธเจ้าและสาวกของพระองค์
เมื่อเราปฏิบัติธรรม เราต้องทำใจของเราให้เป็นธรรม ไม่ใช่เอาธรรมะมาตามใจเรา ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ ทุกข์ก็จะเกิดขึ้น แต่ไม่มีใครสักคนหรอกที่จะพ้นจากทุกข์ไปได้ พอเริ่มปฏิบัติ ทุกข์ก็อยู่ตรงนั้นแล้ว หน้าที่ของผู้ปฏิบัตินั้นจะต้องมีสติ สำรวม และสันโดษ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราหยุด คือเลิกนิสัยความเคยชินที่เคยทำมาแต่เก่าก่อนทำไมถึงต้องทำอย่างนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ไม่ฝึกฝนอบรมใจตนเองแล้วมันก็จะคึกคะนอง วุ่นวายไปตามธรรมชาติของมัน
ธรรมชาติของจิตฝึกได้เสมอ
ธรรมชาติของใจนี้มันฝึกกันได้ เอามาใช้ประโยชน์ได้ เปรียบได้กับต้นไม้ในป่า ถ้าเราปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติของมัน เราก็จะเอามันมาสร้างบ้านไม่ได้ จะเอามาทำแผ่นกระดานก็ไม่ได้ หรือทำอะไรอย่างอื่นที่จะใช้สร้างบ้านก็ไม่ได้ แต่ถ้าช่างไม้ผ่านมาต้องการไม้ไปสร้างบ้าน เขาก็จะมองหาต้นไม้ในป่านี้และตัดต้นไม้ในป่านี้เอาไปใช้ประโยชน์ ไม่ช้าเขาก็สร้างบ้านเสร็จเรียบร้อย
การปฏิบัติภาวนาและการพัฒนาจิตก็คล้ายกันอย่างนี้ ก็ต้องเอาใจที่ยังไม่ได้ฝึกเหมือนไม้ในป่านี่แหละ มาฝึกมัน จนมันละเอียดประณีตขึ้น รู้ขึ้น และว่องไวขึ้น ทุกอย่างมันเป็นไปตามภาวะธรรมชาติของมัน เมื่อเรารู้จักธรรมชาติ เข้าใจธรรมชาติ เราก็เปลี่ยนมันได้ ทิ้งมันก็ได้ ปล่อยมันไปก็ได้ แล้วเราก็จะไม่ทุกข์อีกต่อไป
จิตยึดมั่นมันก็สับสนวุ่นวาย
ธรรมชาติของใจเรามันก็อย่างนั้น เมื่อใดที่เกาะเกี่ยวผูกพันยึดมั่นถือมั่นก็จะเกิดความวุ่นวายสับสน เดี๋ยวมันก็จะวิ่งวุ่นไปโน่นไปนี่พอมันวุ่นว่ายสับสนมากๆเข้า เราก็คิดว่าคงจะฝึกอบรมมันไม่ได้แล้วแล้วก็เป็นทุกข์ นี่ก็เพราะไม่เข้าใจว่ามันต้องเป็นของมันอย่างนั้นเองความคิด ความรู้สึก มันจะวิ่งไปวิ่งมาอยู่อย่างนี้ แม้เราจะพยายามฝึกปฏิบัติ พยายามให้มันสงบ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เมื่อเราติดตามพิจารณาดูธรรมชาติของใจอยู่บ่อยๆก็จะค่อยๆเข้าใจว่าธรรมชาติของใจมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
ปล่อยวางได้จิตใจก็สงบ
ถ้าเราเห็นอันนี้ชัด เราก็จะทิ้งความคิดความรู้สึกอย่างนั้นได้ ทีนี้ก็ไม่ต้องคิดนั่นคิดนี่อีก คอยแต่บอกตัวเองไว้อย่างเดียวว่า "มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง" พอเข้าใจได้ชัด เห็นแจ้งอย่างนี้แล้ว ทีนี้ก็จะปล่อยอะไรๆได้ทั้งหมด ก็ไม่ใช่ว่าความคิดความรู้สึกมันจะหายไป มันก็ยังอยู่นั่นแหละ แต่มันหมดอำนาจเสียแล้ว
เปรียบก็เหมือนกับเด็กที่ชอบซน เล่นสนุก ทำให้รำคาญ จนเราต้องดุเอา ตีเอา แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของเด็กก็เป็นอย่างนั้นเอง พอรู้อย่างนี้ เราก็ปล่อยให้เด็กเล่นไปตามเรื่องของเขาความเดือดร้อนรำคาญของเราก็หมดไป มันหมดไปได้อย่างไร ก็เพราะเรายอมรับธรรมชาติของเด็ก ความรู้สึกของเราเปลี่ยน และเรายอมรับธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย เราปล่อยวาง จิตของเราก็มีความสงบเยือกเย็น นี่เรามีความเข้าใจอันถูกต้องแล้ว เป็นสัมมาทิฏฐิ
ถ้ายังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ แม้จะไปอยู่ในถ้ำลึกมืดสักเท่าใด ใจมันก็ยังยุ่งเหยิงอยู่ ใจจะสงบได้ก็ด้วยความเห็นที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น ทีนี้ก็หมดปัญหาจะต้องแก้เพราะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น นี่มันเป็นอย่างนี้ เราไม่ชอบมัน เราปล่อยวางมัน เมื่อใดที่มีความรู้สึกเกาะเกี่ยวยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้น เราปล่อยวางทันที เพราะรู้แล้วว่าความรู้สึกอย่างนั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อจะกวนเรา แม้บางทีเราอาจจะคิดอย่างนั้น แต่ความเป็นจริงความรู้สึกนั้นเป็นของมันอย่างนั้นเอง
ถ้าเราปล่อยวางมันเสีย รูปก็เป็นสักแต่ว่ารูป เสียงก็สักแต่ว่าเสียง กลิ่นก็สักแต่ว่ากลิ่น รสก็สักแต่ว่ารส โผฏฐัพพะก็สักแต่ว่าโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ก็สักแต่ว่าธรรมารมณ์ เปรียบเหมือนน้ำมันกับน้ำท่า ถ้าเราเอาทั้งสองอย่างนี้เทใส่ขวดเดียวกัน มันก็ไม่ปนกัน เพราะธรรมชาติมันต่างกัน เหมือนกับที่คนฉลาดก็ต่างกับคนโง่ พระพุทธเจ้าก็ทรงอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แต่พระองค์ทรงเป็นพระอรหันต์ พระองค์จึงทรงเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่ง "สักว่า" เท่านั้น
ใจก็สักว่าใจ ความคิดก็สักว่าความคิด
พระองค์ทรงปล่อยวางมันไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ทรงเข้าพระทัยแล้วว่า ใจก็สักว่าใจ ความคิดก็สักว่าความคิด พระองค์ไม่ทรงเอามันมาปนกัน ใจก็สักว่าใจ ความคิดความรู้สึกก็สักว่าความคิด ความรู้สึกปล่อยให้มันป็นเพียงสิ่ง "สักว่า" รูปก็สักว่ารูป เสียงก็สักว่าเสียงความคิดก็สักว่าความคิด จะต้องไปยึดมั่นถือมั่นทำไม ถ้าคิดได้รู้สึกได้อย่างนี้เราก็จะแยกกันได้ ความคิดความรู้สึก (อารมณ์) อยู่ทางหนึ่งใจก็อยู่อีกทางหนึ่ง เหมือนกับน้ำมันกับน้ำท่า อยู่ในขวดเดียวกันแต่มันแยกกันอยู่
พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกของพระองค์ ก็อยู่ร่วมกับปุถุชนคนธรรมดาที่ไม่ได้รู้ธรรม ท่านไม่ได้เพียงอยู่ร่วมเท่านั้น แต่ท่านยังสอนคนเหล่านั้น ทั้งคนฉลาด คนโง่ ให้รู้จักวิธีที่จะศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมและรู้แจ้งในธรรม ท่านสอนได้เพราะท่านได้ปฏิบัติมาเองท่านรู้ว่ามันเป็นเรื่องของใจเท่านั้น เหมือนอย่างที่ได้พูดมานี่แหละ
ดังนั้นการปฏิบัติภาวนานี้อย่าไปสงสัยมันเลย เราหนีจากบ้านมาบวช ไม่ใช่เพื่อหนีมาอยู่กับความหลงหรืออยู่กับความขลาดความกลัว แต่หนีมาเพื่อฝึกอบรมตัวเอง เพื่อเป็นนายตัวเอง ชนะตัวเองถ้าเราเข้าใจได้อย่างนี้ เราก็จะปฏิบัติธรรมได้ ธรรมะจะแจ่มชัดขึ้นในใจของเรา
ธรรมะมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง
ผู้ที่เข้าใจธรรมะก็เข้าใจตัวเอง ใครเข้าใจตัวเองก็เข้าใจธรรมะทุกวันนี้ก็เหลือแต่เปลือกของธรรมะเท่านั้น ความเป็นจริงแล้วธรรมะมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่จำเป็นที่จะต้องหนีไปไหน ถ้าจะหนีก็ให้หนีด้วยความฉลาด ด้วยปัญญา หนีด้วยความชำนิชำนาญ อย่าหนีด้วยความโง่ ถ้าเราต้องการความสงบก็ให้สงบด้วยความฉลาด ด้วยปัญญาเท่านั้นก็พอ
เมื่อใดที่เราเห็นธรรมะ นั่นก็เป็นสัมมาปฏิปทาแล้ว กิเลสก็สักแต่ว่ากิเลส ใจก็สักแต่ว่าใจ เมื่อใดที่เราทิ้งได้ ปล่อยวางได้แยกได้เมื่อนั้นมันก็เป็นเพียงสิ่งสักว่า เป็นเพียงอย่างนี้อย่างนั้นสำหรับเราเท่านั้นเอง เมื่อเราเห็นถูกแล้ว ก็จะมีแต่ความปลอดโปร่ง ความเป็นอิสระตลอดเวลา
พระพุทธองค์ตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายท่านอย่ายึดมั่นในธรรม" ธรรมะคืออะไร คือทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะความรักความเกลียดก็เป็นธรรมะ ความสุขความทุกข์ก็เป็นธรรมะความชอบความไม่ชอบก็เป็นธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กน้อยแค่ไหนก็เป็นธรรมะ
ปฏิบัติเพื่อละ อย่าปฏิบัติเพื่อสะสม
เมื่อเราปฏิบัติธรรมเราเข้าใจอันนี้ เราก็ปล่อยวางได้ ดังนั้นก็ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในใจเรา ในจิตเรา ในร่างกายของเรา มีแต่ความแปรเปลี่ยนไปทั้งนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นพระองค์ทรงสอนพระสาวกของพระองค์ให้ปฏิบัติเพื่อละ เพื่อถอนไม่ให้ปฏิบัติเพื่อสะสม
ถ้าเราทำตามคำสอนของพระองค์ เราก็ถูกเท่านั้นแหละ เราอยู่ในทางที่ถูกแล้ว แต่บางทีก็ยังมีความวุ่นวายเหมือนกัน ไม่ใช่คำสอนของพระองค์ทำให้วุ่นวาย กิเลสของเรานั้นแหละที่มันทำให้วุ่นวาย มันมาบังคับความเข้าใจอันถูกต้องเสีย ก็เลยทำให้เราวุ่นวาย
ความจริงการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ไม่มีอะไรลำบาก ไม่มีอะไรยุ่งยาก การปฏิบัติตามทางของพระองค์ไม่มีทุกข์เพราะทางของพระองค์คือ "ปล่อยวาง" ให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง
จุดหมายสูงสุดของการปฏิบัติภาวนานั้น ท่านทรงสอนให้"ปล่อยวาง" อย่าแบกถืออะไรให้มันหนัก ทิ้งมันเสีย ความดีก็ทิ้งความถูกต้องก็ทิ้ง คำว่าทิ้งหรือปล่อยวางไม่ใช่ไม่ต้องปฏิบัติ แต่หมายความว่าให้ปฏิบัติ "การละ" "การปล่อยวาง" นั่นแหละ
เนื้อหาบางส่วนจาก พระธรรมเทศนาเรื่องการฝึกใจ โดย หลวงปู่ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
https://sites.google.com/s…/smartdhamma/mind_training_lp_cha
https://sites.google.com/s…/smartdhamma/mind_training_lp_cha
Cr วีดีโอ วิธีเปลี่ยนนิสัย
หลวงปู่ชา สุภัทโท
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
หลวงปู่ชา สุภัทโท
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
โดย ชีวิตนี้น้อยนัก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น