พระเขี้ยวแก้ว หรือ พระทาฐธาตุ คือพระทันตธาตุส่วนที่เป็นเขี้ยวของพระโคตมพุทธเจ้า ซึ่งตามลักขณสูตรในพระไตรปิฎกภาษาบาลี ได้กล่าวถึงมหาปุริสลักขณะ 32 ประการ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง ลักษณะของพระทาฐะหรือเขี้ยวของบุคคลผู้มีลักษณะแห่งมหาบุรุษว่า "เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่งามบริสุทธิ์" ข้อมูลนี้จึงทำให้เชื่อกันว่า พระเขี้ยวแก้วมีทั้งหมด 4 องค์
พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ท้าวสักกะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานที่แคว้นกลิงคะ แล้วจึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลังกาทวีป (วัดพระเขี้ยวแก้ว ประเทศศรีลังกา ในปัจจุบัน)
พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ แล้วเชื่อว่าถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เมืองฉางอัน ประเทศจีน (ซีอาน) โดยพระภิกษุฟาเหียนเมื่อคราวจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย ปัจจุบัน พระเขี้ยวแก้วองค์นี้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์ ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง
พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค
เป็นที่เชื่อกันว่า บนโลกมนุษย์ของเรานี้ มีพระเขี้ยวแก้วขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ 2 องค์ นอกจากนี้ พระเขี้ยวแก้วยังจัดเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แยกกระจัดกระจาย องค์มีลักษณะแข็งแกร่งรวมกันแน่น พุทธศาสนิกชนจึงมีความศรัทธาเลื่อมใสในองค์พระเขี้ยวแก้วเป็นอย่างมาก
พระทันตธาตุ (ฟัน) ของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ เดิมเก็ษรักษาไว้ในเจดีย์ เมืองมงยวา มลฑลสกาย ประเทศพม่า แต่เจดีย์พังทลายลงมาจากเหตุธรรมชาติ
จึงพบซากเจดีย์ศิลปะมอญอายุกว่า ๑,๒๐๐ ปี อยู่ภายในและพบกล่องไม้จันทน์หอม มีข้อความเขียนเป็นภาษาสันสกฤตว่า "พระทันตธาตุพระพุทธเจ้า" ภายในมีกล่องทำด้วยงาช้าง บรรจุอัญมณีต่างๆ เมื่อเปิดกล่องออกจึงพบพระทันตธาตุมีลักษณะคล้ายองค์ที่ประดิษฐานในประเทศจีน
คณะสงฆ์พม่าสันนิษฐานว่าเป็นฟันกรามของพระบรมศาสดา ได้รับมาจากอินเดียในยุคที่พุทธศาสนาถูกคุกคาม
หลังการค้นพบครั้งนี้ คณะสงฆ์ได้นำพระทันตธาตุ (ฟัน) ไปเก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑ์พระบรมสาริกธาตุ เมืองย่างกุ้ง
ขอบคุณ : วิกิพีเดีย
ขอบคุณภาพ : พระเขี้ยวแก้ว หรือ พระทาฐธาตุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น