13 พฤศจิกายน 2564

ตำนานการสร้างพระพุทธชินราช

ตำนานการสร้างพระพุทธชินราช ตามตำนานที่มีไว้แล้วแย้งกันเป็น ๒ นัยอยู่ นัยหนึ่งว่าสร้างเมื่อราวจุลศักราช ๓๑๙ (พ.ศ.๑๕๐๐) แต่อีกนัยหนึ่งกล่าวว่าสร้างเมื่อราวจุลศักราช ๗๑๙ (พ.ศ.๑๙๐๐) ตำนานที่อ้างถึงพระพุทธชินราชหล่อขึ้น ในจุลศักราช ๓๑๙ (พ.ศ.๑๕๐๐) นั้น เป็นตำนานที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเหนือ ปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ (รัชกาลที่ ๔) ว่าด้วยเรื่องพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา และพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ (รัชกาลที่ ๕) เรื่องพระพุทธชินราช ความว่า

เมื่อพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกผู้ครองนครเชียงแสงได้ยกกองทัพลงมีตีเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งมีพระเจ้าพสุจราชปกครองอยู่ ทหารทั้งสองฝ่ายรบราฆ่าฟันกันตายลงเป็นอันมากมิได้แพ้ชนะกัน พระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ มีความเศร้าสลดใจในการศึกครั้งนี้ จึงเข้าทำการไกล่เกลี่ยให้พระราชาทั้งสองนี้เป็นสัมพันธไมตรีกัน พระราชาทั้งสองก็ยอมปฏิบัติตาม พระเจ้าพสุจราชได้ทรงยกพระนางประทุมราชเทวี ราชธิดา อภิเษกให้เป็นมเหสีแห่งพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมีพระราชโอรสด้วยพระนางประทุมราชเทวี ๒ พระองค์ ทรงพระนามว่า เจ้าไกรสรราชกับเจ้าชาติสาคร พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมีพระราชประสงค์จะป้องกันการรุกรานของชาติขอม ซึ่งขณะนั้นมีอำนาจอยู่ทางละโว้หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการแผ่ราชอาณาจักรให้ไพศาลออกไป จึงได้สร้างเมืองพิษณุโลก เพื่อให้ราชโอรสขึ้นครองเมือง

ตามพงศาวดารกล่าวว่าได้สร้างเมืองพิษณุโลกเมื่อจุลศักราช ๓๑๕ (พ.ศ.๑๔๙๖) เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ได้เสด็จลงมาอภิเษกเจ้าไกรสรราชขึ้นครองเมือง พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกนี้ทรงพระปรีชาสามารถรอบรู้แตกฉานพระไตรปิฎกมาก จึงได้รับเฉลิมพระนามาภิไธย ดังนั้นขณะที่เสด็จประทับอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ที่ได้สร้างขึ้นใหม่ ก็มีพระราชประสงค์จะบำเพ็ญบุญกุศลทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและให้พระเกียรติศัพท์พระนามปรากฏในภายหน้า จึงตรัสให้สร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุขึ้นเป็นคู่กับเมือง สร้างพระมหาธาตุเป็นรูปปรางค์ สูงราว ๘ วา ตั้งกลางแล้วสร้างพระวิหารรอบปรางค์ทั้งสี่ทิศ มีระเบียง ๒ ชั้น พระองค์ต้องการจะสร้างพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ เพื่อเป็นพระประธานในพระวิหาร

ในเวลานั้นที่เมืองศรีสัชนาลัย ทั้งสวรรคโลกและสุโขทัย เป็นที่เลื่องลือปรากฏในการฝีมือช่างต่างๆ ทั้งการทำพระพุทธรูปว่าฝีมือดียิ่งขึ้น จึงมีพระราชสาส์นไปยังกรุงศรีสัชนาลัย เพื่อขอช่างมาช่วยปั้นหุ่นพระพุทธรูป สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีสัชนาลัยจึงส่งช่างพราหมณ์ที่มีฝีมือดี ๕ นาย ชื่อ บาอินทร์ บาพราหมณ์ บาพิษณุ บาราชสิงห์ และ บาราชกุศล พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โปรดให้ช่างสวรรคโลก สมทบกับช่างชาวเชียงแสนและช่างหริภุญไชย ช่วยกันหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ทั้ง ๓ องค์ มีทรวดทรงสัณฐานคล้ายกัน แต่ประมาณนั้นเป็น ๓ ขนาด คือ
     - พระองค์ที่ ๑ ตั้งพระนามไว้ว่า “พระพุทธชินราช” มีขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว มีเศษสูง ๗ ศอก พระเกศสูง ๑๕ นิ้ว เป็นปางมารวิชัย
     - พระองค์ที่ ๒ ตั้งพระนามเริ่มไว้ว่า “พระพุทธชินสีห์” มีขนาดหน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว เป็นปางมารวิชัย
     - พระองค์ที่ ๓ ตั้งพระนามไว้ว่า “พระศรีศาสดา” มีขนาดหน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๑ คืบ ๖ นิ้ว เป็นปางมารวิชัย

"...ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธรูปมานักแล้ว ไม่ได้เคยรู้สึกว่าดูปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย
ที่ตั้งอยู่นั้้นก็เหมาะนักหนา วิหารพอเหมาะกับพระ มีที่ดูได้ถนัด และองค์พระก็ตั้งต่ำพอดูได้ตลอดองค์
ไม่ต้องเข้าไปดูจ่อนจ่อเกินไปและไม่ต้องแหงนคอตั้งบ่าฯ...ถ้าพระพุทธชินราชยังคงอยู่ที่พิศณุโลกตราบใด
เมืองพิศณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น ถึงเมืองพิศณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออยู่อีกเลย
ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะต้องอวดได้อยู่เสมอว่า มีของควรดูควรชมอย่ายิ่งในเมืองเหนือ
หรือจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ได้..."
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "เที่ยวเมืองพระร่วง" (พ.ศ.๒๔๕๐)

พระศรีธรรมไตรปิฎกทรงเลือกลักษณะอาการตามชอบพระทัยให้ช่างทำคือ สัณฐานอาการนั้นอย่างพระพุทธรูปเชียงแสน ไม่เอาอย่างพระพุทธรูปในเมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลก และเมืองสุโขทัยที่ทำนิ้วสั้นยาวไม่เสมอกันอย่างมือคน ทรงรับสั่ง ให้ทำนิ้วให้เสมอกันตามที่พระองค์ทรงทราบว่าเป็นพุทธลักษณะ พระลักษณะอื่นๆ ก็ปนๆ เป็นอย่างเชียงแสนบ้าง อย่างศรีสัชนาลัยสวรรคโลก สุโขทัยบ้าง

จวบจนวันพฤหัสบดี ขั้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีเถาะ สัปตกศก จุลศักราช ๓๑๗ ได้มงคลฤกษ์ กระทำพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ และเมื่อเททองหล่อเสร็จแล้ว กระทำการแกะพิมพ์ออกมาปรากฏว่า พระองค์ที่ ๒ คือ พระพุทธชินสีห์ และองค์ที่ ๓ คือพระศรีศาสดา องค์พระบริบูรณ์ดีมีน้ำทองแล่นติดตลอดเสมอกันสวยงาม ๒ องค์เท่านั้น ส่วนรูปพระพุทธชินราชนั้นทองแล่นติดไม่เต็มองค์ ไม่บริบูรณ์ นับว่าเป็นอัศจรรย์ของช่างและผู้มาร่วมพิธีเป็นอันมาก ช่างได้ช่วยกัน ทำหุ่น และเททองหล่ออีกถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่สำเร็จเป็นองค์พระได้ คือทองแล่นไม่ติดเต็มองค์

พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงรู้สึกประหลาดพระทัยยิ่งนัก พระองค์จึงทรงตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงเอาบุญบารมีของพระองค์เป็นที่ตั้ง อีกทั้งขอให้ทวยเทพยดาจงช่วยดลใจให้สร้างพระพุทธรูปสำเร็จตามพระประสงค์เถิด แล้วให้ช่างปั้นหุ่นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในครั้งหลังนี้ปรากฏว่ามีตาปะขาวคนหนึ่ง ไม่มีผู้ใดทราบว่าชื่อไรมาจากไหนเข้ามาช่วยปั้นหุ่นและช่วยเททอง ทำการงานอย่างแข็งแรงทั้งกลางวันและกลางคืนจนเสร็จโดยไม่พูดจากับผู้ใด

ครั้นได้มหามงคลฤกษ์ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง นพศกจุลศักราช ๓๑๙ (พุทธศาสนากาลล่วงแล้ว ๑๕๐๐ หย่อนอยู่ ๗ วัน) ก็ประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธชินราช คราวนี้น้ำทองที่เทก็แล่นเต็มบริบูรณ์ตลอดทั่วองค์พระ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงตรัสสั่งให้หาตาปะขาวผู้มาช่วยปั้นหุ่นและช่วยเททองนั้น แต่มิได้พบ ปรากฏว่าเมื่อหล่อพระเสร็จแล้วก็เดินทางออกประตูเมืองข้างทิศเหนือ พอถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งก็หายไปไม่มีใครพบเห็นอีก จึงพากันเข้าใจว่าตาปะขาวผู้นั้นคือเทพยดาแปลงกายลงมาหล่อพระพุทธชินราชอันเป็นเหตุทำให้เลื่อมใสศรัทธา ในพระพุทธรูปองค์นี้ยิ่งขึ้น ตำบลบ้านที่ตาปะขาวหายไปนั้นได้ชื่อว่า “บ้านตาปะขาวหาย” ต่อมาจนถึงทุกวันนี้

ที่มา
อ้างอิง ๑. คู่มือการท่องเที่ยวพิษณุโลก จัดทำโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก
         ๒. หนังสือ “เจ้าชีวิต” พระนิพนธ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
         ๓ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...