การที่เราภาวนาลมละเอียดเข้าไป แต่ได้ยินเสียงอยู่ แต่ไม่ได้ทิ้งกรรมฐานเดิมคือลมหายใจเข้าออก ก็รู้ชัดพร้อมกันกับเสียงที่มากระทบ
#อันนั้นเป็นอุปจารสมาธิ เมื่อละเอียดเข้าไป เบาเข้าไป อันนั้นละเอียดกว่าอุปจารสมาธิลงไปอีก จิตในชั้นนี้ก็เป็นสมาธิแล้ว แต่ไม่ให้ทิ้งกรรมฐานเดิมคือลมออกเข้า ละเอียดลงไปขนาดไหนก็ไม่ให้ทิ้ง จนวูบลงหรือวับลงไปไม่ปรากฏลมเสียเลย แล้วก็มีแต่ผู้รู้เบาหวิวอยู่ อันนั้นเรียกว่า "ปฐมฌาน"
#อัปปนาสมาธิก็ว่า แต่เมื่อหมดกำลังก็ถอนออกมา
เมื่อถอนออกมาก็เห็นลมออกเข้าเบาๆ อยู่ ถ้าปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปทางอื่นก็เป็นเรื่องกรรมฐานแตกไป แต่ถ้าทวนดูว่า เอ๊ะ...จิตขนาดนี้ก็ยังถอนออกมาอยู่ แล้วพิจารณาลงสู่อนิจจังให้เห็นพร้อมกับลมออกเข้าต่อไป
ก็แปลว่า
#มีวิปัสสนาควบกับสมถะด้วย วิปัสสนาก็คือปัญญานั่นเอง เพราะเห็นอนิจจังควบกับลมหายใจเข้าออก
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
....
สองบทว่า สมาทหํ จิตฺตํ ความว่า ดำรงจิตไว้เสมอ คือตั้งจิตไว้เสมอในอารมณ์ ด้วยอำนาจแห่งฌานมีปฐมฌานเป็นต้น. ก็หรือว่าเมื่อเธอเข้าฌานเหล่านั้นแล้วออกจากฌาน พิจารณาอยู่ซึ่งจิตที่สัมปยุตด้วยฌานโดยความสิ้น ความเสื่อม.
#ความที่จิตมีอารมณ์เดียวชั่วขณะ (#ขณิกสมาธิ)
ย่อมเกิดขึ้น เพราะการแทงตลอดลักษณะในขณะแห่งวิปัสสนา ภิกษุผู้ดำรงจิตไว้เสมอคือตั้งจิตไว้เสมอในอารมณ์ แม้ด้วยอำนาจแห่งความที่จิตมีอารมณ์เดียวชั่วขณะซึ่งเกิดขึ้นแล้วอย่างนั้น ท่านก็เรียกว่า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักตั้งจิตไว้มั่น หายใจเข้าหายใจออก.
สองบทว่า วิโมจยํ จิตฺตํ ความว่า เมื่อเปลื้อง เมื่อปล่อยจิตให้พ้นจากนิวรณ์ทั้งหลายด้วยปฐมฌาน คือเมื่อเปลื้อง ปล่อยจิตให้พ้นจากวิตกวิจารด้วยทุติยฌาน จากปีติด้วยตติยฌาน จากสุขและทุกข์ด้วยจตุตถฌาน.
ก็หรือว่าเธอเข้าฌานเหล่านั้นแล้วออกมาพิจารณาอยู่ซึ่งจิตที่สัมปยุตด้วยฌาน โดยความสิ้น ความเสื่อม ในขณะแห่งวิปัสสนา เธอนั้นเปลื้องคือปล่อยจิตให้พ้นจากนิจจสัญญา (ความสำคัญว่าเที่ยง) ด้วยอนิจจานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง), เปลื้องคือปล่อยจิตให้พ้นจากสุขสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นสุข) ด้วยทุกขานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นว่าเป็นทุกข์), จากอัตตสัญญา (ความสำคัญว่าเป็นตัวตน) ด้วยอนัตตานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นว่าไม่ใช่ตัวตน), จากนันทิ (ความเพลิดเพลิน) ด้วยนิพพิทานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นความเบื่อหน่าย), จากราคะ (ความกำหนัด) ด้วยวิราคานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นธรรมเครื่องคลายความกำหนัด), จากสมุทัย (ตัณหาที่ยังทุกข์ให้เกิด) ด้วยนิโรธานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นธรรมเห็นเครื่องดับ), จากอาทาน (ความยึดถือ) ด้วยปฏินิสสัคคานุปัสสนา (ความพิจารณาเห็นธรรมเป็นเครื่องสละคืนซึ่งอุปธิ) หายใจเข้าและหายใจออกอยู่.
เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักปล่อยจิตหายใจเข้า หายใจออก.
จตุกกะนี้ บัณฑิตพึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยอำนาจแห่งจิตตานุปัสสนาอย่างนี้.
ส่วนในจตุกกะที่ ๔ มีวินิจฉัยดังนี้ :-
ในบทว่า อนิจฺจานุปสฺสี นี้ พึงทราบอนิจจัง (ของไม่เที่ยง) พึงทราบอนิจจตา (ความเป็นของไม่เที่ยง) พึงทราบอนิจจตานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นของไม่เที่ยง) พึงทราบอนิจจานุปัสสี (ผู้พิจารณาเห็นของไม่เที่ยง) เสียก่อน.
ในลักษณะ ๔ อย่างมีอนิจจังเป็นต้นนั้น ที่ชื่อว่าอนิจจัง ได้แก่เบญจขันธ์ เพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า เบญจขันธ์มีความเกิดขึ้น มีความเสื่อมไปและมีความเป็นไปโดยประการอื่น.
ที่ชื่อว่าอนิจจตา ได้แก่ ข้อที่เบญจขันธ์เหล่านั้นนั่นเองมีความเกิดขึ้น มีความเสื่อมไปและมีความเป็นไปโดยอาการอื่น หรือมีแล้ว กลับไม่มี.
อธิบายว่า เบญจขันธ์เหล่านั้นเกิดขึ้นแล้ว ไม่ตั้งอยู่โดยอาการนั้นนั่นแล แตกดับเพราะความแตกดับไปชั่วขณะ.
ที่ชื่อว่าอนิจจานุปัสสนา ได้แก่ การพิจารณาเห็นในเบญจขันธ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นว่าไม่เที่ยง ด้วยอำนาจแห่งความเป็นของไม่เที่ยงนั้น.
ที่ชื่อว่าอนิจจานุปัสสี ได้แก่ พระโยคาวจรผู้ประกอบด้วยอนุปัสสนานั้น. เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรผู้เป็นแล้วอย่างนี้หายใจเข้าและหายใจออกอยู่ บัณฑิตพึงทราบในอธิการนี้ว่า ย่อมสำเหนียกว่า
#เราจักพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง #หายใจเข้า #หายใจออก.
ส่วนวิราคะ ในบทว่า วิราคานุปัสสี นี้มี ๒ อย่าง คือ ขยวิราคะ คลายความกำหนัด คือความสิ้นไป ๑ อัจจันตวิราคะ คลายความกำหนัดโดยส่วนเดียว ๑.
บรรดาวิราคะ ๒ อย่างนั้น ความแตกดับไปชั่วขณะแห่งสังขารทั้งหลาย ชื่อว่าขยวิราคะ. พระนิพพาน ชื่อว่าอัจจันตวิราคะ. วิปัสสนาและมรรคที่เป็นไปด้วยอำนาจแห่งการเห็นวิราคะทั้ง ๒ อย่างนั้น ชื่อว่าวิราคานุปัสสนา (การพิจารณาเห็นการคลายความกำหนัด). พระโยคาวจรเป็นผู้ประกอบด้วยอนุปัสสนาแม้ทั้ง ๒ อย่างนั้น หายใจเข้าและหายใจออกอยู่ บัณฑิตพึงทราบว่า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักพิจารณาเห็นวิราคะหายใจเข้าหายใจออก.
แม้ในบทว่า นิโรธานุปัสสี ก็มีนัยเหมือนกันนี้.
ปฏินิสสัคคะ (ความสละคืออุปธิ) แม้ในบทว่า ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี นี้ก็มี ๒ อย่าง คือปริจจาคปฏินิสสัคคะ ความสละคืนคือความเสียสละ ๑ ปักขันทนปฏินิสสัคคะ ความสละคืนคือความแล่นไป ๑. การพิจารณาเห็น คือความสละคืนนั่นเอง ชื่อว่าปฏินิสสัคคานุปัสสนา.
คำว่า ปฏินิสสัคคานุปัสสนา นั่นเป็นชื่อแห่งวิปัสสนาและมรรค.
จริงอยู่ วิปัสสนา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า การสละคืนคือการละ เพราะย่อมละกิเลสทั้งหลายพร้อมทั้งขันธาภิสังขาร ด้วยอำนาจตทังคปหาน และว่าการสละคืนคือการแล่นไปเพราะย่อมแล่นไปในพระนิพพานซึ่งผิดจากสังขารนั้น เหตุที่น้อมไปในพระนิพพานนั้น เพราะเห็นโทษแห่งสังขตธรรม.
มรรค พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า การสละคืนคือการละ เพราะย่อมละกิเลสพร้อมทั้งขันธาภิสังขาร ด้วยสามารถสมุจเฉทปหาน และว่า การสละคืนคือการแล่นไป เพราะย่อมแล่นไปในพระนิพพาน ด้วยการกระทำให้เป็นอารมณ์.
ก็วิปัสสนาญาณและมรรคญาณแม้ทั้ง ๒ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า อนุปัสสนา เพราะเล็งเห็นญาณต้นๆ ในภายหลัง. ภิกษุเป็นผู้ประกอบด้วยปฏินิสสัคคานุปัสสนาทั้ง ๒ อย่างนั้น หายใจเข้าและหายใจออกอยู่ บัณฑิตพึงทราบว่า สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้มีปกติเล็งเห็นญาณชื่อปฏินิสสัคคะในภายหลัง หายใจเข้าหายใจออก ดังนี้.
คำว่า เอวํ ภาวิโต ความว่า เจริญแล้วด้วยอาการอย่างนี้ คือด้วยอาการ ๑๖ อย่าง. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.
กถาว่าด้วยอานาปานัสสติสมาธิ จบ.
ที่มา
อรรถกถา มหาวิภังค์ ปฐมภาค
ปาราชิกกัณฑ์ ตติยปาราชิกสิกขาบท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น