13 พฤศจิกายน 2564

ตำนานหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

ตำนานหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระเถราจารย์ผู้มีตบะบารมีแก่กล้า  
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ท่านเป็นชายชาตรี ใช้ชีวิตกลางแจ้งเพื่อศึกษาชีวิตของราษฎรตามหัวเมืองต่าง ๆ และที่สำคัญท่านชื่นชอบพุทธเวท ไสยเวท เป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้เมื่อพระองค์เสด็จประพาสไปที่ใด หากทราบว่ามีพระอาจารย์ดีเรื่องอาคมเป็นที่ศรัทธาของคนทั่วไป พระองค์จะไปกราบนมัสการสนทนาในเรื่องของธรรมะและพุทธาคมอยู่เป็นนาน พร้อมกับฝากตัวเป็นศิษย์อีกด้วย ในจำนวนพระเกจิอาจารย์มีชื่ออยู่ในยุคนั้นที่เสด็จในกรมทรงศรัทธามากเป็นพิเศษและไปมาหาสู่บ่อย ๆ คือ “หลวงปู่ศุข” หรือ “ท่านพระครูวิมลคุณากร” แห่งวัดปากคลองมะขาวเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท

แล้วก็เป็นเรื่องที่น่าแปลง เมื่อกล่าวถึงพุทธาคมของหลวงปู่ศุข ก็จะต้องเขียนเรื่องกรมหลวงชุมพรฯ และถ้าหากเขียนเรื่องเสด็จในกรมในเรื่องความขมังเวท ก็จะต้องมีเรื่องของหลวงปู่ศุข เข้ามาเกี่ยวข้องกันจนแยกไม่ออก

หลวงปู่ศุข เกิดเมื่อปี พ.ศ.2396 ความเป็นมาในช่วงวัยเด็กจนเป็นหนุ่มรุ่นนั้น ข้อมูลมีกันอยู่หลายกระแส คือท่านเป็นเด็กซุกซน ชอบลงว่ายน้ำเกาะเรือโยงในแม่น้ำเป็นชีวิตจิตใจ ทำให้มารดาของท่านเป็นห่วง ห้ามปรามก็ไม่เชื่อ ทำให้มารดาโกรธและทำโทษเฆี่ยนตีสั่งสอน แต่ผลจากการลงโทษนั้นทำให้เด็กชายศุขโกรธผู้เป็นแม่ รุ่งขึ้นจึงเกาะเรือโยงหนีออกจากบ้าน

แต่อีกข้อมูลก็แจ้งว่า ตอนเมื่อท่านเยาว์วัยอายุประมาณ 7 ปี มารดานำไปฝากเรียนหนังสือกับพระอาจารย์ผู้เรืองอาคม วัดปากคลองมะขามเฒ่า จนมีความรู้ความชำนาญในเรื่องภาษาไทย จากนั้นจึงได้อำลาพระอาจารย์ไปแสวงหาวิชาความรู้เพิ่มเติมในกรุงเทพฯ โดยที่ท่านยังไม่บวชเป็นพระภิกษุหรือสามเณรแต่อย่างใด

ขณะที่อยู่ในกรุงเทพฯ จนถึงวัยหนุ่มอายุ 18 ปี ได้พบเนื้อคู่ซึ่งเป็นสาวสายย่านบางเขน ชื่อสมบูรณ์ หนุ่มศุขใช้ชีวิตครองเรือนจนมีบุตรคนหนึ่งซื่อสอน (บ้างก็ว่าชื่อชวน) ใช้ชีวิตอย่างปุถุชนธรรมดาจนเบื่อ

ในที่สุดท่านก็ตัดสินใจหักคานเรือน หนีภรรยาและบุตรไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดโพธิ์ทอง จังหวัดนนทบุรี โดยมีอาจารย์เชย เป็นพระอุปัชฌาย์

ครั้นบวชเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่ศุขก็มุ่งวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างเคร่งครัด ถือวัตรธุดงค์อยู่ตามสถานที่วิเวกสันโดษ เยี่ยงพระอนาคาริกทั้งหลายในสมัยนั้น

การธุดงค์ไปตามป่าเขาของหลวงปู่ศุข ทำให้ท่านได้พบพระวิปัสสนาจารผู้ทรงคุณและมีความรู้หลายท่าน จนมีความเจนจบในไสยศาสตร์หลายสาขาอีกด้วย

ครั้นมารดาของท่านถึงแก่กรรมลง หลวงปู่ศุขก็ได้กลับบ้านเพื่อจัดการฌาปนกิจศพเป็นที่เรียบร้อย ขณะเดียวกันท่านก็ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่านับแต่นี้ไปในกาลภายหน้าจะยึดมั่นในบวรพุทธศาสนา โดยจะถือเพศบรรพชิตอยู่ในวัดปากคลองมะขามเฒ่าไปจนตลอดชีวิต ตั้งแต่นั้นมาหลวงปู่ศุข ก็อยู่อย่างพระวิปัสสนาในวัดปากคลองมะขามเฒ่า มีความเคร่งครัดในศีลาจารวัตร เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

พระครูวิมลคุณากร หรือ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า นอกจากจะเป็นพระวิปัสสนาจารที่สามารถแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่รอบรู้ด้านปริยัติธรรม มีความรู้แตกฉานในหลักธรรมและพระไตรปิฎก โดยเฉพาะในเรื่องวิชาไสยศาสตร์ วิทยาคมต่าง ๆ นั้นท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญเป็นเลิศ มีหลักฐานบันทึกของสานุศิษย์ผู้ใกล้ชิดผู้หนึ่งว่า

“หลวงปู่ศุขสำเร็จในอารมณ์กำหนดธาตุทั้ง 4 มี ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ ซึ่งถือว่าเป็นผลแห่งฌานด้วย “กสิณ” สมาบัติ สามารถทำอะไร ๆ ได้ เช่น ผูกหุ่นพยนต์ ล่องหนหายตัวกำบังกาย ทั้งสามารถระเบิดน้ำลงดำในทะเล หรือเดินบนผิวน้ำ สะเดาะโซ่ตรวจ สะกดทัพ ท่านสามารถทำในสิ่งเหล่านี้ได้”

จากหนังสือ กรมหลวงชุมพรฯ เรียบเรียงโดย บุรี รัตนา

เดือนยี่ปีนั้นกำลังอยู่ในหน้าแล้ง มีชาวเหนือทางจังหวัดอุตรดิตถ์ เดินทางมาค้าขายโดยมีช้างเป็นพาหนะประมาณ 8-9 เชือก แต่สินค้าที่ขายกันนั้นไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นอะไรแน่ สมัยนั้นปรากฏว่าการคมนาคมไม่สะดวกราบรื่นเท่าที่ควร 2 ข้างทางเต็มไปด้วยป่าพงดงดิบ พ่อค้ากลุ่มนี้มีประมาณ 15 คน เดินทางจากจังหวัดอุตรดิตถ์ ผ่านสุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี จนถึงชัยนาท พ่อค้าเหล่านั้นได้พากันพักแรมอยู่ที่ใต้ถุนศาลาวัดปากคลองมะขามเฒ่า แต่แล้วบรรดาพ่อค้านี้ได้ปล่อยช้างให้กินใบไผ่ใบหญ้าอยู่ตามบริเวณวัด 2-3 วัน แล้วก็ช้าง 8-9 เชือกนี้เองบังเอิญไปเหยียบย่ำต้นไม้ของหลวงพ่อที่ปลูกไว้ เช่น ต้นกล้วย ผัก พริก มะเขือ และไม้ดอกสีต่าง ๆ บางทีช้างก็ใช้งวงเอาใบกล้วยมากินจนแหลกลาญเสียหาย

ความจริงหลวงพ่อก็มิได้เอ่ยว่าประการใด บรรดาชาวบ้านแถวนั้นก็จูงลูกเด็กเล็กแดงมายืนดูช้างอยู่ในวัดจำนวนมาก เพราะมีทั้งช้างสีดอ ช้างพัง ช้างพลาย และลูกช้างอีกราว 2-3 เชือก ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 16.30 น. พวกเลี้ยงช้างที่มานั้นพากันหุงข้าวปลาอาหารอยู่ใต้ถุนศาลา กะว่ารุ่งขึ้นจะพากันเดินทางลงใต้ คือผ่านจังหวัดสิงห์บุรี ระหว่างที่หุงข้าวกันอยู่นั้น ชาวบ้านก็ได้ยินกลุ่มชาวเหนือที่กำลังนึ่งข้าวกันอยู่นั้นพากันบ่นว่า ข้าวไม่พอกินกัน อีกคนหนึ่งจึงพูดว่า

"จะไปยากอะไร นกพิราบอยู่บนหลังคาโบสถ์เป็นฝูง ๆ ปืนเราก็มี หน้าไม้ก็มี จัดการเอาเลย"

ชาวบ้านแห่งวัดมะขามเฒ่าได้ฟังดังนั้นจึงช่วยกันห้ามปราม อธิบายให้ฟังทั่ว ๆ กันว่า การกระทำดังนั้นจะผิดเจตนารมณ์ของหลวงพ่อ หลวงพ่อเคยห้ามไว้นานแล้วว่าไม่ให้ยิงนกภายในบริเวณวัด แม้ว่าจะเป็นการพูดทักท้วงที่ละมุนละม่อมเพียงไร เขาก็หาฟังเสียงไม่ คนหนึ่งคว้าปืนแก๊ปขึ้นประทับบ่ายิงไปยังนกพิราบฝูงนั้น สับนกดังเชี๊ยะ ๆ ตั้งหลายครั้งหลายครา พยายามยิงเท่าไหร่ลูกปืนก็หาออกไปสังหารชีวิตนกพิราบแม้แต่ตัวเดียว

พวกที่หมายมั่นจะกินเนื้อนกพิราบให้จงได้ก็พยายามต่อไป คือเปลี่ยนเป็นหยิบหน้าไม้ออกไปยิง แต่เมื่อยิงทีไรลูกศรก็ตกจากร่องหน้าไม้ทุกที เป็นที่น่าประหลาดใจแก่ผู้พบเห็นตาม ๆ กัน ร้อนถึงชายฉกรรจ์วัยกลางคนผู้หนึ่ง ท่าทางภูมิฐานเอาเรื่อง เปล่งเสียงออกมาอย่างเกรี้ยวกราดตามอารมณ์ดีเดือดว่า

“ขรัวตาวัดนี้มีอะไรดีหรือวะ ชะ ชะ”

พูดแล้วก็คว้าได้ขวานสั้นคมกริบเล่มหนึ่ง ฟันลงที่หน้าแข้งเสียงดังฉาด ๆ กระเด็นออกมาเป็นฟืนหุงข้าว ทำให้ผู้คนที่ต่างมุงดูอยู่บังเกิดความพิศวงเป็นกำลัง เพราะเห็นขวานกระทบหน้าแข้งกระเด็นออกมาเป็นท่อนฟืนได้

ชาวเหนือผู้เลี้ยงช้างยิ่งแลเห็นผู้คนสนใจในอาคมของตนก็ยิ่งกำเริบใจ วางท่าหนักขึ้นไปอีก แสดงอาการถากหน้าแข้งต่อไปไม่หยุดยั้ง ในที่สุดก็ได้ฟืนเป็นกองใหญ่

ขณะนั้นมีชาวบ้านคนหนึ่งวิ่งตะลีตะลานไปรายงานกับหลวงพ่อวัดปากคลองมะขามเฒ่าว่า บัดนี้มีคนดีมาจากเหนือแสดงอาการถากหน้าแข้งให้เป็นฟืนหุงข้าวก็ได้ สร้างความตื่นเต้นให้แก่ใคร ๆ ที่ได้พบเห็นยิ่งนัก

หลวงพ่อถามโพล่งออกมาว่า “ใครวะ คนดีคนเก่ง”

ชาวบ้านตอบว่า “คนเลี้ยงช้างครับหลวงพ่อ”

หลวงพ่อได้ฟังคำตอบชัดแจ้งดีแล้วก็พูดด้วยเสียงอันดังฉุนเฉียวว่า

“เอ ไม่ได้การเสียแล้วไอ้ห่านี่บังอาจมาถากเสาศาลาของกู เดี๋ยวเหอะ กำแหงใหญ่แล้วพวกนี้”

ขณะนั้นเป็นเวลาพลบค่ำพอดี หลวงพ่อจึงคิดจะทำการดัดสันดานพวกนี้ให้เข็ดหลาบเสียบ้าง ไม่รู้จักว่าใครเป็นใคร มันไม่รู้จักกู ดีละ เพราะท่านทราบว่าจวนถึงเวลาที่พวกเลี้ยงช้างจะต้องต้อนช้างไปผูกแล้วสุมไฟให้นอน หลวงพ่อเผ่นลงจากุฏิพร้อมด้วยกะลามะพร้าวซีกหนึ่ง เดินไปลานหญ้าหน้ากุฏิ หยุดบริกรรมร่ายพระเวทอันศักดิ์สิทธิ์เรียกฝูงช้างให้มารวมกัน จากแรงฤทธิ์อิทธิเดชของเวทมนต์หลวงพ่อ ช้างก็ถูกลมพัดปลิวเหลือตัวเท่าแมลงวันตกอยู่ตรงหน้า แล้วท่านก็เอากะลาครอบลง เอาเท้าเหยียบตรึงด้วยพระคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ เป่าลงบนกะลาครอบนั้น จากนั้นหลวงพ่อก็เดินกลับเข้าไปในกุฏิ

ส่วนพวกเลี้ยงช้างนั้นเล่า หลังจากกิจข้าวปลาอาหารจนอิ่มหนำสบายใจดีแล้วก็นึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้ต้อนช้างให้เข้านอน แต่เมื่อมุ่งหน้าไปยังที่ช้างอยู่ก็หาเห็นช้างแม้สักเชือกไม่ ช้างหายไปไหนหมด ทุกคนพบกับปัญหาที่คาดไม่ถึง แล้วก็ออกค้นหากันไป จนกระทั่งอ่อนใจ หนักเข้าถึงกับร้องไห้ขึ้นไปกราบเท้าหลวงพ่อพลางปรับทุกข์ให้ท่านฟัง “ถ้าช้างถูกขโมยไปหมดแล้ว พวกเขาจะกลับบ้านไม่ได้” พวกเขาว่าอย่างนี้ หลวงพ่อฟังแล้วก็เลยถือโอกาสสั่งสอนว่า

“เรามาทำมาหากิน ก็จงทำมาหากินโดยซื่อสัตย์สุจริต มีความอุตสาหะหมั่นเพียร อย่าได้คิดเบียดเบียนคนอื่นให้เกิดความเดือดร้อน จะได้เอาเงินกลับไปบ้านเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย แต่นี่พวกมึงกำแหงมาก ศาลาของกูสร้างต้องเสียเงิน แต่มึงเอาขวานมาถากศาลาของกูเสียหาย”

พวกเลี้ยงช้างต่างฟังกันเงียบไม่ยอมปริปากประการใด หลวงพ่อก็พูดต่อไปว่า 

“ศาลาของกูเสียหายอย่างนี้ มึงต้องเอาเงินมาเปลี่ยนทำเสาศาลากูให้ดีเหมือนเดิม กูถึงจะคืนช้างให้พวกมึง”

พวกเลี้ยงช้างเหล่านั้นจำใจต้องยอมรับผิดเพราะตนผิดจริง ๆ แล้วมอบเงินให้กับหลวงพ่อให้พอกับการเปลี่ยนเสาศาลาให้มีสภาพดีเหมือนเดิม เมื่อหลวงพ่อได้รับเงินแล้วก็พูดว่า

“มึงตามมา แล้วพรุ่งนี้มึงต้องไปนะ ต้นไม้ต่าง ๆ ของกูฉิบหายหมด เห็นไหม”

พวกเลี้ยงช้างค่อย ๆ เดินตามหลวงพ่อมา จนกระทั่งถึงที่ช้างถูกกะลาครอบเอาไว้

“นี่ ช้างของมึง กูเอากะลาครอบเอาไว้” 

พูดจบหลวงพ่อก็เปิดกะลาที่ครอบออก ช้างที่เล็กเท่าตัวแมลงวันก็กลับกลายร่างใหญ่โตเท่าเดิม เหล่าชาวเหนือเห็นดังนั้นก็ก้มลงกราบแทบเท้าหลวงพ่อแล้วนำช้างกลับไปพักผ่อนตามปกติ

ความแก่งกล้าสามารถในด้านวิชาไสยศาสตร์ของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า มีผู้บอกเล่ากันต่อไปในที่ต่าง ๆ โด่งดังไปถึงในรั้วในวัง และทำให้กรมหลวงชุมพรฯ ทราบเรื่องที่ว่านี้มาตลอด แต่ก็ทรงเฉย ๆ อยู่

มีอยู่คราวหนึ่งพระองค์เจ้าวิบูลย์พรรณฯ ได้นำพระเครื่องเก่าองค์หนึ่งมาถวายแก่กรมหลวงชุมพรฯ แล้วทูลว่าพระเครื่ององค์นั้นมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นยอด ตกทอดมาตั้งแต่วังหน้า เนื่องจากพระองค์ชอบพิสูจน์หรือทดลองให้เห็นจริง จึงให้มหาดเล็กนำพระเครื่ององค์นั้นไปแขวนที่ปลายไม้ จากนั้นพระองค์จึงมีพระบัญชาให้นาวาเอกพระยาพลพยุหรักษ์ เป็นผู้ทดลองยิงพระเครื่ององค์นั้น โดยใช้ปืน ร.ศ. บรรจุกระสุนที่เลือกแล้วเป็นอย่างดี ท่ามกลางผู้ที่ยืนดูการทดลองจำนวนมาก จากการยิง 3 นัด ผลปรากฏว่าปืนกระบอกนั้นไม่มีเสียงระเบิดทั้ง 3 นัด คงมีเสียงสับนกกระทบตูดชนวนลูกปืนดัง แชะ แชะ แชะ อันหมายความว่า กระสุนด้านและไม่ทำงาน เสด็จในกรมทรางมีบัญชาให้หันลำกล้องปืนไปทางอื่นและยิงใหม่ ปรากฏว่ากระสุนเดิมทั้ง 3 นัด ส่งเสียงสนั่น อันหมายถึงกระสุนมิได้ด้าน

นับตั้งแต่ครั้งนั้นกรมหลวงชุมพรฯ จึงมีความเชื่อถือในพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของไสยศาสตร์และ พุทธานุภาพ พร้อมกันนั้นได้เริ่มเสาะแสวงหาอาจารย์ดี เพื่อศึกษาวิชาไสยศาสตร์จากผู้ทรงคุณต่าง ๆ

ครั้นชื่อเสียงกิตติคุณของหลวงปู่ศุขมีมากขึ้น ก็มีความสนพระทัย ความคิดใคร่จะไปทดลองดูให้เป็นที่ประจักษ์แก่ตาว่าเป็นอย่างไร หากมีโอกาสเมื่อใดก็จะไปพบหลวงปู่ศุขให้จงได้ ในครั้งนั้น กรมหลวงชุมพรฯ เสด็จไปตากอากาศภาคเหนือและเสด็จกลับด้วยเรือทหารล่องลงมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา แต่แทนที่จะล่องกลับถึงกรุงเทพฯ พระองค์ทรงรับสั่งให้เรือกลไฟที่จูงเรือประเทียบล่องลงมาตามลำน้ำท่าจีน อันแม่น้ำท่าจีนนั้นแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ชัยนาท ไหลลงสู่อ่าวไทยที่เมืองสมุทรสาคร มีความยาวถึง 200 กม. และเส้นทางสายแม่น้ำท่าจีนนี้ได้ไหลผ่านวัดปากคลองมะขามเฒ่าด้วย เมื่อเรือพระที่นั่งล่องมาถึงวัด ก็บังเอิญให้เรือมีอันขัดข้องโดยไม่ทราบสาเหตุ แม้จะพยายามแก้ไขเครื่องยนต์อย่างไรก็ไม่สำเร็จ (ภายหลังหลายคนเชื่อว่าคงเป็นการสำแดงอิทธิฤทธิ์ของหลวงปู่ศุข) ในที่สุดก็เลยต้องชะลอเรือทั้งหมดเข้าไปจอดที่ศาลาวัดปากคลองมะขามเฒ่า ขณะที่เรือประเทียบและเรือกลไฟเข้ามาเทียบอยู่ที่ศาลาท่าน้ำ พระองค์ทรงแลเห็นเด็กลูกศิษย์วัดกำลังชุลมุนอยู่กับการตัดหัวปลีเอามากองที่ข้างศาลาทีละหัวสองหัว จนเรือเข้าเทียบศาลาท่าน้ำนั่นแหละจึงเห็นหัวปลีกองโตขึ้น ขณะเสด็จในกรมทรงยืนบนเรือมองดูการกระทำของเด็กวัดเหล่านั้นด้วยความฉงนพระทัย ได้มีพระภิกษุชรารูปหนึ่งเดินตรงเข้ามาที่กองหัวปลี ท่าทางเคร่งขรึม ท่านมองรอบ ๆ กองหัวปลีอยู่ 2-3 อึดใจ แล้วจึงหย่อนร่างนั่งบนกองหัวปลีนั้น พระภิกษุรูปนั้นนั่งหลับตาภาวนาอยู่ครู่หนึ่ง จากนั้นท่านก็หยิบหัวปลีขึ้นมาเป่าลูบไล้ไปมา จากนั้นท่านเหวี่ยงหัวปลีลงพื้น แล้วเสด็จในกรมตลอดจนทหารข้าราชบริพารต้องตกตะลึงเพราะหัวปลีนั้นเมื่อตกถึงพื้นกลายเป็นกระต่ายสีขาวนวล กระโดดโลดเต้นอยู่ไปมา ภิกษุรูปเดิมหาได้หยุดเสกเป่าหัวหลี ท่านทำอย่างต่อเนื่อง หัวปลีกลายเป็นกระต่ายขาวหลายตัววิ่งอยู่บนศาลาและพื้นดินเต็มไปหมด

เมื่อเห็นเหตุอัศจรรย์เช่นนี้ กรมหลวงชุมพรฯ พร้อมด้วยนายทหารและข้าราชบริพารทั้งปวงในที่นั้นก็เข้าไปแสดงอาการคารวะต่อพระภิกษุรูปนั้นโดยทั่วหน้ากัน

ครั้นกระต่ายวิ่งมาหาท่านทีละตัว ท่านก็เอามือลูบคลำไปมาสักครู่ แล้วปล่อยวางลงกับพื้น กระต่ายก็กลับเป็นหัวปลีอย่างเดิม และทำอยู่อย่างนั้นทุกตัว จนกลายเป็นหัวปลีกองโตเหมือนเดิม

กรมหลวงชุมพรฯ ได้สอบถามพูดคุยกับหลวงพ่อองค์นั้น (ขณะนั้นเสด็จในกรมเรียกหลวงพ่อ) จึงทราบว่าพระภิกษุที่อยู่เบื้องหน้าท่านก็คือ “หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า” ที่พระองค์ได้ยินชื่อเสียงมาช้านานนั่นเอง

และหลวงปู่ศุขก็รู้ว่าผู้ที่อยู่เบื้องหน้าคือพระราชโอรสแห่งพระพุทธเจ้าหลวง “กรมหลวงชุมพรฯ” นั่นเอง

การพูดคุยกันวันนั้นเป็นที่ถูกอัธยาศัยกันทั้ง 2 ฝ่าย เสด็จในกรมจึงอยากพักอาศัยอยู่ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่าสักหลายวัน หลวงปู่ศุขก็มิได้ว่ากระไร ยกศาลาท่าน้ำให้เป็นที่จอดเรือ ความสัมพันธ์ระหว่างพระภิกษุชราและโอรสของเจ้าเหนือหัวได้เริ่มขึ้นแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...