การประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าทำเล่นๆไม่เอาจริงเอาจังในการปฏิบัติก็ได้ของเล่นๆไป ถ้าทำจริงก็ได้ของจริงไป ขอเล่าแบบที่ผมปฏิบัติมา อย่างการนั่งกรรมฐาน ต้องข้ามเวทนาไปให้ได้ ยุงกัดราวๆ10กว่าตัว ปวดขาเหมือนขามันจะขาดแบบนี้สภาวะธรรมของจริงจะเกิด คือต้องแยกกายกับจิตออกจากกันให้ได้ ถ้ายังปวด ยังยึดติดกับกาย ยึดอยู่กับเวทนายังแยกไม่ได้ ก็ยังไม่เข้าขั้นวิปัสสนา นี่วิปัสสนาจริงๆนะไม่ใช่แบบจำตำรามาว่า ถ้าแยกออกจากกันได้กายปวด แต่จิตไม่ปวดตาม เมื่อแยกได้เด็ดขาด จะยุงกัด10กว่าตัวยังแทบไม่รู้สึกเลย ไม่ใช่นั่งไปปวดเลิกดีกว่า คันเลิกดีกว่า แบบนี้ยังถือว่าไม่ผ่าน การทำกรรมฐานต้องมีกำลังใจเด็ดเดี่ยว ถ้าปรารถนาความหลุดพ้นจริงๆ อย่ากลัวต่อความลำบากในการปฏิบัติ สำหรับผู้ที่ปรารถนาความหลุดพ้นจริงๆ ต้องทำกำลังใจให้ได้แบบนี้
การนั่งสมาธินานๆ จุดประสงค์หลักไม่ใช่การนั่งเพื่อใช้ความอดทนไปสู้กับเวทนา จริงอยู่การนั่งแบบอดทนอาจได้ขันติบารมี หรือได้สัจจะบารมี เช่นกำหนดระยะเวลาแล้วอดทนนั่งจนครบกำหนดเวลา เช่น1-2ชม. แต่ที่นั่งนานหรือนั่งจนเกิดเวทนาก็เพื่อให้เกิดสภาวะและเข้าไปเห็นว่าเวทนานั้นไม่ใช่เรา นี่ละคือจุดประสงค์หลัก แบบนี้จึงจะเกิดปัญญาในขั้นแยกรูปแยกนาม เช่น เห็นเวทนาเป็นนาม กายเป็นรูป เป็นคนละส่วน หรือเห็นเวทนาเกิดทางกาย ร่างกายเกิดเวทนา แต่จิตวางเฉยต่อเวทนา ไม่รับเวทนาเข้ามาสู่จิต ให้เกิดสภาวะแยกรูปแยกนาม ส่วนการนั่งทนจะเป็นการใช้ขันติความอดทนข่มเวทนา(สู้กับเวทนา) โดยต้องอดทนเพื่อสู้กับเวทนาไปจนกว่าเวทนาจะดับ(จะคลายลง) ซึ่งต้องใช้ความอดทนสูงและต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรทีเดียว ซึ่งกว่าเวทนาที่ปวดมากๆจะค่อยๆเบาบางลงและดับไป เมื่อเวทนาดับไป ก็ค่อยน้อมพิจารณาว่า เวทนาก็เป็นไตรลักษณ์ มีเกิดขึ้น มีตั้งอยู่ ดับไป เมื่อผ่านเวทนาไปได้ จิตก็จะเข้าสู่สภาวะของความสงบเป็นสมาธิ
การทำกรรมฐาน อย่าไปกลัวการเกิดทุกข์เวทนา เพราะถ้าเรากลัวเวทนาเมื่อไหร่ จะกลายเป็นอุปทานจิต เมื่อเกิดอุปทานจิต เวทนาก็จะเข้ามา(เพราะจิตเราไปเปิดรับ) เมื่อทำกรรมฐานให้ละความกลัวเวทนานั้นทิ้งเสีย ถ้าละความกลัวเวทนาได้ เวทนาก็จะไม่เกิด หรือถึงจะเกิดเวทนาก็ไม่หนักหนา และเมื่อเวทนาเกิด อย่าเอาจิตไปยึดกับเวทนา พอเราไม่ยึดในเวทนา เวทนาก็จะดับไปเอง นี่เป็นการปฏิบัติแบบหนึ่ง ส่วนอีกวิธีคือดูเวทนาไปเลย ดูไปกว่าจนมันจะดับลง ดูให้เห็นว่าเวทนาก็อยู่ในกฏของไตรลักษณ์เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วน้อมเข้ามาพิจารณาเข้าสู่กฏของไตรลักษณ์ ยกจิตขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนา แบบนี้จะได้ปัญญา
ทำไมเราต้องนั่งเพื่อเจอเวทนา
ถ้าเราไม่เจอเวทนาเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเราวางจิตจากเวทนาได้จริง อย่างเราอ่านตำรามา รูปก็ไม่เที่ยงนามก็ไม่เที่ยง คิดว่าปล่อยวางได้ พอมานั่งจริงๆ เจอกับสภาวะจริง ปวดนิดหน่อยก็โอ้ยๆเลิกไม่เอาแล้ว นี่คือยังไม่ผ่านของจริง ดังนั้นการมาเจอกับสภาวะจริงๆจะเป็นสิ่งชี้วัดได้อย่างดี ว่าเราแยกรูปและนาม ข้ามเวทนาได้จริงหรือไม่ อนึ่งเป็นการซ้อมตายในตอนมีเวทนา อย่าลืมนะว่าขณะจะตาย(ธาตุจะพัง) เวทนาย่อมมี ถ้าเราไม่เคยฝึกแบบนี้มา คือฝึกข้ามเวทนามา เวลาที่ร่างการเกิดทุกขเวทนา จะเอากำลังสติปัญญาที่ไหน ไปวางจิตให้คลายจากความเจ็บปวด จนถึงขั้นยกจิตให้ไปสู่ภพภูมิที่ดีได้ เหตุนี้นักปฏิบัติที่นั่งสมาธิแล้วเกิดเวทนาท่านจึงไม่หยุดนั่ง ที่นั่งต่อไปเพื่อไปดูสภาวะของจิตกับเวทนา นี่ละคือจุดประสงค์หลัก แบบนี้จึงจะเกิดปัญญาในขั้นแยกรูปแยกนาม เช่น เห็นเวทนาเป็นนาม กายเป็นรูป เป็นคนละส่วน หรือเห็นเวทนาเกิดทางกาย ร่างกายเกิดเวทนา แต่จิตวางเฉยต่อเวทนา ไม่รับเวทนาเข้ามาสู่จิต ให้เกิดสภาวะในขั้นแยกรูปแยกนาม ให้วิปัสสนาญาณเกิด
ที่มา
วุฒิตี้ธุดงค์กรรมฐาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น