เมื่อเราปฏิบัติด้วยการดูลมหายใจเข้า-ออก หรือจะใช้คำภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่งจนจิตมีความตั้งมั่นดีแล้ว ก็ใช้สมาธิความตั้งมั่นของจิตตรงนี้นี่ล่ะ มาพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เพราะการพิจารณาธรรมในขณะที่จิตมีสมาธิที่ตั้งมั่น จะเห็นอะไรได้ชัดเจนแจ่มชัดกว่าตอนที่จิตมีนิวรณ์ ตรงนีัอุปมาเหมือนกับกระจกที่มีเศษของฝุ่นเกาะอยู่ ยิ่งมีเศษฝุ่นเกาะอยู่มากเท่าใด ความมืดมัวของจิตหรือของปัญญาก็มีมากเท่านั้น จึงมักเห็นอะไรไม่ชัดเจนแจ่มชัด แต่ถ้าหมั่นชำระจิตให้สะอาดอยู่เสมอ ยิ่งจิตมีความสะอาดผ่องใสมากเท่าใด ความแจ้งชัดในสติปัญญาก็จะมีมากเท่านั้น อุปมาเหมือนกระจกที่เช็ดดีแล้วที่มีความเงาใส ทำให้เห็นอะไรที่ระเอียดชัดเจน ดังนั้นในขณะที่จิตตั้งมั่นไม่มีนิวรณ์ จึงอุปมาเหมือนกระจกที่เช็ดดีแล้ว มีความเงาใส มีปัญญาที่คมกล้า เหตุนี้พระบูรพาจารย์ในยุคก่อนๆจึงนิยมใช้สมถะมาเป็นบาทฐานเพื่อต่อยอดขึ้นไปสู่ภูมิของวิปัสสนา เพราะเป็นเหตุให้บรรลุมรรคผลได้ง่ายและเร็ว พระบูรพาจารย์ในยุคก่อนๆ จึงมีการสอนให้ดูลมหายใจเข้า-ออก หรือให้ภาวนาพุทธโธ เพื่อเป็นการสร้างฐานให้จิตเกิดความตั้งมั่น เมื่อจิตเกิดความตั้งมั่นก็ให้เอาความตั้งมั่นนั้นล่ะมาต่อยอดขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนา คือไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงความสงบเท่านั้น แต่ให้นำมาพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม ให้เกิดสติปัญญา เมื่อพิจารณาจนแจ้งในกาย เวทนา จิต ธรรม ตรงนี้จะเกิดปัญญาที่รู้ชัดขึ้น จะมองเห็นกิเลสที่ซัมซับในขันธสันดาน อุปมาเหมือนน้ำที่ใสสะอาด ที่สามารถมองเห็นอะไรได้ชัดเจนแจ่มชัด อุปมาเห็นตัวปลา คือเห็นรากเง้าต้นตอของกิเลสทั้งหมด ตรงนี้ถ้าพิมจริงๆได้เป็นหลายหน้ากระดาษ แต่ไม่ขออธิบาย เพราะเป็นสภาวะธรรมที่ลึกซึ้งละเอียดเพราะเป็นปฏิจจสมุปบาทซึ่งเป็นสภาวะที่เห็นด้วยกำลังสติปัญญา นักปฏิบัติเมื่อปฏิบัติจนถึงสภาวะด้วยตนเองก็จะเข้าใจ
วุติตี้ธุดงค์กรรมฐาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น