เริ่มปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิครั้งแรกตอนอายุ10ขวบ นั่งอยู่ราว2-3วันก็ทำฌาน4ได้ อาจเพราะมีของเก่าติดมาและบวกกับเด็กยังมีจิตที่บริสุทธิ์ จึงทำฌานได้ง่าย เพราะพื้นจิตของเด็ก ยังไม่ได้สั่งสมกิเลสไว้มาก ยังไม่มีกามราคะ กิเลสอื่นๆก็ยังน้อย ความอยากก็น้อย ตอนนั่งก็ไม่คิดอะไรเลย เอาจิตจับพุทโธปกติ ไม่ไปสนใจเรื่องอื่น เน้นแค่ความสบายไม่ได้คิดอยากได้ฌานหรือไม่ได้ แต่จิตรวมเป็นฌานเอง ซึ่งตอนนั้นไม่รู้ว่าสภาวะนั้นคืออะไร รู้แค่ว่าเป็นสภาวะที่มีความสุขมาก สุขเหนือสุขทางโลก พอสมัยหลังโตขึ้น จึงมารู้ทีหลังว่านี่คือสภาวะของสมาธิในระดับฌาน ความสุขจากฌานนั้นสุขปราณีตมาก มีความสุขกว่าการมีเงินเป็นพันล้านแสนล้านเสียอีก ความสุขทางโลกที่ว่าสุขยังเทียบสุขจากฌานไม่ได้เลย
ที่ยกเรื่องนี้มาเพื่อให้ดูการวางอารมณ์ในการเข้าฌาน ว่าให้วางอารมณ์แบบเด็กที่บริสุทธิ์ คืออย่าไปทำด้วยความอยากจนเกินไป ให้เน้นอารมณ์พอดีสบายๆ อย่าให้มีกิเลสเกาะจิตได้ เหมือนกับเด็กที่บริสุทธิ์ ไม่ต้องไปคิดอะไร แค่อยู่กับลมหายใจเข้าออกหรือพุทโธ แค่นั้น ขณะที่อยู่กับการดูลมอยู่หรือพุทโธอยู่ ไม่สนสิ่งภายนอกอื่นๆ ขณะนั้นกามราคะก็ไม่มี พยาบาทก็ไม่มี ความฟุ้งซ่านก็ไม่มี ความง่วงก็ไม่มี ความอยากไม่อยากรวมทั้งความลังเลสงสัยใดๆก็ไม่มี เมื่อนิวรณ์ทั้ง5ไม่มี องค์ฌานก็ย่อมเกิดขึ้นมาเอง ไม่ยาก แต่ก่อนฌานจะเกิด นักปฏิบัติใหม่ๆจะต้องผ่านปิติก่อน เช่น เกิดความเย็นซาบซ่าน ขนลุกขนพอง ตัวสั่น ตัวโยก ตัวขยายใหญ่ขึ้น ตัวย่อเล็กลง เห็นแสงสว่าง น้ำตาไหล ตัวหมุน อื่นๆ ให้รู้ว่านี่คือปิติเป็นอาการที่จิตใกล้กำลังจะรวมไปสู่ความสงบในขั้นฌาน ถ้าเจออาการลักษณะแบบนี้หรือใดๆก็ตามให้วางเฉยไปเลย อย่าไปสนใจ อย่าตกใจ อย่าแปลกใจ ไม่งั้นสมาธิจะถอน ทำให้พลัดจากฌาน เมื่อพลัดจากฌานพอไปทำอีกอยากให้เกิดปิติ อันเป็นสภาวะความอิ่มเอิบทางใจแบบเดิมอีก แบบนี้จะยิ่งยากกว่าเดิม เพราะมีความอยากให้เกิดในสภาวะแบบเดิมนำ
อารมณ์ของฌานที่4
....อารมณ์ฌาน4นี้มักเป็นอารมณ์ที่นักปฏิบัติเข้าใจผิดมากที่สุด ส่วนมากแล้วมักหลงคิดว่าอารมณ์ของฌานที่1เป็นฌานที่4 สภาวะฌานที่4จริงๆจะมีแค่อารมณ์ของอุเบกขาและเอกัคคตาแค่นั้น หาได้มีวิตก วิจาร ปิติ สุขไม่ อารมณ์ของฌาน4จะเหนือสุขขึ้นไปอีก จิตจะเป็นอุเบกขและจะมีอารมณ์ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวไม่สอดส่าย สภาวะจิตที่อยู่ในฌาน4นี้จะมีอารมณ์ที่แน่นิ่งมาก
....ถ้าปฏิบัติมาทางการดูลม จะมีลมหยาบ,กลาง,ละเอียด พอถึงฌานที่4ลมหายใจจะละเอียดมาก ละเอียดจนเหมือนลมหายใจหายไป ที่หายเพราะจิตละเอียด จนแยกสภาวะกายและจิตออกจากกัน จิตจะไม่สนใจอาการทางกาย จะมีแค่อารมณ์ที่เป็นอุเบกขาและอารมณ์ที่แน่นิ่ง
....ถ้าปฏิบัติโดยใช้คำบริกรรม คำบริกรรมจะหาย จิตจะวางคำบริกรรมโดยอัติโนมัติ จิตจะเข้าสู่ความเป็นกลางเป็นอุเบกขาและมีอารมณ์แน่นิ่งไม่สอดส่าย(แน่นิ่งมาก)
...ถ้าหากปฏิบัติมาทางกสิณ นิมิตกสิณจะเป็นประกายพรึก จะมีความเงาใส จิตจะตั้งมั่นเป็นอารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียวและเป็นอุเบกขาจิต
(เสริมความรู้) นิมิตกสิณนี้แต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างบางคนเพ่งกสิณไฟจากเทียน นิมิตกสิณแบบนี้จะเป็นลักษณะเหมือนเสาทองคำ มีลักษณะเป็นแท่ง บางคนเพ่งไฟโดยการเจาะรูเป็นวงกลม นิมิตกสิณก็จะเป็นดวงกลมๆ (คร่าวๆ)
เรื่องของฌานนี้คนที่ไม่เคยได้ฌานย่อมจะไม่ทราบวิสัยของผู้ได้ฌาน อย่างถ้าจะบอกว่าความสุขจากฌาน มีความสุขมากกว่าการมีเงินเป็นพันล้าน คนที่ไม่เคยได้ฌานก็คงจะไม่เชื่อ และไม่เข้าใจว่าเป็นความสุขแบบไหน ลักษณะอย่างไร เรื่องของฌานจึงเป็นอจินไตย เป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้ นอกเสียจากผู้นั้นจะได้ฌานเอง จึงจะรู้วิสัยของผู้ที่ได้ฌานว่าเป็นอย่างไร ความสุขในฌานมีความระเอียดปรานีตมาก โดยเฉพาะฌานขั้นสูงๆ ยิ่งมีความสุขระเอียดมาก ยากจะหาสิ่งใดมาเปรียบเทียบพรรณา แม้จะมีเงินร้อยล้าน หรือแม้กระทั่งพันล้าน ก็สู้ความสุขสงบภายในจากอำนาจฌานไม่ได้เลย สุขจากฌานที่เป็นโลกียะยังขนาดนี้ แล้วสุขในโลกุตตระพระนิพพานจะขนาดไหน คงไม่ต้องพูดถึง เพราะคงไม่มีสิ่งใดที่จะพรรณาได้ อย่างกับคำว่านิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
การวางอารมณ์ขณะทำกรรมฐาน
....สำหรับบางท่านที่เคยปฏิบัติกรรมฐานจนได้พบความสุขสงบแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน พอมาปฏิบัติอีกก็ต้องการให้พบกับความสุขสงบแบบที่เคยเจอนั้นอีก แต่พอปฏิบัติไปก็ไม่พบความสุขสงบแบบนั้นอีก ด้วยเพราะไม่วางความอยากสงบ ในขณะทำกรรมฐานจึงต้องวางความอยากก่อน แม้กระทั่งความอยากสงบก็ให้วางไปก่อน เพราะความอยากนั้นเป็นกิเลส เป็นนิวรณ์ที่จะขวางไม่ให้จิตสงบ หากยังอยากสงบอยู่ ก็ยากที่จิตจะสงบ ทำจิตให้กลางๆ
เมื่อเกาไม่ถูกที่คัน วางกำลังใจไม่ถูกจุด จิตก็รวมเป็นสมาธิไม่ได้ จิตจะรวมเป็นสมาธิหรือไม่เป็นขึ้นอยู่กับการวางกำลังใจ ตั้งใจอยากสงบเกินไปก็ไม่สงบ หรือกำลังใจหย่อนเกินไปก็ไม่สงบ การทำสมาธิให้วางอารมณ์อยู่ในอารมณ์ที่พอดี คืออารมณ์ที่สบายๆ อุปมาเหมือนกับมือเรากำนก ถ้ากำแรงไปนกก็ตาย แต่ถ้าหากกำเบาไปหลวมไปนกก็บินหนี ต้องให้อารมณ์พอดี อย่าไปเครียด
ถ้าก่อนทำกรรมฐาน วางความยินดีในการเกิดออกไปได้ทั้งหมด คือไม่ยินดีในการเกิดใดๆอีก(ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตาม) โดยเห็นการเกิดเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ และจิตไม่อาลัยต่อชีวิตและความตาย(ทั้งต่อเวทนา,ทั้งต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย) วางโลกหรือเรื่องของโลกลงให้หมด (จิตไม่ติดกับสมุติใดๆในโลก,จิตไม่เกาะกับโลก) ถ้าทำได้แบบนี้จิตก็จะเกิดความสว่างเบิกบาน เกิดความสุขที่เยือกเย็นขึ้นในจิต
ก่อนจะนั่งทำกรรมฐาน ควรสำรวจความพร้อมของจิตตนเองเสียก่อน ว่าจิตเราพร้อมหรือไม่ในการยกสู่องค์กรรมฐาน อุปมาเหมือนจะสตาร์ทรถเพื่อออกเดินทาง ต้องสำรวจความพร้อมของรถก่อน การทำกรรมฐานก็ฉันนั้นเช่นกัน สำรวจจิตตน ทำจิตให้พร้อมกับการทำกรรมฐานเพื่อยกสู่องค์ภาวนา โดยไม่ให้จิตมีความอยากมากเกินไป การอยากให้เกิดสภาวะแบบนั้นแบบนี้ให้วางออกไป เพราะเป็นกิเลสจะขวางความสงบ สำรวจจิตตนเองว่ามีสิ่งกังวลหรือมีภาระที่ห่วงไหม ถ้ามีก็ให้วางออกไป โดยคิดว่าในขณะที่ทำไม่ว่าภาระหรือสิ่งกังวลใดเราจะวางออกไปชั่วขณะก่อน เพราะปลิโพธิกังวลจะขวางจิตไม่ให้เกิดสมาธิ จากนั้นวางเรื่องอดีตและอนาคตออกจากจิต ให้เอาจิตมาอยู่ที่ปัจจุบันขณะ รู้กายรู้ใจในปัจจุบันขณะ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น ให้มีสติอยู่กับกายใจ จากนั้นก็เริ่มยกจิตสู่องค์กรรมฐาน ดำรงจิตให้มีสติอยู่เฉพาะหน้าในองค์ภาวนา
ในขณะทำกรรมฐาน ไม่ต้องไปพะวงคิดว่าขณะนี้เราอยู่ในฌานขั้นไหน ให้เอาจิตอยู่กับบริกรรมพอ อย่าไปพะวงว่าตอนนี้อยู่ขั้นนั้นขั้นนี้ ถ้าวางได้จิตจึงจะสงบ ถ้าไปติดพะวงอยู่ว่าตอนนี้เราอยู่ขั้นไหน จิตจะสงบตั้งมั่นได้ยาก ในทางตำราอาจจะบอกองค์ประกอบของฌาน ว่าในแต่ละฌานเป็นลักษณะอย่างไร(มีองค์อะไรบ้าง)ไว้เทียบ แต่ในทางปฏิบัติคือความว่างจากนิวรณ์หรือกิเลส จะตั้งมั่นเป็นอารมณ์เดียว ไม่มีอะไรมาก ถ้าเราปฏิบัติเราจะรู้ด้วยตัวเราเอง จะเห็นความสะอาดของจิตด้วยตัวเราเอง
วิธีฝึกสมาธิให้ได้ฌาน
....ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ฌานและนิวรณ์เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกันอุปมาความสว่างและความมืด อย่างขณะใดที่จิตไม่มีนิวรณ์ ขณะนั้นจิตก็เป็นฌานเองโดยอัติโนมัติ ถ้าขณะใดจิตมีนิวรณ์ขณะนั้นจิตก็จะเป็นฌานไม่ได้
...นิวรณ์มีอยู่5อย่าง...
กามฉันทะ
....อย่างข้อกามฉันทะความยินดีพอใจในกาม ทั้งรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส ถ้าขณะนั้นยังมีความยินดีพอใจแบบนี้อยู่ สมาธิขั้นฌานก็ไม่เกิด เพราะแบบนี้นักปฏิบัติทั้งจึงมีการบำเพ็ญเนกขัมมะหรือถือศีล8 โดยจะหลีกเลี่ยงการฟังเพลง การดูหนังดูละคร เพื่อไม่ให้จิตยินดีพัวพันพอใจในรูปรสกลิ่นเสียงจนมากเกินไป (เป็นการสละออกจากกาม) เมื่อจิตไม่พัวพันกับความยินดีพอใจในกามเวลาไปทำสมาธิฌานก็จะเกิดได้ง่ายขึ้น
อุทธัจจะ
....อย่างข้ออุทธัจจะความฟุ้งซ่าน,ความกังวล ตราบใดที่จิตยังมีความฟุ้งซ่านหรือมีพลิโพธกังวลกับสิ่งต่างๆอยู่ฌานก็ไม่เกิด เพราะแบบนี้นักปฏิบัติจึงมีการหลีกเลี่ยงการพบปะพูดคุยเพื่อให้เกิดกายวิเวก โดยการหาสถานที่สัปปายะในการปฏิบัติ เพื่อลดสิ่งกังวลและละสิ่งรบกวนภายนอกออกไป เช่นเลี่ยงการพบปะพูดคุยหรือการเล่นเฟส สังเกตุเวลาเราเล่นเฟสคุยเฟสมากๆ เวลาไปทำสมาธิจิตจะจมอยู่กับอารมณ์ของความกัววลหรือเกิดความฟุ้งซ่าน ทำให้ฌานเกิดได้ยาก หรือเราทำสมาธิด้วยความอยากให้เกิดฌาน แบบนี้แทนที่จะเกิดความสงบ กับทำให้จิตใจเกิดความฟุ้งซ่านแทน เพราะจิตไปไปกังวลพะวงว่าเมื่อไหร่จิตจะสงบจะเกิดฌาน
.....วิธีแก้ความฟุ้งซ่าน ถ้าขณะทำสมาธิอยู่จิตเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา ก็ให้เร่งคำภาวนาให้ถี่ๆขึ้น เพราะจิตตั้งได้แค่อารมณ์เดียว ถ้าเราเร่งคำภาวนาให้ถี่ๆแล้วเอาจิตไปจับอยู่แค่คำภาวนาที่ถี่ๆนั้น จิตก็จะไม่ส่งไปคิดเรื่องภายนอกอื่น ทำให้หยุดฟุ้งซ่าน ตรงนี้ไม่ต้องกังวลว่าจิตจะติดกับคำภาวนา ถ้าจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ จิตจะวางคำภาวนาออกไปเอง
วิจิกิจฉา
......วิจิกิจฉาความลังเลสงสัย ถ้าในขณะทำสมาธิอยู่เกิดความลังเลสงสัยใดๆขึ้นก็ตาม ฌานก็ไม่เกิด อย่างบางคนทำสมาธิอยู่เกิดอาการของปิติขึ้น เช่นเห็นแสงสว่าง ตัวโยกโคลง ตัวสั่น ขนลุกขนพอง หรือจะใดๆก็ตาม ทีนี้เกิดความลังเลสงสัยขึ้นว่า แบบนี้คืออะไร สมาธิก็จะหยุดอยู่แค่นั้นหรือไม่ก็จะถอนออกมา ไม่ถึงฌาน เพราะจิตเกิดวิจิกิจฉาคือความลังเลสงสัยขึ้น
.....ตรงนี้ให้วางเฉย ในขณะทำสมาธิเห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินอะไรก็สักแต่ว่าได้ยิน อย่างนิมิตบางอย่างก็มาทำให้เราเผลอสติ (เผลอสติออกจากกายใจตน) เช่นทำสมาธิอยู่แล้วเห็นภาพนิมิตเกิดขึันมาให้เห็น หากเราน้อมจิตไปตามนิมิตนััน จิตก็จะเคลื่อนของจากกายใจตนเอง(เผลอสติ) บางคนพอมารู้ตัวสมาธิก็ถอนแล้ว
พยาบาท
......พยาบาทความโกรธความไม่พอใจความขุ่นเคืองใจ ถ้าขณะใดมีอารมณ์แบบนี้อยู่ ฌานก็ไม่เกิด อย่างถ้าเราโกรธใครหรือไม่พอใจใครอยู่ เวลาไปทำสมาธิ ฌานก็เกิดไม่ได้ ถ้าหากเราไม่วางความพยาบาทออกจากจิต วิธีแก้พยาบาทให้หมั่นเจริญอัปปมัญญา ก็คือหมั่นเจริญพรหมวิหาร4 ซึ่งเป็นธรรมตรงข้ามกับพยาบาท
ถีนมิทธะ
......ถีนมิทธะความง่วงงาวหาวนอน ตรงนี้นักปฏิบัติเป็นกันบ่อย บางคนยังไม่ทันกำหนดก็เกิดความง่วงแล้ว ถีนมิทธะความง่วงนี้แม้ขนาดพระมหาโมคคัลลานะพระอัครสาวกเบื้องซ้ายเลิศทางฤทธิ์ ขณะปฏิบัติเพื่อให้บรรลุอรหัตผล ยังเกิดความง่วงเลย นี่ขนาดพระมหาโมคัลลานะ จนพระพุทธองค์เสด็จมาบอกอุบายวิธีแก้ความง่วง เช่นเมื่อมีสัญญาอย่างใดแล้วเกิดความง่วงขึ้น จงทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก จะเป็นเหตุละความง่วงได้ หรือถ้ายังละความง่วงไม่ได้ควรตรึกตรองธรรมที่ได้เรียนได้ฟังมาแล้วให้มาก จะเป็นเหตุละความง่วงได้ หรือถ้ายังละไม่ได้อีกควรสาธยายธรรมที่ได้เรียนได้ฟังมาแล้วให้มาก จะเป็นเหตุละความง่วงได้ หรือถ้ายังละไม่ได้ควรยอนช่วงหูทั้งสองข้างและลูบตัวด้วยฝ่ามือ จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้ (คร่าวๆ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น