02 มิถุนายน 2566

เถรวาท-มหายาน-วัชรยาน : 3 นิกายในพระพุทธศาสนา

🏵️เถรวาท​-มหายาน​-วัชรยาน ​: 3​ นิกายในพระพุทธศาสนา​ 🙏จุดหมาย​​ร่วมกัน​คือ​พระ​นิพพาน​🙏
☀️​ปัจจุบัน​ ชาวโลก​ที่มีพื้นฐาน​ความเข้าใจ​เรื่อง​ศาสนา​แตกต่าง​หลากหลาย​ ทั้งที่​นับถือ​ศาสนา​ใดศาสนาหนึ่ง​อยู่​แล้ว​ และ​ไม่​นับถือศาสนา​ใดๆ​ เลย​ ทั้งชาวศาสนิกชน​ต่างๆ​ ที่ไม่ใช่ชาวพุทธ​ ชาวพุทธ​ก็มีทั้งพุทธแท้และพุทธ​ทิพย์​ รวมทั้ง​ผู้สนใจที่​ประสงค์​จะ​ทราบว่า พุทธที่เป็นพุทธแท้จริงของแท้​ดั้งเดิมสมัยพุทธองค์นั้นเป็นอย่างไร แล้วนิกายต่างๆ สมัยนี้แตกต่างกันอย่างไร​ ? 

ในยุคสมัยพุทธกาล พระภิกษุ​สงฆ์ล้วนปฏิบัติตามพระธรรม​วินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด หากมีกรณีพระภิกษุ​รูป​ใดที่ประพฤติ​ผิดแผกแตกต่าง​หรือละเมิด​พระธรรม​วินัย​หรือมีกรณีพิพาทเกิด​ขึ้น​คณะสงฆ์​จะทูลขอคำวินิจฉัยจากพระพุทธองค์ 

ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงได้ 3 เดือน มีการจัดสังคายนาขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีพระมหากัสสปะเป็นองค์ประธาน พร้อมพระอรหันต์อื่นอีก 500 รูป ได้ตกลงเป็นฉันทามติ ให้พระสงฆ์รักษาพระธรรมวินัย ปฏิบัติตามสิกขาบททุกข้อไว้ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง โดยไม่มีการเพิ่มถอนใดๆ นอกเหนือจากที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ทั้งสิ้น

การสังคายนาครั้งที่ 2 ราวพุทธศตวรรษ 100 เริ่มมีคณะสงฆ์บางกลุ่มที่ไม่ยอมรับมติของพระมหาเถระครั้งปฐมสังคายนาครั้งแรก​ หรือมีความเห็นทางธรรมวินัย​แตกต่างจากคณะสงฆ์ดั้งเดิม จึงเริ่มคิดต่างแตกออกมาเป็นนิกายต่างๆ ที่มี​การรวบรวมได้​ทั้ง​หมด​ 18​ นิกาย​ จนถึง​ปัจจุบัน​ที่มีการยอมรับ​ใน​วงกว้าง​มีอยู่​ 3​ นิกาย​ให​ญ่

นิกายใหญ่ มี 3 นิกาย ได้แก่
1. นิกายเถรวาท หรือสมัยก่อน​เรียก​"หินยาน" 
2. นิกายมหายาน​ หรือสมัยก่อน​เรียก​ "อาจาริยวาท" 
3. นิกายวัชรยาน​ หรือบางท่าน​เรียกว่า​ "ตันตรยาน" 

☀️​1. นิกายเถรวาท​ (Theravada Buddhism)​

หลังการเกิดแตกสาขานิกายไปจากสายดั้งเดิมครั้งพุทธกาล พระสงฆ์ที่ยึดถือแนวทางเดิมนี้โดยบริบูรณ์ จึงถูกเรียกว่าปฏิบัติตามแนวของเถรวาท หรือนิกายใน “วงศ์แห่งพระเถระ”

นิกายเถรวาท ได้รับการยอมรับจากพุทธศาสนิกชนทุกนิกายว่าเป็นนิกายที่รักษาพระธรรมวินัย ไว้อย่างเคร่งครัด สมบูรณ์ที่สุด จัดเป็นพระพุทธศาสนาแนวหลักแท้จริงดั้งเดิมตามพุทธกาล ที่นิกายอื่นแยกออกไป

สาระสำคัญของนิกายเถรวาท นอกเหนือจากการปฏิบัติตามธรรมวินัยเดิมแล้ว ยังยึดถือตามคัมภีร์พระไตรปิฏกบาลี มุ่งสู่พระนิพพานการเป็นพระอรหันต์ เพื่อหลุดพ้นจากสังสารวัฏ (วัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิด)
ประเทศที่นับถือได้แก่ ประเทศในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ไทย ศรีลังกา พม่า ลาว กัมพูชา​ ส่วนที่นับถือเป็นส่วนน้อยพบทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม (โดยเฉพาะกลุ่มเชื้อสายเขมร), บังกลาเทศ (ในกลุ่มชนเผ่าจักมา และคนในสกุลพารัว) และทางตอนบนของมาเลเซีย (ในหมู่ผู้มีเชื้อสายไทย)
สำหรับประเทศไทยนั้น ยังแบ่งได้อีก 2 นิกายย่อย คือ
– มหานิกาย คือคณะสงฆ์องค์คณะใหญ่ของเถรวาทดั้งเดิม
– ธรรมยุติกนิกาย คือคณะสงฆ์ไทยสายธรรมยุติ ถือกำเนิดขึ้นปี พ.ศ.2365 รัชกาลที่ 4 ทรงให้ตั้งขึ้น 

☀️​2. นิกายมหายาน​  (Mahayana​ Buddhism)​

มหายาน มีความหมายว่า ยานพาหนะขนาดใหญ่ที่นำพาสรรพสัตว์ข้ามพ้นห้วงน้ำแห่งการเวียนว่ายตายเกิด นิกายมหายาน มีสาระสำคัญต่างจากสายดั้งเดิมที่ ยึดถือทำตามแนวทางพระโพธิสัตว์ ที่ปรารถนามุ่งสู่การเป็นพระพุทธเจ้า ที่เชื่อว่าสามารถช่วยเหลือสัตว์โลกได้มากกว่านิกายเถรวาทหรือหินยาน ซึ่งมีความหมายว่า ยานพาหนะขนาดเล็ก ที่มุ่งให้บรรุลธรรมเพื่อการเป็นพระอรหันต์

มหายาน จึงเชื่อว่ามีพระพุทธเจ้ามากมายหลายพระองค์ ทั้งที่มีปรากฏนามในพระคัมภีร์เถรวาท  และที่สร้างขึ้นตามคติของตนในภายหลัง นอกจากนี้ยังมีพระโพธิสัตว์ พระอัครสาวกอีกมากมายเช่นกัน
พระสงฆ์ในสายมหายาน เป็นรูปแบบคณะสงฆ์ ที่ได้ปรับตามกาลเวลาและลักษณะของแต่ละประเทศ  เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น นอกเหนือจากประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยแล้ว หากเห็นว่าพระวินัยข้อใดไม่เหมาะแล้วกับกาลก็เพิกถอนได้ เราจึงเห็น พระมีวิทยายุทธ พระมีบทบาททางการเมืองในประเทศที่นับถือ​มหายานได้

ประเทศที่นับถือได้แก่ จีน เวียดนาม ฮ่องกง ไต้หวัน​เกาหลี ญี่ปุ่น​ สิงคโปร์​ พบเป็นประชาชนส่วนน้อยในประเทศเนปาล (ซึ่งอาจพบว่านับถือร่วมกับศาสนาอื่นด้วย)​ ทั้งยังพบในประเทศอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, บรูไน และฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน​
สำหรับในประเทศไทย เมื่อมีชาวจีน และเวียดนาม​เข้ามาติดต่อสัมพันธ์กันมากเรื่อยมาแต่ครั้งอดีต จึงมีนิกายมหายานในประเทศไทย แยกได้อีก 2 นิกายย่อย คือ
– จีนนิกาย คือคณะสงฆ์มหานิกายแบบจีน
– อานัมนิกาย คือคณะสงฆ์มหานิกายแบบเวียดนาม​(ปัจจุบัน​อาจจะ​เรียก​ได้​ว่าเป็น​นิกาย​หนึ่ง​ใน​พระพุทธ​ศาสนา)​

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ใช่ว่าพระสงฆ์เถรวาทจะไม่ช่วยเหลือประชาชนดีเท่ากับพระสงฆ์มหายาน เพียงแต่พระสงฆ์มหายาน ปรับรูปแบบให้เข้าใกล้ฆราวาส​หรือญาติโยมมากขึ้น พระวินัยบางข้อที่ไม่เหมาะกับการที่ท่านจะประพฤติ ในการดำรงอยู่ในบางประเทศ ท่านก็เพิกสอนเสีย ดังนั้นพระสงฆ์เถรวาทจึงมีข้อดีมากในส่วนที่ท่านรักษาพระธรรมวินัยตามครั้ง พุทธกาลไว้อย่างบริบูรณ์ที่สุด รักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ให้ผิดเพี้ยน ขาดตกไปตามกาลเวลา ให้เป็นแบบบรรทัดฐานการศึกษาแก่นแท้พุทธศาสนาเดิมได้ มาถึงในปัจจุบัน

☀️3.พุทธศาสนานิกายวัชรยาน​ (Vajrayana Buddhism)​ หรือ ตันตรยาน (Tantric Buddhism)

วัชระในที่นี้หมายถึงเพชร หรือสายฟ้า วัชรยานเรียกอีกอย่างว่าตันตระ วัชรยานเป็นนิกายที่มีความเชื่อซับซ้อนและเชื่อในการปฏิบัติบางอย่างที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งหรือการหลุดพ้นได้ 

วัชรยาน​ หรือ​ มันตรยาน​ หรือ ตันตรยาน ที่สืบทอดขนบความเชื่อและการปฏิบัติแบบตันตระมาจากอินเดียสมัยกลาง​ วัชรยาน หมายถึง ยานเพชร ซึ่งผู้ศรัทธาในนิกาย​นี้เชื่อว่าเป็นยานที่ประเสริฐกว่ายานพาหนะ​ใด​ๆในโลก

พิธีกรรมที่สำคัญของตันตรยานคือการสาธยายมนตร์ที่ลึกลับต่างๆ และมีการปฏิบัติโยคะท่าทางต่าง ๆ พร้อมด้วยการเจริญสมาธิ จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติเพื่อบรรลุความหลุดพ้น เชื่อกันว่าในทันทีที่มีความชำนาญได้บรรลุฌานชั้นที่ 1​ แล้ว กฏความประพฤติด้านศีลธรรมปกติธรรมดาก็ไม่จำเป็นสำหรับผู้นั้นตลอดไป และเชื่อว่าการฝ่าฝืนโดยเจตนา ถ้าหากทำด้วยความเคารพแล้ว ก็จะทำให้เขาบรรลุธรรมขั้นสูงต่อไป ดังนั้นจึงมักผ่อนผันในเรื่องการเมาสุรา การรับประทานเนื้อสัตว์ และการสับสนในทางประเวณี (จำนงค์ ทองประเสริฐ 2540:197)

พุทธศาสนานิกายตันตระ ถูกนำมารวมเข้าไว้ในการปฏิบัติพิธีรีตองที่เป็นความลับ ครูอาจารย์ในนิกายนี้มักจะเขียนหนังสือที่มีปรัชญาลึกซึ้ง เพราะตันตรยานมีความลึกลับ และมีวิธีการที่พิสดารที่เอง จึงมีผู้ให้คำอธิบายไว้ว่า “ตันตรยาน บางครั้งเรียกว่าลัทธิคุยหยาน ซึ่งแปลว่าลัทธิลับ เป็นนิกายที่มีลักษณะแปลกประหลาดกว่านิกายพุทธศาสนาอื่น ๆ ที่รับเอาพิธีกรรมและอาถรรพเวทของพราหมณ์ เข้ามาสั่งสอนด้วย แต่แก้ไขให้เป็นของพุทธศาสนา เช่น แทนที่จะบูชาพระอิศวรก็บูชาพระพุทธเจ้าแทน เกิดขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 7 (เสถียร โพธินันทะ 2541:172)

พุทธศาสนาแบบวัชรยานแพร่หลายในทิเบต, จีน, ภูฏาน, ญี่ปุ่น​และมองโกเลีย และดินแดนในการปกครองรัสเซีย เช่น สาธารณรัฐตูวา และคัลมืยคียา นอกจากนี้เป็นประชากรส่วนน้อยในดินแดนลาดัก รัฐชัมมูและกัษมีร์ ประเทศอินเดีย, เนปาล, ปากีสถาน (ในเขตบัลติสถาน)

🏵️ พระพุทธศาสนาดำรงคงอยู่​คู่​โลกมาถึงในวันนี้ที่มีการสืบทอดมรดกธรรมอันทรงคุณค่า ต่อมาจนถึงมีอายุกว่า 3,000 ปี เพราะเรามีผู้พุทธสาวก ทั้งฝ่ายเถรวาท, มหายานและวัชรยาน ผู้ทำหน้าที่สืบสานงานเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระภิกษุสงฆ์ทั้งในอดีตกาล และปัจจุบัน รวมทั้งเหล่าพุทธบริษัท 4 พุทธ​ศาสนิกชน​ที่เกิดมาสร้างบารมี มุ่งสู่การทำนิพพานให้แจ้ง ให้หลุดพ้นจากทุกข์ จากกิเลสอาสวะ เป็นวัตถุประสงค์ของชีวิต เป็น​หน้าที่ที่แท้จริงเกิดมาเพื่อเรียนรู้วิชชาที่จะกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดไป ให้ตนเองพึ่งตนเองได้และนำพาสรรพสัตว์พึ่งตนเองอย่างนี้ มีแต่สุขล้วน ๆ
กระทั่งเข้าไปถึงการดับต้นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง กำจัดต้นตอไปถึงต้นเหตุ ตามเส้นทางแห่งอริยสัจ 4 นี้คือการวางเป้าหมายชีวิตได้ถูกต้องสมบูรณ์แบบที่สุดในพระพุทธศาสนา

🔰ที่มา​: ประวัติ​ศาสตร์​การถือกำเนิด​นิกาย​ต่างๆ​ ในพระ​พุทธศาสนา​และ​ขอบคุณ​ข้อมูล​เพิ่มเติม​จาก​เวบไซต์​ศาสนาพุทธ​ทั่วโลก, อาจารย์​เสถียร โพธินันทะ, อาจารย์​จำนงค์ ทองประเสริฐ​ ผู้​เชี่ยวชาญ​การศึกษา​พระ​พุทธศาสนา

ไม่มีความคิดเห็น:

อริยสัจ 4 และมรรคแปด

ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ห่างไกลจากกิเลสตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองพระองค์นั้น พระผู้มีพระภาค ทรงตรัส...